สมรสเท่าเทียมแก้รอยรั่ว หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยบทบัญญัติฟ้อง “ชู้” อย่างจำกัดเพศขัดรัฐธรรมนูญ

18 มิถุนายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ในเรื่องพิจารณาที่ 4/2567 ให้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1523 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภรรยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภรรยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้”  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ที่บัญญัติว่า 

บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ … จะกระทำมิได้” 

ในวันเดียวกันนั้นเอง รัฐสภาก็ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมป.พ.พ. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยในร่างกฎหมายดังกล่าวได้แก้ไขถ้อยคำให้คู่สมรสสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้ไม่ว่าเพศใด ซึ่งสอดรับกับมติของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าบทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดคำบังคับไว้ 360 วัน ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว คู่สมรสยังสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก “ชู้” ได้เหมือนเดิม เพียงแค่ยังไม่ “ปลดล็อก” เรื่องเพศและเงื่อนไขในพฤติการณ์ของการเป็น “ชู้” ที่แตกต่างกันระหว่างหญิงกับชาย จนกว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้

ย้อนดูที่มาคดี ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้แจงเหตุแห่งความไม่เท่าเทียมทางเพศ

ที่มาของคดีนี้ สืบเนื่องมาจาก ผู้ตรวจการแผ่นดิน ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 231 (1) เสนอเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติ มาตรา 1523 วรรคสอง ของ ป.พ.พ. นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวชี้แจงในฐานะที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นร้อง เพราะเห็นว่า ถ้อยคำในบทบัญญัติดังกล่าวมีปัญหาทำให้สามีจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก “ชู้” เพศใดก็ได้ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าภริยาจะสมัครใจหรือไม่ และไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่า เป็นการแสดงความสัมพันธ์โดยเปิดเผยหรือไม่ 

ในขณะที่หากเป็นฝ่ายภรรยา จะฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนจากคนที่มาเป็นชู้กับสามีของตนได้เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น “ผู้ชายที่มาเป็นชู้กับสามีตนภรรยาฟ้องไม่ได้” อีกทั้งถ้าชู้ของสามีเป็นหญิงยังมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นหญิงที่แสดงความสัมพันธ์ในทางชู้สาวโดยเปิดเผย ถ้าคบกันหลบๆ ซ่อนๆ ไม่เปิดเผยจะไปเรียกค่าทดแทนไม่ได้

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยโดยเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

#สมรสเท่าเทียม ก็ส่งผลให้ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้ได้อย่างเทียมเท่า

ในวันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติคดีดังกล่าว วุฒิสภาชุดพิเศษมีวาระประชุมในสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมโดยที่ประชุมวุฒิสภามีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 0 เสียง 

ในมาตรา 49 ของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมระบุยกเลิกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 ทั้งมาตรา และระบุว่าให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น

คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไปในทำนองชู้หรือจากผู้ซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในทำนองชู้ก็ได้

ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่ง กระทำการตามมาตรา 1516 (1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้” 

โดยสรุปคือ ในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม แก้ไขคำจาก “ผู้ซึ่งล่วงเกินสามี/ภรรยา” เป็นผู้ซึ่งล่วงเกิน “คู่สมรส” และไม่มีเงื่อนไขด้านพฤติการณ์ที่ต่างกันระหว่างฝ่ายสามี-ภรรยา เพื่อให้ครอบคลุมทุกเพศตามหลักการของกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ศาลชี้ขัดรธน. แต่ ป.พ.พ. ม. 1523 เดิม ยังจะถูกบังคับใช้ไปอีก 360 วัน 

แม้ศาลได้วินิจฉัยให้ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ก็ได้กำหนดผลให้คำวินิจฉัยมีผลเมื่อพ้น 360 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะไปดำเนินการแก้ไขข้อกฎหมายตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร เมื่อครบ 360 วัน หรือจนกระทั่งถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2568 มาตรา 1523 นั้นจะไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดคำบังคับ 360 วัน ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอาจประกาศและมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว โดยในมาตรา 2 ของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กำกับให้กฎหมายมีผลเมื่อพ้นระยะเวลา 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ มาตรา 1523 ของ ป.พ.พ. เดิมก็จะยกเลิกไปและใช้ข้อความตามกฎหมายใหม่แทนที่ ไม่ได้ทำให้เกิดการสิ้นผลของกฎหมายไปจนทำให้ประชาชนเสียสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนจากชู้ของคู่สมรส

อย่างช้าที่สุดที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้นำร่างขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย คือ 210 วัน อันเนื่องมาจากต้องรอระยะเวลารอโปรดเกล้าฯ อย่างช้าที่สุด 90 วัน (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 146) และระยะเวลา 120 วันตามเงื่อนไขมาตรา 2 ของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

โดยสรุปแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ไปจนถึงระยะเวลา 210 วันก่อนที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ถูกแก้ไขด้วยกฎหมายที่ออกมาใหม่ คู่สมรสยังสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก “ชู้” ได้เหมือนเดิม เพียงแค่ยังไม่ “ปลดล็อก” เรื่องเพศและเงื่อนไขในพฤติการณ์ของการเป็น “ชู้” ที่แตกต่างกันระหว่างหญิงกับชาย

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage