สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพ.ร.บ. ประชามติ ปลดล็อกเงื่อนไข “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น”

18 มิถุนายน 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ “สี่ฉบับ” ซึ่งมีสาระสำคัญคือการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) ในประเด็น “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” (Double majority) ที่อาจเป็นเงื่อนไขในการทำประชามติ หาข้อยุติได้ยาก โดยในมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ กำหนดให้ การทำประชามติจะเป็นที่ยุติได้จะต้องผ่านสองเงื่อนไข 1) ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง 2) ต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงหากไม่ครบเงื่อนไขทั้งสองชั้นก็จะถือว่าการทำประชามตินั้นไม่สามารถหาข้อยุติได้ 

RFD-Watch-2

สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “รับหลักการ” ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ทั้งสี่ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฉบับที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย ฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคก้าวไกล และฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคภูมิใจไทย ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 450+1 = 451
เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 0 เสียง โดยใช้ร่างฉบับที่เสนอโดย ครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ (กมธ.)

สส. ส่วนใหญ่เห็นพ้อง ให้ปลดล็อก “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น”  

ฉบับคณะรัฐมนตรี หาข้อยุติได้ต้องมีเสียง “YES/NO” “เกินกึ่งหนึ่ง” ของผู้มาออกเสียง และต้องมากกว่าเสียง”ไม่แสดงความคิดเห็น”

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ กล่าวว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้นมีสาระสำคัญ ให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13 กำหนดให้การออกเสียง ที่ถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จะทำประชามติให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงโดยคะแนนเสียงข้างมาก ต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกเสียง และต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น(ร่างมาตรา 6)

ฉบับพรรคเพื่อไทย หาข้อยุติได้ขอแค่เสียง “YES/NO” เยอะกว่า “งดออกเสียง”

รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอร่าง ชี้แจงหลักการและเหตุผลโดยมีสาระสำคัญ ให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13 กำหนดให้ “การออกเสียงให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จะจัดทำประชามตินั้น” ตัดเงื่อนไขข้อแม้เรื่องจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกและตัดเงื่อนไขเรื่องคะแนนเสียงที่ชนะต้อง “เกินกึ่งหนึ่ง” ออกไปด้วย

ฉบับพรรคก้าวไกล หาข้อยุติได้ต้องเห็นชอบ “เกินกึ่งหนึ่ง” ของผู้มาออกเสียง และต้องมากกว่าเสียง
“ไม่แสดงความคิดเห็น”

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่าง ชี้แจงหลักการและเหตุผลโดยมีสาระสำคัญ ให้แก้ไขมาตรา 13 กำหนดให้ “การออกเสียงจะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น” กล่าวโดยสรุปคือจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดจำเป็นต้องมีคะแนนเสียงฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ไปใช้สิทธิออกเสียง

ฉบับพรรคภูมิใจไทย หาข้อยุติได้ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ “เกินกึ่งหนึ่ง” ของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีเสียง “YES/NO” เยอะกว่า “งดออกเสียง”

ภราดร ปริศนานันทกุล สส. พรรคภูมิใจไทยและในฐานะตัวแทนของผู้เสนอร่าง อภิปรายหลักการและเหตุผลโดยมีสาระสำคัญ ให้แก้ไขมาตรา 13 กำหนดให้ “การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น” 

อย่างไรก็ดี ภราดร กล่าวว่าร่างของพรรคภูมิใจไทยมีความแตกต่างจากร่างอื่นๆ เนื่องจากได้เพิ่มการออกเสียงประชามติประเภท “เพื่อให้คำปรึกษาแก่ ครม.” ด้วยการกำหนดว่า “การออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ” ในช่วงท้ายของการประชุม ก่อนที่จะมีการลงมติ ภราดร ขึ้นมาอภิปรายอีกครั้งโดยกล่าวว่า พริษฐ์ วัชรสินธุ อธิบายร่างของพรรคภูมิใจไทยไม่ถูกต้อง

โดยร่างของพรรคภูมิใจไทยนั้นกำหนดแค่ “เกณฑ์ชั้นบน” ที่เป็นเงื่อนไขว่าผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจะต้องมาใช้สิทธิ “เกินกึ่งหนึ่ง” ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดแต่ “เกณฑ์ชั้นล่าง” ที่วัดทิศทางความเห็นนั้นไม่ได้กำหนดให้ต้องมีเสียง “เกินกึ่งหนึ่ง” เพียงแต่ต้องเป็นเสียงข้างมากของผู้ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเท่านั้นร่างที่เสนอโดยสส. พรรคภูมิใจไทยจึงไม่ใช่ “Double majority” 

ร่างสี่ฉบับเห็นตรงกันในหลักการ ให้ทำประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้งได้

พริษฐ์ วัชรสินธุ กล่าวว่าประเด็นที่ร่างทุกฉบับเสนอแก้ไขไปในทิศทางเดียวกัน คือ การกำหนดให้สามารถทำประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้งได้เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับประชาชน ทั้งในด้านเวลาและงบประมาณและได้กล่าวเสริมว่าแท้จริงแล้วในประเด็นนี้กฎหมายฉบับปัจจุบันไม่ได้มีการกำหนดห้ามไว้ แต่เมื่อสองปีที่แล้ว สส.
พรรคก้าวไกลเคยนำเสนอญัตติในสภาผู้แทนราษฎร เสนอให้จัดทำประชามติครั้งที่หนึ่งเกี่ยวกับการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันเดียวกันกับวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ย้อนกลับไปในการประชุมครั้งนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนเห็นชอบให้สามารถทำได้ แต่เมื่อไปถึงขั้นวาระพิจารณาของวุฒิสภา ญัตติดังกล่าวถูก “ปัดตก” ไป

อย่างไรก็ดี แม้หลักการของร่างทุกฉบับเห็นตรงกันว่าประชามติสามารถทำวันเดียวกับวันเลือกตั้งได้ แต่ก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยร่างที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกลมีเงื่อนไข คือ อยู่ในกรอบ 60-180 วันหลังจากครม. มีมติ หรือ ครม. ได้รับแจ้งจากรัฐสภา ส่วนร่างที่ สส. พรรคเพื่อไทย เสนอมีเงื่อนไขให้ต้องเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นอยู่ครบวาระหรืออยู่ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับวันออกเสียงประชามติ ในส่วนของร่างที่เสนอโดย ครม. มีเงื่อนไขให้ต้องเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นอยู่ครบวาระหรืออยู่ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับวันออกเสียงประชามติ

สุดท้ายนี้ในส่วนของร่างฉบับพรรคภูมิใจไทย กำหนดให้มีการออกเสียงตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภา หรือหากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการทั่วไป หรือมีการกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่น แล้วแต่กรณีให้กำหนดวันออกเสียงเป็นวันเดียวกัน

ก้าวไกลเสนอต่าง ให้ประชาชนเสนอคำถามประชามติออนไลน์ได้ 

จากร่างพ.ร.บ.ประชามติทั้งสี่ฉบับ มีฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ที่มีเสนอแก้ไขมาตรา 11 ให้กรณีที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ เพื่อเสนอคำถามประชามติ สามารถทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

ภัณฑิล น่วมเจิม สส. พรรคก้าวไกล ขึ้นมาอภิปรายสนับสนุนในประเด็นนี้โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ที่การเข้าชื่อที่ประชาชน #conforall จะต้องในเอกสารไปปรินท์เป็นกระดาษและรวบรวมมาห้าหมื่นรายชื่อ เพื่อจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ด้านร่มธรรม ชำนุรักษ์ สส. พรรคประชาธิปัตย์  ก็ได้อภิปรายสนับสนุนในประเด็นเดียวกันนี้โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในประเด็นต่างๆ ได้มากขึ้น

ทางหลายแพร่ง ประชามติต้องมีได้หลายคำตอบ

สหัสวัต คุ้มคง สส. พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนในประเด็นที่ร่างของพรรคก้าวไกลเสนอให้ตัวเลือกคำตอบในประชามติมีกี่ตัวเลือกก็ได้และใช้ข้อความใดๆ ก็ได้ โดยสหัสวัตยกกรณีคำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีกำหนดว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1
บททั่วไปและหมวด 2 พระมหากษัตริย์” มาชวนให้คิดว่าคำถามนี้มีกี่คำตอบ โดยสาระสำคัญแล้วกฎหมายฉบับปัจจุบันกำหนดให้ออกเสียง “เห็นชอบ” และ “ไม่เห็นชอบเท่านั้น” แต่ในคำถามเช่นที่ยกตัวอย่างมานี้ มีคำตอบได้มากถึงสี่ประเด็น ได้แก่

  1. เห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไปและหมวด 2 พระมหากษัตริย์
  2. ไม่เห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ ที่ไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 หรือที่เรียกว่า “แก้ทั้งฉบับ”
  3. ไม่เห็นชอบกับการแก้รัฐธรรมนูญ
  4. ไม่เห็นชอบกับคำถาม

๐ อ่านปัญหาในการออกเสียงเมื่อคำถามประชามติ “ล็อกหมวด 1-2 เพิ่มเติมที่  https://www.ilaw.or.th/articles/6370

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage