ผ่านแล้ว! สว. ชุดพิเศษ ยกมือโหวตเห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม

18 มิถุนายน 2567 วุฒิสภาชุดพิเศษมีวาระประชุมในสมัยวิสามัญ หนึ่งในนั้นมีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระสองและวาระสาม โดยที่ประชุมวุฒิสภามีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 0 เสียง กระบวนการต่อไป คือ นายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สาระสำคัญคือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรสในหลายมาตรา เพื่อรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวจากเดิมที่จำกัดไว้เฉพาะชาย-หญิง เป็นบุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดก็มีสิทธิจดทะเบียนสมรสกันได้ โดยแก้ไขรายละเอียดปลีกย่อยหลายประเด็น อาทิ

การหมั้น : บุคคลสองคนสามารถทำการหมั้นได้ แต่ปรับอายุขั้นต่ำสำหรับบุคลลที่จะทำการหมั้นได้จาก 17 ปี เป็น 18 ปีบริบูรณ์ กรณีที่ยังเป็นผู้เยาว์ มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หากจะทำการหมั้นต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง

การสมรส : บุคคลสองคนสามารถสมรสกันได้ โดยปรับอายุขั้นต่ำที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้จาก 17 ปีเป็น 18 ปีบริบูรณ์ ยกเว้นจะมีเหตุอันสมควร เช่น มีครรภ์ก่อนอายุ 18 ศาลอาจอนุญาตให้สมรสก่อนนั้นได้ ทั้งนี้ กรณีที่ยังเป็นผู้เยาว์ มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หากจะทำการหมั้นต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง

กฎหมายสมรสเท่าเทียม จะส่งผลต่อสิทธิหน้าที่ของคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกัน เช่น การจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดู สิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม

อย่างไรก็ดี หากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศใช้แล้ว ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที โดยในมาตรา 2 ของร่างกฎหมาย ระบุว่า ให้กฎหมายใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หมายความว่า หากผู้ที่มีเพศกำหนดในทะเบียนราษฎรเป็นเพศเดียวกัน ประสงค์จะไปจดทะเบียนสมรส จะยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ทันทีในวันที่กฎหมายประกาศใช้ ต้องรอให้พ้นช่วง 120 วันไปก่อน ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ จึงจะไปจดทะเบียนสมรสกันได้

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage