จับตาประชุมสภา พิจารณาแก้พ.ร.บ.ประชามติฯ ปลดล็อกเงื่อนไข “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” ให้ประชามติผ่านง่ายขึ้น


18 มิถุนายน 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติสี่ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญคือการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) ในประเด็น “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” (Double majority) ที่อาจเป็นเงื่อนไขในการทำประชามติไม่ว่าจะเรื่องใด ๆ หาข้อยุติได้ยาก

ตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ กำหนดให้ การทำประชามติจะเป็นที่ยุติได้ จะต้องผ่านสองเงื่อนไข 1) ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง 2) ต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง หากไม่ครบเงื่อนไขทั้งสองชั้นก็จะถือว่าการทำประชามตินั้นไม่สามารถหาข้อยุติได้ ยกตัวอย่างเช่น หากมีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ 1,000,000 คน ประชามติจะ “ผ่าน” ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวน 500,001 คน และมีผู้ออกเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จำนวน 250,001 เสียง 

หลังจากเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติฯ จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคร่วมรัฐบาลโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ และร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติฯ จากพรรคร่วมฝ่ายค้านโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ ได้ถูกส่งมอบให้แก่วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำร่างกฎหมายทั้งสองร่างบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ต่อมา สส. พรรคภูมิใจไทยนำโดยหัวหน้าพรรค ก็ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประชามติฯ อีกฉบับหนึ่ง และวันที่ 11 มิถุนายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีก็ส่งร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าแข่งขันร่วมด้วย

RFD-Watch

ลุ้นสภาผู้แทนราษฎร “รับ/ไม่รับ หลักการ” และร่างฯ ฉบับไหนจะได้ไปต่อ

โดยร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ทั้งสี่ฉบับ พิจารณาในวาระหนึ่งพร้อมกัน แต่ละฉบับมีสาระสำคัญ คือ

ฉบับที่เสนอโดย ครม. เสนอแก้ไขประเด็นสำคัญหลายเรื่อง ได้แก่

1) แก้ไขมาตรา 10-11 ให้สามารถจัดทำประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้งสส. หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นได้

2) แก้ไขมาตรา 12 เพิ่มช่องทางการออกเสียงทางไปรษณีย์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่รายละเอียดวิธีการให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนด

3) แก้ไขมาตรา 13 เปลี่ยนหลักเกณฑ์ “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” เพื่อจะให้ประชามติผ่านได้โดยอาศัยเสียงเห็นชอบ “เกินกึ่งหนึ่ง” ของผู้มาออกเสียง และต้องมากกว่าเสียง “ไม่แสดงความคิดเห็น”

4) แก้ไขมาตรา 16 ให้กกต. มีหน้าที่จัดเวทีแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันระหว่างผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบ

ฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไขประเด็นสำคัญหลายเรื่อง ได้แก่

1) แก้ไขมาตรา 13 ให้เปลี่ยนข้อความเป็น “การออกเสียงให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จะจัดทำประชามตินั้น” ซึ่งเป็นการตัดข้อแม้เรื่องจำนวนผู้มาใช้สิทธิออก และตัดข้อแม้เรื่องคะแนนเสียงที่ชนะต้อง “เกินกึ่งหนึ่ง” ออกไปด้วย

2) แก้ไขมาตรา 10-11 ให้สามารถจัดทำประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้งสส. หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นได้

3) แก้ไขมาตรา 12 เพิ่มช่องทางการออกเสียงทางไปรษณีย์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่รายละเอียดวิธีการให้ กกต. เป็นผู้กำหนด

4) แก้ไขมาตรา 16 ให้กกต. มีหน้าที่จัดเวทีแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันระหว่างผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบ

ฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล เสนอแก้ไขประเด็นสำคัญหลายเรื่อง ได้แก่

1) แก้ไขมาตรา 13 ให้ใช้ประโยคว่า “การออกเสียงจะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น” แทนประโยคเดิมหมายความว่า ร่างฉบับนี้ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำของผู้มาใช้สิทธิจากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมดเอาไว้ แต่ก็ยังกำหนดเงื่อนไขว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดจำเป็นต้องมีคะแนนเสียงฝั่งใดฝั่งหนึ่งที่มีคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิทั้งหมด

2) แก้ไขมาตรา 10-11 และเพิ่มมาตรา 9/1 ให้สามารถจัดทำประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้งสส. หรือการเลือกตั้งท้องถิ่น

3) แก้ไขมาตรา 18 ให้เปลี่ยนการกำหนดเขตออกเสียงประชามติ

4) แก้ไขมาตรา 11 ให้มีการเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติผ่านช่องทางออนไลน์

5) แก้ไขมาตรา 11 และ 14 ให้ตัวเลือกคำตอบในประชามติมีกี่ตัวเลือกก็ได้และใช้ข้อความใดๆ ก็ได้

ฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคภูมิใจไทย เสนอแก้ไขประเด็นสำคัญหลายเรื่อง ได้แก่

1) แก้ไขมาตรา 13 ให้แบ่งการทำประชามติออกเป็นสองประเภท คือ ประชามติที่ต้องมีข้อยุติกับประชามติเพื่อปรึกษาหารือ โดยการออกเสียงประชามติประเภท “เพื่อให้คำปรึกษาแก่ ครม.” ไม่ต้องอาศัยเสียงข้างมากสองชั้น ไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนผู้มาใช้สิทธิ ไม่ต้องคำนึงถึงบัตรเสียและเสียงไม่แสดงความคิดเห็น ให้ถือเอา “เสียงข้างมาก” ของผู้มาออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็เพียงพอ แต่สำหรับการออกเสียงประชามติที่ต้องมีข้อยุติยังคงหลักการ “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” (Double majority) เอาไว้อยู่

2) แก้ไขมาตรา 10-11 ให้สามารถจัดทำประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้งสส. หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นได้

3) แก้ไขมาตรา 16 ให้กกต. มีหน้าที่จัดเวทีแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันระหว่างผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบ

ข้อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติฯ จากร่างทั้งสี่ฉบับมีประเด็นสำคัญที่เห็นตรงกัน คือ การแก้ไขให้สามารถจัดทำประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้งสส. หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ รองลงมาคือการยกเลิกระบบ “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” (Double majority) เห็นได้ชัดเจนว่าร่างทุกฉบับล้วนเน้นการลดเงื่อนไข ยืดหยุ่นและสร้างความเป็นธรรมให้มากขึ้น ซึ่งร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ เหล่านี้จะตรงต่อสนามการทำ “ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ตามมติของคณะรัฐมนตรี มีโอกาสที่จะผ่านง่ายขึ้นหรือไม่นั้นต้องจับตาดูในการพิจารณาวาระหนึ่ง ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะมีมติ “รับหลักการ” ร่างฉบับใดบ้าง

๐ อ่านเทียบร่างแก้พ.ร.บ.ประชามติฯ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/39186

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage