การเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ที่กำลังดำเนินอยู่และเข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกระดับประเทศในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 กำลังเป็นที่จับตาของสังคม อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่จากประชาชนทั่วไปเท่านั้นแต่ยังเป็นที่สนใจของสว.ชุดพิเศษ 250 คนที่หมดวาระไปแล้วแต่ยังทำหน้าที่รักษาการอยู่อีกด้วย
แต่ความคิดเห็นของสว.ชุดพิเศษ ต่อกระบวนการเลือกสว. ชุดใหม่ก็ไม่ได้มีเพียงกระแสเดียว แต่มีทั้งเสียงที่ต้องการให้การจัดเลือกสว. ชุดใหม่ลุล่วงไปได้ด้วยดี และเสียงที่ต้องการให้มีการเลื่อนการเลือกสว. ชุดใหม่ออกไปก่อน
กระแสความคิดเห็นของสว.ชุดพิเศษเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับกรณีที่ศาลปกครองส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.สวฯ มีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 และกำลังจะพิจารณาลงมติในวันที่ 18 มิถุนายน 2567
“ถ้าไม่มีเหตุให้เลื่อน กกต. ต้องจัดให้เลือกตามกฎหมาย” เสียงสว.ชุดพิเศษ ฝั่งไม่ขวางการเลือก สว.67
วันที่ 10 มิถุนายน 2564 เสรี สุวรรณภานนท์ สว.ชุดพิเศษ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สัมภาษณ์หลังมีการประชุม กมธ. ว่า การแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการเลือกสว. ชุดใหม่ต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจากกฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก้าวก่ายหรือแทรกแซงกระบวนการการเลือก อย่างไรก็ตามเสรีระบุว่า ถ้าไม่มีเหตุใดต้องทำให้การเลือกสว. ต้องเลื่อนออกไป กกต. ก็ต้องจัดให้การเลือกเกิดขึ้นจนเสร็จสิ้นตามกฎหมาย ซึ่งเขาระบุว่าปัจจุบันเหตุเดียวที่พูดถึงคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังจะลงมติในวันที่ 18 มิถุนายน 2567
ก่อนหน้านี้ที่ กกต. เตรียมพิจารณาว่าจะต้องเลื่อนการเลือกสว. หรือไม่ เสรีก็เป็นสว.ชุดพิเศษ ที่ออกมาส่งเสียงเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ให้ กกต. ไม่เลื่อนการเลือกออกไป
“กรณีที่กกต.จะเลื่อน อาจเกิดความขัดแย้งของคนจำนวนมากที่เห็นไม่ตรงกัน ดังนั้น ผมมองว่ากกต.ควรเดินหน้า จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย”
เสรีตอบเช่นนี้เพราะมองว่าจะเกิดความเสียหายด้านงบประมาณและกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน พร้อมย้ำว่า กกต. ต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนจึงตัดสิน ทำให้เสรีเป็นหนึ่งในสว.ชุดพิเศษ คนหนึ่งที่สนับสนุนให้ไม่เกิดการเลื่อนการเลือกออกไป
ด้านวันชัย สอนศิริ ระบุว่า การเลือกสว. ชุดนี้แม้จะทำให้ได้ “สว.มีสี” หรือ “สว.บ้านใหญ่” แต่ก็เกิดขึ้นในกติกาที่เชื่อว่าพยายามเป็นกลางทางการเมืองและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอย่างแท้จริง จึงอยากให้ลองดูผลลัพธ์ หากไม่พอใจผลลัพธ์ก็ต้องรอติดตามและไปแก้ไขกติการเลือกสว. ใหม่อีกครั้งในรัฐธรรมนูญภายหลัง
ทั้งนี้วันชัยยังเป็นผู้ที่แสดงความต้องการที่จะเห็นสว.ชุดใหม่ เข้ามาในบทบาทของการหยุดยั้งการทำรัฐประหาร
“คำวินิจฉัยของ กกต. ถือเป็นที่สิ้นสุด เพราะแต่ละขั้นตอนถ้าคำวินิจฉัยไม่ถึงที่สิ้นสุดแล้วมันจะเดินต่อไปในระดับจังหวัด ระดับประเทศไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมมองไม่เห็นเลยว่ามันมีอะไรเป็นอุปสรรค เป็นปัญหา เว้นแต่ภูเขาไฟระเบิด เกิดสงคราม น้ำท่วม ถ้าเป็นเรื่องปกติผมไม่เห็นอะไรที่ทำให้ใครขวางกั้นได้ เพราะครบสองร้อยคนก็ประกาศ ใครจะไปร้องไปฟ้องก็ว่ากันต่อไป คนไหนผิดก็สอยกันไปทีละคนสองคน”
“เลื่อน ล้ม แล้วเลือกใหม่” เสียงสว.ชุดพิเศษ ที่ไม่ต้องการให้การเลือกสว.67 สำเร็จในตอนนี้
สมชาย แสวงการ สว.ชุดพิเศษ เป็นหนึ่งในคนที่ออกมาเรียกร้องให้ กกต. ตรวจสอบการเลือกสว.67 ตั้งแต่ยังไม่เริ่มการเลือกระดับอำเภอ โดยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 เขาให้สัมภาษณ์ว่า มีรายชื่อของผู้ที่จะทำการฮั้วคะแนนหลุดออกมาทั้งสิ้น 149 รายชื่อ พร้อมระบุว่ามีการซ้อมเขียนบัตร เตรียมขนคนไปลงคะแนนในหลายพื้นที่ พร้อมเตือน กกต. ว่าอาจจะถูกดำเนินคดีข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ อย่างไรก็ตาม รายชื่อ 149 คนของสมชายได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นเพียงรายชื่อของผู้สมัครที่ลงสมัครในกลุ่มหรืออำเภอที่มีผู้สมัครน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ วันที่ 7 มิถุนายน 2567 สมชายยังโพสต์ผ่านเฟสบุ๊กว่า “ข่าวล่าสุด ขบวนการฮั๊วเลือกสว เร่งกดดันหนักไม่ให้กกเลื่อน เหตุเพราะ #ลงทุนมาก #ฮั้วเสร็จแล้ว #กลัวฮั้วแตก #กกตมีหน้าที่ #อย่าขี้ลืม #งานนี้ติดคุก10ปีถ้วนทั่ว” หลัง กกต. มีมติไม่เลื่อนการเลือกสว. ระดับอำเภอออกไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 หลังการเลือกสว. ระดับอำเภอผ่านไปแล้ว สมชายได้ออกมาเรียกร้องให้ กกต. แสดงความตั้งใจจริงตรวจสอบกระบวนการเลือกทั้งหมด เนื่องจากสมชายยืนยันว่ามีการทุจริตจัดตั้ง อีกทั้งยังตั้งข้อสงสัยว่ากระบวนการเลือกสว. นี้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะสมชายเชื่อว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้มีเจตนารมณ์ให้ประชาชนสมัครเข้ามาเพื่อลงคะแนนให้คนอื่น
“ถ้าศาลรัฐธรรมนูญท่านได้กรุณาเชิญผู้ที่สอบตกทั้งหมดมาไต่สวน เชิญผู้สมัครที่รู้สึกว่าถูกโกง กับผู้สมัครที่ได้ศูนย์คะแนน จะเห็นปรากฎการณ์เลยครับว่ามันเข้าข่ายการทุจริต การฮั้วสว.“
ไม่ได้มีแค่สมชายที่เรียกร้องให้ กกต. ใช้อำนาจมากขึ้น จรุงวิทย์ ภุมมา สมาชิกวุฒิสภา กมธ.กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้ระบุไว้หลังการประชุม กมธ. เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ว่า กกต. สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.ป.สวฯ มาตรา 59 สั่งให้ยกเลิกกระบวนการเลือกสว. แล้วสั่งให้มีการเลือกใหม่ได้หากมีเหตุควรสงสัยว่ากระบวนการไม่สุจริต ทั้งนี้จรุงวิทย์ระบุชัดเจนว่า กกต. ไม่จำเป็นต้องรอให้การเลือกสว. ระดับประเทศสิ้นสุดลงก็สามารถสั่งได้ และ พ.ร.ป.สวฯ ถือเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าระเบียบ กกต. เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ควรนำไปใช้แก้ไขปัญหาคุณสมบัติผู้สมัครและปัญหาที่อาจจะกำลังเกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ด้านดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวเช่นกันว่า กกต. ควรใช้อำนาจในการสอบสวนผู้สมัครสว. ระดับอำเภอที่ได้ศูนย์คะแนน เนื่องจากมองว่าอาจจะสามารถสืบไปถึงผู้บงการฮั้วคะแนนกันได้ รวมทั้งควรตรวจสอบใบสมัครและเอกสารหลักฐานการสมัครใหม่อีกครั้งว่ามีความเท็จหรือไม่ และการตรวจสอบผลการใช้สิทธิของผู้ทำผิด นั้นควรพิจารณาว่ากระทบหรือส่งผลต่อการเลือกและการประกาศผลหรือไม่ หรือมีผลสมบูรณ์หรือต้องเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนหรือไม่
ด้วยเหตุข้างต้น ดิเรกฤทธิ์จึงมั่นใจว่า กกต. จะไม่สามารถประกาศผลการเลือกสว. ภายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ตามไทม์ไลน์เดิมได้ เพราะเชื่อว่ากระบวนการเลือกมีปัญหาทั้งด้านกติกาและการบังคับใช้ ปล่อยให้คนที่ไม่ใช่ผู้สมัครสามารถสมัครมาเลือกผู้อื่นได้ ปล่อยให้ผู้อื่นช่วยแนะนำตัวผู้สมัคร และปล่อยให้มีกลุ่มการเมืองเข้ามาจัดตั้งคนมาสมัคร
ทั้งนี้ ทั้งดิเรกฤทธิ์และสมชายต่างก็ปรากฏชื่อเป็นหนึ่งใน 40 สว. ที่เข้าชื่อกันยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อปลดเศรษฐา ทวีสินออกจากตำแหน่งนายรัฐมนตรี กรณีตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี