จับตาประชุมวุฒิสภา 18 มิ.ย. 67 โค้งสุดท้าย สว.ชุดพิเศษนัดโหวต #สมรสเท่าเทียม วาระสาม

18 มิถุนายน 2567 วุฒิสภาชุดพิเศษมีวาระประชุมในสมัยวิสามัญ หนึ่งในนั้นมีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยเป็นการพิจารณาในวาระสอง ลงมติรายมาตรา และวาระสาม ลงมติเห็นชอบ หลังจากวุฒิสภารับหลักการในวาระหนึ่งไปเมื่อ 2 เมษายน 2567 และตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายในรายละเอียด

โดยในชั้นกมธ. กมธ. ข้างมากไม่ได้ปรับเปลี่ยน แก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วแต่อย่างใด แต่ก็มี สว. ที่เสนอแก้ไขถ้อยคำในแต่ละมาตราให้แตกต่างจากร่างที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมา อาทิ พ.ต.ท. ศานิตย์ มหถาวร ที่เสนอให้แก้ไขคำว่า “คู่สมรส” เป็นคำว่า “คู่ชีวิต” และเสนอแก้อายุขั้นต่ำในการสมรสจากที่ร่างฉบับผ่านสภาผู้แทนราษฎรกำหนดไว้ที่อายุ 18 ปีเป็น 20 ปี อย่างไรก็ดี สุดท้ายเนื้อหาจะเป็นอย่างไร วุฒิสภาจะเปลี่ยนแปลงเนื้อหาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้ต่างจากร่างฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการลงมติรายมาตราในวาระสอง

หากวุฒิสภาไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และลงมติเห็นชอบในวาระสามเลย กระบวนการต่อไปก็คือนายกรัฐมนตรีจะต้องนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ดี หากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ทันที โดยในร่าง มาตรา 2 ระบุว่า ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งการกำหนดระยะเวลาไว้เช่นนี้ เพื่อให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีเวลาเตรียมการปรับปรุงแก้ไข เตรียมการระบบต่างๆ

ดังนั้น ผู้ที่มีเพศกำหนดในระบบราษฎรเป็นเพศเดียวกัน หากจะไปจดทะเบียนสมรส ต้องรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลัง 120 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

อย่างไรก็ดี หากวุฒิสภาแก้ไขร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ร่างกฎหมายก็จะยังไม่เข้าสู่กระบวนการประกาศใช้ จะต้องส่งร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วไปยังสภาผู้แทนราษฎร

ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยกับการแก้ไข ก็นำสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย ให้ตั้ง “คณะกรรมาธิการร่วม” ของสองสภาขึ้นมาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง โดยกรรมาธิการมีจำนวน สส. และ สว. เท่ากัน เมื่อกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้วให้เสนอต่อทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ถ้าสภาทั้งสองเห็นชอบด้วย ก็นำสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน ซึ่ง สส. อาจยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หลัง 180 วัน โดยอาจยืนยันร่างเดิม หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาก็ได้

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage