สังเกตการณ์สว. รอบจังหวัดตอบรับชัดเจนกว่าอำเภอ อยุธยา-เชียงใหม่ครองแชมป์ตอบรับไว 

เข้าไม่ได้ มองไม่เห็น ไม่ได้ยินเสียง คือสถานการณ์ของผู้สังเกตการณ์ไอลอว์ส่วนใหญ่ที่ไปสังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับอำเภอเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 การเลือกสว.ชุดใหม่นี้จะมีกระบวนการในสามรอบหลัก ซึ่งกระจายความรับผิดชอบไปในสามส่วน คือ ระดับอำเภอ เป็นความรับผิดชอบของท้องถิ่นอย่างอำเภอและเขต ระดับจังหวัด เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและระดับประเทศ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขณะที่พ.ร.ป.สว.ฯ ไม่ได้มีการกล่าวถึงหรือประกันสิทธิว่าด้วยการสังเกตการณ์ไว้ หากเปิดช่องไว้ในมาตรา 37 กำหนดให้กรรมการการเลือกตั้ง หรือผู้อำนวยการการเลือกแต่ละระดับพิจารณาอนุญาตให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้สมัครเข้าไปในสถานที่เลือกได้ เราคาดการณ์แต่แรกว่า หากประสานงานการสังเกตการณ์กับผู้อำนวยการการเลือกแต่ระดับหรือแต่ละแห่งจะเป็นเหตุให้เกิดการใช้ดุลพินิจไม่มีมาตรฐาน จึงเลือกที่จะทำหนังสือขอสังเกตการณ์ถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เป็นองค์กรหลักในการจัดการเลือกสว.  

อย่างไรก็ตามจากหนังสือตอบกลับคำขอพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ไอลอว์เข้าสังเกตการณ์ภายในสถานที่เลือกได้นั้นกลับใช้ถ้อยคำกว้างๆ เป็นเชิงประสานงานและไม่สั่งการ ระบุว่า แจ้งให้สำนักงานกกต.จังหวัดประสานผู้อำนวยการเลือกจัดสถานที่สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ทำให้ในการเลือกระดับอำเภอผู้ปฏิบัติงานตีความอนุญาตสังเกตการณ์และจัดพื้นที่สังเกตการณ์อย่างหลากหลาย และไม่ได้คำนึงถึงแก่นแท้ของการสังเกตการณ์ที่จำเป็นจะต้องเห็นประจักษ์ชัดในรายละเอียดต่างๆ เช่น การดำเนินการของกรรมการประจำสถานที่เลือกไม่ว่าจะการติดประกาศ การจัดผังสถานที่ไปจนถึงการนับคะแนน  ในวันดังกล่าวสถานที่เลือกบางแห่งกว้างขวางเพียงพอให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปในสถานที่เลือกได้แต่กลับเข้าไม่ได้ต้องดูจอโทรทัศน์ถ่ายทอดสดที่มีแต่ภาพ จะฟังเสียงต้องเดินไปเงี่ยหูฟังใกล้ๆ ได้ศัพท์บ้างไม่ได้ศัพท์บ้าง บางแห่งลากลำโพงออกมาให้ผู้สังเกตการณ์ฟังแต่ก็ไม่ได้ชัดเจนตลอดกระบวนการ ขณะที่บางแห่งใช้ดุลพินิจให้เข้าไปได้และอำนวยความสะดวกในการเลือกตลอดกระบวนการ

ถอดบทเรียนรอบอำเภอ รอบจังหวัดทดสอบพื้นที่สังเกตการณ์อีกครั้ง

ก่อนหน้าการเลือกระดับจังหวัดไอลอว์จึงทำหนังสือขอสังเกตการณ์ล่วงหน้าไปที่สำนักงานกกต.ประจำจังหวัดอีกครั้งในสิบจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ ขอนแก่น สตูล จันทบุรี บุรีรัมย์ และเชียงใหม่ ระหว่างนี้ไอลอว์และเครือข่ายที่ทำงานสังเกตการณ์การเลือกสว.จัดเวทีสาธารณะว่าด้วยปัญหาในการสังเกตการณ์การเลือกสว. ไล่เลี่ยกันวันที่ 15 มิถุนายน 2567 เลขาธิการกกต.ทำหนังสือเวียนเรื่อง แนวทางปฏิบัติในการสังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภาระบุว่า ได้รับข้อสังเกตจากเครือข่ายผู้สังเกตการณ์การเลือกสว.ระดับอำเภอเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานกกต. ประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานครในฐานะผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดพิจารณาอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์และประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตการณ์การเลือกในบริเวณที่มองเห็นสถานที่เลือกโดยรวม ใกล้ชิดสถานที่เลือกและลดการร้องเรียนที่อาจจะเกิดขึ้น 

ตามหนังสือขอสังเกตการณ์ของไอลอว์ทั้งสิบจังหวัดนั้นมีคำขอหลักสองข้อคือ ขอสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดภายในสถานที่เลือกไม่ใช่การสังเกตการณ์ผ่านจอโทรทัศน์ด้านนอกเพื่อประโยชน์ในการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์และขอให้ตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2567 โดยสำนักงานกกต.แต่ละจังหวัดมีวิธีการอำนวยความสะดวกและการตอบกลับหนังสือคำขอที่แตกต่างออกไป

หลายจังหวัดเปิดช่องทางออนไลน์ให้ยื่นคำขอสังเกตการณ์

กระบวนการสังเกตการณ์สว.ของไอลอว์เริ่มจากการเลือกจังหวัดที่มีทั้งจำนวนผู้สมัครผ่านเข้ารอบจังหวัดจำนวนมาก เช่น กรุงเทพมหานคร บุรีรัมย์และเชียงใหม่ และจำนวนน้อย เช่น สตูลและจันทบุรี จากนั้นไอลอว์ได้ทำหนังสือขอสังเกตการณ์และแนบแบบคำขอสังเกตการณ์สว.ที่สำนักงานกกต.กำหนดไว้เพื่อยื่นต่อสำนักงานกกต.จังหวัดนั้นๆ โดยมีการโทรศัพท์สอบถามสำนักงานกกต.จังหวัดแต่ละแห่งล่วงหน้าเพื่อสอบถามวิธีการยื่นหนังสือขอสังเกตการณ์ และแจ้งข้อจำกัดเนื่องจากไอลอว์ใช้เจ้าหน้าที่ของไอลอว์ที่ประจำอยู่กรุงเทพมหานครไปสังเกตการณ์จึงมีความลำบากหากต้องเดินทางไปยื่นหนังสือก่อนล่วงหน้า พบว่า หลายจังหวัดอำนวยความสะดวกให้ยื่นหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา นครสวรรค์ สตูลและบุรีรัมย์ ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ต้องไปยื่นหนังสือที่สำนักงานกกต.จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา และขอนแก่น ส่วนจันทบุรี เจ้าหน้าที่สำนักงานกกต.จังหวัดระบุว่า สามารถนำหนังสือขอหนังสือสังเกตการณ์มายื่นวันที่เลือกระดับจังหวัดได้เลย

อยุธยาเชียงใหม่ชนะเลิศตอบกลับรวดเร็ว ส่วนกทม.ปฏิเสธไม่ให้เข้าอ้างข้อจำกัดสถานที่

ตามที่ไอลอว์ได้ขอให้สำนักงานกกต.จังหวัดตอบกลับผลพิจารณาการให้เข้าสังเกตการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2567 มีแปดจังหวัดที่ตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ นครสวรรค์ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา บุรีรัมย์สตูลและขอนแก่น โดยในเนื้อหามีความหนักแน่นเรื่องพื้นที่การสังเกตการณ์แตกต่างกันออกไป แต่พิจารณารายละเอียดแวดล้อมอื่นๆประกอบถือได้ว่า การตอบกลับของสำนักงานกกต.จังหวัดมีความชัดเจน หนักแน่นต่างกัน แต่มีแนวโน้มเปิดให้เข้าสังเกตการณ์ได้มากกว่าการเลือกในระดับอำเภอ ดังนี้ (เรียงตามลำดับเวลาการตอบกลับและดูตารางประกอบ)

  • พระนครศรีอยุธยา – ผู้อำนวยการฯ ระบุว่า จะให้ผู้สังเกตการณ์จากไอลอว์และจากสังกัดอื่นๆเข้าไปสังเกตการณ์ในสถานที่เลือก พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ไอลอว์ชี้จุดที่ต้องการสังเกตการณ์ไว้ด้วย โดยผู้อำนวยการฯจะทำหนังสือตอบรับทันที แต่ต้องรอระยะหนึ่ง เนื่องจากเป็นเวลาเย็นแล้วเจ้าหน้าที่ไอลอว์จึงขอว่า จะไปรับหนังสือตอบกลับการสังเกตการณ์ในวันเลือกระดับจังหวัดเลย
  • เชียงใหม่ – ผู้อำนวยการฯ ตอบกลับผ่านจดหมายว่า ยินดีที่จะให้ผู้สังเกตการณ์เข้าสังเกตการณ์ในสถานที่เลือกและไม่ให้กระทำการในลักษณะที่เป็นการกระทบหรือเป็นอุปสรรคระหว่างดำเนินการเลือก โดยสำนักงานกกต.จังหวัดเชียงใหม่ได้เผยแพร่แผนผังสถานที่เลือกจัดบริเวณไว้สำหรับการสังเกตการณ์ภายในสถานที่เลือกอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมีการประกาศให้ประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกด้วย
  • นครสวรรค์ – ผู้อำนวยการฯตอบกลับผ่านจดหมายว่า ได้จัดเตรียมสถานที่ให้เข้าสังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัด แต่ไม่ได้ระบุบริเวณว่า เป็นภายในสถานที่เลือกหรือไม่
  • สมุทรปราการ – ผู้อำนวยการฯตอบกลับผ่านจดหมายว่า อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์จากไอลอว์เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกสว.ระดับจังหวัดที่บริเวณที่จัดให้สำหรับผู้สังเกตการณ์การเลือกแต่ไม่สามารถเข้าไปในบริเวณที่คณะกรรมการประจำสถานที่เลือกปฏิบัติหน้าที่ในการลงคะแนนได้ โดยผู้ประสานงานส่งภาพประกอบมาชี้ให้เห็นว่า พื้นที่สำหรับการสังเกตการณ์อยู่ภายในสถานที่เลือกไม่ห่างจากบริเวณที่ใช้ลงคะแนนเสียงนัก
  • ฉะเชิงเทรา – ผู้อำนวยการฯตอบกลับผ่านจดหมายว่า ดำเนินการจัดบริเวณให้ผู้สังเกตการณ์อยู่ภายนอกแนวกั้นเขตสถานที่เลือก และไม่อนุญาตให้เข้าไปในบริเวณที่คณะกรรมการประจำสถานที่เลือกปฏิบัติหน้าที่ในการลงคะแนนเนื่องจากอาจมีผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ สำหรับบริเวณในการสังเกตการณ์เป็นบริเวณเดียวกันกับผู้ช่วยเหลือปฏิบัติงานและสังเกตการณ์การเลือกระดับจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งสามารถมองเห็นการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำสถานที่เลือกได้เป็นอย่างดี
  • บุรีรัมย์ – ผู้อำนวยการฯตอบกลับผ่านจดหมายว่า ได้จัดสถานที่ไว้สำหรับ ผู้ที่สนใจในกระบวนการเลือกโดยสามารถมองเห็นกระบวนการเลือกได้จากจอโทรทัศน์จากภายนอกจำนวน 4 จอ รวมทั้งสามารถสังเกตการณ์ได้ในจุดที่กำหนดไว้ สำหรับสื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปที่สามารถมองเห็น กระบวนการเลือกภายในสถานที่เลือกได้โดยตรงไม่ผ่านจอโทรทัศน์อีก 1 จุด
  • สตูล – ผู้อำนวยการฯตอบกลับผ่านจดหมายว่า ยินดีให้ผู้สังเกตการณ์จากไอลอว์เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัดจังหวัดสตูล ให้อยู่ในบริเวณที่กำหนดและไม่ให้กระทำการในลักษณะที่เป็นการกระทบหรือเป็นอุปสรรคระหว่างดำเนินการเลือก
  • ขอนแก่น – ผู้อำนวยการฯ อาศัยอำนาจตามระเบียบกกต.ว่าด้วยการช่วยเหลือการปฏิบัติงานและการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2562 แต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ไอลอว์เป็นผู้ช่วยเหลือตามระเบียบดังกล่าว โดยให้สังเกตการณ์กระบวนการเลือกและการนับคะแนน

ส่วนกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่กกต.ประจำกรุงเทพมหานครระบุตั้งแต่ตอนที่ยื่นหนังสือขอหนังสังเกตการณ์วา ไม่สามารถให้เข้าไปในสถานที่เลือกเพราะสถานที่เลือกต้องแบ่งเป็นห้องห้าชั้นและให้ผู้สังเกตการณ์ทุกคนอยู่ในห้องหลักที่มีการถ่ายทอดสดที่มีแต่ภาพเท่านั้น ไม่มีเสียงเพราะกลัวถ่ายทอดเสียงจากหลายห้องมาด้วยเสียงจะตีกัน เจ้าหน้าที่จะไม่ปิดประตูห้อง ผู้สังเกตการณ์สามารถไปดูที่หน้าห้องได้แต่ห้ามเข้าห้อง นอกจากนี้เมื่อติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เขาระบุว่า ทางสำนักงานกกต.ประจำจังหวัดกรุงเทพมหานครจะไม่ให้หนังสือตอบกลับเนื่องจากให้ทุกคนเข้าอยู่แล้วแต่ได้แค่บริเวณที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดอนุญาต

จังหวัดช่องทางวันและเวลาที่ยื่นวันและเวลาที่ตอบ
เชียงใหม่อีเมล์10 มิ.ย. 67
เวลา 19.43 น.
11 มิ.ย. 67
เวลา 16.26 น.
นครสวรรค์ไลน์10 มิ.ย.67 
เวลา 19.48 น
14 มิ.ย. 67
เวลา 14.24 น.
สมุทรปราการยื่นด้วยตัวเอง11 มิ.ย. 67
เวลา 11.04 น.
14 มิ.ย. 67
เวลา 17.44 น.
ฉะเชิงเทราไลน์10 มิ.ย. 67 
เวลา 20.04 น.
15 มิ.ย. 67
เวลาประมาณ 18.00 น.
บุรีรัมย์ไลน์11 มิ.ย. 67 
เวลา 17.50 น.
15 มิ.ย. 67
เวลา 20.57 น.
สตูลไลน์10 มิ.ย. 67
เวลา 19.22 น.
15 มิ.ย. 67
เวลา 11.52 น.
ขอนแก่นยื่นโดยผู้รับมอบอำนาจ13 มิ.ย. 6715 มิ.ย. 67
เวลา 12.11 น.
พระนครศรีอยุธยายื่นด้วยตัวเอง12 มิ.ย. 67
เวลาประมาณ 16.15 น.
ตอบทันที
กรุงเทพมหานครยื่นด้วยตัวเอง11 มิ.ย. 67
เวลา 10.45 น.
ไม่ตอบ
จันทบุรี
ตารางสรุปการยื่นขอสังเกตการณ์การเลือกสว.ระดับจังหวัด

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage