13 มิถุนายน 2567 เวลา 15.00 น. เครือข่ายภาคประชาชนนำโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม Thumbrights และเครือข่ายนักกิจกรรมนำโดยสมยศ พฤกษาเกษมสุข ใบปอ-ณัฐนิช และตะวัน-ทานตะวัน จัดกิจกรรมเดินขบวนจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาไปที่ศาลฎีกายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาเพื่อเรียกร้องเรื่องสิทธิการประกันตัว ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีทางการเมือง และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งเดือนที่บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมทะลุวังเสียชีวิต
เวลา 15.00 น. นักกิจกรรมและประชาชนตั้งขบวนที่ด้านหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เดินเท้าถือป้ายข้อความ “นิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง 112”, “สิทธิประกันตัวปล่อยนักโทษทางการเมือง นิรโทษกรรม 112”, “#หยุดคุมขังระหว่างพิจารณาคดี และรูปภาพของบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคมและอานนท์ นำภา ที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ มายังศาลฎีกา โดยมีการหยุดถ่ายภาพที่หน้าป้ายศาลฎีกาฝั่งสนามหลวง และเดินขบวนต่อไปที่ประตูศาลฎีกาอีกฝั่งหนึ่งเพื่อยื่นหนังสือ โดยมีการผลัดเปลี่ยนกันแสดงความคิดเห็น ทำกิจกรรมนั่งไว้อาลัยพร้อมเปิดเพลงนักสู้ธุลีดิน ร่วมกันทำพิธีสงฆ์ อุทิศส่วนกุศล ก่อนจะปิดท้ายด้วยการวางดอกไม้ยังรูปภาพของบุ้ง-เนติพร
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเริ่มอ่านประวัติของบุ้ง “การเสียชีวิตของผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณา หรือผู้ต้องขังที่อยู่ในควบคุมของคำสั่งผู้พิพากษาในคดีอาญา กรณีของบุ้งไม่ใช่การเสียชีวิตของผู้ต้องขังเป็นคดีแรกของไทย แต่การเสียชีวิตของบุ้งน่าจะเป็นการเสียชีวิตของนักโทษทางความคิด อาจจะเป็นคนแรกของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในยุคหรือช่วงเวลาที่เรายืนอยู่กันตรงนี้ ในทางสากลนักโทษทางความคิดที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงในการเรียกร้องและเคลื่อนไหวทางการเมืองย่อมจะต้องไม่ถูกดำเนินคดีอาญาทั้งสิ้น แต่ในสังคมไทยนักโทษทางความคิดผู้แสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองอย่างพวกเราทุกคนตอนนี้มีสิทธิที่จะถูกนำตัวเข้าสู่การขัง ควบคุมตัวโดยคำสั่งของผู้พิพากษาไทยได้ ซึ่งความถดถอยของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของไทยน่าจะต่ำถึงที่สุดที่ทำให้เรามีนักกิจกรรมที่อายุไม่ถึง 30 ปี ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของตัวเองและบุคคลอื่น…”
นอกจากการยื่นจดหมายเปิดผนึกแล้วเครือข่ายยังมีการออกแถลงการณ์เพื่อสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคนระบุว่า
“จากกรณีเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 นั้นไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งขณะถูกคุมขังในเรือนจำ เนติพรได้เสนอข้อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมดและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เธอได้ยืนหยัดในแนวทางที่คิดดังกล่าวจึงอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 110 วันจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 แสดงให้เห็นถึงความอยุติธรรมในระบบที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องให้เกิดสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยในสังคมไทย ปัจจุบันมีนักโทษการเมืองถูกคุมขัง 44 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังที่ไม่รับสิทธิการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีมากถึง 26 คน
นักโทษการเมืองในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือมาตรา 112 เหล่านี้ ไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นประชาชนที่มีความคิดเห็นต่าง พวกเขาเพียงใช้สิทธิการแสดงออกอย่างเสรีตามวิถีประชาธิปไตยด้วยปรารถนาที่จะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มีความก้าวหน้า สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยดังเช่นประเทศที่มีความก้าวหน้า ปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยเคารพกันและกัน ไร้ซึ่งความไม่เป็นธรรม ไร้ซึ่งการกดขี่ผู้อ่อนแอไร้อำนาจ กระนั้นพวกเขากลับถูกยัดเยียดให้มีความผิด เนื่องด้วยมาตรา 112 เป็นกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และปราบปรามประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย การจับคุมขังประชาชนเหล่านี้ จึงแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมและความล้าหลังของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
การที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียังไม่ถึงที่สุด ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยไม่สามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรม เท่ากับเป็นการตัดสินไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดซึ่งละเมิดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง เราจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรม ขอให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน ให้สิทธิประกันตัวและนิรโทษกรรมประชาชนในคดีมาตรา 112 เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ในความบริสุทธิ์ ความยุติธรรม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ไฮเดรับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง และเสมอภาค ลดความขัดแย้งที่กำลังร้อนระอุในปัจจุบัน และเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคมไทย”