ศาลปกครองชี้ผู้สมัครสว. แนะนำตัวได้ไม่เกี่ยงแนวคิด! รีบประกาศจุดยืนบน Senate67 ด่วน

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งมีท่าทีที่ไม่ชัดเจนต่อผู้สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาว่าสามารถแสดงแนวคิด จุดยืน หรือความเชื่อของตัวเองอย่างอิสระในการแนะนำตัวได้หรือไม่ ทำให้ผู้สมัครสว. จำนวนมากยังกังวลถึงบทลงโทษที่อาจจะตามมาหากประกาศจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง อย่างไรก็ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ระบุชัดเจน ผู้สมัครสว. สามารถแนะนำตัวได้อย่างอิสระเสรี!

คำพิพากษาที่ยืนยันความเป็นอิสระของการแสดงแนวคิดของผู้สมัครสว. สำหรับการแนะนำตัว ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาย่อมสามารถระบุเนื้อหาการแนะนำตัวได้อย่างอิสระไม่ว่าในเรื่องคุณวุฒิ ผลงาน รวมทั้งแนวความคิดต่างๆ” ซึ่งหมายความว่าผู้สมัครสว. สามารถเปิดเผยจุดยืนทางการเมืองของตัวเองได้อย่างเต็มที่ 

คำพิพากษาท่อนดังกล่าวนำมาจากคำพิพากษาศาลปกครองฉบับเต็ม หน้าที่ 32 ซึ่งระบุข้อความดังต่อไปนี้

“ส่วนข้อ 7 ที่กำหนดให้ การใช้เอกสารแนะนำตัวของผู้สมัคร ให้ใช้เอกสารไม่เกินขนาด เอ 4  (ขนาด 210 มิลลิเมตร x 297 มิลลิเมตร) สามารถระบุข้อความเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวผู้สมัคร ใส่รูปถ่ายของผู้สมัคร ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครเท่านั้น ไม่เกินสองหน้า และวรรคสอง ที่กำหนดให้ การแจกเอกสารแนะนำตัวตามวรรคหนึ่งจะกระทำในสถานที่เลือกไม่ได้ เห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีผลกระทบต่อเสรีภาพในการแนะนำตัวของผู้สมัคร โดยเป็นการจำกัดจำนวนเอกสารในการแนะนำตัวและจำกัดเนื้อหาการแนะนำตัวได้เพียงเท่าที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำหนด ทั้งที่ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาย่อมสามารถระบุเนื้อหาการแนะนำตัวได้อย่างอิสระไม่ว่าในเรื่องคุณวุฒิ ผลงาน รวมทั้งแนวความคิดต่าง ๆ ทั้งนี้ ไม่เป็นภาระต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแต่อย่างใด การกำหนดดังกล่าวจึงเป็นการสร้างข้อกำหนดที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้สมัครที่เกินความจำเป็นแก่การดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการแนะนำตัวเพื่อให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม”

คดีนี้เริ่มต้นเมื่อ กกต. ออก ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ) สร้างข้อจำกัดสำหรับการแนะนำตัวของผู้สมัครหลังวันที่ 27 เมษายน 2567 เป็นอย่างมาก ทำให้มีผู้ประสงค์ลงสมัครสว. ในขณะนั้นจำนวนหกคนประกอบไปด้วยพนัส ทัศนียานนท์ (นักวิชาการด้านกฎหมาย), ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย (แพทย์), ชลณัฏฐ์ กลิ่นสุวรรณ (พิธีกร), ถนัด ธรรมแก้ว (นักเขียน), ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ (นักร้อง) และนิติพงศ์ สำราญคง ยื่นฟ้องคดีให้เพิกถอนระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ จนทำให้ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ กกต. เพิกถอนระเบียบที่ถูกฟ้องเพราะถือว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังต่อไปนี้

  • เพิกถอน ข้อ 3 นิยาม “การแนะนำตัว” ซึ่งระบุว่า หมายความว่า การบอก ชี้แจง หรือแจกเอสการ เพื่อให้ผู้สมัครอื่นรู้จัก
  • เพิกถอน ข้อ 7 กำหนดรูปแบบการแนะนำตัวแบบเอกสารกระดาษ ต้องไม่เกิดสองหน้ากระดาษเอสี่ และกำหนดว่าการแนะนำตัวในเอกสารผู้สมัคร สว. สามารถใช้ข้อความใดได้บ้าง
  • เพิกถอน ข้อ 8 ตามระเบียบฉบับแรก ซึ่งมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 27 เมษายน ถึง 15 พฤษภาคม 2567 เดิมกำหนดให้การแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เผยแพร่ผ่านผู้สมัครอื่นเท่านั้น
  • เพิกถอน ข้อ 11 (2) ที่กำหนดว่า ระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลบังคับใช้ (11 พฤษภาคม 2567) จนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครและผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัว ที่ประกอบอาชีพทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพ เอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว 
  • เพิกถอน ข้อ 11 (3) ที่กำหนดว่า ระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลบังคับใช้ (11 พฤษภาคม 2567) จนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก ที่กำหนดห้ามแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวาง โปรยหรือติดประกาศในที่สาธารณะ

ด้วยเหตุนี้ ผู้สมัครสว. จึงสามารถประกาศจุดยืนทางการเมืองและแสดงวิสัยทัศน์ผ่าน www.Senate67.com ได้แล้วโดยไม่ต้องกังวลถึงบทลงโทษทางกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนและผู้สมัครคนอื่นสามารถรับรู้ว่าตัวเองมีภาพของสังคมไทยในอนาคตใกล้เคียงกันหรือไม่ และทำให้สามารถตัดสินใจลงคะแนนให้กันและกันด้วยปัจจัยที่มากไปกว่าประวัติการศึกษา ประวัติความสำเร็จ หรือประวัติการทำงาน

ร่วมประกาศจุดยืนทางการเมืองได้แล้วที่: www.Senate67.com

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกสว. ทั้งหมดได้ที่: https://www.ilaw.or.th/articles/16805

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage