เสียงจากผู้สมัคร สว. 67 ที่ไม่เข้ารอบ แชร์ประสบการณ์-ปัญหาตอนเลือกระดับอำเภอ

11 มิถุนายน 2567 ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่าย senate 67 ร่วมกันจัดเวที แถลงปัญหาที่พบหลังการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ระดับอำเภอ เปิดพื้นที่ให้ผู้สมัคร สว. ที่ตกรอบ มาบอกเล่าบรรยากาศในการสมัครและการเลือก รวมถึงแชร์ปัญหาที่ได้พบจากกระบวนการ “เลือกกันเอง” ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เคยมีและไม่เคยใช้มาก่อนในไทยและในโลก และปิดท้ายด้วยวงเสวนา “ติดตามผลและปัญหาการเลือก สว.”

เรียกร้องจัดเลือกสว. ระดับจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ ต้องให้ผู้สังเกตการณ์เข้าสถานที่เลือกได้

เครือข่าย senate67 แถลงปัญหาการเลือกสว. ระดับอำเภอ โดยฉัตรชัย พุ่มพวง จาก Actlab ธีรัตม์ พณิชอุดมพัชร์ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กฤต แสงสุรินทร์ We Watch และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw ดำเนินรายการโดย ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล CALL

สถานการณ์การพิทักษ์สิทธิของผู้สมัคร สว. ตั้งแต่วันรับสมัครจนถึงก่อนวันเลือกระดับอำเภอ ฉัตรชัย พุ่มพวง จาก Actlab ระบุว่า พบกรณีที่ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครและไม่คำสั่งไม่รับสมัครหลายกรณี เช่น กรณีที่ผู้สมัครถูกตีความว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในวันที่รับสมัคร ทั้งๆ ที่ผู้สมัครไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองแล้ว แต่ฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองไม่อัพเดท แต่ก็มีผู้สมัครที่ไปยื่นคำร้องต่อศาลและศาลมีคำสั่งให้รับสมัครเพราะผู้สมัคร สว.

หลังจากช่วงรับสมัคร สว. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่ามีเรื่องร้องเรียน 22 กรณีจากการเลือก สว. 928 อำเภอ กฤต แสงสุรินทร์ We Watch ระบุว่าจำนวนเรื่องร้องเรียนที่ดูน้อย เพราะกฎหมายไม่เอื้อต่อการร้องเรียน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) มาตรา 64 กำหนดให้การคัดค้านการเลือก สว. ต้องทำโดยผู้สมัคร และต้องทำภายในสามวันนับจากวันเลือกแต่ละระดับ อีกทั้งในมาตรา 78 ยังกำหนดโทษสำหรับการกระทำอันเป็นเท็จที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าผู้สมัครผู้ใดฝ่าฝืนพ.ร.ป.สว. ฯ กลายเป็นว่าผู้สมัครที่จะร้องเรียน จะคัดค้านการเลือกโดยไม่เสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย ก็ต้องมีหลักฐานมายืนยันด้วย แต่พ.ร.ป.สว. ฯ ก็ห้ามผู้สมัครนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในสถานที่เลือก ไม่สามารถบันทึกภาพหรือเสียงได้ การจะเก็บหลักฐานจึงไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องหวังหลักฐานจากประชาชนที่ไปสังเกตการณ์ อย่างไรก็ดี ปัญหาที่พบ คือ หลายอำเภอไม่ให้ผู้สังเกตการณ์รวมถึงประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์ในสถานที่เลือก ให้ดูจอถ่ายทอดจากกล้องวงจรปิดมุมกว้างจากนอกสถานที่เลือก ซึ่งไม่สามารถดูรายละเอียดได้ และไม่มีเสียง ไม่ได้ยินว่ากรรมการประจำสถานที่เลือกนับคะแนนถูกต้องหรือไม่

ในการเลือก สว. ระดับอำเภอ 9 มิถุนายน 2567 จากการเก็บข้อมูลโดยผู้สังเกตการณ์และผู้สมัคร สว. ที่แจ้งเรื่องเข้ามา ธีรัตม์ พณิชอุดมพัชร์ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) พบว่า กติกาและแนวปฏิบัติของแต่ละอำเภอไม่เหมือนกัน เช่น การเก็บอุปกรณ์สื่อสารของผู้สมัคร บางอำเภอมีผู้สมัครนำหูฟังไร้สายเข้าไปในสถานที่เลือก ต่อมา คือเรื่องเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร สว. (สว. 3) แต่ละอำเภอปฏิบัติไม่เหมือนกัน บางอำเภอไม่ให้ผู้สมัครนำเอกสารเข้าคูหา บางอำเภอให้ผู้สมัครนำเอกสารเข้าคูหา นอกจากนี้ การจัดการพื้นที่และวลาในการให้ผู้สมัคร สว. แนะนำตัวไม่เหมือนกัน ซึ่งมีผลต่อการทำความรู้จักและการตัดสินใจเลือก การที่แต่ละอำเภอมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกัน มีมาตรฐานแตกต่างกัน ก็ไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครในแต่ละอำเภอ

เครือข่าย senate67 มีข้อเรียกร้องถึง กกต. และผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการเลือก สว. 2567 ดังนี้

1) จัดการเลือกให้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่าในรอบระดับอำเภอ บางอำเภอมีผู้สมัคร สว. น้อย แต่ใช้เวลากับกระบวนการเลือกนาน เช่น เจ้าหน้าที่ซักซ้อมกระบวนการตอนเช้าก่อนเลือกเลย ไฟเสีย เครื่องปรินท์เตอร์ดับ หากเจ้าหน้าที่ดำเนินการช้าด้วยมาตรฐานเฉกเช่นการเลือก สว. ระดับอำเภอที่ผ่านมา ในการเลือกระดับจังหวัด ก็อาจจะใช้เวลานานและไม่ชัดเจนว่าจะแล้วเสร็จภายในเที่ยงคืนของวันเลือกหรือไม่

2) ให้ผู้สังเกตการณ์มีส่วนร่วมได้ เข้าไปในสถานที่เลือกได้ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่ต้องมีส่วนร่วมได้ ในการเลือก สว. ระดับอำเภอ เครือข่าย senate67 ส่งผู้สังเกตการณ์ไปหลายพื้นที่ บางอำเภอผู้สังเกตการณ์ไม่ได้เข้าไปในสถานที่เลือก แม้มีจอถ่ายทอดภาพกล้องวงจรปิด แต่มุมกว้างจนดูไม่ออกเลยว่าเจ้าหน้าที่ขานบัตรดี-บัตรเสียถูกหรือไม่ ดังนั้น จึงควรให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปในสถานที่เลือกได้ และจัดพื้นที่ให้ผู้สังเกตการณ์ไม่ต้องนั่งใกล้ผู้สมัคร แยกห้องน้ำระหว่างผู้สังเกตการณ์กับผู้สมัคร

3) กกต. ควรออกมาแสดงความชัดเจนเรื่องกระบวนการทุกขั้นตอน เช่น การเปิดพื้นที่-กำหนดเวลาให้ผู้สมัครพูดคุยกัน การให้ผู้สมัครนำเอกสารข้อมูลผู้สมัคร (สว.3) เข้าไปในคูหาได้หรือไม่ ที่ผ่านมาระดับอำเภอแต่ละพื้นที่มีแนวปฏิบัติต่างกัน ในทุกพื้นที่ควรมีมาตรฐานในระดับเดียวกัน

บอกเล่าประสบการณ์ ผู้สมัคร สว. ดวงแตก

เสียงจากผู้สมัครกลุ่มศิลปะ อำเภอปากเกร็ด ที่ตกรอบเพราะจับสลากแพ้

เกรียงไกร สันติพจนา ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่ม 16 ศิลปะ วัฒนธรรม ฯลฯ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เล่าประสบการณ์การสมัคร สว. ว่า จริงๆ แล้วถ้าสมัครที่กรุงเทพมหานครจะง่ายกว่าเพราะว่าเขตสัมพันธวงศ์มีคนสมัครน้อย แต่เมื่อคิดในทางคณิตศาสตร์ จังหวัดนนทบุรีมีแค่หกอำเภอ ซึ่งตนมองว่าตรงนี้เป็นจุดได้เปรียบเสียเปรียบ คนที่สมัครในกลุ่มหรืออำเภอที่มีคนสมัครน้อย ก็จะมีโอกาสเข้ารอบไปได้สูงกว่า และมีเพื่อนของเพื่อนบอกว่าจะลงที่อำเภอนี้พอดี ถ้าเข้ามาก็อาจจะช่วยกันได้ เลยเลือกที่จะสมัครอำเภอปากเกร็ด เพราะมีโอกาสเข้ารอบไม่ยาก และอีกเหตุผลที่สมัคร สว. เพราะอยากสังเกตการณ์การเลือกสว. รอบนี้ด้วย เนื่องจากผู้ที่จะมีสิทธิเลือกต้องเป็นผู้สมัคร

ช่วงที่เตรียมตัว ก่อนสมัคร สว. มีช่วงที่เรียกว่าห้องสัมมนา จะมีการนัดคนที่สมัครแต่ละอำเภอให้มาพูดคุยกันในโรงแรม และชวนเข้ากลุ่มไลน์ มีการแนะนำตัวในกลุ่มกันทุกวันเหมือนการส่งข้อความสวัสดีวันจันทร์ และมีผู้สมัครคนอื่นติดต่อพูดคุยมาหลังไมค์ ตรงนี้ไม่ได้ผิดกฎหมายเพราะถ้าผิดกฎหมายมันต้องมีการสัญญาว่าจะให้ สัญญาว่าจะเลือกโดยแลกกับเราเลือกเขา เขาเลือกเรา แต่นอกจากการพูดคุยทางไลน์ ก็มีบางกรณีที่ผู้สมัครคนอื่นโทรมาและคุยให้ “จับบัดดี้” กัน

เกรียงไกรเล่าต่อไปว่า ในวันเลือก สถานที่เลือกของอำเภอปากเกร็ด ผู้สมัครคุยกันสนุก ทุกคนเดินพล่าน สักพักหนึ่งเจ้าหน้าที่ก็ประกาศขอให้ผู้สมัครทุกคนอยู่กับที่ ในขณะที่บางเขตอย่างเขตที่เพื่อนของตนไปสมัคร เจ้าหน้าที่ให้ล้อมวงกันในแต่ละสายที่ไขว้กันให้ได้มารู้จักกัน แต่ผู้สมัครก็รู้จักกันมากก่อนอยู่แล้ว แต่จะตกลงกันอย่างไรไม่อาจทราบได้

สิ่งที่เกิดขึ้นมาในรอบเลือกกันเอง มีผู้ผู้สมัครบางรายได้คะแนนนำโด่ง สมมุติในกลุ่มมี 20 คน มีผู้สมัครประมาณ 10 คนที่เลือกผู้สมัครเบอร์เดียว แล้วผู้สมัครที่เหลือหลายคนก็ “ยืนหนึ่ง” คือ ได้แค่คนละคะแนน ส่วนตนตกรอบเพราะจับสลากแพ้ เนื่องจากในรอบเลือกกันเอง มีผู้สมัครสามคนคะแนนเท่ากัน

“ขอทิ้งไว้นิดหนึ่ง เราคาดหวังว่าเราจะได้สว. แบบไหน เราจะได้ สว. ที่ดวงดีหรือเปล่า หรือเราจะได้ สว. ที่เป็นล็อบบี้ยิสต์” เกรียงไกรกล่าวทิ้งท้าย

เสียงจากผู้สมัครกลุ่มประชาสังคม ชนผู้สมัครสายบุญวัดดังย่านคลองหลวง

พนิดา บุญเทพ ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่ม 17 ประชาสังคม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เล่าประสบการณ์การลงสมัคร สว. ของตนเองว่า ก่อนที่จะตัดสินใจสมัคร ลืมคิดว่าในอำเภอนี้มีวัดชื่อดังแห่งหนึ่ง ต่อมาก็เข้าไปอยู่ในกลุ่มไลน์ของอำเภอคลองหลวง ก็พยายามไปหาว่าใครอยู่กลุ่ม 17 ประชาสังคม มีคนมาแสดงตัวสี่คนรวมตนเองด้วย และก็ทราบว่ารองโฆษกของวัดดังกล่าวลงสมัคร สว. ด้วย

พนิดาเล่าว่า วันที่ไปสมัคร สว. ตอนที่เข้าไปในห้องที่สมัคร มีเพื่อนนั่งรออยู่ข้างนอกเล่าว่า ได้ยินบทสนทนาของกลุ่มผู้สมัครถามกันว่ามารถคันไหน ในความคิดของตน คิดว่าเขาอาจจะไม่ฮั้วก็ได้ อาจจะแค่มาด้วยกัน แต่ก็รู้สึกว่ามันคือสิ่งผิดปกติ ต่อมาวันที่ไปรับเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร (สว. 3) ก็เจอผู้สมัครนั่งถามกันว่า “วันจริงไม่มาได้ไหม” ก็เลยตั้งคำถามว่า มาสมัครแล้วทำไมถึงจะไม่ไปเลือก และในวันนั้น ก็ได้เอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร (สว. 3) มาเฉพาะของผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน ไม่ได้รับเอกสารของผู้สมัครกลุ่มอื่นๆ ในอำเภอคลองหลวง เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลาง ส่งกระดาษเอสี่สำหรับปรินท์และหมึกปรินท์มาไม่พอ

ในกลุ่ม 16 ประชาสังคม มีผู้สมัครทั้งหมด 16 คน มีผู้ที่ทำงานด้านพุทธศาสนา จิตอาสา บำรุงวัด จำนวน 14 คน เหลือพนิดากับผู้สมัครอีกคนที่ทำงานเป็นประธานมูลนิธิที่อยู่อาศัยแห่งประเทศไทย

สำหรับสถานการณ์วันเลือกในระดับอำเภอ พนิดาเล่าว่า บรรยากาศของกลุ่มอึดอัด เกร็ง ผู้สมัครในกลุ่มไม่คุยกันเลยทั้งที่ผู้สมัครกลุ่มอื่นก็คุยกัน ตนก็พยายามคุยกับผู้สมัครคนอื่นๆ ได้คุยกับผู้สมัครคนหนึ่งหนึ่งเขาพูดว่า “เอ้ยน้อง โปรไฟล์น้องดูเป็นคนทำงานประชาสังคมจริงๆ นะเนี่ย” แต่สุดท้ายพอถึงตอนเลือกมันก็มีความอึดอัด

พอคะแนนออก พนิดาและผู้สมัครอีกรายที่เป็นประธานมูลนิธิที่อยู่อาศัยแห่งประเทศไทย ได้คะแนนคนละสองคนคะแนน พนิดาเดาว่าต่างฝ่ายต่างก็เลือกกันเอง ที่เหลือคะแนนก็ไปกองที่ผู้สมัครคนอื่น ได้เจ็ดคะแนน ห้าคะแนน สี่คะแนน ผู้สมัครห้าคนที่ได้เข้ารอบเลือกกันเอง ก็คือผู้ที่ทำงานด้านศาสนา

วันเลือกอำเภอเมืองลพบุรีคึกคัก ผู้สมัครคุยขอคะแนน จดโพยมาแล้วว่าเลือกใคร

พัชรี พาบัว ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่ม 17 ประชาสังคม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ระบุประสบการณ์การสมัคร สว. ของตนเองว่า ส่วนตัวทราบตั้งแต่วันรับสมัครแล้วว่าลพบุรีมีคนไปรับใบสมัครเยอะที่สุดในประเทศไทย กว่า 2,000 ใบ เฉพาะอำเภอเมืองลพบุรี มีผู้สมัครทั้งหมด 277 คน ด้วยความที่ไม่ได้กลับลพบุรีบ่อย ก็ไม่ค่อยได้รู้การเมืองภายในท้องถิ่น วันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ไปรับเอกสาร สว. 3 ก็เลยไปที่อำเภอเพื่อทำความรู้จักคนอื่น ๆ และทำเอกสารแนะนำตัวไปด้วยเพราะคิดว่าข้อมูลแค่ห้าบรรทัดในเอกสาร สว. 3 ไม่เพียงพอ ตอนที่ได้เอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 3 มา เอกสารหนามาก และเมื่อพูดคุยกับผู้สมัครคนอื่นๆ คำถามแรกที่มักได้รับ คือ อยู่ที่ไหน เกิดที่ไหน

พัชรีเล่าต่อว่า เมื่อดูเอกสารข้อมูลของผู้สมัครคนอื่นๆ แม้แต่อีเมลเขาก็ไม่ใส่ไว้ ไม่มีช่องทางติดต่อ ที่พอจะทำได้ก็คือเอาชื่อแต่ละคนไปค้นหาในกูเกิล แล้วก็พยายามไปทำความรู้จักกันในวันที่ไปรับเอกสาร สว. 3 เผื่อจะได้เจอผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันบ้าง ผู้สมัครในกลุ่ม 17 มีคนลงในอำเภอเมือง 11 คน บางคนในกลุ่มเป็นพนักงานมูลนิธิดูแลคอกวัวกับแปลงผัก มีสองสามคนที่ใส่่ประวัติมาทำนองนี้ ที่เหลือคนอื่นๆ ก็มีประวัติบ้างเล็กน้อย พอหลังจากที่ได้ช่องทางติดต่อก็ได้เข้ากลุ่มไลน์ พบว่ามีผู้สมัครห้าถึงหกคนที่มาด้วยกัน ส่วนที่เหลือเป็นผู้สมัครอิสระ

ในวันเลือก ผู้สมัครคึกคัก ผู้สมัครกับเจ้าหน้าที่ก็มีความสนิทสนมกัน ตอนที่แบ่งผังที่นั่งของแต่ละกลุ่ม ด้วยความที่ลพบุรีคนเยอะผู้สมัครก็นั่งติดๆ กัน พูดคุยกันขอคะแนนกันเป็นเรื่องปกติมาก แต่ว่าผู้สมัครส่วนใหญ่จะจดโพยกันมาแล้ว ในเอกสาร สว.3 เล่มใหญ่ๆ จะมีติ๊กไว้แล้วว่าคนไหนรู้จักบ้าง แล้วจะเข้ามาเลือกเบอร์อะไร เปิดเผยกัน ไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้นอะไร โชว์ให้เห็นว่ากลุ่มนี้จะเลือกอะไรในกลุ่มไหน ช่วงลงคะแนน ในบัตรลงคะแนนมันจะไม่มีให้เขียนว่าไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใคร พอไม่ใส่เบอร์ปุ๊บก็กลายเป็นบัตรเสียไปเลยก็จะมีบัตรเสียเยอะ และในรอบเลือกกันเอง ตนก็ก็ได้จับสลากเหมือนกัน (เพราะมีผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน) ทำให้ได้เข้าไปสู่รอบเลือกไขว้

พัชรีเล่าต่อไปว่า ที่อำเภอเมืองลพบุรี รอบเลือกไขว้ ต้องรอเจ้าหน้าที่ปรินท์เอกสาร สว.3 ใหม่อีกรอบหนึ่งสำหรับผู้สมัครของแต่ละสาย รอเอกสาร สว.3 นานมากประมาณสองชั่วโมง ส่วนการพูดคุย ไม่มีขั้นตอนการพูดคุยอย่างเป็นทางการ พัชรีมีข้อสังเกตว่า ผู้สมัครที่สมัครมาอย่างอิสระค่อนข้างน้อย บางคนก็เข้ามาเลือกคนอื่น ไม่เลือกตัวเอง และจากการอ่านเอกสาร สว. 3 ของผู้สมัครในอำเภอทั้งหมด พอสรุปได้ว่า คนที่ตั้งใจจะมาสมัครก็จะใส่ประวัติมา แต่คนที่มาเลือกก็ระบุประวัติมาสั้นๆ แค่บรรทัดเดียวหรือแทบจะไม่เขียนอะไรเลย นอกจากนี้ คุณสมบัติของผู้สมัครที่อำเภอเมืองลพบุรีจะมีแปลกๆ บ้าง เช่น ทำงานราชการรับราชการทหารมา แต่ไปลงสมัครกลุ่มทำนา ทำสวน

ระบบเลือก สว. 67 บิดเบี้ยว เดินหน้าให้ปกติต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ในช่วงท้ายของงาน มีเวทีเสวนา “ติดตามผลและปัญหาการเลือก สว.” ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนโดย ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ดำเนินรายการโดย วรรณภา ติระสังขะ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ระบุว่า ปัญหาหลายประการที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเลือก สว. เป็นปัญหาที่ตัวระบบ ที่ตัวกฎหมาย เช่น การจับสลากเพื่อเลือกสาย หรือการจับสลากกรณีที่มีคะแนนเท่ากัน รวมถึงกรณีอำเภอที่มีผู้สมัครเพียงกลุ่มเดียว ไม่สามารถเลือกไขว้ได้ ก็จะตกรอบไปเลย ซึ่งปัญหานี้ต้องโทษที่ตัวผู้ร่างกฎหมาย ในกรณีปัญหาเรื่องอำเภอที่มีผู้สมัครกลุ่มเดียว กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) น่าจะคาดไม่ถึงว่า กกต. จะประชาสัมพันธ์การเลือก สว. ได้ไม่ดีพอจนทำให้บางอำเภอมีผู้สมัครกลุ่มเดียว และกรธ. ก็ไม่ได้เขียนกลไกการแก้ไขปัญหานี้ไว้จนทำให้เกิดช่องโหว่ในกฎหมาย

ปริญญากล่าวถึงปัญหาความโปร่งใสในกระบวนการเลือก สว. ว่า กฎหมายเขียนให้ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ต้องจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงกระบวนการเลือก สว. แต่ละระดับ พอบันทึกเพียงภาพอย่างเดียว ไม่บันทึกเสียง ก็ส่งผลต่อการหาหลักฐานสำหรับการร้องเรียนกระบวนการเลือกได้ อย่างไรก็ดี ปริญญามองว่าการที่ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอไม่ได้บันทึกภาพและเสียง มีแต่การบันทึกภาพอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้การเลือก สว. เป็นโมฆะทั้งหมด คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอของแต่ละอำเภอเท่านั้น ส่วนการเลือกระดับจังหวัด หวังว่าจะมีการบันทึกทั้งภาพและเสียงทั้งหมด

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ระบุว่าพื้นที่ที่อาจจะมีการฮั้วกันมาก เช่น พื้นที่ที่อยู่ในเครือข่ายของนักการเมือง พื้นที่เครือข่ายศาสนา แต่ก็ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะมีการฮั้ว หลายพื้นที่การเลือก สว. เป็นไปอย่างอิสระ ด้วยระบบที่ออกแบบมาให้มีการเลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพ เปิดให้กลุ่มต่างๆ ในสังคมเข้ามาแชร์อำนาจรัฐ พิชายมองว่าแม้ระบบแบบนี้จะไม่ได้สมบูรณ์มาก แต่ก็ดีกว่าการแต่งตั้ง สว. เช่นที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตั้งมา

พิชายตั้งข้อสังเกตว่า ในวาระห้าปีของ สว. ที่มาจากการเลือกกันเอง จะมีอำนาจเลือกกรรมการในองค์กรอิสระหลายตำแหน่ง อำนาจของ สว. ทำให้มีหลายกลุ่มที่พยายามจัดตั้งคนเข้ามาเป็นและเข้ามาเลือก สว. และบางกลุ่มก็จัดตั้งคนเข้ามาเพื่อ “สกัด” ผู้สมัครบางกลุ่มที่มีแนวความคิดทางการเมืองต่างกัน ซึ่งการจะทำให้ สว. ไม่ได้เป็นตัวแทนของเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กกต. ก็ต้องทำให้ผู้สมัครมีพื้นที่ในการแนะนำตัวโดยเฉพาะในรอบเลือกไขว้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้รู้จักผู้สมัครที่เป็นอิสระ มีความคิดเป็นของตัวเอง

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข กล่าวว่า จากการไปค้นคว้าบันทึกประชุม กรธ. ที่กำหนดกลุ่มอาชีพและกลุ่มอัตลักษณ์ของ สว. ไว้ 20 กลุ่ม เพื่อให้ฮั้วยาก แต่จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จะเห็นว่ากติกาที่ออกแบบมาก็ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ กติกาที่ออกแบบมา นำไปสู่คำถามว่าท้ายที่สุดแล้วจะได้ สว. แบบไหน ทั้งที่ สว. มีอำนาจสำคัญหลายอย่าง เช่น กลั่นกรองกฎหมาย เลือกคนมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

ปุรวิชญ์เห็นว่า กติกาการเลือก สว. ออกแบบมาอย่างบิดเบี้ยว แต่สิ่งที่ทำได้คือพยายามดึงสถานการณ์ให้ปกติที่สุด เช่น กกต. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือก สว. ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์ได้ รวมถึงต้องกำหนดกระบวนการเลือกแต่ละจังหวัดให้มีมาตรฐานแบบเดียวกัน เพื่อให้สถานการณ์เดินหน้าไปได้ดีที่สุดเท่าจะเป็นไปได้

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage