คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ใช้แอปพลิเคชัน “Smart Vote” เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่เลือกชื่อผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปี 2567 ซึ่งมีรายละเอียดข้อมูลการเลือกสว. และข้อมูลผู้สมัครสว. ทุกอำเภอและทุกกลุ่มอาชีพ อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวมีแค่เพียงประวัติและประสบการณ์การทำงานของผู้สมัคร ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจของผู้สมัครคนอื่นๆ ที่อยากรู้ว่าจะต้องลงคะแนนให้ใครได้เป็นสว. เช่น จุดยืนทางการเมือง หรือวิสัยทัศน์ที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนและแนวคิดต่อแนวทางในอนาคตของประเทศ
อย่างไรก็ดี ก่อน กกต. จะประกาศรับสมัครผู้สมัครสว. และนำข้อมูลของผู้สมัครขึ้นสู่แอปพลิเคชัน Smart Vote เครือข่าย #สมัครเพื่อโหวต สร้างแพลตฟอร์ม www.Senate67.com สำหรับรวบรวมข้อมูลผู้ประสงค์จะสมัครสว. ขึ้น โดยมีหลักการว่า การเลือกสว. ไม่ใช่ระบบที่ควรถูกปกปิด ผู้สมัครสว. บนเว็บไซต์ Senate67 จึงต้องเปิดเผยจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง และแสดงวิสัยทัศน์ภาพของอนาคตบางอย่างให้ประชาชนและผู้สมัครคนอื่นรับรู้
หลัง กกต. ปิดการรับสมัครสว. ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 เว็บไซต์ Senate67 จึงเปิดให้ผู้สมัครสว. เข้ามาแสดงจุดยืนและวิสัยทัศน์ด้านต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่ผู้สมัครคนอื่นๆ และประชาชน จะได้รับรู้ก่อนที่จะพวกเขาจะเข้าไปมีส่วนในการกำหนดอนาคตของประเทศ
Smart Vote: ศูนย์รวมข้อกฎหมายเลือกสว. แนะนำข้อมูลผู้สมัครด้วยเอกสาร สว.3
แอปพลิเคชัน Smart Vote ในหมวด “การเลือก สว.” มีเมนูทั้งหมดหกรายการ คือ
- กฎหมาย/ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง/ คู่มือ
- ขั้นตอนการเลือก สว.
- เรื่องน่ารู้/ สื่อประชาสัมพันธ์
- ข้อมูลผู้สมัครสว.
- 20 กลุ่มอาชีพมีอะไรบ้าง
- อื่นๆ
จุดแข็งของแอปพลิเคชั่นนี้อยู่ที่รายการ “กฎหมาย/ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง/ คู่มือ” และ “ข้อมูลผู้สมัคร สว.” โดยรายการแรก กกต. ได้รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสว. เอาไว้ให้อ่านถึง 12 ฉบับในรูปแบบไฟล์ PDF ประกอบไปด้วยดังนี้
- พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567
- คู่มือ สำหรับผู้สมัครรับเลือกเป็นสว.
- ระเบียบกกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567
- ระเบียบกกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567
- ระเบียบกกต. ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567
- คู่มือการปฏิบัติงานคณะกรรมการการเลือกและผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอและระดับจังหวัดสำหรับการเลือกสว.
- คู่มือปฏิบัติงานสำหรับคณะกรรมการประจำสถานที่เลือกและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
- พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
- ระเบียบกกต. ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและการให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแสฯ พ.ศ. 2562
- ระเบียบกกต. ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567
- ประกาศกกต. เรื่อง การมีลักษณะอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ตาม ม.11 วรรคสอง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. พ.ศ. 2561
สำหรับรายการ “ข้อมูลผู้สมัคร สว.” กกต. แบ่งเป็นหมวดย่อยอีกห้ารายการ คือ “ข้อมูลผู้สมัครสว.” “ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ” “ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัด” “ผู้ได้รับเลือกระดับประเทศ” และ “สถิติข้อมูลผู้สมัครฯ” ซึ่งก่อนการเลือกในระดับอำเภอจะมีเพียงรายการ “ข้อมูลผู้สมัคร” และรายการ “สถิติข้อมูลผู้สมัครฯ” เท่านั้นที่มีการแสดงผล โดยรายการข้อมูลผู้สมัครเมื่อคลิกเข้าไปจะต้องเลือกจังหวัดและอำเภอเพื่อเข้าสู่การแสดงผลข้อมูลผู้สมัครทั้งหมดในอำเภอดังกล่าวตามกลุ่มอาชีพ
ข้อมูลผู้สมัครตามกลุ่มอาชีพจะแสดงผลชื่อสกุล อายุ รูปถ่าย อำเภอและจังหวัดที่ลงสมัคร เมื่อคลิกเข้าไปเพื่ออ่านข้อมูลของผู้สมัครรายบุคคลจะพบกับเอกสาร “สว.3” ที่ใช้ประกอบการสมัครของบุคคลนั้นๆ ซึ่งประกอบไปด้วยรูปถ่าย หมายเลขประจำตัว กลุ่ม ชื่อสกุล อายุ ที่อยู่ อีเมล ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัคร โดยประวัติดังกล่าวต้องเขียนไม่เกินห้าบรรทัด
เนื่องจากที่ผ่านมากกต. ไม่มีท่าทีสนับสนุนให้ผู้สมัครสว. แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทำให้ผู้สมัครจำนวนมากกังวลว่าจะไม่สามารถแสดงจุดยืนทางการเมืองได้ในใบสว.3 ทำให้ประชาชนและผู้สมัครคนอื่นจะทราบแค่ประวัติการทำงานและประวัติการศึกษาเบื้องต้นของผู้สมัครแต่ละคนเท่านั้น
ขณะเดียวกัน หากต้องการที่จะแจ้งเบาะแสการทุจริตหรือการกระทำผิด แอปพลิเคชัน Smart Vote จะพาเข้าสู่การดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ตาสับปะรด” ของกกต. อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ประชาชนไม่สามารถรายงานสถานการณ์การเลือกสว. ผ่านแอปพลิเคชัน Smart Vote ได้โดยตรง
Senate67: ศูนย์รวมจุดยืนทางการเมืองของผู้สมัครสว.
เว็บไซต์ Senate67.com มีเมนูสามรายการในหน้าแรก คือ “ค้นหาผู้สมัคร” “รายงานผลการสังเกตการณ์” และ “แสดงตัวเป็นผู้สมัคร” โดยรายการ “ค้นหาผู้สมัคร” จะสามารถกรองหาผู้สมัครในแต่ละจังหวัด อำเภอ และกลุ่มอาชีพ เพื่อแสดงผลข้อมูลผู้สมัครทั้งหมดเท่าที่มีการประกาศตัวบนเว็บไซต์ได้ทันที
ข้อมูลผู้สมัครจะถูกแสดงผลด้วยชื่อสกุล ชื่อเล่น อำเภอและกลุ่มที่ลงสมัคร อายุ การศึกษา อาชีพ ช่องทางการติดต่อ และแสดงจุดยืนต่อประเด็นทางสังคม 21 ข้อ โดยผู้สมัครจะมีคำตอบทั้งหมดสามรูปแบบ คือ “เห็นด้วย” “ไม่เห็นด้วย” และ “พร้อมพิจารณา” เท่านั้น
ประเด็นทางสังคม 21 ข้อ ประกอบไปด้วยดังนี้
- สว. มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
- แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
- เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ “ทั้งฉบับ”
- เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2
- ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ใหม่ จากการเลือกตั้ง100%
- แก้ไขที่มาของสว.
- ยกเลิกสว. ใช้ระบบสภาเดี่ยว
- นิรโทษกรรมคดีการเมือง “ทุกคดี”
- นิรโทษกรรมคดีการเมือง ยกเว้นคดีมาตรา 112
- ยกเลิกกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี
- สมรสเท่าเทียม
- เสรีภาพในการเลือกใช้คำนำหน้านาม
- กัญชาเสรี
- บำนาญให้ประชาชนทุกคน เดือนละ 3,000 บาท
- ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ
- กระจายอำนาจ เพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่น
- เพิ่มอำนาจให้จังหวัดจัดการตัวเอง
- ถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการสว.
- แก้ไข มาตรา 112
- สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ
- ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่ให้ผู้สมัครได้อธิบายวิสัยทัศน์ด้วยคำถามจำนวนสองข้อ คือ “แนวทางการพิจารณาเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ” และ “เหตุผลความตั้งใจในการลงสมัคร สว. ครั้งนี้” อีกด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนที่ผู้สมัครสามารถเขียนคำตอบยาวเท่าใดก็ได้ เพื่อช่วยให้ประชาชนและผู้สมัครคนอื่นเข้าใจจุดยืนของผู้สมัครคนนั้นได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ Senate67 ไม่ได้ระบุถึงเนื้อหาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสว. ไว้โดยตรง แต่จะต้องคลิกลิ้งก์บนเว็บไซต์เพื่อไปอ่านเนื้อหาเหล่านั้นบนเว็บไซต์ของ iLaw แทน
ขณะเดียวกัน หากต้องการที่จะรายงานผลการสังเกตการณ์การเลือกสว. ก็สามารถทำได้โดยการเลือกรายการ “รายงานผลการสังเกตการณ์” บนหน้าแรกของ Senate67 เพื่อเข้าสู่หน้าแบบฟอร์มรายงานผลการสังเกตการณ์ของ WeWatch ได้ทันที โดยการรายงานจะแบ่งออกเป็นสามระดับ คือ รายงานผลการสังเกตการณ์การเลือกสว. ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
ข้อแตกต่างสำคัญของทั้งสองแพลตฟอร์มจึงชี้วัดที่ความลุ่มลึกด้านการรู้จักกับผู้สมัคร ขณะที่ข้อมูลและเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการเลือกสว. ของทั้งสองแพลตฟอร์มนี้จะมีความใกล้เคียงกัน
ทำไมเราควรรู้จุดยืนทางการเมืองของผู้สมัครสว.
สว. เป็นอีกหนึ่งกลไกในรัฐสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ อำนาจหน้าที่สามารถถูกแบ่งออกอย่างง่ายได้สามประการ คือ 1) อำนาจในการกลั่นกรองกฎหมาย 2) อำนาจในการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และ 3) อำนาจในการเปิดอภิปรายตรวจสอบหรือตั้งกระทู้ถามรัฐบาล
หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นสว.ชุดพิเศษ จำนวน 250 คน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งทางการเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 ของคสช. ได้ให้อำนาจสว. สามารถออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทำให้ต้องมีเสียงเห็นชอบจากสว. ถึงหนึ่งในสามของจำนวนสว. ที่มีอยู่ทั้งหมดถึงจะเปิดทางให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ดังนั้นการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องใช้เสียงสว. ชุดใหม่เห็นชอบจำนวน 67 เสียง จากทั้งหมด 200 เสียง มิเช่นนั้นการเดินหน้าไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ด้วยกลไกรัฐสภา สว. ชุดใหม่จึงเป็นกลุ่มบุคคลสำคัญที่สังคมไทยกำลังจับตาดูเพื่อมองหาทิศทางการออกจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ขณะเดียวกันการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่างๆ หลังพ้นความเห็นชอบในชั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสามวาระแล้ว สว. ยังต้องออกเสียงเห็นชอบด้วยจึงจะทำให้ร่างกฎหมายฉบับนั้นผ่านเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ ดังนั้นในหลายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่อ่อนไหวทางสังคม เช่น การแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การนิรโทษกรรมคดีการเมือง การมีเสรีภาพในการเลือกใช้คำนำหน้านาม การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เป็นต้น จะต้องการเสียงสนับสนุนจากสว. ด้วย ทำให้สว. ควรมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อแต่ละประเด็นไม่ต่างจากสส. เช่นกัน
นอกจากนี้ สว. ยังมีอำนาจในการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งถือว่าสำคัญมากสำหรับทิศทางการเมืองไทยในอีกหลายปีข้างหน้า เนื่องจากองค์กรอิสระในปัจจุบัน เช่น คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือกกต. เป็นต้น กำลังจะทยอยหมดวาระและต้องมีการคัดเลือกใหม่มากกว่าครึ่ง ซึ่งองค์กรเหล่านี้ต่างมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลฝ่ายการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นสว. จึงควรมีแนวทางในการคัดเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจสูงเช่นนี้อย่างชัดเจน
ดังนั้น สว. ชุดใหม่จึงไม่ได้มีหน้าที่ด้านนิติบัญญัติที่หลุดลอยจากประเด็นทางสังคม แต่ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในการกำหนดทิศทางของประเทศ ทำให้การเปิดเผยจุดยืนทางการเมืองต่อสาธารณะเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อสังคม และเป็นไปเพื่อให้ผู้สมัครคนอื่นมีข้อมูลในการตัดสินใจลงคะแนน โดยไม่ได้คำนึงเพียงปัจจัยด้านการทำงานหรือการศึกษาในอดีตของผู้สมัครแต่ละคนเพียงอย่างเดียว