9 มิถุนายน 2567 วันเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอซึ่งจัดขึ้นทั่วทุกอำเภอและเขตพร้อมกัน โดยนัดหมายให้ผู้สมัครมาถึงสถานที่เลือกภายใน 9.00 น. เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองในกลุ่มเดียวกันให้เหลือกลุ่มละ 5 คน หากกลุ่มใดมีผู้สมัครไม่ถึง 5 คน ก็ไม่ต้องเลือกกันเอง และคนที่ได้รับเลือกขั้นต้นก็จะไปจับสลากแบ่งสายเพื่อเลือกไขว้กับผู้ได้รับเลือกขั้นต้นจากกลุ่มอื่นให้เหลือผู้เข้ารอบไปสู่ระดับจังหวัดกลุ่มละ 3 คน
ไอลอว์ส่งเจ้าหน้าที่และทีมงานไปสังเกตการณ์ทั้งหมด 30 อำเภอ/เขต เป็นเขตในกรุงเทพมหานคร 9 เขต และจังหวัดอื่นๆ อีก 11 จังหวัด 18 อำเภอ พบว่ามีหลายประเด็นที่ทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการเลือกแต่ละแห่งปฏิบัติไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อมาตรฐานและความเป็นธรรมในการเลือกได้
ผู้สมัครหลายอำเภอมีเวลาและพื้นที่คุยกันก่อนเลือกไขว้
ก่อนหน้าวันเลือกมีข้อกังวลหลักเรื่องโอกาสในการทำความรู้จักกัน เพราะตามระเบียบของกกต. จะมอบเอกสารสว.3 ของผู้สมัครคนอื่นซึ่งมีข้อความแนะนำประวัติการทำงานไม่เกิน 5 บรรทัด ให้กับผู้สมัครแต่ละคนได้อ่านเท่านั้น เป็นช่องทางเดียวในการทำความรู้จักกัน ซึ่งมีโอกาสที่ข้อมูลเท่านี้จะไม่เพียงพอให้ออกเสียงเลือกผู้สมัครในกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนได้อย่างถูกต้องตรงใจ
แต่ในวันเลือกจริง สถานที่เลือกส่วนใหญ่ให้เวลาผู้สมัครมีโอกาสนั่งคุยกัน แนะนำตัวทำความรู้จักกันได้อย่างเต็มที่ก่อนการเลือกไขว้ โดยบางแห่งจัดโต๊ะ จัดเก้าอี้ให้ผู้สมัครนั่งคุยกันอย่างสะดวก ซึ่งมีข้อดี คือ ทำให้ความกังวลเรื่องที่ผู้สมัครจะโหวตผิด หรือโหวตมั่วมีน้อยลง
แต่อย่างไรก็ดี แนวปฏิบัติเรื่องการเปิดโอกาสให้พูดคุยกันของเจ้าหน้าที่แต่ละอำเภอหรือเขตกลับไม่เหมือนกัน โดยส่วนใหญ่เปิดโอกาสให้คุยกันได้เต็มที่ แต่ก็มีบางแห่งที่ไม่มีช่วงเวลาให้คุยกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ หรือบางแห่งก็มีเวลาพูดคุยกันแต่ไม่มาก ซึ่งทำให้การโหวตและการตัดสินว่าใครจะเข้ารอบมีที่มาและปัจจัยแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ดังตัวอย่างข้อมูลที่พบ ดังนี้
ที่เขต ดินแดง กทม. เจ้าหน้าที่จัดโต๊ะสำหรับผู้สมัครให้นั่งทานขนมและน้ำร่วมกัน โดยเชิญทุกคนไปนั่งหลังจับสลากแบ่งสายแล้วและจัดให้นั่งกันตามสายที่จับสลากได้ โดยผู้อำนวยการการเลือกเขตดินแดงอธิบายว่า ผู้สมัครตกลงกันเองว่าจะขอเวลา 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จึงพักรับประทานอาหารรอผู้สมัครคุยกัน ระหว่างนั้นบางสายก็ยืนขึ้นแนะนำตัวกันทีละคน แต่เมื่อผ่านเวลา 1 ชั่วโมงไปแล้วเจ้าหน้าที่ก็ยังเตรียมการเลือกไขว้ไม่เสร็จ ผู้สมัครจึงได้นั่งคุยกันรวมแล้วประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง
ที่เขต #พญาไท กทม. หลังจับสลากแบ่งสายแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ให้เวลาผู้สมัครพูดคุยกันประมาณ 1 ชั่วโมง โดยแจ้งว่าจะเริ่มเลือกไขว้ตอน 11.40 แต่ไม่ได้จัดที่นั่งไว้ ผู้สมัครจำนวนมากจึงนำเก้าอี้มาจัดที่นั่งเป็นวงกลม และนั่งพูดคุยแนะนำตัวกันเองรวมทั้งเดินไปทักทายพูดคุยกับผู้สมัครสายอื่นได้ด้วย
ที่อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ประกาศว่าให้ผู้สมัครมีเวลาพูดคุยแนะนำตัวกัน มีเสียงประกาศว่าให้นั่งโดยสงบอยู่ในกลุ่มของตัวเองเป็นระยะๆ โดยทุกอย่างถูกบันทึกภาพไว้หมด แต่ไม่มีการประกาศว่าห้ามคุยกัน ซึ่งผู้สมัครส่วนใหญ่จะนั่งในกลุ่มตัวเอง โดยมีเวลาให้ว่างเป็นเวลานานก่อนการเลือกไขว้และมีช่วงพักกินข้าว ซึ่งอาจมีบางคนที่เดินไปคุยกับผู้สมัครกลุ่มอื่นบ้าง แต่ไม่ได้คุยแบบกิจจะลักษณะและเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ห้าม
ที่อ.เมือง จ.สตูล ก่อนการเลือกกันเองในกลุ่มผู้สมัครถูกจัดให้นั่งรวมกันโดยไม่ได้เป็นแถวตอนลึกแถวเดียวเหมือนที่อื่นเพราะข้อจำกัดด้านสถานที่ ซึ่งผู้สมัครก็คุยกันได้นิดหน่อย แต่ไม่มีการจัดให้คุยกันและไม่มีการห้าม หลังเลือกรอบแรกและจับสลากแบ่งสายเสร็จแล้วก็ให้พักกินข้าว โดยเจ้าหน้าที่ประกาศว่า ผู้สมัครคุยกันได้ แนะนำตัวกันได้เลย ระหว่างรอเจ้าหน้าที่พิมพ์เอกสารสว.3 ขอแค่อย่าออกจากสถานที่เลือกและอย่าใช้โทรศัพท์ โดยผู้สมัครก็เดินคุยกันทั่วๆ ไปได้อย่างอิสระ แต่ไม่มีการจัดให้นั่งล้อมวงคุยกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
ที่อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่ค่อนข้างเคร่งครัดไม่ได้ประกาศให้คุยกัน แต่ไม่ถึงกับห้าม สำหรับคนที่นั่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันและนั่งใกล้กันก็ยังพอพูดคุยกันได้บ้าง เนื่องจากมีผู้สมัครน้อยจึงเสร็จการเลือกเร็วโดยไม่มีเวลาพักกินข้าว ในการจัดที่นั่งตามสายก็จะมีเจ้าหน้าที่มาพาผู้สมัครย้ายเก้าอี้จากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง โดยรวมแล้วไม่มีบรรยากาศการพูดคุยแนะนำตัว และไม่มีเวลาให้ผู้สมัครได้ทำความรู้จักกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
ที่อ.เมือง จ.นนทบุรี เจ้าหน้าที่ไม่ได้ประกาศว่าให้ผู้สมัครมีเวลาพูดคุยแนะนำตัวกัน แต่หลังจับสลากแบ่งสายแล้วก็ประกาศให้ผู้สมัครพักกินข้าวกลางวัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมสถานที่โดยให้ผู้สมัครนั่งกินข้าวตามกลุ่ม โต๊ะละ 5 คนพอดี เรียงตามหมายเลขกลุ่ม แต่ถ้าผู้สมัครจะเดินไปพูดคุยกับกลุ่มอื่นก็สามารถทำได้ ไม่มีใครห้าม
การเปิดพื้นที่ให้พูดคุยอย่างเป็นกิจจะลักษณะมีข้อดี รวมถึงการให้เวลาอย่างเต็มที่ก็มีข้อดี แต่หากไม่มีการบริหารจัดการก็อาจมีข้อเสียเพราะเป็นพื้นที่ให้ผู้สมัครสื่อสารกันได้อย่างอิสระ รวมถึงการตกลงในทางที่ผิดกฎหมาย เช่น การตกลงแลกผลประโยชน์ตอบแทนจากการลงคะแนนให้ หรือการข่มขู่หากไม่ลงคะแนนให้ การให้พูดคุยกันอย่างเต็มที่จนเกินไปโดยไม่มีการกำกับดูแลก็อาจมีข้อเสียและทำให้การลงคะแนนไม่เป็นอิสระได้
การจัดพื้นที่หรือเวลาให้พูดคุยกันจึงควรอยู่ภายใต้การกำกับดำเนินการของเจ้าหน้าที่ และควรเขียนไว้ในกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้สมัครได้เข้าใจ และเตรียมตัวในการทำความรู้จักกันได้ และให้ทุกแห่งปฏิบัติเหมือนกัน ทำให้โอกาสในการทำความรู้จักและผ่านเข้ารอบของผู้สมัครทุกคนทุกพื้นที่มีมาตรฐานเดียวกัน ไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน

ห้องน้ำเป็นพื้นที่พบปะ แต่ละแห่งดูแลการเข้าห้องน้ำไม่เหมือนกัน
ระหว่างการเลือกผู้สมัครจะถูกยึดเครื่องมือสื่อสารไม่ให้ติดต่อกับบุคคลภายนอก และการพูดคุยกันของผู้สมัครก็จะอยู่ภายใต้สายตาของเจ้าหน้าที่ แต่ “ห้องน้ำ” เป็นพื้นที่ลับตาคนที่อาจจะเกิดการสื่อสารกับบุคคลภายนอกที่มาเข้าห้องน้ำหรือสื่อสารกันเองในลักษณะที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ยิน ดังนั้น การเข้าห้องน้ำของผู้สมัครจึงควรมีมาตรการดูแลบางประการด้วย โดยที่กฎหมายหรือระเบียบต่างๆ ไม่ได้กำหนดวิธีการเข้าห้องน้ำของผู้สมัครไว้ อำเภอหรือเขตแต่ละแห่งจึงปฏิบัติแตกต่างกัน ดังตัวอย่างข้อมูลที่พบ ดังนี้
ที่เขตดินแดง กทม. มีการจัดห้องน้ำสำหรับผู้สมัครและเอารั้วมากั้นโดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนั่งเฝ้า บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าห้องน้ำนี้ได้ แต่มีการเตรียมรถสุขาเคลื่อนที่จอดไว้ด้านนอกให้สำหรับคนอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัคร เมื่อมีผู้สมัครขอเข้าห้องน้ำจะมีเจ้าหน้าที่ใส่ชุดสีกากีเดินประกบพาไปเข้าห้องน้ำด้วยทุกครั้ง ซึ่งจะไปส่งบริเวณหน้าห้องน้ำ และพาเดินกลับไปยังสถานที่เลือก
ที่อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ในศาลาประชาคมซึ่งเป็นสถานที่เลือกมีห้องน้ำอยู่ในตัว ซึ่งบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปในศาลาประชาคมได้อยู่แล้ว แต่ผู้สมัครที่ต้องการเข้าห้องน้ำก็ยังต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ และจะมีเจ้าหน้าที่พาไปเข้าห้องน้ำด้วยทุกครั้ง
ที่อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ สถานที่เลือกเป็นหอประชุมที่มีห้องน้ำอยู่ด้านนอก เจ้าหน้าที่ประกาศว่าถ้าใครต้องการเข้าห้องน้ำให้แจ้งเจ้าหน้าที่ และจะมีเจ้าหน้าที่พาเดินไปห้องน้ำด้วยทุกครั้ง โดยหากมีผู้สมัครที่จะเข้าห้องน้ำก็ต้องรอเจ้าหน้าที่พาไปก่อนถึงจะออกจากหอประชุมได้
ที่อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ มีการจัดห้องน้ำแยกระหว่างผู้สมัครกับบุคคลภายนอก มีการประกาศว่าสำหรับผู้สมัครที่จะเข้าห้องน้ำให้เจ้าหน้าที่ไปด้วย และให้จดบันทึกไว้ว่าผู้สมัครไป “ธุระส่วนตัว” แต่ช่วงพักกินข้าวเที่ยงและช่วงบ่ายการปฏิบัติเรื่องเข้าห้องน้ำก็หย่อนยานลง และผู้สมัครก็สามารถไปยืนคุยกันที่ห้องน้ำหรือหน้าห้องน้ำได้ ผู้สังเกตการณ์เล่าว่า ไม่ได้เห็นบุคคลภายนอกพยายามไปพบปะกับผู้สมัครที่ห้องน้ำ เพราะถ้ามีคนอื่นเข้าไปในบริเวณห้องน้ำก็จะเห็นได้ชัดเจน
ที่อ.เมือง จ.นนทบุรี สถานที่เลือกเป็นห้องประชุมสำนักงานเทศบาลซึ่งห้องน้ำอยู่ด้านนอกห้องประชุม ซึ่งบุคคลภายนอกก็สามารถใช้ห้องน้ำแห่งเดียวกันได้ ถ้าผู้สมัครจะเข้าห้องน้ำก็สามารถเดินออกไปได้เลยโดยไม่มีเจ้าหน้าที่พาไป
ที่เขตบึงกุ่ม กทม. ห้องน้ำของผู้สมัครอยู่ในบริเวณเดียวกับสถานที่เลือก เจ้าหน้าที่ประกาศว่าผู้สมัครสามารถเข้าห้องได้ แต่บุคคลภายนอกให้ลงไปเข้าห้องน้ำที่ชั้นล่าง แต่ไม่มีการตรวจสอบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และผู้สมัครที่ต้องการเข้าห้องน้ำก็สามารถไปเข้าห้องน้ำได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งหรือขออนุญาตเข้าหน้าที่ก่อน
