กกต. ออกระเบียบเลือก สว. 67 ฉบับที่ 3 มีผลใช้บังคับหนึ่งวันก่อนเลือกระดับอำเภอ

คืนวันที่ 7 มิถุนายน 2567 สองวันก่อนเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในระดับอำเภอ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ฉบับที่ 3) ผลใช้บังคับวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา กล่าวคือ มีผลใช้บังคับในวันที่ 8 มิถุนายน 2567 หนึ่งวันก่อนเลือก สว. ระดับอำเภอ

โดยระเบียบฉบับที่ 3 ไม่ได้แก้ไขเนื้อหาระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ แต่เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว. สามเรื่อง

1) อำเภอที่มีผู้สมัครกลุ่มเดียว ผอ. การเลือกระดับอำเภอต้องจัดให้มีการเลือกกันเอง

ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) มาตรา 40 กำหนดหลักการสำคัญสำหรับการเลือก สว. ระดับอำเภอว่า หลังผู้สมัคร สว. เลือกกันเองภายในกลุ่มแล้ว จะต้องเลือกไขว้ข้ามกลุ่มและผู้ที่จะได้เข้ารอบสู่ระดับจังหวัดต่อไปจะต้องเป็นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสามคน หรือถ้ามีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคน “ผู้ซึ่งได้คะแนน” จะเป็นผู้ได้รับเลือกและผ่านสู่ระดับจังหวัดต่อไป ดังนั้น อำเภอที่มีผู้สมัครกลุ่มเดียว เมื่อไม่มีทางที่จะได้รับคะแนนจากผู้สมัครกลุ่มอื่นในรอบเลือกไขว้ได้ จึงสามารถผ่านเข้าสู่ระดับจังหวัดได้

หลังปิดรับสมัคร สว. ไปเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567 และตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแล้ว เหลือผู้สมัคร สว. 46,205 คน ซึ่งน้อยกว่าที่ กกต. เคยคาดการณ์จำนวนผู้สมัครไว้ที่หลักแสนคน ทำให้มีอย่างน้อยแปดอำเภอที่มีผู้สมัครเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ไม่สามารถเลือกไขว้ได้

ในระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ฉบับที่ 3 เพิ่มข้อ 75/2 กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอของอำเภอที่มีผู้สมัครเพียงกลุ่มเดียว ต้องจัดให้มีการลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ในวรรคสองก็ระบุต่อว่า สำหรับการลงคะแนนเลือกไขว้ข้ามกลุ่มที่จะเกิดขึ้นหลังการลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ให้งดดำเนินการเลือกเนื่องจากไม่มีผู้สมัครกลุ่มอื่นให้เลือกและผู้สมัครจะเลือกตนเองไม่ได้ หมายความว่าผู้สมัครในอำเภอ ก็ยังคงตกรอบไปโดยกติกาตาม พ.ร.ป.สว. ฯ แต่ระเบียบฉบับที่ 3 ระบุให้ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอมีหน้าที่ต้องจัดการเลือกกันเอง แม้ว่าในอำเภอนั้นจะมีผู้สมัครกลุ่มเดียวก็ตาม

2) เลือกระดับประเทศ กลุ่มใดได้ผู้รับเลือกระดับประเทศไม่ถึง 15 คน กลุ่มอื่นในสายเดียวกันต้องเลือกจนกว่าจะได้

การเลือก สว. มีสามระดับ คือระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ในแต่ละระดับมีสองกระบวนการ คือ 1) เลือกกันเองภายในกลุ่ม และ 2) แบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม

สำหรับระดับประเทศ รอบแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ผู้สมัคร สว. จะต้องเลือกผู้สมัครจากกลุ่มอื่น จนได้ผู้รับเลือก 15 คนจากแต่ละกลุ่ม โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด ลำดับที่หนึ่งถึงลำดับที่ 10 จะได้เป็น สว. ของกลุ่มนั้นๆ ส่วนลำดับที่ 11 ถึง 15 จะอยู่ในบัญชีรายชื่อสำรอง

อย่างไรก็ดี ในระเบียบ กกต. ฉบับแรกที่ออกมา ไม่ได้กำหนดวิธีแก้ปัญหากรณีที่มีผู้ได้รับเลือกแต่ละกลุ่มไม่ถึง 15 คน ในระเบียบฉบับที่ 3 กำหนดว่ากรณีที่มีปัญหาเช่นนี้ ให้ผู้อำนวยการเลือกระดับประเทศ ซึ่งก็คือเลขาธิการ กกต. แจ้งให้ กกต. ทราบ เพื่อกกต. จะมีมติสั่งให้ผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันของผู้สมัครกลุ่มที่ได้รับเลือกไม่ถึง 15 คน ลงคะแนนเลือกคนอื่นที่เหลือในกลุ่มนั้น จนกว่าจะได้ถึง 15 คน

3) ก่อนประกาศผลเลือก ว่าที่ สว. คนใดไม่สามารถเป็น สว. ได้ เลื่อนตัวสำรองขึ้นมาได้เลย

หลังผ่านกระบวนการเลือก สว. ระดับประเทศแล้ว เมื่อ กกต. ได้รับประกาศผลการนับคะแนนแล้ว ในระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ฉบับแรก กำหนดให้ กกต. ต้องรอไว้ “ไม่น้อยกว่า” ห้าวัน หลังจากนั้น หากเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้องง สุจริต และเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดลำดับที่หนึ่งถึง 10 ของแต่ละกลุ่มได้เป็น สว. ส่วนลำดับ 11 ถึง 15 อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรอง หากตำแหน่ง สว. ว่างลง กล่าวคือ ผู้ที่เป็น สว. สิ้นสมาชิกภาพไป เพราะตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ฯลฯ ผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองถึงจะเลื่อนขึ้นมาเป็น สว.

ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ฉบับที่ 3 เพิ่มข้อ 154/1 กำหนดว่า ภายใต้ระยะเวลาไม่น้อยกว่าห้าวันที่ กกต. ต้องรอไว้ก่อนหลังได้รับคะแนน หากมีเหตุที่ว่าที่ สว. ผู้ที่ได้คะแนน 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ไม่สามารถเป็น สว. ได้ เพราะขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม ตาย หรือเพราะเหตุอื่นใด สามารถเลื่อนผู้ที่อยู่ในรายชื่อสำรองของแต่ละกลุ่ม ซึ่งก็คือผู้ที่ได้คะแนนอันดับที่ 11 ถึง 15 ขึ้นมาเป็น สว. ให้ครบจำนวนกลุ่มละ 10 คนได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ประกาศผลการเลือก สว. อย่างเป็นทางการ แล้วค่อยมาเลื่อนรายชื่อสำรองขึ้นทีหลัง

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage