เชิญชวนประชาชน ร่วมดู ร่วมจับตา สังเกตการณ์การเลือกสว.67

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ในระดับอำเภอ วันที่ 9 มิถุนายน 2567 ระดับจังหวัด วันที่ 16 มิถุนายน 2567 และระดับประเทศ วันที่ 26 มิถุนายน 2567 สำหรับคนที่ไม่ได้สมัครหรือสมัครไม่ได้ ก็ยังมีส่วนร่วมในการเลือกได้ คือ การ “ไปดู” ไปร่วมสังเกตการณ์กระบวนการอันซับซ้อนที่มีขึ้นที่เดียวในโลกด้วยตาของตัวเอง

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (พ.ร.ป.สว.ฯ) มาตรา 37 กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่ผู้สมัครเข้าไปในสถานที่เลือก เว้นแต่จะเป็นผู้ซึ่งมีหน้าท่ีเก่ียวกับการเลือก หรือผู้ซึ่ง ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือผู้อำนวยการการเลือก

หมายความว่า กฎหมายกำหนดห้ามไม่ให้มีผู้สังเกตการณ์จากภายนอกหรือประชาชนเข้าไปในสถานที่เลือก “เว้นแต่” ได้รับอนุญาต ซึ่งตลอดช่วงเวลา 2-3 เดือนในการเตรียมการเลือกสว. ไม่เคยมีมาตรการที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์อย่างชัดเจนจาก กกต. ขณะที่ทาง iLaw ก็ได้ยื่นหนังสือเพื่อขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์การเลือกโดยหวังว่าจะได้รับอนุญาตจากกกต. ตามมาตรา 37

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567 สำนักงานกกต. เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ให้จัดสถานที่ในการเลือกสว. เป็นสถานที่ที่ประชาชนสามารถมองเห็นและสังเกตการณ์ในกระบวนการเลือกได้ และให้ประชาชนติดตามประกาศกำหนดสถานที่เลือกตั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัดได้ทางเว็บไซต์ และร่วมสังเกตการณ์

หมายความว่า นโยบายจากกกต. ส่วนกลาง แตกต่างไปจากที่มาตรา 37 เขียนไว้ คือ ต้องเปิดให้ประชาชนเข้าสังเกตการณ์ได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น และนายอำเภอ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด ก็ควรจะต้องปฏิบัติตามและสร้างนโยบายให้ประชาชนเข้าไปดูกระบวนการการเลือกในวันจริงได้

ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2567 เฟซบุ๊กของสำนักงานกกต. เผยแพร่ภาพอินโฟกราฟฟิกอีกชิ้นหนึ่ง ที่ระบุว่า กกต. จะจัดให้มีการเลือกที่โปร่งใสในทุกขั้นตอนประชาชนหรือสื่อมวลชนจะมีส่วนร่วมสังเกตการณ์ได้ ดังนี้ (1) สังเกตการณ์การเลือกสว. ระดับต่างๆ บริเวณจุดที่ผู้อำนวยการการเลือกกำหนดไว้ “ด้านหน้า” ของสถานที่เลือก (2) สังเกตการณ์การลงคะแนนผ่าน “โทรทัศน์วงจรปิด” ที่เชื่อมสัญญาณจากระบบการบันทึกภาพและเสียงกระบวนการเลือก ณ บริเวณที่ผู้อำนวยการเลือกได้จัดเตรียมไว้

ภารกิจอีกอย่างหนึ่งที่ประชาชนธรรมดาสามารถมีส่วนร่วมได้ในการเลือกสว.​ ชุดต่อไป คือ การเข้าร่วมการสังเกตการณ์การเลือกเพื่อไปนั่งดูกระบวนการที่เกิดขึ้นให้เห็นด้วยตาของตัว ไปนั่งดูว่า มีใครหรือกลุ่มไหนที่มีลักษณะการ “จัดตั้ง” หรือ “ขนคน” หรือพยายาม “ส่งโพย” ในการเลือกให้กันหรือไม่ และไปนั่งดูว่า เจ้าหน้าที่จะจัดการเลือกได้เรียบร้อย นับคะแนนได้ถูกต้อง ประกาศผลคะแนนได้ถูกต้องหรือไม่

ประชาชนแต่ละคนจะไปสังเกตการณ์ที่อำเภอหรือเขตใดก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกในการเดินทาง จะเลือกไปเชียร์ผู้สมัครที่รู้จักกันก็ได้ หรือจะไปสถานที่ที่เดินทางสะดวกก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีทะเบียนบ้านในอำเภอหรือเขตนั้นๆ และไม่จำเป็นต้องมีสิทธิสมัครสว. ก็สามารถไปสังเกตการณ์ได้

สำหรับการเลือกในระดับอำเภอจะจัดขึ้นที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตแต่ละแห่ง แต่สถานที่บางแห่งอาจจะไม่พร้อมเพราะไม่กว้างขวางพอ ผู้อำนวยการการเลือกก็จะออกประกาศกำหนดสถานที่เลือกให้ทราบทั่วกัน โดยติดตามได้จากเฟซบุ๊กของสำนักงานกกต.​ ประจำจังหวัดแต่ละจังหวัด เช่น

สำนักงานกกต. กรุงเทพฯ ประกาศสถานที่เลือกสว. ทั้ง 50 เขต คลิกที่นี่

สำนักงานกกต. เชียงใหม่ ประกาศสถานที่เลือกสว. คลิกที่นี่

สำนักงานกกต. ชลบุรี ประกาศสถานที่เลือกสว.​ คลิกที่นี่

สำนักงานกกต. ภูเก็ต ประกาศสถานที่เลือกสว. คลิกที่นี่

สำนักงานกกต. อุดรธานี ประกาศสถานที่เลือกสว. คลิกที่นี่

ประชาชนต้องติดตามข้อมูลในพื้นที่ของตัวเองว่า ต้องการไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ใด โดยสำนักงานกกต. บางจังหวัดก็ยังเปิดให้ประชาชนที่จะเข้าสังเกตการณ์ลงทะเบียนล่วงหน้าด้วย เช่น สำนักงานกกต.​อุดรธานี เปิดให้ลงทะเบียนสำหรับผู้สนใจเข้าสังเกตการณ์การเลือกระดับจังหวัดแล้ว

ประชาชนที่ไปสังเกตการณ์ไม่ว่าจะในพื้นที่ใด และไม่ว่าจะถูกจัดพื้นที่ให้นั่งดูอย่างไร สามารถช่วยกันเป็นอาสาสมัครเก็บข้อมูลและส่งรายงานการสังเกตการณ์จากพื้นที่ของตัวเองเข้ามาในระบบของ We Watch ได้ โดยกรอกข้อมูลตามลิงก์นี้ https://forms.gle/fgKCfwvnYWiNK6N26

ผู้ที่พร้อมเข้าร่วมสังเกตการณ์ และต้องการแสดงตัวอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เข้าไปนั่งดูการเลือกภายในห้องได้ สามารถดาวน์โหลดแบบคำขอเข้าสังเกตการณ์ได้ ที่ลิงก์นี่

เราแนะนำว่า หากไม่มีเวลาในการไปยื่นหนังสือล่วงหน้า ผู้สังเกตการณ์สามารถไปให้ถึงสถานที่เลือกในช่วงเวลา 7.00 น. ก่อนเวลานัดหมายผู้สมัคร และยื่นหนังสือต่อผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอนั้นให้ใช้ดุลพินิจตามกฎหมายว่า จะให้เข้าสังเกตการณ์หรือไม่ แต่หากมีเวลาเตรียมการสังเกตการณ์ สามารถนำแบบคำขอไปยื่นที่สำนักงานกกต.จังหวัดก่อนล่วงหน้าเพื่อให้ผู้อำนวยการเลือกระดับจังหวัดมีเวลาประสานงานสักเล็กน้อย และสั่งอนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์ได้

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage