ภาคประชาชน-นักวิชาการชี้ระบบเลือก สว. 67 ทำป่วน กกต. ต้องรีบแก้ปัญหาก่อนวันเลือก

4 มิถุนายน 2567 ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ We Watch และ iLaw จัดงานแถลงหัวข้อ “ปัญหาการเลือก สว. 2567 จะแก้ไขอย่างไร : ข้อเรียกร้องจากประชาชนถึง กกต.” แจกแจงปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และเรียกร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้จัดการปัญหาที่เกิดขึ้นและเตรียมพร้อมไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีกก่อนการเลือกระดับอำเภอที่เกิดขึ้นก่อนจะถึงวันเลือกระดับอำเภอในวันที่ 9 มิถุนายน 2567

ร่วมแลกเปลี่ยนโดย ผศ. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw กฤต แสงสุรินทร์ We Watch ดำเนินรายการโดย ปริมวิษา ทองฉอ้อน โดยในตอนท้าย มีการแถลงปัญหาการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 และข้อเรียกร้องต่อ กกต. ก่อนวันเลือก โดย We Watch และ iLaw

กฎหมายสร้างเงื่อนไขซับซ้อน ไม่เอื้อคนสมัคร

กฤต แสงสุรินทร์ We Watch ระบุถึงการรับสมัคร สว. ที่มีผู้สมัครจำนวนน้อยกว่าที่ กกต. เคยคาดหมายไว้ เหตุปัจจัยดังกล่าวอาจเป็นเพราะการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร สว. ที่ต้องอายุ 40 ปีขึ้นไป ซ้ำยังต้องจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาท นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามหลายประการ ทำให้มีผู้สมัครจำนวนไม่น้อยที่ถูกตัดสิทธิโดยที่ จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงการรับสมัคร สว. พบว่ามีผู้สมัครที่ไม่ทราบว่าตนสมัครไม่ได้ เช่น ไม่ทราบว่าตนเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือไม่ได้จ่ายเงินค่าสมาชิกพรรคการเมืองแล้วแต่ยังมีสถานะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่

นอกจากนี้ กกต. มีอำนาจตัดสิทธิผู้สมัครในขั้นตอนการรับสมัคร การประกาศรายชื่อผู้สมัคร การลบชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัคร รวมถึงการตัดสิทธิผู้สมัครเป็นการชั่วคราวไม่เกินหนึ่งปี กรณีที่ กกต. มีหลักฐานอัน “เชื่อ” ได้ว่ามีการทุจริต ซึ่งเป็นการใช้อำนาจบนดุลยพินิจของ กกต. โดยไม่ได้มีการเปิดให้ประชาชนตรวจสอบ และกฎหมายยังออกแบบให้ กกต. ใช้อำนาจนี้ได้โดยไร้ความรับผิดชอบและไม่ต้องรับผิด ในขณะเดียวกันผู้สมัครที่ที่ถูกตัดสิทธิและประสงค์จะพิทักษ์สิทธิของตน กลับต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในสามวัน ซึ่งเป็นวิธีการที่ยากลำบากและมีกำหนดระยะเวลาที่สั้นเกินไปจนไม่อาจปกป้องสิทธิของตนเองได้จริง

ตัวแทนจาก We  Watch ระบุข้อเรียกร้องต่อ กกต. ควรเป็นตัวกลางในการเอื้ออำนวยความสะดวกของผู้สมัครในการยื่นคำร้องไปยังศาลฎีกากรณีถูกตัดสิทธิหรือถูกตัดรายชื่อออก และ กกต. ควรเผยแพร่รายงานการประชุม เพื่อให้ประชาชนสามารถช่วยกันดูและตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจว่าเป็นธรรมหรือไม่

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw ระบุถึงปัญหาอื่นที่พบระหว่างการสมัคร สว. อาชีพที่ระบุในเอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว. 3) ที่ต้องระบุอาชีพด้วย ระบุการรรับสมัครให้ระบุอาชีพได้อย่างจำกัด ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบอาชีพ พิธีกร ไม่มีตัวเลือกให้เลือกระบุได้ ต้องไประบุอาชีพสื่อมวลชน อาชีพกราฟฟิกดีไซเนอร์ ก็ไม่มีตัวเลือกนี้เช่นเดียวกัน ทำให้ต้องเลือกอาชีพ ช่างศิลป์ ระบบการกรอกเอกสารทำให้ผู้สมัครต้องไปเลือกระบุอาชีพอื่นที่ใกล้เคียงแทน ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง

กติกาออกแบบให้อำเภอที่มีผู้สมัครกลุ่มเดียวตกรอบเลย

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) มาตรา 40 (12) กำหนดว่าผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสามอันดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ และในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคนให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก ทำให้แม้ผู้สมัคร สว. จะผ่านด่านการเลือกกันเองมาแล้ว ต่อให้ผู้สมัครในกลุ่มนั้นจะมีจำนวนน้อยไม่ถึงห้าคนไม่ต้องเลือกกันเอง แต่ยังต้องได้รับคะแนนในรอบเลือกไขว้ด้วย ถึงจะผ่านด่านระดับอำเภอไปได้

อย่างไรก็ดี มีบางอำเภอที่มีผู้สมัครแค่กลุ่มเดียว เช่น อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ (1 คน) อ.เมืองยาง นครราชสีมา (1 คน) อ.เชียงกลาง จ.น่าน (1 คน) เมื่อมีผู้สมัครเพียงกลุ่มเดียว ทำให้ไม่สามารถ “เลือกไขว้” ได้ กติกาที่ออกแบบมา และการทำงานของ กกต. ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะให้คนมาสมัคร สว. จำนวนมาก ทำให้มีผู้สมัครบางส่วน ที่ต้องตกรอบไปเลยเพราะกติกา

ผศ. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งออกแบบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ออกแบบกติกามาพลาดที่ไม่ได้คำนึงถึงจำนวนของผู้สมัคร สว. ในแต่ละอำเภอ ปริญญาเห็นว่าควรจะตีความและใช้กฎหมายในทางที่สนับสนุนสิทธิเสรีภาพของผู้สมัคร หาก กกต. เห็นว่ามีผู้สมัครอำเภอใดที่จะตกรอบไปเลยเพราะกติกาดังกล่าว กกต. ต้องรีบประกาศออกมาเลยก่อนวันเลือกระดับอำเภอ ผู้สมัคร สว. จะได้สามารถดำเนินการร้องต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน

รศ. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระบุว่า สำหรับกรณีอำเภอที่มีผู้สมัครน้อย ปัญหาก็เกิดจากระบบการประชาสัมพันธ์ของ กกต. ส่วนระบบเลือกที่ออกแบบมา แม้ในระดับอำเภออาจจะมีผู้ที่เข้ารอบจากการ “จัดตั้ง” ได้ แต่ในระดับจังหวัด และระดับประเทศ ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีผู้สมัครจากหลายจังหวัด หลายกลุ่มอาชีพ

แก้บัตรรอบเลือกไขว้ เก้าวันก่อนวันเลือกระดับอำเภอ กกต.

เพียงเก้าวันก่อนจะถึงวันเลือกระดับอำเภอ 31 พฤษภาคม 2567 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ฉบับที่ 2 พ.ศ.2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ฉบับที่ 2) ซึ่งออกมาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบ กกต. การเลือก สว. ฯ เรื่องลักษณะบัตรเสีย-บัตรดีบางส่วน และการเปลี่ยนรูปแบบบัตรลงคะแนนในรอบเลือกกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่ารอบ “เลือกไขว้ข้ามกลุ่ม” ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ระบุว่า แม้บัตรเลือกไขว้ที่แก้มาใหม่จะดูผิดพลาดได้น้อยกว่า ล็อกผลได้ยากกว่า แต่การเปลี่ยนไม่กี่วันก่อนวันเลือก กกต. ก็เป็นเรื่องที่เสียหาย เพราะทั้ง กกต. เองและภาคประชาชนก็อบรม ประชาสัมพันธ์ ทำงานสื่อสารเรื่องวิธีเขียนบัตรเลือกแบบเดิมไปแล้ว

_____________________________________________

แถลงการณ์ We Watch และ iLaw

เรื่อง ปัญหาการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 และข้อเรียกร้องก่อนวันเลือกกันเอง

เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) และ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ขอชี้แจงปัญหาและข้อเสนอเกี่ยวกับการดำเนินของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กระทบต่อสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และความโปร่งใสในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาของประชาชน ดังนี้

1. เกิดปัญหาการตัดสิทธิผู้สมัคร  

เกิดกรณี การตัดสิทธิผู้สมัครจำนวน 10 คนในอำเภอที่มีผู้สมัครกลุ่มเดียว ในกรณีนี้ กกต. ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของประชาชนกลับกระทำการที่ขัดต่อหลักการอย่างร้ายแรง การตัดสิทธิผู้สมัครในลักษณะนี้เป็นเพียงการปัดปัญหาออกจากตัว ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมและขัดต่อเจตนารมณ์ของการส่งเสริมประชาธิปไตย  

รวมถึงกรณีตัดสิทธิผู้สมัครจำนวนกว่า 2,000 คน ถือได้ว่าการตรวจสอบของ กกต. ขาดความรัดกุมตั้งแต่ขั้นตอนรับสมัคร ทำให้ผู้สมัครบางรายที่อาจยื่นเอกสารครบถ้วนแล้วกลับถูกตัดสิทธิ

2. ปัญหาการปกป้องสิทธิของผู้สมัคร  

กกต. มีอำนาจตัดสิทธิผู้สมัครในขั้นตอนการรับสมัคร การประกาศรายชื่อผู้สมัคร การลบชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัคร รวมถึงการตัดสิทธิผู้สมัครเป็นการชั่วคราวไม่เกินหนึ่งปี กรณีที่ กกต. มีหลักฐานอัน “เชื่อ”ได้ว่ามีการทุจริต ซึ่งเป็นการใช้อำนาจบนดุลยพินิจของ กกต. โดยไม่ได้มีการเปิดให้ประชาชนตรวจสอบ และกฎหมายยังออกแบบให้ กกต. ใช้อำนาจนี้ได้โดยไร้ความรับผิดชอบและไม่ต้องรับผิด ในขณะเดียวกันผู้สมัครที่ที่ถูกตัดสิทธิและประสงค์จะพิทักษ์สิทธิของตน กลับต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในสามวัน ซึ่งเป็นวิธีการที่ยากลำบากและมีกำหนดระยะเวลาที่สั้นเกินไปจนไม่อาจปกป้องสิทธิของตนเองได้จริง   

3. การแก้ไขบัตรเลือกไขว้  

การแก้ไขบัตรเลือกไขว้ในช่วงเวลานี้ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความสับสนและกังวลในหมู่เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการอบรมไปแล้ว และต่อผู้สมัครรับเลือก สว. ที่ได้ศึกษารูปบัตรแบบเดิมไว้แล้วก่อนหน้านี้ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของการจัดการและการลงคะแนนเสียงอย่างถูกต้อง 

4. ปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่  

จากการสังเกตการณ์พบว่าในช่วงกระบวนการรับสมัครเกิดปัญหามากมายเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดจากความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสะท้อนถึงการเตรียมการอบรมของ กกต. นำไปสู่ข้อกังวลในการจัดการของวันเลือกจริง ซึ่งมีกลไกที่ซับซ้อนกว่ามาก

5. การสังเกตการณ์ของประชาชน  

เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ กกต. เปิดให้ประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์ได้โดยได้มีหนังสือไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทุกจังหวัด อย่างไรก็ดีจากบทเรียนที่ผ่านมา เห็นควรว่ายังคงต้องเพิ่มการอำนวยความสะดวกบางประการ เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน 

จากประเด็นสำคัญทั้งห้าประการ เราขอเรียกร้องให้ กกต.ทบทวนบทเรียนจากประเด็นปัญหาข้างต้นและปรับปรุงตามแนวทางดังนี้  

  1. กกต. ต้องมีช่องทางอำนวยความสะดวกในการยื่นคำร้องและสนับสนุนให้ประชาชนปกป้องและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน 
  2. กกต. ต้องเผยแพร่รายงานการประชุมและเหตุผลประกอบการใช้ดุลยพินิจตัดสิทธิผู้สมัคร โดยเปิดให้ประชาชนตรวจสอบได้บนช่องทางออนไลน์ 
  3. เพื่อให้การจัดการเลือก สว. มีความโปร่งใสมากขึ้น มีข้อเสนอดังนี้ 
    1. เพื่อความสะดวกของ กกต. ในการเตรียมงานดูแลอำนวยความสะดวกประชาชน ควรเปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนสังเกตการณ์แบบออนไลน์ได้
    1. กกต. ต้องยืนยันว่าประชาชนที่ไม่ลงทะเบียนก็มีสิทธิที่จะไปสังเกตการณ์ได้
    1. กกต. ต้องเผยแพร่เอกสารสำคัญของทุกกลุ่มอาชีพในทุกอำเภอบนช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนตรวจสอบได้ ประกอบด้วย
      1) รายงานผลการนับคะแนนรายกลุ่ม (แบบ สว.อ.28)
      2) รายงานผลการนับคะแนนการเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน (แบบ สว.อ.45)
  4. ในกรณีบัตรเลือกไขว้ กกต. ควรชี้แจงเหตุผลในการแก้ไขให้ชัดเจนพร้อมกับทำการทดสอบความเข้าใจของเจ้าหน้าที่และผู้สมัครก่อนจัดให้มีการเลือก
  5. ในส่วนของการลดข้อผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ เราเสนอให้ กกต. มีการอบรมมาตรการเลือก สว. อย่างมีคุณภาพ โดยเปิดให้ประชาชนร่วมรับชมได้ในช่องทางออนไลน์ และเปิดให้มีรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาต่อไป

          เพื่อให้ข้อเสนอเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง เราขอความร่วมมือจากประชาชนทุกท่านในการสนับสนุนและเผยแพร่ข้อเรียกร้องนี้ เพื่อร่วมกันรักษาสิทธิ ความยุติธรรม การมีส่วนร่วมและความโปร่งใสในการเลือก สว.ของประชาชน

เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch)

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

วันที่ 4 มิถุนายน 2567

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage