วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 เวลา 11.15 น. ที่กระทรวงยุติธรรม เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเข้าเสนอข้อเรียกร้องในสามประเด็นหลักแบ่งเป็นการนิรโทษกรรมทุกคดีรวมมาตรา 112 สิทธิการประกันตัวและคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังคดีการเมือง โดยมีสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นตัวแทนนำประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมราชทัณฑ์และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
ในประเด็นแรกสมบูรณ์กล่าวทำนองว่า เขาเป็นหนึ่งในกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการเสนอจากหลายพรรคและในที่สุดมีพรรคร่วมรัฐบาลตั้งคณะกรรมาธิการ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน เชื่อว่า เปิดประชุมสภาสมัยหน้าจะสามารถยื่นร่างกฎหมายเข้าสภาได้ เมื่อถามเรื่องการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน สมบูรณ์กล่าวว่า เมื่อยกประเด็นนี้ขึ้นมา มีส่วนหนึ่งในคณะกรรมาธิการเห็นด้วยแต่มีหลายพรรคที่ “เหมือนไม่เห็นด้วย” ตามความเข้าใจของเขาวันนี้อาจจะลงมติว่าเรื่องจะรวมคดีมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งคำถามนี้คงจะถามเขาคนเดียวไม่ได้เพราะเป็นดุลพินิจของแต่ละคน นอกจากนี้ความเห็นเบื้องต้นของคณะกรรมาธิการจะบอกว่า ไม่สำคัญก็ไม่ได้เพราะว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเสนอเข้ามาโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ถ้าเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี ๆ จะต้องให้ความสำคัญ ส่วนคำขอที่ขอให้ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะสส.พรรคประชาชาติแสดงจุดยืนสนับสนุนการนิรโทษกรรมประชาชนโดยรวมมาตรา 112 นั้นเขาคงตอบแทนรัฐมนตรีไม่ได้
สมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า คณะกรรมาธิการดูแล้วเป็นการถ่วงเวลาการแก้ปัญหามาตรา 112 ผู้ที่เข้าไปนั่งในกรรมาธิการจำนวนมากไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องมาตรา 112 บางท่านพูดว่า คดีมาตรา 112 ไม่ได้เป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางเมือง การพูดเช่นนี้แสดงว่า ไม่เข้าใจจริงๆ เพราะอันที่จริงมาตรา 112 มันมาจากการเมืองอันเนื่องมาจากการรัฐประหารในปี 2549 ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่า กระทรวงยุติธรรมควรจะเปิดเวทีให้มีการพูดกันอย่างเป็นทางการจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น “อานนท์ นำภาอยู่ในคุกอย่างนี้ เขาควรจะได้พูดว่า ทำไมต้องนิรโทษกรรม พวกผมซึ่งก็ผ่านคุกผ่านตารางคดี 112 มาก็จะได้พูดได้เต็มที่ว่า มันมีแรงจูงใจทางการเมืองและต้องนิรโทษกรรม การไปยกเว้นมันคือ ตราบาปของกระทรวงยุติธรรม ณ ขณะนี้…ผมเลยคิดว่า ถ้าท่านจะให้มีเวทีสาธารณะถกเถียงอย่างเป็นทางการขอเสนอของเวทีสาธารณะอาจจะต้องส่งผลให้กรรมาธิการรับฟังประชาชนมากขึ้น…”
ในประเด็นเรื่องการดำเนินการเจรจากับสำนักงานอัยการสูงสุดและอัยการสูงสุดเพื่อให้อัยการชะลอการสั่งฟ้องคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรือให้ใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีโดยใช้อำนาจตามพ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 ในเรื่องการชะลอ/ยุติคดีเป็นเรื่องที่มีการดำเนินการมาแล้วบ้าง โดยทางกระทรวงยุติธรรมกำลังรวบรวมข้อมูลทางสถิติคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่อยู่ในแต่ละชั้นพิจารณา สมบูรณ์กล่าวว่า อัยการเป็นองค์กรภายนอกกระทรวงยุติธรรมไม่สามารถสั่งการได้ อย่างไรก็ตามกระทรวงยุติธรรมจะมีการเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีและให้ออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรีว่า คดีกลุ่มนี้[คดีการเมือง]หากดำเนินคดีต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์ ประกอบคำอธิบายสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน เมื่อคณะรัฐมนตรีออกเป็นมติก็ไม่สามารถสั่งการอัยการได้ แต่สามารถเสนอต่ออัยการให้พิจารณาว่า เห็นชอบด้วยหรือไม่กับมติดังกล่าว โดยกรอบเวลาที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้นคือ พยายามที่จะให้ทันเดือนมิถุนายน 2567
ในประเด็นเรื่องสิทธิการประกันตัวนั้น เขามองว่า การแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (วิอาญา) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการประกันตัวจะยาวนานจึงจะออกเป็นกฎกระทรวงก่อน ถ้ากฎกระทรวงไม่สำเร็จจะมุ่งหน้าไปที่การแก้วิอาญา หลักการคือผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดไม่ควรจะอยู่ในสถานที่คุมขังแต่จะได้รับการประกันตัวโดยมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น การใส่กำไลอีเอ็ม แต่เงื่อนไขนี้จะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันต่อไป “เจตนารมณ์ของกระทรวงยุติธรรมคือต้องการมีกฎกระทรวงเพื่อเป็นบรรทัดฐานว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของคนที่เป็นผู้ต้องหาควรจะได้รับสิทธิการประกันตัวอย่างเต็มที่” ความคืบหน้าขณะนี้คือ กำลังจะมีการตั้งคณะทำงานและร่างกฎกระทรวงขึ้นมา