คุณเองก็เป็นยอดนักสืบได้นะ! ช่วยกันค้น-ส่องประวัติผู้สมัคร #สว67 บอกต่อข้อมูลให้คนรู้จักผู้สมัครมากขึ้น

ระบบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ ที่ออกแบบโดยคนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง บีบให้เฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีเงินจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาท มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย ถึงจะมีโอกาสเข้าไปเป็น “ผู้เล่น” ในสนามการ “เลือกกันเอง” โดยตรง ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่ได้สมัคร สว. เพื่อเข้าไปใช้สิทธิเลือกเพราะอายุไม่ถึง 40 ปี หรือเพราะไม่มีคุณสมบัติก็ตาม กลับไม่มีโอกาสเข้าไปเลือก สว. โดยตรง ทั้งๆ ที่ สว. ต้องมาเป็นตัวแทนของประชาชนก็ตาม

แม้ระบบจะออกแบบมาให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถสมัคร สว. ได้ต้องอยู่นอกสนาม แต่ทีมนอกสนามก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเลือก สว. 2567 ได้ ผ่านการรับบท “ยอดนักสืบ” ช่วยกันค้น ช่วยกันส่องประวัติของผู้สมัคร สว. และบอกเล่าเรื่องราวของผู้สมัคร สว. เพื่อให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ที่ลงสนาม สว. ได้รู้จักผู้สมัครคนอื่นๆ ได้มากขึ้น

อยากรับบทยอดนักสืบข้อมูลผู้สมัคร สว. ต้องทำอย่างไร ระวังเรื่องใดบ้าง มาดูกัน

เข้าไปดูรายชื่อผู้สมัคร สว.

หลังจากการรับสมัคร สว. วันสุดท้ายเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567 ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอจะประกาศรายชื่อผู้สมัคร สว. ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วภายในห้าวัน (ภายใน 29 พฤษภาคม 2567) โดยจะประกาศทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ สามารถไปดูรายชื่อผู้สมัครได้ที่

  • สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
  • ศาลากลางจังหวัด
  • ที่ว่าการอำเภอ
  • ทางออนไลน์ ในเว็บไซต์ของ กกต. https://senator.ect.go.th/ รวมถึงในแอปพลิเคชัน SMART VOTE

ช่วยกันค้น-สอดส่องประวัติผู้สมัคร สว.

เมื่อเข้าไปดูรายชื่อผู้สมัคร สว. แล้ว ไม่ว่าจะดูจากอำเภอในพื้นที่ที่เรารู้จักอย่างดี หรือดูจากการแบ่งกลุ่มผู้สมัคร สามารถช่วยกันค้น สอดส่องประวัติผู้สมัคร สว. ด้วยวิธีการที่ตัวเองถนัดได้ ไม่ว่าจะค้นจากโซเชียลมีเดียของผู้สมัคร สว. หรือค้นข้อมูลจากสื่อออนไลน์ต่างๆ

ระบบเลือก สว. แบ่งกลุ่มออกเป็น 20 กลุ่ม มีจำนวน 17 กลุ่มที่เป็น “กลุ่มอาชีพ” หากตนเองประกอบอาชีพหรืออยู่ในแวดวงของอาชีพนั้นๆ สามารถช่วยกันสอดส่องประวัติรวมถึงประสบการณ์การทำงานของผู้สมัคร สว. ในกลุ่มอาชีพนั้นได้ว่าผู้สมัคร สว. คนนั้นเคยทำงานด้านใดมาบ้าง มีประสบการณ์การทำงาน มีแนวคิดในด้านต่างๆ อย่างไร

กลุ่มอาชีพทั้ง 17 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
  3. กลุ่มการศึกษา
  4. กลุ่มการสาธารณสุข
  5. กลุ่มอาชีพทำนา ทำไร่
  6. กลุ่มอาชีพทำสวน เลี้ยงสัตว์ ประมง
  7. กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน
  8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน
  9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการ SMEs
  10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น
  11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว
  12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม
  13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
  14. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา
  15. กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
  16. กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน
  17. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ

บอกต่อข้อมูลผู้สมัคร สว. ทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง พร้อมติด #สว67

หลังจากค้น สอดส่องประวัติ ข้อมูล ประสบการณ์ แนวคิดของผู้สมัคร สว. แล้ว ช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวของผู้สมัคร ผ่านทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง พร้อมติดแฮชแท็ก #สว67 เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีสิทธิเลือก สว. รวมถึงให้ผู้สมัครที่มีสิทธิเลือก รู้จักผู้สมัครคนอื่นๆ ได้มากขึ้น

ใครถนัดวิธีไหน ก็ทำแบบนั้นได้เลย จะเขียนเล่าลงเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ก็ได้ หรือจะถ่ายคลิปเล่าลงยูทูบ ติ๊กต็อกก็ได้ จะเล่าเรื่องราวผู้สมัครรายคน เล่าเรื่องผู้สมัครในอำเภอที่เรารู้จักหรือคุ้นเคยดี หรือจะเล่าจากมุมของกลุ่มอาชีพก็ได้

สำหรับยอดนักสืบที่พร้อมค้นข้อมูลผู้สมัคร สว. และพร้อมบอกต่อทางช่องทางของตัวเองแล้ว มีเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ดังนี้

  • เล่าข้อมูลผู้สมัคร สว. ด้วยข้อมูลหรือเรื่องราวที่เป็น “ความจริง” เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) มาตรา 77 (4) กำหนดห้ามไม่ให้ใส่ร้ายด้วยความเท็จ จูงใจให้คนอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ ชื่อเสียงของผู้สมัคร เพื่อจูงใจให้ผู้สมัครเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครคนใด เนื่องจากการโพสต์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ผู้ที่เข้าถึงได้มีทั้งประชาชนรวมถึงผู้สมัคร สว. ซึ่งเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือก สว. ด้วย เนื้อหาที่บอกเล่าข้อมูลผู้สมัคร สว. อาจมีผลต่อการตัดสินใจของผู้สมัครที่ผ่านมาเห็น
  • เลี่ยงการใส่ความผู้สมัคร สว. ในแง่ที่จะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกเกลียดชัง นอกจากข้อห้ามตามพ.ร.ป.สว. ฯ แล้ว ยังต้องระวังข้อกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกด้วย โดยในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327 กำหนดความผิดสำหรับการ “หมิ่นประมาท” เอาไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้จะใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นต้องระมัดระวัง และหากการหมิ่นประมาทนั้นทำผ่านทางโซเชียลมีเดีย ก็จะเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามมาตรา 328 ซึ่งมีโทษหนักขึ้นด้วย

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage