จับตาพิพากษาคดี ม.112 นักกิจกรรมทะลุฟ้ากรณีเผาซุ้มฯในชุมนุม 15 ปีรัฐประหาร ‘49

พรุ่งนี้ (30 พฤษภาคม 2567) ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ศาลอาญานัดสามนักกิจกรรมทะลุฟ้าฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ 2407/2565 เหตุสืบเนื่องจากการชุมนุมวันครบรอบ 15 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีผู้ชุมนุมอิสระพยายามจะผ่านเข้าไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและตำรวจมีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ เวลาไล่เลี่ยกันบริเวณสะพานลอยโรงเรียนราชวินิตมัธยม เวลาไล่เลี่ยกันมีเหตุปาระเบิดเพลิงหรือโมโลตอฟขึ้นไปบนสะพานลอยบริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบและราชินี และการราดน้ำมันวางเพลิงซุ้มดังกล่าวจนไฟลุกทำให้บริเวณตรงกลางถูกไฟไหม้เป็นรอยดำ

ต่อมาตำรวจสน.นางเลิ้งรวบรวมหลักฐานและร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้ารวมสี่คน ได้แก่ แซม-พรชัย ยวนยี คาริม-จิตริน พลาก้านตง มิกกี้บังและแม็ค-สินบุรี โดยจำเลยทั้งหมดยกเว้นแม็ค-สินบุรีถูกกล่าวหาในข้อหาหลักเป็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะที่แม็ค-สินบุรีมีข้อหาหลักคือ  การวางเพลิงป้อมจราจรแยกนางเลิ้ง เนื่องจากแซม-พรชัยไม่ปรากฏตัวในนัดฟังคำพิพากษาจะเหลือจำเลยเพียงสามคนเท่านั้น

ทยอยออกหมายเรียก ดองหมายจับและไม่ให้ประกันตัว

คดีนี้จำเลยทั้งสี่คนได้รับการ “แจ้ง” ว่า พวกเขาถูกดำเนินคดีร่วมกันต่างวันและวาระ มิกกี้บังเป็นคนแรกที่ได้รับหมายเรียก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มิกกี้บังได้รับหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 โดยหมายเรียกกำหนดให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้งในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 พนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์ว่า ในการชุมนุมครบรอบ 15 ปีรัฐประหาร 2549 มีผู้ชุมนุมมารวมตัวกันที่แยกนางเลิ้ง พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี ตำรวจสน.นางเลิ้ง ผู้กล่าวหาอ้างว่า ระหว่างนั้นได้พบมิกกี้บังขับขี่รถจักรยานยนต์ไปจอดที่แยกนางเลิ้ง ต่อมามีชายคนหนึ่งใช้วัตถุ [โมโลตอฟ] ขว้างขึ้นไปบนสะพานลอยคนข้าม ไปยังซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย จากนั้นชายคนดังกล่าวได้วิ่งไปขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของมิกกี้บังหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ

เขาถูกกล่าวหาเช่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเขาการปฏิเสธและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นตำรวจ ขณะที่แซมเป็นคนที่สองที่รู้ว่า ตนเองมีหมายจับโดยวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 เขาไปขอถอนหมายจับเดิมในคดีที่ถึงที่สุดแล้วแต่ปรากฏว่า ตำรวจตรวจสอบพบหมายจับในคดีนี้ซึ่งออกตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 แทน แซมถูกฝากขังในชั้นตำรวจนับแต่นั้น ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2565 แม็คเข้า “แสดงตัว” ที่สน.นางเลิ้งเนื่องจากทราบว่า มีหมายจับในคดีนี้เช่นกันและไม่ได้รับประกันตัวในชั้นตำรวจเช่นเดียวกับแซม อัยการยื่นฟ้องแซมกับแม็คไปก่อนในวันที่ 23 กันยายน 2565 ในข้อหาลักษณะเดียวกันกับมิกกี้บัง แต่กรณีของแม็คไม่มีข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 

ต่อมาวันที่ 4 ตุลาคม 2565 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีของมิกกี้บังต่อศาลอาญาและศาลไม่ให้ประกันตัว เป็นเหตุให้ทั้งสามต้องถูกคุมขังระหว่างการดำเนินคดีอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งทั้งสามได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมกันในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565  ด้านคาริม แม้ว่าเขาจะถูกดำเนินคดีร่วมกับจำเลยคนอื่นและมีชื่อในรายละเอียดการสืบสวนสอบสวนคดี แต่ตำรวจยังคงไม่แจ้งข้อกล่าวหาเขา ล่วงจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 คาริมจึงไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง เนื่องจากตำรวจแจ้งว่า คาริมมีหมายจับในคดีนี้อยู่ ทั้งนี้ตำรวจไม่เคยมีหมายเรียกหรือแสดงหมายจับต่อเขามาก่อน หลังรายงานตัวเขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้เรื่อยมาและถูกสั่งฟ้องคดีตามมาในภายหลัง

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage