สว.67 สมัครคนเดียวในอำเภอตกรอบ เพราะต้องได้ 1 คะแนนรอบ “เลือกไขว้”

#สว67 ปิดรับสมัครไปแล้ว มีผู้สมัครน้อยกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดการณ์ไว้ คือ 48,117 คน จำนวนผู้สมัครที่น้อยและระบบการเลือกที่ซับซ้อนทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการเลือกตามมา ผู้สมัครที่สมัครคนเดียวของอำเภอ อาจตกรอบ ไม่ใช่เพราะไม่มีคนเลือก แต่กฎหมายไม่อนุญาตให้ไปต่อ

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ.2561 (พ.ร.ป.สว.ฯ) มีมาตรา 40 ที่กำหนดวิธีการเลือกในระดับอำเภอ โดยกำหนดว่า ผู้สมัครจะต้อง “เลือกกันเอง” ในกลุ่มอาชีพเดียวกันเพื่อให้เหลือคนที่ได้คะแนนสูงสุด 5 คนเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้น จากนั้นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นก็ต้องไปจับสลากแบ่งสาย “เลือกไขว้” เพื่อลงคะแนนให้กับผู้สมัครในกลุ่มอื่นๆ และเลือกให้เหลือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คน ผ่านเข้าสู่รอบการเลือกระดับจังหวัด

หากกลุ่มใดมีผู้สมัครในระดับอำเภอไม่เกิน 5 คน ก็ไม่ต้อง “เลือกกันเอง” ผู้สมัครทุกคนเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นและผ่านเข้าสู่การ “เลือกไขว้” ได้เลย

แต่ในขั้นตอนการ “เลือกไขว้” พ.ร.ป.สว.ฯ ไม่ได้เขียนว่า หากกลุ่มใดมีผู้สมัครในระดับอำเภอไม่เกิน 3 คน สามารถผ่านไปรอบจังหวัดได้ทันที ตรงกันข้าม แม้จะมีผู้สมัครคนเดียว หรือสองคน หรือสามคน มาตรา 40(12) ก็บังคับว่า ต้องไปเข้าสู่กระบวนการเลือกไขว้ และเขียนไว้ด้วยว่า “ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคนให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก”

หมายความว่า ในรอบการเลือกไขว้กับกลุ่มอื่นผู้ที่จะผ่านเข้ารอบจะต้องได้อย่างน้อย 1 คะแนน แม้ว่าผู้สมัครในกลุ่มนั้นๆ จะน้อยกว่าสามคน แต่หากผู้สมัครคนใดไม่ได้คะแนนเลย ก็จะไม่ผ่านเข้าไปในรอบจังหวัด

ระบบนี้ออกแบบมาภายใต้ความคาดหมายว่า จะมีผู้สมัครจำนวนมากในแต่ละอำเภอ และจะมีผู้สมัครแต่ละกลุ่มครบกลุ่มละ 5 คน ที่เข้าสู่รอบเลือกไขว้ จึงคาดหมายว่าจะมีคะแนนที่เลือกกันจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงเมื่อมีผู้สมัครน้อย บางอำเภอมีผู้สมัครเพียง 2-3 กลุ่ม และมีผู้สมัครกลุ่มละ 1-3 คน เมื่อเลือกไขว้จึงมีคะแนนเสียง “ไม่พอ” ที่จะทำให้ผู้สมัครแต่ละคนมั่นใจได้ว่าตัวเองจะได้เข้ารอบระดับประเทศ แม้จำนวนคู่แข่งจะน้อยกว่าโควต้าการเข้ารอบก็ตาม

ด้วยกติกาของมาตรา 40(12) เช่นนี้ และด้วยระเบียบกกต. ที่ออกแบบไม่ให้ผู้สมัครทำความรู้จักหรือแนะนำตัวกันในวันจริง ทำให้มีโอกาสที่ผู้สมัครในหลายๆ อำเภอที่มีผู้สมัครจำนวนน้อยมากๆ อาจไม่ได้เข้ารอบเพราะไม่ได้คะแนนในรอบการเลือกไขว้ และทำให้ในการเลือกระดับจังหวัดบางแห่งก็อาจจะเหลือผู้สมัครน้อยมากๆ ซึ่งก็อาจจะทำให้ไม่ได้รับเสียงตอนเลือกไขว้อีกเช่นกัน

แต่ยังมีปัญหามากกว่านั้น คือ มีถึง 5 อำเภอที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว คือ อำเภอเมืองยาง จังหวัดนคราชสีมา อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอแม่จริม อำเภอนาน้อย และอำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ซึ่งเมื่อมีผู้สมัครเพียงคนเดียวก็แน่นอนว่าจะผ่านรอบการเลือกกันเองแต่จะผ่านรอบการเลือกไขว้ไม่ได้ เพราะไม่มีคะแนนเลย และยังมีอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่มีผู้สมัคร 2 คน ซึ่งก็ไม่สามารถเลือกไขว้ได้ เพราะมาตรา 40(10) กำหนดว่าการแบ่งสายต้องมีไม่น้อยกว่าสายละ 3 กลุ่ม

วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 แสวง บุญมี เลขาธิการกกต. แถลงข่าวในประเด็นนี้ โดยระบุว่า เราเห็นข้อเท็จจริงแล้วอย่างที่สำนักงานให้ข่าวไปว่า ในสองอำเภอไม่มีกลุ่มใดมาสมัครเลย ในอีกเจ็ดอำเภอมีกลุ่มมาสมัครกลุ่มเดียว เท่าที่รู้มีสิบคน กลุ่มหนึ่งมีสาม อีกหกกลุ่มมีอย่างละหนึ่ง แต่ถ้าอีกกลุ่มหนึ่งไม่มารายงานตัวก็ตกสภาพเดียวกับมากลุ่มเดียว

“กฎหมายให้ขยับไปพร้อมกัน 928 อำเภอ รวมเขตด้วย รอใครไม่ได้ แต่กฎหมายมาตรา 33 บอกว่า การเลือกให้เป็นวิธีที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ อะไรที่ไม่ได้กำหนดไว้มันเลยทำไม่ได้ สภาพข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้คนที่จังหวัดอำเภอที่มีกลุ่มเดียวต้องตกไป กกต. จะไปออกระเบียบเพิ่มก็ไม่ได้เพราะกฎหมายบอกว่าการเลือกให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ตอนนี้ก็สิบคน ผ่านรอบหนึ่ง แต่ไม่ได้ข้ามต่อไปจังหวัดเพราะคุณไม่ได้ไขว้”

“หลักการข้ามชั้นคือต้องไขว้และต้องมีคะแนน มีกลุ่มเดียวจะไปไขว้กับใคร กฎหมายกำหนดให้ไขว้และต้องมีคะแนน… ต้องมีคะแนนนะครับ บางคนไขว้เสร็จอาจจะไม่มีคะแนนก็ได้”

จากคำแถลงของแสวง บุญมี จึงเข้าใจได้ว่า สำหรับคนที่สมัครคนเดียวในอำเภอ หรืออาจจะสมัครหลายคนแต่ทั้งอำเภอมีผู้สมัครกลุ่มเดียวก็จะตกรอบระดับอำเภอโดยทันที เพราะไม่สามารถเข้าระบบการเลือกไขว้ได้ และกกต. ไม่พยายามตีความกฎหมายเพื่อหาทางออกเป็นอย่างอื่น

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage