Q&A ถามมาตอบไป รวมข้อสงสัย สว. 67

หลังสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ หมดอายุในเดือนพฤษภาคม 2567 กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ภายใต้ระบบ “เลือกกันเอง” เริ่มขึ้นโดยเปิดรับสมัครเป็นระยะห้าวันระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 ขณะที่กระบวนการเลือกทั้งสามระดับ อำเภอ-จังหวัด-ประเทศ จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2567 และจะได้ สว. ชุดใหม่ 200 คนจาก 20 กลุ่ม ในเดือนกรกฎาคม 2567

ระบบ “เลือกกันเอง” ที่ใช้กับ สว. 2567 นี้เป็นระบบที่คิดค้นโดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และไม่เคยใช้กับวุฒิสภาชุดใดมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ระบบที่ซับซ้อนนำมาสู่คำถามจำนวนมาก ไอลอว์ได้รวบรวมคำถามและคำตอบที่ได้จากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) เพื่อตอบข้อสงสัยสำหรับผู้ที่สงสัยเกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ดังนี้

คุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามในการสมัคร สว.

Q : อายุ 40 ปีที่สมัคร สว. ได้ นับถึงวันไหน 

A : นับถึงวันที่รับสมัคร สว. ซึ่งวันสุดท้ายที่เปิดรับสมัคร คือวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ดังนั้น ผู้ที่เกิดก่อนจนถึงผู้ที่เกิดวันที่ 24 พฤษภาคม 2527 สามารถไปสมัคร สว. ได้

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 108 ก. (2)  และพ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 13 (2) กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร สว. ไว้ว่า ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันสมัครรับเลือก

Q : เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ทำงานในองค์กรรัฐวิสาหกิจ ถ้าจะสมัคร สว. ต้องลาออกไหม

A: สำหรับลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัคร สว. นอกจากพ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 14 (19) จะกำหนดห้ามไม่ให้ผู้สมัคร สว. เป็นข้าราชการ ใน มาตรา 14 (15) ยังกำหนดห้ามไม่ให้ผู้สมัคร สว. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ 

ถ้ายังเป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จะต้องลาออกจากตำแหน่งเหล่านั้นก่อนถึงสมัคร สว. ได้ ถ้าเป็นผู้ที่เกษียณอายุราชการหรือไม่ได้ทำงานในหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจแล้ว ก็สามารถสมัคร สว. ได้

กรณีที่เป็นพนักงาน ลูกจ้าง หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย จะต้องดูสถานะของมหาวิทยาลัยว่าเป็นมหาวิทยาลัยรัฐหรือไม่ (สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ) ซึ่งมหาวิทยาลัยรัฐมีสองประเภท คือ มหาวิทยาลัยในระบบ และมหาวิทยาลัยนอกระบบ (มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ) เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหดิล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดังนั้น ผู้ที่เป็นพนักงาน ลูกจ้าง อาจารย์มหาวิทยาลัยรัฐอยู่ หากอยากจะสมัคร สว. จะต้องลาออกก่อน แต่ถ้าเป็นพนักงาน ลูกจ้าง อาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชน สามารถสมัคร สว. ได้

นอกจากนี้ บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดหลายองค์กร อาจมีสถานะเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ได้ด้วย ซึ่งหมายความว่าผู้ที่เป็นพนักงาน ลูกจ้างขององค์กรเหล่านี้หากจะสมัคร สว. ต้องลาออกก่อน การจะดูว่าบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 กำหนดไว้ว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ (ดูจากสัดส่วนผู้ถือหุ้น)

ตัวอย่างของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น 

  • บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
  • บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด
  • บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด
  • บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)
  • บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
  • บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด
  • บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด
  • บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

กรณีที่บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจดังกล่าว มีบริษัทลูก บริษัทลูกจะเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยหรือไม่ ก็ต้องดูว่ามีส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมอยู่เกินร้อยละห้าสิบหรือไม่ (ดูจากผู้ถือหุ้น) หากเกินร้อยละห้าสิบ บริษัทลูกนั้นก็เป็นรัฐวิสาหกิจ พนักงานในบริษัทลูกหากจะสมัคร สว. ก็ต้องลาออกเช่นกัน

Q : ทำงานประจำ อยากสมัคร สว. ต้องลาออกไหม

A : กรณีที่ทำงานในองค์กรเอกชน ไม่ต้องลาออกเพื่อสมัคร สว. กฎหมายไม่ได้เขียนห้ามเอาไว้ ผู้ที่ทำอาชีพอิสระก็ยังสามารถทำงานในระหว่างช่วงสมัคร สว. ได้ตามปกติ

แต่หากได้รับเลือกเป็น สว. ผู้ที่ทำงานเป็นลูกจ้างในองค์กรเอกชน อาจต้องลาออกเพื่อมาปฏิบัติหน้าที่ สว. 

เอกสาร-หลักฐานการสมัคร สว. 

Q : สมัคร สว. ได้ถึงวันไหน

A : 24 พฤษภาคม 2567 โดยผู้สมัครต้องไปสมัครด้วยตนเอง ในอำเภอที่ประสงค์จะสมัคร เลือกได้อำเภอใดอำเภอหนึ่ง ดังนี้

  • อำเภอที่เกิด
  • อำเภอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี (นับถึงวันสมัคร)
  • อำเภอที่ทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี (นับถึงวันสมัคร)
  • อำเภอที่เคยทำงาน หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่าสองปี
  • อำเภอของสถานศึกษาที่เคยศึกษาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษาตั้งอยู่

Q : ผู้รับรอง ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ใครบ้างที่รับรองให้ได้

A : ผู้รับรอง ขอแค่เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย (เพราะต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนผู้รับรองด้วย) ใครที่ทราบว่าผู้สมัครมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ทำงานด้านนั้นๆ มาเกิน 10 ปี ก็สามารถเป็นผู้รับรองด้วย

ในการสมัคร สว. จะต้องให้ผู้รับรองลงลายมือชื่อ และมีพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงชื่อด้วย พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับรองและพยาน

Q : รูปถ่ายสำหรับติดในเอกสารข้อมูลแนะนำตัวผู้สมัคร (สว. 3) ต้องมีลักษณะอย่างไร 

A : รูปถ่าย ขอแค่มีขนาด 8.5 x 13.5 เซนติเมตร เป็นรูปถ่ายหน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาดำ โดยผู้สมัครต้องส่งรูปถ่ายสองใบพร้อมไปกับเอกสารการสมัคร

Q : ในเอกสารใบสมัคร สว. 2 มีช่องสำหรับรูปถ่ายพิมพ์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร ส่วนนี้ผู้สมัครต้องเตรียมไปด้วยไหม

A : ไม่ต้องทำอะไร เจ้าหน้าที่ในสถานที่รับสมัครจะจัดการให้

Q : หลังจากจบกระบวนการรับสมัครแล้ว มีขั้นตอนอย่างไรต่อ

A : ภายในห้าวัน นับตั้งแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอจะประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านการตรวจสอบเอกสารหลักฐานการสมัครแล้ว และมีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม

การประกาศ จะติดประกาศไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สถานที่เลือกและจัดทำข้อมูลเผยแพร่ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

ผู้สมัคร สว. ควรตรวจสอบรายชื่อของตนเองไว้ กรณีที่ผู้สมัครพบว่าไม่มีชื่อของตนเองในประกาศบัญชีรายชื่อ ผู้สมัครนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในสามวันนับแต่วันที่ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร

นอกจากกระบวนการประกาศรายชื่อแล้ว ก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่าสามวัน ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอจะมอบเอกสารข้อมูลของผู้สมัครทุกกลุ่มให้ผู้สมัคร สว. ซึ่งผู้สมัคร สว. จะทราบกำหนดวันนัดหมายรับเอกสารเหล่านี้ในวันที่ไปสมัคร

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage