รู้ทันก่อนไปสมัคร คู่มือพิทักษ์สิทธิสำหรับผู้ลงสมัคร สว. 67

เริ่มแล้วกับกระบวนการรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ ที่กฎหมายกำหนดให้เฉพาะ “ผู้สมัคร” เท่านั้นที่มีสิทธิเลือกกันเอง โดยกระบวนการเปิดรับสมัคร อยู่ระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 เท่านั้น

21 พฤษภาคม 2567 เป็นวันที่สองของการเปิดรับสมัคร สว. จากการสังเกตการณ์และสอบถามผู้ที่ไปยื่นสมัคร พบปัญหาหลายประการที่ผู้สมัครต้องเตรียมพร้อมให้ดี

14 ปัญหาวันยื่นใบสมัคร (อัพเดทวันที่ 21 พ.ค. 67)

  1. หาที่รับสมัครไม่พบ มีผู้สมัครเดินทางไปที่ว่าการอำเภอ แล้วพบว่า ไม่ได้ใช้ที่ว่าการอำเภอเป็นสถานที่รับสมัครสว. เช่น ที่ว่าการอำเภอธัญบุรี แต่ใช้สถานที่แห่งอื่นที่ไม่มีบริการรถสาธารณะ หรือไม่มีบริการรถรับส่ง
  2. สถานที่ไม่เอื้อคนพิการ มีผู้สมัครที่เดินทางไปที่ว่าการอำเภอสามพราน แล้วพบว่า เจ้าหน้าที่ใช้พื้นทีรับสมัครสว. บนอาคารชั้น 3 ซึ่งผู้พิการที่นั่งรถเข็นไม่สามารถขึ้นไปได้
  3. โดนปฎิเสธให้ใบสมัคร มีผู้สมัครท่เดินทางไปที่สำนักงานเขตคลองสาน แล้วขอรับใบสมัคร ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจผิดว่าหมดเขตรับใบสมัครแล้ว ให้ยื่นใบสมัครได้เพียงอย่างเดียว แต่หลังจากมีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ แล้วจึงได้รับใบสมัครมา
  4. เจ้าหน้าที่น้อยต้องรอนาน สถานที่รับสมัครมีจำนวนโต๊ะรับสมัครไม่มาก และมีขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่ต้องให้ผู้สมัครทำหลายขั้นตอน ทำให้ผู้สมัครต้องเผื่อเวลาว่าอาจจะต้องต่อคิว และใช้เวลาในการสมัครนาน
  5. ห้ามผู้ติดตามเข้าห้อง ห้องรับสมัครบางอำเภอไม่อนุญาตให้ผู้ติดตามเข้าห้องสมัครไปพร้อมกับผู้ลงสมัคร เช่น ที่ว่าการอำเภอบางละมุง แต่บางอำเภอสามารถเข้าไปได้ และสามารถเข้าไปนั่งอยู่กับผู้สมัครเพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ได้ด้วย เช่น ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่
  6. ระบบรับสมัครล่ม ในช่วงสายของวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ผู้สมัครที่ไปยื่นใบสมัครหลายแห่งต้องรอเป็นเวลานาน เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถกรอกข้อมูลเข้าไปในระบบรับสมัครได้ โดยไม่ได้มีคำอธิบายถึงสาเหตุที่ชัดเจน
  7. ใบลงทะเบียนข้อมูลรั่ว สถานที่รับสมัครบางแห่ง เช่น ที่ว่าการอำเภอธัญบุรี วางใบลงทะเบียนไว้ที่โต๊ะลงสมัคร ไม่มีการปิดบังข้อมูลผู้สมัครก่อนหน้า ทำให้ผู้สมัครที่มาทีหลังรู้ได้ว่ามีใครมาสมัครก่อยแล้วบ้าง ซึ่งส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบในการรู้ข้อมูลผู้สมัครก่อน
  8. เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเรียนรู้ระบบ เจ้าหน้าที่ต้องโทรศัพท์สอบถามเจ้าหน้าที่ท่านอื่น หรือปรึกษากัน หรือมีการสอนงานกันระหว่างรับสมัคร ทำให้การสมัครล่าช้า เพราะมีความผิดพลาดและเจ้าหน้าที่ใช้เวลาในการแก้ไข
  9. เจ้าหน้าที่เรียกเอกสารเกินจำเป็น สถานที่รับสมัครบางแห่ง เช่น สำนักงานเขตบางกอกน้อย เจ้าหน้าที่เรียกให้ผู้สมัครต้องนำสูติบัตรมาแสดงทุกกรณี ทั้งที่ในระเบียบให้เรียกเก็บเฉพาะคนที่เลือกลงสมัครอำเภอที่เกิด เท่านั้น
  10. เจ้าหน้าที่ไม่ทำงานให้เสร็จ ที่ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ ผู้สมัครรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่รับสมัครเดินออกไปในระหว่างกระบวนการรับสมัคร โดยไม่แจ้งเหตุผลแก่ผู้สมัคร สอบถามพบว่าเหตุจากไม่มีการสลับเวรรับประทานอาหาร ทำให้ผู้สมัครต้องนั่งรอโดยไม่เข้าใจกระบวนการ
  11. อาชีพในระบบเลือกไม่ครอบคลุม พบข้อมูลใหม่ว่า ในการเลือกกลุ่มอาชีพต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าประกอบอาชีพอะไร โดยเจ้าหน้าที่จะต้องบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ให้เข้าหมวดหมู่ที่ระบบมีอยู่ ทั้งที่การแบ่งหมวดหมู่ลักษณะนี้ไม่เคยปรากฏในกฎหมายใดมาก่อน และยังพบว่า มีกรณีที่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธการระบุอาชีพให้ผู้สมัครที่ตรงกับความเป็นจริง เพราะไม่มีตัวเลือกให้เลือกในระบบ
  12. เจ้าหน้าที่เลือกกลุ่มอาชีพให้ผิด ผู้สมัครที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า เจ้าหน้าที่เลือกกลุ่มอาชีพ “ข้าราชการ” กลุ่มที่ 1 ให้ผู้ลงสมัครที่ต้องการลงสมัครกลุ่มสตรี กลุ่ม 14 โดยความผิดพลาด เพราะเห็นว่าผู้สมัครเป็นอดีตข้าราชการ แต่เมื่อขอแก้ไขก็ได้รับการแก้ไขแล้ว ผู้สมัครทุกคนจึงต้องตรวจสอบให้ดีด้วยตัวเอง
  13. โอนเงินจ่ายค่าสมัครไม่ได้ ระเบียบกกต. เขียนไว้แล้วว่า การจ่ายค่าธรรมเนียมต้องจ่ายเป็นเงินสด แคชเชียร์เช็ค และเช็ค เท่านั้น ไม่สามารถใช้วิธีการโอนออนไลน์ได้ ผู้สมัครบางคนที่ไม่ได้เตรียมเงินสดไปด้วยจึงต้องเสียเวลาเพิ่มในการไปหาเงินสดเพื่อมาจ่ายค่าธรรมเนียม
  14. เจ้าหน้าที่ตั้งกลุ่มไลน์ผู้สมัคร ที่ว่าการอำเภอสวี หลังรับสมัครเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ให้ผู้สมัครกดเข้ากลุ่มไลน์ ซึ่งมีผู้สมัครก่อนหน้าอยู่ในกลุ่มด้วย ทำให้รู้ได้ว่าในอำเภอนั้นมีใครเป็นผู้สมัครบ้าง และส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบในการรู้ข้อมูลผู้สมัคร

แนวทางการพิทักษ์สิทธิระยะการยื่นใบสมัคร

สำหรับผู้ที่จะสมัคร สว. อาจต้องเตรียมตัวไปสมัคร สว. ดังนี้

  1. พกระเบียบ กกต. การเลือกสว. ติดตัวไปด้วย (เน้นข้อ 51) ผู้สมัครควรเตรียมตัวศึกษาระเบียบ กกต. ในเรื่องเอกสารที่ต้องใช้เพื่อการยื่นสมัครให้เรียบร้อย หากเกิดกรณีเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเอกสารเกินจำเป็น ก็สามารถเปิดระเบียบกกต. และอธิบายให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติให้ถูกต้องได้
  2. ตรวจสอบเอกสารให้ครบและทำสำเนาไว้กับตนเอง เพื่อลดความยุ่งยากในการสมัคร ผู้สมัครควรตรวจสอบเอกสารให้เรียบร้อยก่อน และควรมีสำเนาของเอกสารต่างๆ เผื่อไว้ด้วย หากมีข้อผิดพลาดจะได้ยังมีเอกสาร
  3. ติดตามข้อมูลเรื่องสถานที่รับสมัครก่อนออกเดินทาง (สายด่วนมหาดไทย 1567) สถานที่รับสมัครบางแห่งอาจจะไม่ใช่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอก็ได้
  4. เตรียมเงินสด 2,500 บาทให้พร้อม หากต้องออกไปถอนเงินอาจต้องเสียเวลาในการเริ่มต้นกรอกข้อมูลเข้าระบบใหม่อีกรอบ
  5. เผื่อเวลาในการยื่นใบสมัคร ผู้สมัครควรต้องเผื่อเวลาสำหรับการตรวจสอบเอกสารและขั้นตอนต่างๆ ของเจ้าหน้าที่อย่างน้อยคนละ 1 ชั่วโมง หากใครไปยื่นใบสมัครในวันสุดท้ายซึ่งอาจจะมีผู้สมัครจำนวนมาก ก็จะต้องเผื่อเวลามากกว่านั้น
  6. เก็บเอกสารรับใบสมัคร สว.อ.10 ไว้เป็นหลักฐาน
  7. หากเจ้าหน้าที่ไม่รับใบสมัคร ให้เจ้าหน้าที่เซ็นหนังสือแจ้งเหตุไม่รับใบสมัคร หากเอกสารหรือคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามระเบียบ เจ้าหน้าที่ต้องคืนทุกอย่างให้ผู้สมัครกลับไปปรับแก้ใหม่

    หากผู้สมัครปฎิบัติตามระเบียบครบถ้วนแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันไม่รับใบสมัคร ผู้สมัครควรทำเอกสารหลักฐานที่ระบุถึงเหตุของการไม่รับสมัคร และมีชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง พร้อมลายมือชื่อรับรองของเจ้าหน้าที่ไว้ด้วย สามารถดาวน์โหลดตัวอย่างหนังสือแจ้งเหตุการไม่รับสมัคร ให้เจ้าหน้าที่เซ็นเป็นลายลักษณอักษร เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นอุทธรณ์ขอให้พิจารณารับสมัครใหม่ด้วย

    ดาวน์โหลดหนังสือแจ้งเหตุไม่รับสมัคร : https://docs.google.com/file/d/1atfkL_nLNG9ggMV14Jkx7ke8odZaQPua/edit?usp=docslist_api&filetype=msword

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage