20 พฤษภาคม 2567 เป็นวันรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นวันแรก จากการสังเกตการณ์และสอบถามผู้ที่ไปยื่นสมัคร พบข้อสังเกตหลายประการที่ผู้สมัครต้องเตรียมพร้อมให้ดี เช่น การจ่ายค่าสมัครที่ต้องเป็นเงินสด ไม่สามารถใช้การโอนเงินเหมือนการซื้อของได้ รวมถึงการตรวจสอบสถานที่รับสมัคร สว. ให้แน่ใจก่อนเพราะแต่ละเขตหรืออำเภออาจจะไม่ได้ใช้ที่ว่าการอำเภอเหมือนกัน
ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องออกมาตรการมาช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการรับสมัคร สว. ได้ง่ายขึ้นและป้องกันความผิดพลาด โดยจากข้อมูลที่ตรวจสอบในการรับสมัครวันแรก มีข้อเรียกร้องสี่ประการ ดังนี้
1. ต้องขยายวันรับสมัครถึงวันที่ 26 พ.ค.
กกต. ประกาศกำหนดรับสมัคร สว. ไว้เพียงห้าวันหรือถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 เท่านั้น โดยระยะเวลาห้าวันถือเป็น “ขั้นต่ำ” ที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 12 กำหนดเอาไว้ว่าต้องมีระยะเวลารับสมัคร สว. ได้ห้าถึงเจ็ดวัน ดังนั้น กกต. มีอำนาจในการขยายระยะเวลาการรับสมัครได้เพิ่มอีกสองวันให้ 26 พฤษภาคม 2567 เป็นวันสุดท้าย
การขยายเวลาให้เป็นวันที่ 26 พฤษภาคม จะช่วยเหลือผู้สมัครที่ติดธุระในระหว่างสัปดาห์ให้สามารถไปยื่นใบสมัครได้ เพราะระยะเวลา 20-24 พฤษภาคม ที่ กกต. กำหนดในปัจจุบันเป็นวันจันทร์ถึงวันศุกร์เท่านั้น หากมีการขยายเวลาให้สามารถยื่นใบสมัครในวันเสาร์-อาทิตย์ได้ ก็จะทำให้ผู้สมัครมีทางเลือกไม่ต้องลางานหรือสูญเสียรายได้จากการทำงานในระหว่างสัปดาห์ไปได้
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ กกต. ควรขยายเวลาการรับสมัครคือมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้สมัครที่ไปยื่นใบสมัครจะมากขึ้นในช่วงวันท้ายของการรับสมัคร เนื่องจากระยะเวลาการเตรียมเอกสารค่อนข้างสั้นและอาจมีผู้สมัครที่เอกสารยังมีความผิดพลาดทำให้ต้องแก้ไข จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้สมัครส่วนใหญ่จะเดินทางไปสมัครในช่วงท้าย ประกอบกับจากข้อสังเกตในวันแรกของการรับสมัครที่มีผู้สมัครค่อนข้างบางตา สวนทางกับจำนวนผู้ที่ขอรับใบสมัครที่มีมากกว่า 30,000 คน กกต. จึงควรขยายเวลาการรับสมัครให้ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม ให้รองรับปริมาณผู้สมัครที่มากขึ้น
2. ต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่/จุดรับสมัคร
จากการสังเกตการณ์การรับสมัครในวันแรก พบว่ากระบวนการรับสมัครสำหรับผู้สมัครหนึ่งคนจะใช้เวลาประมาณ 40 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง โดยยังไม่ได้คำนวณความผิดพลาดอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ระบบการรับสมัครของ กกต. ใช้งานไม่ได้ชั่วคราวดังที่พบในบางพื้นที่ อีกทั้งในบางสถานที่รับสมัครมีเจ้าหน้าที่หรือจุดรับสมัครเพียงสี่จุดเท่านั้น หมายความว่าในระยะเวลาหนึ่งชั่วโมง กระบวนการรับสมัครในบางพื้นที่อาจรับสมัครผู้สมัครได้จำนวนไม่มาก
ในวันแรกพบว่ายังมีผู้สมัครเดินทางมายื่นใบสมัครไม่มาก ดังนั้นจึงยังไม่พบความล่าช้าหรือแออัดที่เกิดขึ้นจากจำนวนเจ้าหน้าที่หรือจุดรับสมัครน้อย อย่างไรก็ดี ในวันท้ายของการรับสมัครอาจพบจำนวนผู้สมัครที่มากขึ้นและอาจส่งผลต่อความเร็วของกระบวนการรับสมัครด้วย กกต. จึงควรพิจารณาเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่หรือจุดรับสมัครในบางอำเภอ โดยอาจพิจารณาจากจำนวนผู้ที่ขอรับใบสมัครในแต่ละอำเภอเพื่อช่วยในการตัดสินใจเพิ่มเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กระบวนการรับสมัครไม่ล่าช้า
3. ต้องสร้างฐานข้อมูลกลางสถานที่รับสมัคร
สถานที่รับสมัครเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ผู้สมัครสับสน ในการเลือก สว. นั้น ผู้สมัครจะต้องไปยื่นใบสมัครในอำเภอที่ตนเองจะลงรับสมัคร โดยมีผู้อำนวยการเลือกแต่ละระดับเป็นผู้กำหนดสถานที่รับสมัคร จากการสังเกตการณ์พบว่าหลายอำเภอหรือเขตเลือกใช้ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตเป็นสถานที่รับสมัคร อย่างไรก็ตาม ก็มีบางพื้นที่ที่เลือกใช้สถานที่อื่นแทน ประชาชนที่ตั้งใจจะไปยื่นใบสมัครจำนวนมากที่มักเข้าใจว่าต้องเดินทางไปที่ว่าการอำเภอจึงไปผิดสถานที่ และต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มเติม
กกต. ประจำจังหวัดเลือกใช้ช่องทางทางโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์เพื่อแจ้งสถานที่รับสมัครกับประชาชน แต่ก็ยังมีปัญหาขาดมาตรฐานจาก กกต. แต่ละพื้นที่ ประกอบกับช่องทางโซเชียลมีเดียของ กกต. ในระดับจังหวัดมีผู้ติดตามค่อนข้างน้อย ทำให้ข้อมูลอาจจะไม่ได้กระจายเป็นวงกว้างถึงผู้สมัครอย่างเพียงพอ
กกต. จึงควรสร้างฐานข้อมูลกลางที่ระบุสถานที่รับสมัครของแต่ละอำเภอทั่วประเทศให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายพร้อมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สมัครเดินทางไปผิดสถานที่
4. ต้องไม่นำผู้สมัครเข้ากลุ่มไลน์
ผู้สมัครในบางพื้นที่รายงานว่าหลังจากที่ตนรับสมัครเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้สมัครเข้ากลุ่มไลน์เดียวกัน โดยไม่ได้มีจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าเหตุใดต้องมีกลุ่มไลน์ แม้ว่าเจ้าหน้าที่อาจจะมีความตั้งใจดีในการใช้ช่องทางไลน์ในการเผยแพร่ข้อมูลที่ผู้สมัครต้องรู้ แต่หากมีการรวมผู้สมัครทุกคนในอำเภออยู่ในกลุ่มไลน์จริงจะสร้างปัญหาให้ผู้สมัครรับรู้จำนวนผู้สมัครทั้งหมดก่อนการปิดรับสมัคร
ข้อมูลจำนวนผู้สมัครเป็นสิ่งสำคัญที่เปิดเผยไม่ได้ในระหว่างที่ยังเปิดรับสมัครอยู่และถูกกฎหมายห้ามเปิดเผยเอาไว้ เนื่องจากจะเอื้อให้ผู้ที่ต้องการซื้อเสียงให้มีผู้มาลงคะแนนทราบว่าจะต้องใช้คนจำนวนเท่าใดในการการันตีผลการเลือก สว. จำนวนผู้สมัครจึงต้องปิดเป็นความลับจนกว่าจะปิดรับสมัคร ซึ่งจากที่สังเกตก็พบว่าสถานที่รับสมัครหลายที่ห้ามคนนอกเข้าภายในสถานที่ด้วยเหตุผลเดียวกันว่าเพื่อป้องกันข้อมูลจำนวนผู้สมัครรั่วไหล
ดังนั้น กกต. จึงต้องไม่นำผู้สมัครเข้ากลุ่มไลน์หรือช่องทางอื่นใดที่อาจทำให้ผู้สมัครทราบจำนวนผู้สมัครคนอื่นภายในอำเภอหรือกลุ่มอาชีพเดียวกันได้