19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate 67 จัดงาน #สมัครเพื่อเปลี่ยน : จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ ที่ประตูท่าแพเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ประสงค์ลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในช่วง “โค้งสุดท้าย” ก่อนการเปิดรับสมัครจริงในวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 และเข้าสู่การคัดเลือกด้วยระบบ “เลือกกันเอง” ของผู้สมัครที่อายุ 40 ปีขึ้นไป
สมัคร สว. “เข้าไปแก้ในระบบ”
ผศ. ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงบรรยากาศจากการไปร่วมงานกิจกรรมเกี่ยวกับ สว. และจากชีวิตรอบตัวๆ ของเขาว่า คนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันหลายคนสนใจที่จะลงสมัคร
“…เดินออกมาข้างหน้า ลงสมัคร สว. เรียกพี่น้องเพื่อนฝูงที่อยู่รอบข้างเรา มันไม่ใช่เรื่องที่หนักหนาสาหัสเหนือกว่าสิ่งที่เราทำได้เลย โค้งสุดท้าย จังหวะนี้คือจังหวะชิงดำ หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่เราจะมีโอกาสเปลี่ยนประเทศนี้…”
.
พวกอนุรักษ์นิยม พวกจารีตนิยม กลัวการใช้เหตุผลเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ได้ พยายามไม่ให้มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตำแหน่งสำคัญในองค์กรต่างๆ เพราะผู้มีอำนาจกลัวสังคมที่ตาสว่าง มีเหตุมีผล การร่วมไม้ร่วมมือกันของประชาชน เมื่อไหร่ที่ประชาชนร่วมไม้ร่วมมือกัน พวกเขารู้ดีว่าจะต้องสูญเสียอะไร
.
การเลือกสว. ในครั้งนี้ เราพิสูจน์ให้ผู้มีอำนาจเห็น ว่าท่านไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเกรงกลัวผู้ใด เราไม่ได้คิดร้าย เรามีความปรารถนาดีต่อประเทศนี้ เรามีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญที่จะพิสูจน์ให้เห็น หากกฎหมายไม่จำกัดอายุ เชื่อว่าจะมีคนที่อายุน้อยหลายคนที่เข้าไปสมัคร สว.
.
“ในทุกเรื่องที่เรารู้สึกโมโห ในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถแบกภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ เรื่องการเกิดอุบัติเหตุไม่มีหน่วยพยาบาลเข้าไปช่วยเหลืออย่างเท่าทัน เรื่องดารานักร้อง ออกไปวิ่งเรี่ยไรรับบริจาคเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลแห่งรัฐ และเรื่องปัญญาอ่อนมากมายในประเทศนี้ที่เราอ่าน ที่เรามีประสบการณ์ และเรารู้สึกโมโห รวมทั้งความตายของบุ้งด้วย ล้วนมาจากซุ้มมือปืนเหล่านี้ เราจะทนเป็นประชาชนที่ต้องแบกภาระความโกรธเกรี้ยว ความโมโหรายวันอย่างนี้ต่อไปอีกหรือ”
.
“เข้าไปแก้มันในระบบ เข้าไปเดินในสภา เขาบอกว่าค่าข้าววุฒิสมาชิกแปดร้อยบาทต่อมื้อ เข้าไปชิมมันหน่อยอร่อยแค่ไหน”
“การต่อสู้ในเวทีสมาชิกวุฒิสภาเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ทำให้ความหวังและการต่อสู้ยังดำเนินไปได้”
รศ. เก่งกิจ กิตติเลียงลาภ คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีการรำลึก 14 ปีของการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงและความหวังที่เป็นไปได้ในการที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นผ่านความตื่นตัวทางการเมืองในการรณรงค์สมัครเพื่อเปลี่ยน สว. 67 ว่า
“ถ้านับจากปี 2549 เป็นต้นมา ปีนี้เป็นปีที่ 18 นับจากปี 2553 เป็นปีที่ 14 มีช่วงนึงที่ผมกลัวในการที่จะเล่าเรื่องนี้ เพราะผมกลัวว่าการเล่าเรื่องคนเสื้อแดงจะทำให้ผู้คนที่มองเราในช่วงหลังปี 2553 จะมองว่าเราเป็นคนที่ใช้ความรุนแรง ผมพยายามไม่พูดถึงมันมาหลายปี คืนของการชุมนุมวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ผมและเพื่อนหลายคนก็อยู่ในพื้นที่ชุมนุม ในช่วงเช้าของวันที่มีการปราบปราม มีเด็กอายุ 10 กว่าขวบเป็นการ์ดในม็อบเสื้อแดง ตอนนั้นผมอยู่ที่เวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันนั้นเราก็พยายามบอกน้องว่าคนที่เป็นการ์ดว่า ต้องกลับบ้าน แต่น้องบอกว่าผมไม่กลับบ้านแล้ว เพราะเอาเงินที่มีทั้งหมดมาชุมนุม เพราะน้องเชื่อว่าถ้าวันนี้เราได้ประชาธิปไตยชีวิต ผมจะดีขึ้น แล้วน้องก็หยิบอาวุธออกมาพร้อมที่จะต่อสู้กับทหาร”
“ผมเป็นคนที่ขี้ขลาดกว่าน้อง พวกผมก็กลับบ้าน แต่คำพูดของน้องคนนี้ที่พูดว่าเงินผมเอามาหมดแล้ว ถ้าเราได้ประชาธิปไตยชีวิตผมจะดีขึ้น ต่อให้ผมไม่มีเงินเลยแม้แต่บาทเดียว นี่คือความฝันของน้องคนนี้มันยิ่งใหญ่มากเลยนะ เค้าเชื่อว่าถ้าเขาได้ประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งชีวิตเขาจะดีขึ้น“
“การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังไม่จบสิ้น มันยังอาศัยการช่วยกันหนุนเสริมด้วยกลวิธีต่างๆ ต้องขอบคุณทีมงาน iLaw มากที่ได้พยายามที่จะยืนหยัดเปิดช่องทางของการต่อสู้ในระบบ ซึ่งผมไม่ได้ศรัทธาระบบอะไรเลยแม้แต่ระบบเดียว แต่ผมชื่นชมตรงที่พยายามจะหาทุกช่องทางที่จะต่อสู้ในระบบ การต่อสู้บนท้องถนนเป็นการต่อสู้ที่ชี้ขาดก็จริง แต่มันจะไม่สามารถต่อเนื่องได้ถ้าไม่มีอิฐแต่ละก้อนที่วางลงไป ที่ทำให้เกิดกระแสของการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง เป็นไปไม่ได้ที่คนอยู่บนท้องถนนตลอดเวลา การต่อสู้ในเวทีสมาชิกวุฒิสภาเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ทำให้ความหวังและการต่อสู้ยังดำเนินไปได้ หลายคนก็รู้ว่าเราอาจจะไม่ได้ชนะ บนกติกาที่โคตรเฮงซวยแบบนี้แต่มันมันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เรามีเวทีแบบนี้และเราสามารถพูดว่าเรายังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”
“ความสำเร็จของการต่อสู้ไม่ใช่การประเมินว่าพรุ่งนี้ว่า เราได้หรือไม่ได้ แต่มันคือการประเมินวันชนะว่าอิฐทุกก้อนที่เราวางไว้มันคือเงื่อนไขของชัยชนะของเรา ผมคิดว่าการรณรงค์เรื่อง สว. คือการก่ออิฐแต่ละก้อนเพื่อให้ได้รับชัยชนะ เพื่อทำให้ความหวังของน้องเขาที่จะได้ประชาธิปไตย และทำให้วันรุ่งขึ้นชีวิตของเขามันดีขึ้น แม้ว่าเขาจะไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียวโดยที่เขาไม่ได้ตายบนถนนมันเป็นไปได้”
“ผมคิดว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตามมันอาจจะดีขึ้น ไม่ว่าเราจะได้คนที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยไปกี่คนมันก็จะดีขึ้น เพราะที่ผ่านมามันแย่ที่สุด ต่อให้เราได้แค่ห้าคน 10 คน มันก็จะดีขึ้น ผมคิดว่าคนรอบตัวของผมลงสมัคร สว. เยอะมาก สิ่งที่สำคัญมากคือบรรยากาศของความตื่นตัวทางการเมือง ผมคิดว่านี่เป็นส่วนสำคัญ หลังจากการเลือกตั้งประมาณเกือบหนึ่งปีเราไม่มีบรรยากาศของการตื่นตัวทางการเมืองในระดับนี้เลย ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่มันเป็นส่วนที่ทำให้บรรยากาศของประชาธิปไตยมันกำลังหล่อเลี้ยงตัวมันเอง การที่ผู้คนส่งต่อบรรยากาศของประชาธิปไตยไม่ว่าอย่างไรก็ตามที่ไม่ได้จบแค่การเลือกตั้ง ทุกคนก็ทราบอยู่แล้วว่ากติกาของการเลือก สว. ครั้งนี้ไม่โอเคเลย แต่บรรยากาศของประชาธิปไตยในครั้งนี้ผมคิดว่า ต่อให้มันมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปแล้ว แต่มันยังมีการตื่นตัวทางการเมืองแบบนี้อยู่ นี่เป็นบรรยากาศที่ตื่นตัวที่สุดตั้งแต่หลังเลือกตั้งมา”
“สนามนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของเรา สว. ชุดใหม่ ต้องโหวตให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน”
พรชิตา ฟ้าประทานไพร หรือ “ดวงแก้ว” จากเครือข่ายชาติพันธุ์ปลดแอก คนชาติพันธุ์รุ่นใหม่ที่ไม่มีสิทธิสมัคร และไม่มีสิทธิเลือก สว. กล่าวถึงการเลือก สว. และความหวังในการเห็น สว. ชุดใหม่ ที่เป็นตัวแทนคนชาติพันธุ์
“เป็นที่ทราบกันดีว่า สว. แต่งตั้งหมดวาระไปเมื่อ 11 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา และจะมีการเลือก สว ใหม่เร็วๆ นี้ การเลือก สว. ครั้งนี้ เป็นการเลือกกันเองและผู้สมัครต้องมีอายุ 40 ปี เท่านั้นถึงจะสมัครได้ แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่แบบเราไม่สามารถสมัคร สว. ได้ ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้”
“แต่เราเชื่อว่า สนามนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของเรา สว. ชุดใหม่ ต้องโหวตให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ที่ประชาชนมีส่วนร่วม และ สว. ชุดนี้ยังสามารถแต่งตั้งองค์กรอิสระได้อีกด้วย”
“เราในฐานะชาติพันธุ์รุ่นใหม่ ทีมีความฝันและความหวัง ที่เชื่อว่าคนเท่ากัน อยากให้มีตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์เข้าไปในสนามนี้ เข้าไปเป็นตัวแทนเพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้พวกเรา แต่เป็นไปได้ยากมาก เพราะเราถูกแบ่งกลุ่มให้อยู่ในกลุ่มผู้เปราะบาง มีทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ ชาติพันธุ์และอัตลักษณ์อื่นๆ หลังจากทราบข้อมูลว่าแบ่งแบบนี้เราโกรธมาก เพราะเราเชื่อว่ากลุ่มชาติพันธุ์ก็เป็นประชากรส่วนใหญ่ในประเทศนี้เหมือนกัน เป็นประชากรที่พัฒนาประเทศนี้เหมือนกัน ควรจะแยกในแต่ละกลุ่ม เพราะเขามีส่วนสำคัญที่ควรจะได้รับฟังเสียงของพวกเขา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาไปพร้อมๆ กัน”
“ที่ผ่านมาพวกเราในนาม SENATE 67 ได้ร่วมรณรงค์และเชิญชวนพี่น้องที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด มีอายุครบ 40 ปี เข้าไปเป็นเสียงให้พวกเรา เป็นตัวแทนของพวกเรา และเราเชื่อว่าพี่ๆ สามารถทำให้พวกเราได้ จึงอยากขอเชิญชวนพี่ๆ เข้าไปสมัครเพื่อเปลี่ยน สมัครพื่อโหวต และหวังว่าสนามนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของเราและสามารถทำลายอำนาจของคนอีกกลุ่มนึงได้ด้วยพลังประชาชน”
“ที่ผ่านมาจากการรณรงค์เรื่องนี้ เราได้รู้และเข้าใจ ถึงปัญหารวมถึงอุปสรรคในการลงสมัครครั้งนี้ เช่นกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจน ซับซ้อนและยุ่งยาก ทำให้พี่น้องของเราไม่กล้าลงสมัคร รวมถึงความไม่มั่นคงของ กกต. ที่มีระเบียบใหม่”
“ดังนั้นแล้ว อยากจะขอพี่ๆ น้องๆ เข้าไปเป็นตัวแทนของเราค่ะ และมีความคาดหวังว่า เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้มีสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง”
“การกำหนดกลไกด้วยการเลือก สว. คือการกีดกันการมีส่วนร่วมของคน 99 % ของประเทศนี้”
เริงฤทธิ์ ละออกิจ สหภาพแรงงานบาริสต้าเชียงใหม่ ระบุว่า “ค่าแรงขั้นต่ำของเชียงใหม่วันละ 300 บาท 15,000 บาท ต่อเดือน กลไกค่าสมัคร สว. กำลังกีดกันให้คนอีก 60-70% ของประเทศ ไม่ให้เข้าร่วมการกำหนดกลไกชีวิต หากเอาคนไทย 68 ล้านคน คนที่มีรายได้น้อยสุดอยู่หางแถว คนที่มีรายได้มากที่สุดอยู่แถวหน้า คนตรงกลางของประเทศนี้ มีรายได้ต่อเดือนแค่ 7,500 บาท”
“น่าใจหายนะครับ การที่คนจะเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียช่างมีต้นทุนมากเหลือเกิน นี่คือความอัปยศของผู้ใช้แรงงานอย่างเรา การกำหนดกลไกด้วยการเลือก สว. คือการกีดกันการมีส่วนร่วมของคน 99 % ของประเทศนี้”
“ผมละอายใจตัวเองมากที่จะพูดแบบนี้ ผมขอความเสียสละจากผู้ใช้แรงงาน คุณเสียสละได้มั้ย แค่ 2,500 บาท การที่ผมพูดแบบนี้ผมละอายใจตัวเอง หากผมขอให้คุณยอมอดข้าวซักสองอาทิตย์ได้มั้ย เพื่อมาเปลี่ยนแปลงอนาคต สิ่งที่ผมกำลังพูดคือการตอกย้ำแผลและความเจ็บปวดร่วมกันของแรงงานทุกคนว่าเราคือเจ้าของประเทศแต่กลไกนี้กีดกันเราไม่ให้เป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง
“ผมเองกล้าบอกว่าผมเป็นชนชั้นแรงงานอย่างสุดตัวและหัวใจ ผมไม่กล้าจะเสียสละเงิน 2,500 บาท อย่างที่คนอื่นเรียกร้อง ผมจึงละอายใจที่จะไปขอให้คนอื่นสมัคร แต่เจตนารมณ์ที่เราวาดฝันไว้คือคนทุกคนต้องมีส่วนร่วมกำหนดออกเสียงของตัวเองได้ในฐานะพลเมืองของประเทศ ข้อจำกัดใดๆ จงพังทะลายมันซะ ต้นทุนที่คุณบอกว่าคุณต้องมีเงินมากกว่าคนอื่น ทำลายมันซะ ต้นทุนที่บอกว่าคุณแค่จะพูด คุณต้องจ่าย 2,500 บาท ทำลายมันซะ”
“นี่คือเสียงของสหภาพบาริสต้าเชียงใหม่ อยากจะฝากถึงพี่ๆ แรงงานที่เป็นผู้สมัคร ผมขออำนวยอวยชัยให้พี่ๆ และขอตอกย้ำบาดแผลอันเจ็บปวดของพวกเราว่า บ่าที่พี่แบกไว้นั้น ไม่ได้มีความหวังแค่ตัวพี่ แต่มีความหวังของคนทั้งประเทศ บ่าที่พี่แบกไว้ ไม่ใช่ความฝันของพี่ แต่คือความความฝันของผมเองเหมือนกัน”
“ฝากพี่ๆ ทุกคน โปรดรับเอาความหวังและความฝันของพวกผมที่อยากมีประชาธิปไตยเต็มใบกับเขาซักที ผมอยากชวนให้ทุกคนตั้งสถาบันการเมืองภาคประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ในขณะที่เรากำลังต่อสู้เพื่อให้มีที่นั่งในสภา แต่ประชาชนที่ไม่มีสิทธิเข้าร่วมในมหรสพนี้ นั่นคือการสร้างสถาบันการเมืองภาคประชาชน นี่คือสิ่งที่ผมกับเพื่อนพยายามทำกันอยู่คือการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ที่จะสามารถปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานทุกคนได้ คุณจะหวังว่า สว. ที่มาจากนายจ้างจะเห็นใจแรงงานหรือไม่? ”
“ในนามตัวแทนสหภาพบาริสต้าเชียงใหม่ ขออำนวยอวยพรให้พี่ สว. ที่มีเจตจำนงที่เข้าไปเปลี่ยน เข้าไปเปลี่ยนแปลง แก้ไข ยกเลิก สว. และมาสร้างสถาบันการเมืองภาคประชาชนด้วยกันครับ”