ก็คิดได้เนอะ! ส่องความเห็น กรธ. ชุดมีชัย คลอดระบบเลือกกันเอง สว.

ใช้คำว่า “พิสดาร” อาจจะน้อยไปสำหรับระบบเลือกกันเองเพื่อสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ระบบที่มีแห่งเดียวในโลกนี้เป็นผลผลิตมาจากมันสมองของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ มือร่างรัฐธรรมนูญคนสำคัญ นอกจากจะเป็นระบบที่ซับซ้อนแล้ว หากพอจะมีเวลาทำความเข้าใจได้ คำถามแรกที่ตามมาของหลายคนคือ “อะไรคือเหตุผลเบื้องหลังของการออกแบบระบบเลือกกันเอง”

การจะทำความเข้าใจระบบเลือกกันเองจึงต้องย้อนกลับไปที่เอกสารต่าง ๆ ที่ กรธ. อธิบายความคิดของตนเองเอาไว้ ซึ่งจะเห็นว่า กรธ. เริ่มต้นจากการเกลียดกลัวอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้พยายามเฟ้นหาที่มาของ สว. รูปแบบอื่น หลังจากการถกเถียงความเป็นไปได้หลายทาง กรธ. ก็ตกลงกันที่ระบบเลือกกันเอง

กลัวอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง

ไม่เป็นการเกินเลยที่จะบอกว่า กรธ. ชุดนี้มีธง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เขียนบอกเล่าที่มาของระบบเลือกกันเองของ สว. ในหนังสือ ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ไว้ว่า เริ่มมาจากกรอบที่ คสช. “สั่ง” กรธ. เดินตามเอาไว้ในกระบวนการร่าง โดยหนึ่งในนั้นคือ “สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในอันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและร่วมกันรับรู้และรับผิดชอบต่อความเจริญและการพัฒนา ประเทศและสังคมโดยรวม (จึงเป็นที่มาของการสร้างระบบที่มาของสมาชิกวุฒิสภา)”

ระบบเลือกกันเองของ สว. จึงเป็นผลมาจากความพยายามในการตอบคำถามที่อยู่ในใจ คสช. และเหล่าสมาชิก กรธ. ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ว่า จะออกแบบระบบอย่างไรให้จำกัดอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองได้มากที่สุด และกรธ. ทึกทักเอาว่านี่เป็นสิ่งที่ “ประชาชนคาดหวัง” คือวุฒิสภาต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองเพื่อทำหน้าที่ถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น การข้องแวะเกี่ยวกับอำนาจการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ต้องป้องกันให้ได้

ทั้งนี้ คำว่า “การเมือง” ในมุมมองของ กรธ. คือความหมายอย่างแคบเท่านั้น กล่าวคือ การเมืองเท่ากับอำนาจใดก็ตามที่มาจากการเลือกตั้งและออกเสียงโดยประชาชน ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลจริงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เช่น อำนาจเผด็จการที่มาจากการยึดอำนาจไม่ใช่อำนาจและอิทธิพลทางการเมืองในความเข้าใจของ กรธ. ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช.

เมื่อตั้งต้นที่ชิงชังอำนาจการเมือง ความหมายโดยนัยก็คือเกรงกลัวอำนาจที่มาที่มาจากการเลือกตั้ง นี่จึงเป็นเหตุให้ กรธ. ตัดความเป็นไปได้ที่จะให้ สว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดออกไป โดยเห็นว่า สว. ที่มาจากการเลือกตั้งจะอยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง ผู้ที่ลงสมัครก็ต้องเป็นคนของพรรคการเมืองและอาศัยทรัพยากรของพรรคในการรับสมัคร ในขณะเดียวกัน กรธ. ก็ไม่กล้าที่จะให้ สว. มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาเพราะรู้แก่ใจว่าจะขาดความชอบธรรม ประชาชนจะรู้สึกว่าตนเองโดนตัดสิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งยังเลี่ยงข้อครหาว่ากรรมการสรรหาเลือกแต่พรรคพวกตนเองไม่ได้

“การออกแบบที่มาของสมาชิกวุฒิสภาจะต้องคํานึงถึงสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง คือ ต้องการให้สมาชิกวุฒิสภามีความเป็นกลางทางการเมืองและมีการถ่วงดุลอํานาจกับฝ่ายนิติบัญญัติในดุลพินิจ ดังนั้น ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาจึงไม่ควรมาจากการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งจะอยู่ภายใต้การครอบงําของพรรคการเมือง แต่หากจะให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการสรรหา ก็จะมีคําครหาว่านําพรรคพวกของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา จึงควรหาวิธีการอื่นนอกเหนือจากวิธีการเลือกตั้งโดยตรงและการสรรหา” บันทึกการประชุมครั้งที่ 29 ระบุ

ความพยายามปิดกั้นอิทธิพลทางการเมืองยังเลยเถิดไปถึงว่ามีข้อเสนอให้ “ควรกําหนดคุณสมบัติของคนในแต่ละกลุ่มให้เป็นกลุ่มชนชั้นนํา (elite) เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งการกําหนดกลุ่มให้มีความหลากหลายจะทำให้พรรคการเมืองครอบงำได้ยาก”

นอกจากนี้ อาการเกลียดกลัวอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้จบแค่การออกแบบระบบเลือก สว. เท่านั้น แต่ยังมีผลต่ออำนาจของ สว. ด้วย เช่น อำนาจหนึ่งของ สว. ที่หายไปในรัฐธรรมนูญ 2560 คือการถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรธ. มองว่าหาก สว. ไม่มีอำนาจนี้แล้ว พรรคการเมืองก็อาจจะไม่อยากเข้ามาก้าวก่าย สว. เพราะไม่มีผลประโยชน์อีก

กรธ. มองเห็นอนาคตว่าอำนาจที่สำคัญของ สว. คือการแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จึงยิ่งทำให้การจำกัดอิทธิพลการเมืองหรือการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ให้ตก มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แสดงความเห็นในประเด็นนี้ไว้ว่า

“อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระของวุฒิสภานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภามีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้ความมุ่งหมายที่ต้องการให้องค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างอิสระ และปลอดจากการเมืองนั้นก็จะเป็นไปได้ยาก การกําหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแทรกแซง โดยควรกําหนดรูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่ฝ่ายการเมืองไม่สามารถแทรกแซงได้ ทั้งนี้ จะต้องไม่เป็นการจํากัดสิทธิของประชาชนมากเกินไปด้วย”

ผลลัพธ์ของมุมมองของมีชัยคือองค์กรอิสระที่ปราศจากความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรเหล่านี้มีอิทธิพลต่อทิศทางทางการเมืองไทยอย่างมหาศาล แต่ไร้การยึดโยงเพราะถูกแต่งตั้งโดย สว. ที่ไร้การยึดโยงไม่ต่างกัน

สว. ใหม่ไม่ใช่สภาพี่เลี้ยง

อีกหนึ่งแนวคิดที่ดูจะแหวกจากหน้าที่หรืออย่างน้อยก็คำอธิบายของความจำเป็นในการมี สว. ที่ผ่านมาคือ กรธ. เห็นว่า สว. ไม่จำเป็นต้องมีบทบาทเป็นสภากลั่นกรองกฎหมายอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องถ่วงดุลพรรคการเมืองที่มักจะ “มองถึงประโยชน์ของพรรคการเมืองเป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นภัยต่อการปกครองประเทศ ถ้ากําหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว”

เรื่องนี้มีชัยเขียนอธิบายไว้ว่า สส. ในปัจจุบันมีความรู้มากขึ้นจน สว. ไม่ต้องเป็นสภาพี่เลี้ยง แต่หน้าที่ใหม่ควรเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ

“แต่เดิมมานั้นการมีวุฒิสภามักจะเกิดจากแนวคิดว่าสภายังไม่พร้อม ควรมีสภาพี่เลี้ยงเพื่อประคับประคองกันไปต่อมาก็ว่าเป็นสภากลั่นกรองเพื่อให้เกิดความสมดุล ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในตอนต้นจึงมาจากการแต่งตั้งเพื่อให้ได้คนที่มีคุณวุฒิสูงมีประสบการณ์มาก ๆ ต่อมา ก็ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากแต่ละจังหวัดโดยให้ตัดขาดจาก พรรคการเมืองจะได้เป็นอิสระในการกลั่นกรองกฎหมายโดยไม่อยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง แต่มาถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนมีความรู้มีปริญญาสูง ๆ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น คนที่มิได้มีปริญญาสูง ๆ ก็มีประสบการณ์ที่สะสมมามากเพียงพอที่จะไม่ต้องการพี่เลี้ยงอีก ในขณะเดียวกัน ในการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิก วุฒิสภาโดยให้ปลอดจากการเมืองก็เห็นได้ว่าเป็นไปไม่ได้เพราะลำพังผู้สมัครเพื่อรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาถ้าไม่ไปศิโรราบกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองในพื้นที่ย่อมยากที่จะได้รับเลือกตั้ง ความมุ่งหมายที่จะให้สมาชิกวุฒิสภาไม่อยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองจึงเป็นไปได้ยาก”

“เราจึงคิดว่าทำไมเราไม่เปลี่ยนวุฒิสภาให้เป็นสภาที่จะรับรู้ความต้องการหรือความเดือดร้อนหรือส่วนได้เสียงของคนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้เข้ามามีส่วนร่างในทางการเมืองอย่างแท้จริงและความต้องการของเขาได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง”

“นั่นจึงเป็นที่มาของวุฒิสภาที่จะมาจากประชาชนทุกหมู่เหล่าทุกอาชีพทุกลักษณะ อันที่จริงวุฒิสภาที่เราคิดสร้างขึ้นนั้นก็คล้ายกับสภาสูงของอังกฤษเพียงแต่สภาสูงของอังกฤษเป็นการรักษาประโยชน์ของคนชั้นสูง ส่วนวุฒิสภาที่เราสร้างขึ้นเป็นการรักษาประโยชน์ของคนทุกระดับชั้น”

ถกหัวแตกจน “ฮ้อแร่ด”

เมื่อการเลือกตั้งและการสรรหาถูก กรธ. ตัดออกจากทางเลือก ความพยายามในการหาระบบตรงกลางที่จะตอบโจทย์จำกัดอิทธิพลทางการเมืองแต่ในขณะเดียวกันยังคงความชอบธรรมในสายตาของประชาชนอยู่นั้น จึงจบลงด้วยระบบการเลือกกันเองที่ผิดเพี้ยนและท้ายที่สุดก็ไม่ได้ตอบโจทย์สักประการเดียว

มีชัยเล่าในบันทึกความทรงจำหน้า 23 ว่าการคิดระบบที่มาของ สว. นั้น “เป็นเรื่องใหญ่และเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าและแนวคิดอย่าง 360 องศาไม่น่าเชื่อว่าพอเสนอแนวคิดนี้ขึ้นกรธ. ทั้งคณะร้อง ฮ้อแร่ด [แปลว่าดีมากหรืออร่อยมาก] ขึ้นพร้อมกันทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าการจะทำให้คนอื่นเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการมีวุฒิสภาที่เปลี่ยนแปลงว่าไปกับขบวนการในการจัดการเลือกที่จะไม่ให้เกิดการฮั้วกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย”

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง ระบบที่มา สว. สุดพิสดารนี้ก็ไม่ได้มาโดยง่ายทำให้ กรธ. ทั้งคณะต้องโห่ร้องยินดีพร้อมกัน บันทึกการประชุม กรธ. แสดงให้เห็นว่าที่มา สว. เป็นหนึ่งในประเด็นที่ กรธ. ใช้เวลาถกเถียงมากที่สุดและมีไอเดียที่หลากหลายก่อนจะกลายเป็นระบบเลือกกันเองได้ในขั้นสุดท้าย มาตรา 107 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้กำเนิดระบบเลือกกันเองมีการถกเถียงในการประชุม กรธ. ถึง 20 ครั้ง มากเป็นอันดับแรกในบรรดาทุกมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560

ในเริ่มแรก กรธ. มีข้อเสนอระบบสรรหา สว. หลายช่องทาง กรธ. แต่งตั้งประพันธ์ นัยโกวิท หนึ่งในกรรมการและประธานอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ทำการศึกษาที่มาของ สว. ในขั้นแรก โดยประพันธ์เสนอออกเป็นสามทางเลือก

“แนวทางที่หนึ่ง ให้กลุ่มอาชีพคัดเลือกบุคคลภายในกลุ่มอาชีพเอง แนวทางที่สอง ให้กลุ่มอาชีพคัดเลือกบุคคลภายในกลุ่มอาชีพในระดับจังหวัดหรือให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้แทนจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในระดับจังหวัด เมื่อได้จำนวนพอสมควรแล้วจึงให้กลุ่มอาชีพคัดเลือกเองเป็นครั้งสุดท้าย และแนวทางที่สาม ให้กลุ่มอาชีพคัดเลือกบุคคลภายในกลุ่มอาชีพเองเมื่อได้รายชื่อบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกแล้วจึงให้ประชาชนลงคะแนนเลือกตั้ง”

จะเห็นได้ว่าในข้อเสนอครั้งแรกนั้นไม่ได้ตัดการเลือกตั้งออกไปทั้งหมด แต่มีการเสนอให้กลุ่มอาชีพคัดเลือกกันเองก่อนจะให้ประชาชนลงคะแนนเสียง รวมถึงมีทางเลือกอื่นเช่นการให้มีกรรมการสรรหาในระดับจังหวัด แต่อย่างไรก็ดี ข้อเสนอต่าง ๆ เหล่านี้ท้ายที่สุดก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กรธ. โดยเฉพาะมีชัย ในฐานะประธานกรรมการ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการให้มีการเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันก็เห็นว่าการเลือกกันเองในระดับต่าง ๆ ไปจนถึงระดับประเทศนั้นเป็น “วิธีการที่ไม่มีความยุ่งยาก”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ากรรมการจะเห็นพ้องต้องกันในเรื่อง สว. จากกลุ่มอาชีพทั้งหมด มีกรรมการเห็นค้านไว้โดยให้เหตุผลว่าบทบาททางสังคมของแต่ละอาชีพไม่เท่าเทียมกันอาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้

“แนวคิดเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากผู้แทนของกลุ่มอาชีพทุกอาชีพ ไม่มีประเทศใดใช้รูปแบบดังกล่าว จึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่ต้องมาจากผู้แทนของกลุ่มอาชีพทุกกลุ่มอาชีพ เนื่องจากบทบาททางสังคมของบุคคลแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน อาชีพหนึ่งอาจมีบทบาททางสังคมมากกว่าอีกอาชีพหนึ่ง หรือในการประกอบอาชีพเดียวกัน คนหนึ่งอาจมีบทบาททางสังคมมากกว่าอีกคนหนึ่งก็ได้ ดังนั้น แนวคิดในการเลือกผู้แทนจากกลุ่มอาชีพจึงไม่สอดคล้องกับวิถีทางการเมืองของประเทศไทย”

แก้การฮั้วไม่ได้จนกลายเป็นงูกินหาง

ปัญหาใหญ่ของระบบเลือกกันเองคือระบบออกแบบให้ผู้ที่อยากได้รับเลือกต้องมี “เพื่อน” ให้มากที่สุดเพื่อจะได้คะแนนเสียง การซื้อเสียงเพื่อ “ฮั้ว” กันเข้าไปโหวตจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบไปโดยปริยาย ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาที่แก้ได้ด้วยการออกกฎหมายห้ามเท่านั้น

ประเด็นนี้กลายเป็นที่ถกเถียงในการประชุม กรธ. มีชัยเองก็ยอมรับว่าการเลือกกันเองโดยที่ผู้สมัครแต่ละคนมีสองคะแนนนั้นจะนำไปสู่การ “เปิดโอกาสให้เกิดการสมยอมกันในการลงคะแนน โดยจับกลุ่มกันก่อนการลงคะแนน” อย่างเลี่ยงไม่ได้ กรรมการคนอื่นก็มีข้อกังวลไม่ต่างกัน กรรมการคนหนึ่งคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำว่าระบบนี้จะทำให้เกิดการใช้อิทธิพลในระดับอำเภอในการจัดตั้งผู้สมัครจากนั้นจะเกิดการ “บล็อกโหวต” ในระดับประเทศ

ส่วนกลไกที่ กรธ. ออกแบบมาเพื่อป้องกันการฮั้วนั้นก็ดูจะครึ่ง ๆ กลาง ๆ มีการเสนอให้การสมยอมกันเพื่อลงคะแนนมีโทษทางอาญาเหมือนการเลือกตั้ง สส. และให้มีการรับสมัครตั้งแต่ในระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มจำนวนผู้สมัคร ยิ่งมีผู้สมัครมากก็ยิ่งทำให้การทุจริตเป็นไปได้ยากขึ้น ความพยายามหาทางออกในการป้องกันการฮั้วไปจนถึงการใช้ “สุ่ม” มีชัยเสนอในที่ประชุมว่ากลไกที่จะป้องกันคนของพรรคการเมืองคือให้สุ่มเลือกผู้สมัครในระดับอำเภอทั้งหมด เพื่อทำให้ผลลัพธ์คาดเดาได้ยาก อย่างไรก็ดี มีกรรมการคนอื่นทัดทานว่าการสุ่มอาจจะทำให้ผู้ที่มีความสามารถไม่ได้รับเลือก ซึ่งมีชัยก็ยังยืนยันว่า “การใช้วิธีการสุ่มไม่ได้เป็นการคัดคนที่มีความเหมาะสมออก แต่เป็นการทำให้ผู้สมัครเหลือจำนวนน้อยลงเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง”

ทั้งนี้ การสุ่มแบบมีชัยยังถูกคัดค้านอีกว่า กลุ่มการเมืองก็ยังสามารถส่งคนสมัครให้มากเพื่อเพิ่มโอกาสในการรับเลือกได้ สุดท้ายกลไกในการป้องกันการสมยอมก็มาจบลงที่การเพิ่มการเลือกไขว้กลุ่มอาชีพขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งเพื่อให้คาดเดาได้ยากขึ้น แต่ก็ดูจะไม่ได้แก้ปัญหาการส่งผู้สมัครให้เยอะแต่อย่างใด

ความพยายามในการแก้ปัญหาที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบอยู่แล้วอย่างการฮั้วอยู่แล้วนำไปสู่ข้อเสนออีกหลายประการ เช่น กรรมการคนหนึ่งเสนอว่าให้มีการคัดกรองผู้สมัครผ่านการทำแบบทดสอบทัศนคติ (Attitude test) หรือไปจนถึงการเสนอว่าแท้จริงแล้วไม่มีความจำเป็นต้องกังวลอิทธิพลของพรรคการเมือง เพราะการส่งผู้สมัครของแต่ละฝ่ายจะเป็นเหมือนการ “คานอำนาจ” กันเองระหว่างพรรคการเมือง

อย่างไรก็ดี หาก กรธ. สมาทานแนวคิดดังกล่าว ก็หมายความว่า กรรมการก็เหมือนทำงานเป็น งูกินหาง เพราะเริ่มต้นออกแบบระบบด้วยความตั้งใจกีดกันอำนาจการเมือง แต่กลับลงเอยที่การยอมรับว่าต้องให้พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์และอุดมการณ์ต่าง ๆ คานอำนาจกันเอง เช่นนั้นก็เป็นเครื่องหมายคำถามว่าเหตุใดจึงไม่ใช้การเลือกตั้งซึ่งเป็นกลไกที่มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยมากกว่าในการหา สว.

เสนอ กกต. ควรมีเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลผู้สมัคร

เมื่อระบบให้ผู้สมัครเลือกกันเอง ก็จำเป็นต้องหาวิธีให้ผู้สมัครรู้จักกันท่ามกลางกฎระเบียบที่ห้ามหาเสียง ในประเด็นนี้มีกรรมการเสนอให้จัดทำเว็บไซต์ให้ผู้สมัครสามารถเห็นข้อมูลของกันและกันได้ อีกทั้งการทำให้กระบวนการโปร่งใสจะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นและให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมด้วย

“ส่วนกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาทางอ้อมนั้น จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมปิด กล่าวคือ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นกรรมการ ผู้สมัครเป็นผู้เล่น และประชาชนเข้ามาเป็นผู้ดู เพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่ามีส่วนร่วมในกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในขั้นตอนสุดท้าย ควรจัดทําเว็บไซต์เพื่อให้ผู้สมัครซึ่งเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์ทํางาน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยการตัดสินใจให้แก่ผู้สมัครซึ่งเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนในการลงคะแนนได้มากขึ้น และลดปัญหาโต้แย้งกรณีอ้างว่าผู้สมัครไม่รู้จักผู้สมัครในกลุ่มอื่น สำหรับการรับรองข้อมูลประวัติของผู้สมัครควรกําหนดให้ผู้สมัครกรอกข้อมูลและรับรองข้อมูลเอง หากมีการปกปิดประวัติข้อมูล หรือให้ประวัติข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง ก็มีมาตรการลงโทษขั้นรุนแรงต่อผู้สมัครที่แจ้งประวัติและข้อมูลอันเป็นเท็จ”

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage