17 พฤษภาคม 2567 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ มีงาน #สมัครเพื่อเปลี่ยน จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเยาวชนนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ประสงค์ลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในช่วง “โค้งสุดท้าย” ก่อนการเปิดรับสมัครจริงในวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 และเข้าสู่การคัดเลือกด้วยระบบ “เลือกกันเอง” ของผู้สมัครที่อายุ 40 ปีขึ้นไป
“ถ้าเราไม่ยืนขึ้นตอนนี้ทุกอย่างจะกลับมา” ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ย้ำเป้าหมายทำลายระบบเผด็จการแฝง
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ประสงค์จะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา กล่าวเชิญชวนให้ประชาชนสมัคร #สว67 ที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมเน้นย้ำเป้าหมายสำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญและรื้อระบบเผด็จการแอบแฝงในรัฐธรรมนูญ
ธเนศ กล่าวเปิดด้วยการพูดถึงเหตุการณ์การเลือกนายกรัฐมนตรีในปี 2566 ว่า สมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษไม่ได้มีความเป็นอิสระ แม้แต่ในวันที่มีการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีสว. มาประชุมครบทุกคน อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตถึงการไม่ลงมติให้วิษณุ วรัญญู ได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดแม้จะมีคุณสมบัติเหมาะสมว่า อาจจะเป็นเพราะวิษณุไปร่วมงานแต่งงานของปิยบุตร แสงกนกกุล
“วันลงมติเลือกนายกฯ เนี่ย สังเกตไหมว่าคนหายไปแปดสิบกว่าคน เขาก็รู้ว่าถ้ามาโหวตก็เสียหาย งานนี้ใหญ่ที่สุดแล้ว แต่ไม่มีกว่าค่อนหนึ่งของสภาสูง เขารู้ว่ามันไม่อิสระก็เลยต้องไปที่อื่น พอคุณรับตำแหน่งนี้ก็คือต้องรู้ว่ากำลังเซ็นสัญญากับซาตาน”
ธเนศเล่าย้อนไปถึงความเป็นมาของสว. ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษณ์นิยมและกองทัพ จนทำให้ระบอบประชาธิปไตยไทยไม่เข้มแข็งเท่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะสว. ชุดพิเศษที่ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นได้เลยว่าสามารถทำหน้าที่นิติบัญญัติได้อย่างเหมาะสม และต่อมากระบวนการเลือกสว. ในปี 2567 ก็ไม่ได้เปิดให้ประชาชนได้รู้สึกมีส่วนร่วม ซึ่งกลายเป็นการจุดประกายความคิดแรกที่ทำให้ธเนศอยากลงสมัครสว.
“เราคุยกันในหมู่เพื่อนผู้สูงอายุ เรารู้สึกว่ากฎเกณฑ์ สว67 มันประหลาด เห็นแล้วรู้เลยว่าเขาไม่ต้องการให้คนมาเลือกตั้งกันจริงๆ ทำเป็นพิธีให้เงียบๆ แล้วให้มันผ่านไป เราเลยต้องพยายามทำให้มันเสียงดัง ให้เป็นเรื่องใหญ่ ให้คนมาร่วมเยอะๆ ผมเลยประกาศเปิดตัวเป็นกลุ่มแรกๆ ว่าจะสมัคร”
“เป้าหมายไม่ใช่การเป็นสว. จริงๆ อันแรกที่ผมเห็นชัด คือ อยากเข้าไปทำลายระบบอภิสิทธิ์ ระบบงุบงิบ ระบบใช้อำนาจของคสช. เก่าที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่าง ทั้งหมดทั้งปวงมันเป็นพันธนาการที่รัดเราไปอีกหลายสิบปี… เป้าหมายสุดท้ายคือการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อผ่าทางตันในการเข้าสู่อำนาจรัฐของประชาธิปไตยไทย ให้มันเข้าสู่กระบวนการที่เปิดเผยตามกฎหมาย Free and Fair”
“นี่เป็นจุดหมายของความตั้งใจจะสมัคร ไอลอว์ให้สมัคร สว. เพื่อเปลี่ยน ผมเพิ่มมา คือ เลือกสว. เพื่อทำลาย ไปทำลายระบบเผด็จการแฝง ระบบนี้อยู่ต่อไปไม่ได้ เขาเขียนรัฐธรรมนูญให้สิ่งที่เขาสร้างมาเมื่อสี่ห้าปีที่แล้วให้อยู่ต่อไปได้ เราเลยต้องขุดรากออกไปให้หมดแล้วสร้างฐานอันใหม่ขึ้นมา”
ธเนศ กล่าวด้วยความเสียใจว่า หลังประกาศตัวพร้อมลงสมัครและให้สัมภาษณ์ไปเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ไปตรวจสอบแต่กลับพบว่าตัวเอง เสียสิทธิลงสมัคร เพราะมีเลือกตั้งซ่อมเทศบาล ในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งจัดขึ้น 4 วันหลังการเลือกตั้งสส. เลยไม่ค่อยเป็นข่าว และไม่รู้ว่ามีการเลือกตัง้จึงไม่ได้ไปใช้สิทธิ ทำให้สมัครสว. รอบนี้ไม่ได้ แต่ถึงวันนี้ไม่ได้สมัครแล้ว จุดหมายเดิมคือการจะไปหยุดอำนาจเก่าและเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญคสช. ก็ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงไป
ธเนศจึงเชิญชวนว่า ประชาชนไทยควรสมัครสว. เพื่อเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง รวมถึงเน้นย้ำว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความเข้าใจของประชาชน สิ่งที่ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องยากคือกระบวนการที่ไม่เปิดเผย การลงสมัครสว. ครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางสำคัญในการสร้างอนาคตให้กับคนไทยทุกคนไปจนถึงเยาวชนคนรุ่นต่อไปที่จะเติบโตมาในสังคมที่ไม่มีสว. ซึ่งประพฤติตัวเหมือนสว. ในอดีตที่ผ่านมา
“ถ้าเราไม่ยืนขึ้น ไม่ทำอะไรตอนนี้เราจะไปโทษใครได้ทุกอย่างมันก็กลับมาหมด เราต้องแก้ตรงนี้ ทำลายระบบเผด็จการ ทำลายการทำให้ประชาชนไม่มีบทบาททางการเมืองให้หมด”
“ถ้าเราคิดว่าอยู่ได้ก็แล้วไป ถ้าท่านคิดว่าอยู่ไม่ได้และต้องการที่จะเปลี่ยน ผมคิดว่าเวลามาถึงท่านแล้ว การมีสิทธิทางการเมืองเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก การไปส่งเจตนารมณ์ทางการเมืองเป็นปฏิบัติการที่สูงส่งที่สุดอย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์ การเมืองถ้าท่านไม่ขอไม่ร้องท่านไม่ได้นะ ซึ่งถ้าท่านไม่ทำตอนนี้ท่านจะไม่ได้ทำอีกนานเลย”
“สร้างระบบประชาชน” เอกรินทร์ ต่วนศิริ กับการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญด้วย #สว67
เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2564 เพื่อเสนอแนวทางใหม่ให้กับประเทศ โดยเขาได้มีโอกาสเข้าไปชี้แจงถึงปัญหาและความจำเป็นของรัฐธรรมนูญใหม่ในรัฐสภา อย่างไรก็ตามเอกรินทร์พบเจอแต่ความเกลียดชังจากสว. ชุดพิเศษของคสช. ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีสว. โหวตรับให้กับความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งดังกล่าว ต่อมาในปี 2566 เอกรินทร์ได้พูดคุยกับสว. อีกครั้งหนึ่งเพื่อพยายามให้สว. ลงมติให้กับพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งพบว่าสว. หลายคนต่างพูดจาดีและรับปากตกลง แต่เมื่อถึงวันลงมติจริงกลับกระทำไปอีกทาง
ดังนั้นการเปลี่ยนชุดของสว. ที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญ เนื่องจากอาจจะทำให้ประเทศไทยมีสว. ที่ยอมรับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งต้องใช้จำนวนสว. จำนวนมากถึงหนึ่งในสามจากจำนวนสว. ทั้งหมด คือ อย่างน้อย 67 คน สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเริ่มขั้นตอนแรกสำหรับการเปิดทางให้สามารถเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
“เราต้องการระบบประชาธิปไตยแบบปกติ ในความหมายว่าคนมันเท่ากัน เคารพกันและกัน ไม่สร้างความเกลียดชังระหว่างกันเองโดยใช้ข้ออ้างทางการเมือง เราต้องการระบบที่ประชาชนเป็นคนกำหนดชีวิตตัวเอง กำหนดความใฝ่ฝันของตัวเอง บอกกับคนที่อยู่ฟากฝั่งหนึ่งที่ได้ประโยชน์มาตลอดว่าพอได้แล้ว ความใฝ่ฝันของคนรุ่นต่อรุ่นถูกดับลงครั้งแล้วครั้งเล่า อีกห้าวันก็จะครบรอบการรัฐประหาร 2557 เราจึงต้องต่อสู้ในระบบที่เราร่วมกันสู้”
เนื่องจากการลงสมัครสว. จำกัดไว้ให้แค่ผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ดังนั้นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เคยเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบันจะไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเป็นผู้สมัครได้เลย ทำให้การเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในสนามสว. จำเป็นต้องพึ่งพากลุ่มคนอีกช่วงวัยหนึ่งในการเข้าไปทำภารกิจเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และมีส่วนร่วมในการทำให้ระบบประชาชนสามารถเกิดขึ้นได้จริงต่อไป
“ปี 2563 ประชาชนหลายคนถูกจับ หลายคนลี้ภัย ล่าสุดคุณเนติพรก็เสียชีวิต หลายคนเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง หลายคนต้องหยุดเรียน หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า เยาวชนคนรุ่นใหม่ทำสุดฝีมือสุดความสามารถของเขาแล้ว ปี 2567 นี้ ถึงเวลาของคนที่เป็นผู้ใหญ่ ถึงเวลาที่จะชดเชยกับอนาคตลูกหลานหลายคนที่ต้องสูญเสียไป คิดถึงวันที่พวกเขาที่โดนแก๊สน้ำตา ที่ถูกจับ ที่ต้องเดินร้องไห้กลับไป… มันจะเลวร้ายมากกว่า หากเราปล่อยให้ระบบนี้ยังอยู่ต่อ จะแพ้หรือจะชนะอย่างน้อยเราก็เริ่มแล้วด้วยวิธีการที่ถูกต้อง”
“ช่วยออกมาสู้แทนพวกผมหน่อย” เสียงเยาวชนนักกิจกรรม ฝากพี่ๆ ทำให้ความหวังเกิดขึ้นจริง
ซูกริฟฟี ลาเตะ เยาวชนนักกิจกรรม The Patani กล่าวว่า ขอเป็นตัวแทนของคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งไม่มีโอกาสได้เป็นสว. ไม่มีโอกาสไปเปลี่ยนแปลงประเทศ เล่าให้ฟังว่า ตลอดสิบปีกว่าที่เติบโตมาอยู่กับการรัฐประหาร และสังคมการเมืองที่ไม่ปกติ เราต้องถามตัวเองตลอดว่าเราจะเอายังไงกับชีวิตของเราและอนาคตดี เพื่อนๆ หลายคนที่เคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมืองกันมาต้องติดคุกติดตาราง ต้องไปอยู่ต่างประเทศ จนกระทั่งบุ้ง เนติพร เสียชีวิตในเรือนจำ
สุกริฟฟีเล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยคุยกับเพื่อนว่าถ้าสว. เปิดให้คนอายุ 25 สมัครได้ก็คงจะไปสมัครกัน ไม่ใช่เพราะอยากจะเป็นสว. เอง แต่จะไปโหวตให้คนที่จะไปเปลี่ยนแปลงได้ ทุกคนรู้ว่ากติกานี้ไม่ง่ายที่จะได้สว.หนึ่งคน ต้องเสียเวลา เสียเงิน เสียสละหลายๆ อย่างเข้าสู่สมรภูมิการต่อสู้ ซึ่งเข้าใจว่า คนรุ่นพี่ๆ หลายคนก็คงถึงเวลาที่อยากเกษียณอยากสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เข้าไปทำงานมากกว่า แต่วันนี้ต้องขอร้องทุกคนอีกครั้งนึงให้มายืนอยู่ข้างหน้าอีกครั้ง
“พี่ๆ ที่เคยต่อสู้มาก่อนหน้านี้จนถึงอายุที่สมัครสว. ได้ ช่วยออกมาต่อสู้แทนพวกผมหน่อย ช่วยมาขีดเส้นประวัติศาสตร์ให้ผมหน่อย ช่วยชำระอดีตให้พวกผมหน่อย ถ้าเรามีโอกาสจะชนะ จะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้บ้าง พวกผมหรือลูกหลานทุกท่านคงไม่ต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้”
“ถ้าการรัฐประหารปี 2557 คือสัญญาณสำคัญว่าประเทศไทยถอยหลังไปถึงขนาดไหน การเลือกสว. ปีนี้ก็จะเป็นสัญญาณว่าประชาชนได้ก้าวขาออกมาขีดเขียนประชาธิปไตย มันจะไม่สูญเปล่า ถ้าเราได้สู้เราก็ยังไม่แพ้ ถ้าเรายังไม่แพ้ก็ยังมีโอกาสที่จะชนะอยู่”
พลัง หนูเหลือ นักกิจกรรมกลุ่มกระบี่ไม่ทน กล่าวว่า รัฐนี้ได้พรากความคิดความฝันของเราไปมากเหลือเกิน การเลือกนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาก็เลือกกันตามใบสั่งไม่ได้เลือกตามเจตนารมณ์ของประชาชนจริงๆ ตอนนี้เราเป็นเยาวชนอยู่ ทำได้แค่ส่งเสียงสนับสนุนให้แก่พวกพี่ๆ ในการลงสมัครครั้งนี้
“สังคมที่เราอยากสร้าง ทำได้เพียงฝากความหวังไว้กับพี่ๆ ที่ลงสมัครไปทำให้ความหวังของเราเกิดขึ้นจริงได้ ตอนนี้ก็ถึงโอกาสอันดีแล้ว ไม่ได้มีโอกาสบ่อยๆ ที่คนเบื้องบนจะให้เราได้ถืออำนาจ ก็ขอให้ทุกคนได้เข้าไปสร้างสังคมที่ต้องการในแบบของตัวเอง”
“ตอนนี้เราเดินบนถนน มันไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ขาส่วนใหญ่ของเรายังเดินอยู่บนถนนไม่มีคนในสภา เราเรียกร้องให้ตายก็ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง ถ้าขานึงเราเดินบนถนนแต่ถ้าอีกขานึงเรามีคนอยู่ในสภาก็จะดี การจะเป็นสว. น่าจะง่ายกว่าถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งด้วยซ้ำ เพราะล็อตเตอร์รี่มันมีโอกาสหนึ่งในล้าน แต่สว. จะประมาณ 200 จากแสนคน โอกาสมีมากกว่าอีก แต่แค่สมัครลงไปก็คุ้มแล้วที่จะได้เลือกคนที่จะสร้างสังคมที่ดีสำหรับลูกหลาน และปลอดภัยสำหรับคนทุกคนได้”
“เข้าไปร่วมสนุก สร้างสีสัน” หมอสุภัทรหวังเห็นผู้สมัครสว. ใช้โอกาสรณรงค์ทางการเมือง
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยโรงพยาบาลสะบ้าย้อย กล่าวว่า ตัวของเขาเองอายุถึงที่จะสมัครสว.ได้ แต่ไม่พร้อมจะสมัครเพราะผมเป็นข้าราชการ ซึ่งต้องลาออกก่อน และคาดหมายว่า หากลาออกแล้วจะกลับเข้ารับราชการใหม่ คงกลับเข้าไปไม่ได้แล้ว
นพ.สุภัทร กล่าวว่า สิ่งที่สัมผัสได้ในกระบวนการเลือกสว. ครั้งนี้ คือ ความเกร็งว่าตกลงอะไรทำได้บ้างหรือไม่ ถ้าไปกดไลก์หรือไปคอมเม้นต์เชียร์ได้หรือไม่ จึงเสนอว่าอยากให้ทุกท่านช่วยกันไปสมัคร และอย่าไปคิดว่าเราจะได้เป็นสว. ถ้าคิดแบบนั้นเราจะเกร็งและไม่ทำอะไรเลยเพราะกลัวผิดระเบียบ แต่อยากให้ทุกท่านไปสร้างความปั่นป่วนในกระบวนการนี้ เพราะจะทำให้ความเป็นประชาธิปไตยสูงขึ้น เช่น เราเขียนป้ายแนะนำตัวว่า “ยุบสว.” หรือ “เปลี่ยนประเทศไทย” แปะหน้าอกถ่ายรูป เท่าที่ตรงกับความกล้าหาญและจริตของแต่ละคน
“การเลือกสว. ครั้งนี้มีปัญหาแน่นอน เพราะถูกล็อกด้วยระเบียบที่ผิดธรรมชาติของการเลือกตั้ง และระบบการแนะนำตัวก็สับสน เหมือนมีแค่ CV ของนักเรียน ผมอยากจะให้การเลือกสว. ครั้งนี้เป็นการรณรงค์ทางการเมืองไปเลย ถ้าเราลงสว.เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มันก็เป็นโอกาสอันดีที่จะใช้เงิน 2,500 บาทเพื่อรณรงค์ทางการเมืองตามที่เราคิด”
“2,500 มันพอจ่ายไหวน่ะ มันก็พอไถๆ จ่ายได้ พอเข้าไปแล้วก็อย่าไปคิดว่าเราจะติดก่อน ต้องคิดก่อนว่า เข้าไปร่วมสนุก หรือเข้าไปร่วมรณรงค์ สร้างกระแส สร้างสีสัน สร้างการเปลี่ยนแปลง จะได้ไม่ได้ก็ไม่รู้เพราะไม่รู้แข่งว่ายน้ำนี้ใครจะเข้าฝั่งก่อน แต่ถ้าทุกคนกระโดดลงไปจะสนุกแน่ ถ้าเราไม่ได้ก็เพื่อนเราได้ หรือพวกเราได้ เอาสักครึ่งสภาดีไหมครับ สมัครกันไปก่อนครับแล้วไปร่วมสนุกกัน”