14 พฤษภาคม 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงข่าว-พบปะพูดคุยกับสื่อมวลชนในเรื่อง “สื่อกับการปฏิบัติในห้วงมีพระราชกฤษฎีกา การเลือก สว. ปี 67” เวลา 13.30 – 15.30 น.
แสวง ยืนยันว่าสื่อยังทำงานได้ตามปกติตามข้อเท็จจริง ใครสมัครที่ไหนอย่างไรยังสามารถทำได้ แต่ไม่สามารถสัมภาษณ์ผู้สมัครเป็นรายบุคคล หากผู้สมัครรู้เห็นเป็นใจให้ช่วยเหลือเพื่อแนะนำตัวอาจมีความผิดได้ สื่ออาจสัมภาษณ์ผู้สมัครได้ แต่ผู้สมัครจะไม่สามารถพูดสิ่งใดที่เป็นการแนะนำตัวได้ ผู้สมัครจะต้องระวังด้วยตนเองว่าการกระทำขัดต่อข้อกฎหมายหรือไม่ ส่วนสื่อต้องระวังว่าตนเองจะลำเอียงหรือไม่
โดยประเด็นในวันนี้ นอกจากการพูดคุยถึงบทบาทของสื่อมวลชนว่าสามารถทำอะไรและไม่สามารถทำอะไรได้บ้างในการนำเสนอข่าว การวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์ข่าว หรือสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ แสวงยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัว ระบุว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบในส่วนนี้ เพื่อเปิดช่องทางให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการเลือก สว. ผ่านการสอดส่องผู้สมัครได้มากขึ้น
แสวง กล่าวในตอนหนึ่งว่า สำหรับการที่ประชาชนจะทำความรู้จักผู้สมัครที่จะเข้าไปเป็นตัวแทนของประชาชนสามารถทำความรู้จักได้ผ่านสองช่องทาง หนึ่งคือช่องทางของ กกต. โดยจะประกาศภายในห้าวันนับตั้งแต่วันที่ปิดรับสมัคร ส่วนอีกช่องทางหนึ่ง สามารถรับรู้ข้อมูลของผู้สมัครได้ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
โดยแสวงยืนยันว่าสำหรับระเบียบใหม่ที่จะมีการแก้ไขนั้นจะออกมาในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 “วันนี้ (14 พฤษภาคม 2567) จะส่งให้ไปประกาศในราชกิจจา พรุ่งนี้ (15 พฤษภาคม 2567) น่าจะออก”
สำหรับประเด็นว่าผู้สมัครจะสามารถแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างไรนั้น แสวงกล่าวว่า ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกช่องทาง เช่น เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ยูทูบ อินสตาแกรม เป็นต้น จากเดิมที่ผู้สมัครจะต้องแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้สมัครด้วยกันเท่านั้น แต่ในระเบียบใหม่นี้ผู้สมัครจะสามารถแนะนำตัวได้ในทุกช่องทาง และไม่จำกัดว่าต้องแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้สมัคร สว. ด้วยกันเอง แต่ต้องไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ในแบบ สว. 3 เท่านั้น
ทั้งนี้อยากฝากประชาชนช่วยกันทำเพื่อประเทศชาติโดยการสอดส่องจับตาผู้สมัครที่ถูกประกาศบัญชีรายชื่อแล้วว่ามีการปิดบังอำพรางลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ถ้าประชาชนพบเห็นก็สามารถให้ข้อมูลจาก กกต. ได้ นอกจากนี้ประชาชนสามารถอยู่ข้างเวทีที่เลือก ในวันเลือกทุกระดับ โดยจะมีกล้องวงจรเพื่อถ่ายทอดขึ้นบนจอภาพนอกสถานที่เลือกเพื่อให้ประชาชนสามารถมาสังเกตการณ์ได้ โดยจะมีการจัดเตรียมที่ไว้ให้เพื่อให้ประชาชนมาร่วมกันดูได้ ส่วนสื่อมวลชนก็อาจทำได้เพียงแค่ติดตาม-รายงานข่าวการเลือกผ่านการรับชมจอภาพที่ถ่ายทอดสดเท่านั้น