ลงสมัครสว. ระดับอำเภอ ใช้หลักฐานอะไรยืนยันได้บ้าง!

การเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไปนั้น จะเริ่มเปิดรับสมัครให้ประชาชนสามารถขอใบสมัครได้ที่ว่าการอำเภอและสำนักงานเขตทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 จนถึงวันสุดท้ายของการรับสมัคร ดังนั้นการเตรียมพร้อมเอกสารสำคัญสำหรับการสมัครจึงยังเป็นเรื่องสำคัญที่พลาดไม่ได้

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 หรือ พ.ร.ป.สว.ฯ มาตรา 13(4) เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเลือกสมัครเป็นสว. หากมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งจากห้าคุณสมบัติต่อไปนี้ คือ

  1. เป็นบุคคลที่เกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก
  2. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
  3. ทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
  4. เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอที่สมัครรับเลือกติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
  5. เคยศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา

ดังนั้นหลังผู้สมัครไปติดต่อขอรับเอกสารสมัคร สว. ซึ่งประกอบไปด้วย แบบใบสมัคร (สว. 2) แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว. 3) และแบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4) และตัดสินใจเป็นที่เรียบร้อยว่าจะลงสมัครสว. ด้วยคุณสมบัติใดคุณสมบัติหนึ่งจากห้าตัวเลือกข้างต้น ผู้สมัครสว. จะต้องกรอกรายละเอียดของแบบสว. เหล่านี้ให้ครบ และกลับมาส่งแบบใบสมัครทั้งหมดในวันรับสมัครเลือก สว.

สมัครสว. ที่อำเภอเกิด ต้องใช้สูติบัตร-หนังสือรับรองการเกิด

ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 หรือ ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 51(8) (ก)  ระบุให้ผู้สมัครที่ประสงค์จะลงสมัครในอำเภอที่เกิดต้องมี “หลักฐานซึ่งแสดงตัวว่าเป็นผู้ที่เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก” ซึ่งในกรณีที่ต้องการจะสมัครในอำเภอที่เกิด หลักฐานที่สำคัญที่สุดจึงเป็น “ใบสูติบัตร” ที่ออกโดยนายทะเบียนท้องที่ที่ผู้สมัครเกิด

ใบสูติบัตรเป็นเอกสารสำคัญที่หากทำหายแล้วจะไม่สามารถขอเอกสารตัวจริงใหม่อีกครั้งได้ อย่างไรก็ตามยังสามารถไปยื่นคำร้องขอคัดเอกสารสำเนาสูติบัตร ได้ที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตที่แจ้งเกิด โดยใช้หลักฐานดังนี้ 

  1. บัตรประชาชน
  2. ทะเบียนบ้าน
  3. วุฒิการศึกษา
  4. ใบแจ้งความ หากประสงค์จะแจ้งความว่าใบสูติบัตรหาย
  5. หลักฐานแสดงตัวว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  6. หนังสือมอบอำนาจ หากไม่สามารถไปด้วยตัวเองได้

หากที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตนั้นๆ ไม่มีใบต้นขั้วสูติบัตรแล้วจะต้องเปลี่ยนไปขอ “หนังสือรับรองการเกิด” แทนสูติบัตร โดยต้องไปยื่นเรื่องที่สำนักงานอำเภอหรือสำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพร้อมพยานบุคคลอีกสองคนเท่านั้น พร้อมด้วยหลักฐานเดียวกันกับการขอใบสูติบัตร

สมัครสว. ตามทะเบียนบ้าน ต้องนำทะเบียนบ้านไปยืนยัน

หากจะสมัครสว. ในอำเภอที่ผู้สมัครมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ส่วนที่ห้า การสมัครรับเลือก ข้อ 51(8) ระบุว่า ผู้สมัครต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ 

  1. สำหรับผู้ประสงค์จะสมัครในอำเภอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ณ ปัจจุบัน ต้องมีหลักฐานซึ่งแสดงว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก

ในกรณีนี้ ผู้สมัครจึงต้องนำทะเบียนบ้านตัวจริงหรือสำเนาทะเบียนบ้านยื่นประกอบแบบใบสมัครทั้งหมดด้วยในวันสมัคร หากสำเนาทะเบียนบ้านชำรุดจนใช้งานไม่ได้หรือสูญหายผู้สมัครสามารถให้เจ้าบ้านไปติดต่อขอรับเล่มใหม่ได้โดยนำบัตรประชาชนไปยื่นต่อนายทะเบียนท้องที่ที่บ้านนั้นตั้งอยู่ หากเจ้าบ้านไม่ใช่ผู้สมัครและไม่สะดวกไปดำเนินการให้ได้ ผู้สมัครสามารถไปยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนได้เช่นกัน โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจ บัตรประชาชนของเจ้าบ้าน และบัตรประชาชนของผู้ได้รับมอบอำนาจประกอบด้วย

  1. สำหรับผู้ประสงค์จะสมัครในอำเภอที่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ต้องมีหลักฐานซึ่งแสดงว่าเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก

ในกรณีนี้ แปลว่าผู้สมัครเคยย้ายชื่อตัวเองทะเบียนบ้านเดิมไปสู่ทะเบียนบ้านใหม่ และประสงค์ที่จะสมัครสว. จากอำเภอดังกล่าวแม้ว่าจะไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอนั้นแล้วก็ตาม ซึ่งในทะเบียนบ้านจะมีช่องที่ระบุว่า “มาจาก” และ “ไปที่” สำหรับวันที่ย้ายเข้าและย้ายออกจากทะเบียนบ้านพร้อมลายเซ็นของนายทะเบียนจากทั้งที่อยู่เก่าและที่อยู่ใหม่

ดังนั้นใบทะเบียนบ้านที่มีข้อมูลครบถ้วนจึงสำคัญมากสำหรับการยืนยันว่าผู้สมัครมีสิทธิสมัครลงสว. ในอำเภอที่มีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้านเกินสองปี โดยเฉพาะอำเภอที่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแต่ปัจจุบันย้ายออกมานานแล้ว

สมัครสว. ที่อำเภอที่เคยทำงาน ใช้หนังสือรับรองการทำงาน-หลักฐานการเสียภาษี

หากจะสมัครลงสว. ในอำเภอที่ทำงานอยู่หรือเคยทำงานอยู่เป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี ผู้สมัครจะต้องแนบหลักฐานว่ากำลังทำงานหรือเคยทำงานอยู่ในอำเภอที่ประสงค์จะสมัครจริงๆ โดยสามารถแบ่งได้เป็นสามประเภท คือ 

  1. หลักฐานการรับราชการจากหน่วยงานต้นสังกัด ในกรณีที่เป็นข้าราชการ
  2. หนังสือรับรองการทำงานจากบริษัทที่ทำงานอยู่หรือเคยทำงานอยู่ ในกรณีที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน
  3. หลักฐานการเสียภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอำเภอนั้นๆ ในกรณีที่ประกอบอาชีพอิสระ

การขอหลักฐานการรับราชการสามาถขอได้ที่ฝ่ายบุคคลของแต่ละหน่วยงาน หรือติดต่อขอรับผ่านช่องทางอื่นๆ ที่หน่วยงานนั้นกำหนด

สำหรับหนังสือรับรองการทำงานจะต้องระบุตำแหน่งงาน ประสบการณ์ ระยะเวลาการทำงานของผู้สมัครให้ชัดเจน โดยผู้สมัครสามารถไปติดต่อขอรับใบรับรองการทำงานได้ทันทีหรือจะขอย้อนหลังก็ได้ที่ฝ่ายบริหารงานบุคคล นายจ้าง หรือผู้ที่มีอำนาจในการออกหนังสือรับรองการทำงาน 

เนื่องจากองค์กรส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยสามารถจัดเก็บภาษีบางชนิดเองได้ ทำให้หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ประกอบอาชีพค้าขาย จ่ายภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ย่อมยืนยันได้ว่าผู้สมัครทำงานอยู่ในอำเภอขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจริง โดยภาษีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดเก็บเองได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย และค่าธรรมเนียมที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นสามารถเรียบเก็บได้ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ผู้สมัครต้องติดต่อขอจ่ายภาษีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนนำหลักฐานการจ่ายภาษีนั้นมายื่นประกอบการสมัครสว. อย่างไรก็ตามหลักฐานการเสียภาษีนี้ต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้สมัครสว. ได้จ่ายภาษีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นติดต่อกันเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่าสองปี นับจนถึงวันรับสมัคร

สมัครสว. ที่อำเภอที่เคยศึกษา ต้องใช้ใบ ปพ.1 จากสถานศึกษา

แนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ระบุว่า เอกสารหลักฐานการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดมีอยู่ทั้งสิ้นสามประเภท คือ

  1. ระเบียนแสดงผลการเรียน หรือ “ใบ ปพ.1”
  2. ประกาศนียบัตร หรือ “ใบ ปพ.2”
  3. แบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา หรือ “ใบ ปพ.3” 

สำหรับใบ ปพ.1 จะเป็นการแสดงผลการศึกษาตลอดการศึกษา โดยจะแบ่งเป็นสามระดับ คือ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทำให้มีการระบุเดือนและปีที่เข้ารับการศึกษา รวมถึงตำบล อำเภอ และจังหวัดที่ตั้งของสถานศึกษานั้นๆ เอาไว้ด้วย ทำให้ใบ ปพ.1 มีข้อมูลหลักฐานครบถ้วนสำหรับการสมัครลงสว. ในอำเภอที่เคยศึกษาเกินสองปี 

กรณีใบ ปพ.1 สูญหาย “แนวทางการให้คำปรึกษาของเอกสารสำคัญทางการศึกษา ระดับการศึกษาพื้นฐาน” โดยสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ข้อ 1.5 การแก้ไข เปลี่ยนแปลง ระเบียนแสดงผลการเรียน ระบุว่า เงื่อนไขที่ให้ผู้สมัครต้องไปแจ้งความก่อนนำใบแจ้งความกลับมาขอใบ ปพ.1 ใหม่อีกครั้งให้เป็นดุลยพินิจของสถานศึกษา โดยแนวปฏิบัติไม่ได้กำหนดว่าต้องแจ้งความก่อนแต่เพื่อป้องกันการออกเอกสารซ้ำซ้อนสถานศึกษาจึงมักแจ้งให้ผู้เรียนแจ้งความ เพื่อสถานศึกษาจะได้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าใบ ปพ.1 สูญหายจริง

กรณีของใบ ปพ.2 เป็นประกาศนียบัตรที่ใช้สำหรับการรับรองว่าผู้สมัครมีวุฒิการศึกษาระดับใด ดังนั้นนอกจากชื่อสกุลของผู้สมัครและอำเภอที่ตั้งของสถานศึกษาแล้ว จะมีเพียงวันเดือนปีที่ผู้สมัครสำเร็จการศึกษาเท่านั้นที่ถูกระบุไว้ ไม่ได้มีวันที่เริ่มศึกษาในสถานศึกษา ดังนั้นการใช้ใบ ปพ.2 ในการสมัครสว. จึงอาจจำเป็นต้องใช้หลักฐานอื่นในการยื่นประกอบการสมัครด้วย

ขณะเดียวกัน ใบ ปพ.3 เป็นแบบรายงานของผู้สำเร็จการศึกษาในแต่ละรุ่นการศึกษา ใช้สำหรับอนุมัติผลการเรียนให้ผู้เรียนเป็นผู้สำเร็จการศึกษา ข้อมูลจะระบุสถานที่ตั้งของสถานศึกษา ปีการศึกษา และวันที่ผู้อำนวยการสถานศึกษาเซ็นอนุมัติเท่านั้น ไม่ได้มีวันที่เริ่มต้นเข้ารับการศึกษาเช่นเดียวกับกรณีของใบ ปพ.2 ดังนั้นเอกสารการสมัครสว. ที่มีทั้งวันที่เริ่มเข้ารับการศึกษาและวันที่จบการศึกษาครบถ้วนจึงมีเพียงแค่ใบ ปพ.1 เท่านั้น

ขณะเดียวกันหากต้องการจะสมัครสว. ในอำเภอที่เคยศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ก็สามารถที่จะใช้ใบแสดงผลการศึกษา หรือ Transcript ได้เช่นเดียวกัน เพราะมีจำนวนเทอมการศึกษาและปีที่เข้ารับกับจบการศึกษาอยู่เช่นเดียวกัน

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage