จากการต่อสู้ในสนามการเลือกตั้ง สู่การต่อสู้ในสภาอย่างดุเดือด ฝั่งไม่เอา คสช. อย่าง พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย เพื่อชาติ เสรีรวมไทย ประชาชาติ พลังปวงชนไทย และเศรษฐกิจใหม่ รวมแล้วจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รวมกัน 245 ที่นั่ง ยังคงผนึกกำลังกันเพื่อยกมือสู้กับฝั่งพรรพลังประชารัฐ และพรรคที่สนับสนุน คสช. แม้จะต้องเจอกับเสียงของ “งูเห่า” ที่ทำให้มือของฝั่งไม่เอา คสช. หายไปบ้าง แม้หากต้องเป็นฝ่ายค้าน ไม่ได้หมายความว่า ส.ส. ฝั่งไม่เอา คสช. จะหมดหนทางทำหน้าที่ในฐานะ “ผู้แทนราษฎร” มาดูกันว่าเสียงของ ส.ส. จากฝั่งพรรคการเมืองไม่เอา คสช. ทำอะไรได้บ้างในฐานะฝ่ายค้าน
ส.ส. 250 เสียงขึ้นไป คว่ำกฎหมายฝั่งรัฐบาลได้
ในการพิจารณากฎหมาย หาก ส.ส.ฝั่งที่ไม่เอา คสช. เห็นว่า กฎหมายใดที่ถูกเสนอขึ้นมาไม่เป็นประโยชน์ หรือยังมีข้อบกพร่อง ก็มีสิทธิที่จะแปรญัตติแก้ไขกฎหมายได้ ซึ่งที่ผ่านมาในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะกำหนดสัดส่วนให้ฝ่ายค้านจะต้องได้รับการแต่งตั้งเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ รวมถึงฝ่ายค้านสามารถอภิปรายและลงมติไม่เห็นชอบกฎหมายเพื่อยุติกฎหมายฉบับดังกล่าวได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ตามหลักของการยกมือผ่านกฎหมายจะใช้เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร เท่ากับว่าหาก ส.ส. ฝั่งไม่เอา คสช. ไม่แตกแถวก็จะสามารถคว่ำกฎหมายฉบับนั้นไม่ให้ผ่านไปได้ เพราะจากนี้ ส.ส. ฝั่งรัฐบาลบ้างคนอาจต้องไปอยู่ใน ครม. หรือไปช่วยงานต่างๆ ในฝ่ายบริหาร ซึ่งจะทำให้เสียงของ ส.ส. ฝั่งรัฐบาลซึ่งปริ่มน้ำอยู่แล้วถูกลดลง นอกจากนี้ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลจากการมีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก ก็อาจเป็นไปได้ที่ ส.ส. ฝั่งรัฐบาล อาจเปลี่ยนมาร่วมโหวตคว่ำกฎหมายร่วมกับ ส.ส. ของฝั่งไม่เอา คสช. ซึ่งขอเพียง 6 เสียง จาก ส.ส. ฝั่งรัฐบาลก็สามารถคว่ำกฎหมายได้แล้ว
อย่างไรก็ดี ในบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดอำนาจให้ ส.ว. เข้ามา “ร่วมพิจารณา” กฎหมายปฏิรูปประเทศตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ครอบคลุมเรื่องการพัฒนาประเทศที่สำคัญเอาไว้แทบจะทุกด้าน ดังนั้นกรณีของกฎหมายปฏิรูปประเทศ เท่ากับว่าจะต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสภาทั้งสอง คือ 375 เสียงขึ้นไป ในการยกมือไม่เห็นชอบกฎหมายนั้นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็ยากที่ฝั่งไม่เอา คสช. จะรวบรวมเสียงได้ถึง 376 เสียง
อ่านเรื่องมาตรา 270 อำนาจ ส.ว. พิจารณากฎหมายปฏิรูปประเทศ ได้ที่ : https://ilaw.or.th/node/5265
ส.ส. 100 คน เข้าชื่อเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ + ใช้เสียง ส.ส. อีกครึ่งถอด รมต. ครม.
หากต้องการถอดถอนรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 กำหนดให้ใช้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาฯ หรือประมาณ 100 คน เข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ และเมื่อมีการเสนอญัตติอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติดังกล่าว
ทั้งนี้ ในการลงมติไม่ไว้วางใจ หาก ส.ส. ลงคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือประมาณ 250 เสียงขึ้นไป ให้รัฐมนตรีดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง และถ้าในกรณีนายกรัฐมนตรีถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและมีการลงมติมากกว่าครึ่งหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีทุกคนต้องพ้นไปจากตำแหน่งด้วย
ส.ส. 50 คน ยื่นเรื่องตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส. ฝั่งรัฐบาลได้
หาก ส.ส. ฝั่งไม่เอา คสช. ต้องการยื่นเรื่องตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ และฝ่ายรัฐบาล ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 จะต้องใช้เสียง ส.ส. รวมกันไม่ต่ำกว่า 1 ใน 10 หรือประมาณ 50 คน ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคุณสมบัติของ ส.ส. คนนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ผู้ใดขาดคุณสมบัติก็สั่งให้พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองได้
ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 และ 111 เช่น ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลายต้องไม่เป็นข้าราชการ ต้องไม่เคยได้รับโทษจําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง ต้องไม่เคยทำผิดฐานทุจริต ต้องไม่แทรกแซงสื่อ ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนเลือกตั้ง ต้องไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ฯลฯ
RELATED POSTS
No related posts