สร้างสรรค์ วรัคคกุล
นักศึกษาปริญญาเอก สาขาคณิตศาสตร์
Boston College สหรัฐอเมริกา
สี่สิบห้าวันหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ได้ฤกษ์ประกาศสูตรคำนวณเปลี่ยนคะแนนเสียงของประชาชนกว่า 35 ล้านเสียงให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สูตรที่จะทำให้มีพรรคการเมืองในรัฐสภาถึง 27 พรรค มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย!
มองในแง่นี้ ‘ผู้ชนะ’ การเลือกตั้งอาจไม่ใช่พรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ หากแต่เป็นพรรคขนาดเล็ก อย่าง พรรคไทรักธรรม หรือพรรคพลังธรรมใหม่ ที่เตรียมส่งสมาชิกพรรคเข้าสภาฯ ได้สำเร็จหนึ่งที่นั่ง แม้ว่าได้จะคะแนนเสียงจากทั่วประเทศในหลักสามหมื่นต้นๆ ประมาณครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยที่ 7.1 หมื่นเสียงต่อที่นั่งทั้งประเทศ
ในขณะที่ความคิดเห็นที่หลากหลายของนักการเมืองจากหลายพรรค ผู้เป็นตัวแทนของคนจากหลายภาคส่วนอาจจะส่งผลดีต่อการเมืองไทยยุคใหม่ ผมในฐานะนักศึกษาคณิตศาสตร์ มองว่า สูตรการคำนวณและผลลัพธ์จำนวน ส.ส. ตามประกาศล่าสุดของ กกต. เป็นการใช้คณิตศาสตร์ที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมุ่งหวังว่า ระบบบัญชีรายชื่อนั้นจะช่วยเติมเต็มจำนวน ส.ส. ให้กับแต่ละพรรคเพื่อให้เป็นไปตามอัตราส่วนของคะแนนเสียงจากทั้งประเทศตามที่จะเป็นไปได้
คณิตศาสตร์เป็นผลของความพยายามของมนุษยชาติในการค้นหา ประมวลผล และอธิบายปรากฏการณ์รอบตัว กฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์จึงมีความเป็นสากล ไม่ขึ้นอยู่กับมุมมองหรือบริบท อัตราส่วน 71,000 ต่อ 1 ย่อมมีความหมายเหมือนกันทุกที่ในโลก! นั่นแสดงให้เห็นว่าให้เห็นว่า กระบวนการคณิตศาสตร์ที่จะถูกนำมาใช้ในกฎหมาย จะต้องผ่านการกลั่นกรองอย่างรอบคอบให้มีความเป็นกลาง เพื่อเป้าหมายที่ชอบธรรม เพราะเมื่อวิธีคำนวณได้ถูกยอมรับให้เป็นกฎแล้ว ย่อมให้ผลลัพธ์เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
ผมคาดว่า คณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เลือกใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เพื่อไม่ให้คะแนนเสียงของพรรคที่แพ้ในแต่ละเขตเลือกตั้งต้องหายสูญ และเพื่อให้แต่ละจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคได้รับมีสัดส่วนเหมาะสมกับคะแนนเสียงจากทั้งประเทศ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 และ 129 ไม่เพียงแค่กำหนดว่า แต่ละพรรคพึงมีจำนวน ส.ส. โดยประมาณเท่ากับจำนวนคะแนนเสียงทั้งประเทศ หารด้วย 7 หมื่นเสียง แต่ยังระบุไว้ชัดเจนว่า พรรคการเมืองจะมีผู้แทนในสภามากไปกว่าจำนวน ส.ส. ที่พึงมีไม่ได้ เว้นแต่ว่า พรรคจะได้ผู้แทนจำนวนมากจากระบบแบ่งเขตไปแล้ว
ทั้งนี้ก็เพราะรัฐธรรมนูญยังคงยึดหลักเสียงข้างมากของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น (นี่เป็นเหตุผลที่พรรคเพื่อไทยส่ง ส.ส. ระบบแบ่งเขตเข้าสภาถึง 136 ที่นั่ง แต่ด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อที่นั่งเพียง 5.8 หมื่นคะแนน)
หากคุณเชื่อมั่นว่า วิธีการแบ่งจำนวน ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมีความยุติธรรมแล้ว คุณจะเห็นว่าปัญหาของการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของ กกต. เพื่อให้ที่นั่ง ส.ส. กับพรรคที่สื่อมวลชนเรียกว่า พรรคขนาดจิ๋ว จำนวน 11 พรรค ซึ่งได้เสียงต่ำกว่า 7.1 หมื่นคะแนน ไม่ใช่แค่การคิดเลขที่ผิดที่ใส่จำนวนผู้แทนเป็นทศนิยม แต่เป็นการแสดงความไม่ยุติธรรมที่ขัดต่อหลักการจัดสรรปันส่วนและต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย
11 ที่นั่งนี้ ต้องแลกมากับที่นั่ง ส.ส. ที่พรรคอื่น ๆ ควรจะได้ โดยพรรคใหญ่ทั้งสองขั้วการเมืองต้องเสียที่นั่งกันถ้วนหน้า ในทางกลับกัน กกต. ทำให้พรรคขนาดเล็กมีผู้แทนที่มากเกินกว่าสัดส่วนของผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่ให้ความไว้วางใจกับนโยบายของพรรค และเมื่อเข้าสู่สภาฯ คุณจะปฏิเสธไม่ได้ว่า 11 พรรคจิ๋วนี้เป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี
การใช้สูตรคำนวณจำนวน ส.ส. ของ กกต. เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ไม่ใช่ครั้งแรกที่คณิตศาสตร์ส่งอิทธิพลต่อการเมืองไทย ทุกๆ ไม่กี่ปี เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับเก่าถูกยกเลิกและฉบับใหม่ถูกยกร่าง คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญก็คิดค้นระบบการเลือกตั้ง พร้อมกับสูตรคำนวณใหม่ๆ ที่พลิกโฉม (หรือพยายามพลิกโฉม) การเมืองไทยไปเสียทุกครั้ง
ปี 2562 นี้ คนไทยได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกหลังจากการเมืองเว้นวรรคไป 5 ปี กกต. ควรใช้โอกาสในช่วงที่การเมืองยังเปราะบางเช่นนี้ ในการแสดงให้ประชาชนเห็นว่า กฎหมายสูงสุดของประเทศยังมีความศักดิ์สิทธิ์ สร้างบรรทัดฐานให้กับการเมืองของประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ นักคณิตศาสตร์อย่างผมจึงขอให้ กกต. พิจารณาทบทวนสูตรที่ประกาศ และปฏิบัติตามข้อกำหนดคณิตศาสตร์ตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ เพื่อให้ผู้แทนของราษฎรแต่ละคนในสภาฯ เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างเสมอภาคกัน
[ ดูรายละเอียดสูตรการใช้คำนวณเพิ่มเติม คลิกที่ ]