ปรสิตติดโทรศัพท์ : การส่งเพกาซัสติดตามนักการเมืองก้าวหน้า-ก้าวไกล

วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.พรรคก้าวไกลอภิปรายถึงข้อค้นพบการใช้สปายแวร์เพกาซัสกับนักกิจกรรมทางการเมือง, นักวิชาการ และคนทำงานในภาคประชาสังคมจำนวน 30 คน (อ่านรายงานเพิ่มเติม

ระหว่างการอภิปราย พิจารณ์เปิดเผยข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า มีนักการเมืองในสังกัดพรรคก้าวไกลสามคนและคณะก้าวหน้าสองคน รวมอย่างน้อยห้าคนตกเป็นเหยื่อของเพกาซัส รวมทั้ง ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าและเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล การค้นพบครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนที่กำลังดำเนินไปเรื่อยๆ เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้สปายแวร์เพกาซัสในประเทศไทย

วิธีการสืบสวนหาเหยื่อที่ถูกโจมตีจากเพกาซัส

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 พรรณิการ์ วาณิช โฆษกคณะก้าวหน้าทวีตว่า เธอได้รับอีเมล์แจ้งเตือนจาก Apple ในช่วงเดียวกันกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกหลายว่า ไอโฟนของพวกเขาอาจถูกเจาะโดยผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ (State-sponsored attackers may be targeting your iPhone) จึงติดต่อมาหา DigitalReach ข้อมูลของหลายคนถูกส่งต่อให้ Citizen Lab เพื่อตรวจทางวิทยาศาสตร์และยืนยันการถูกเจาะของไอโฟนแต่ละเครื่อง 

พรรณิการ์ วาณิชระหว่างการพูดคุยเรื่องการปฏิรูปกองทัพเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563

ข้อมูลของผู้ถูกเพกาซัสเจาะเบื้องต้นถูกส่งต่อให้ iLaw เพื่อทำการลงพื้นที่หาข้อมูลเพิ่มเติมเป็นเวลาสี่เดือนระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 2565 เพื่อหาข้อเท็จจริงเพิ่มว่า มีใครที่อาจตกเป็นเหยื่ออีกบ้าง นอกจากคนที่ได้รับอีเมล์จาก Apple แล้ว การทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์จากคนที่มีความเสี่ยงเพราะแสดงออกในประเด็นทางการเมืองที่อ่อนไหว ซึ่งรวมทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน, ประเด็นที่นักการเมืองแต่ละคนนำเสนอ และความสัมพันธ์กับผู้ที่ตรวจพบว่าถูกเจาะไปก่อนหน้านั้น

ที่มาที่ไป

ปี 2561 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล พร้อมด้วยผู้ร่วมก่อตั้งเปิดตัวพรรคอนาคตใหม่ เป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าหลายคนเคยมีบทบาทรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 พรรคอนาคตใหม่สามารถกวาดที่นั่งในสภาได้ทั้งหมด 81 ที่นั่งและเข้าร่วมเป็นฝ่ายค้านต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร วันที่ 11 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่กรณีกู้ยืมเงินจากธนาธรซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ธนาธรนำประชาชนทำกิจกรรมแฟลชม็อบ “ไม่ถอยไม่ทน” ที่สกายวอล์คหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพียงพริบตาเดียวผู้คนจำนวนมากออกมารวมตัวที่สกายวอล์คจนเต็มพื้นที่ นับเป็นหนึ่งการเคลื่อนไหว ซึ่งปลุกกระแสการชุมนุมที่ซึมเซาไปตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจทักทายผู้ชุมนุมแฟลชม็อบ “ไม่ถอยไม่ทน” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี โดยอ้างว่าเงินกู้ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำนั้นเป็นการให้ผลประโยชน์กับพรรคการเมืองเกิน 10 ล้านบาท เป็นผลให้ธนาธร หัวหน้าพรรค, ปิยบุตร เลขาธิการพรรคและกรรมการบริหารพรรคอีกจำนวนหนึ่งถูกตัดสิทธิตามคำสั่งศาล ค่ำวันดังกล่าวประชาชนออกมารวมตัวแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับคำสั่งที่หน้าที่ทำการพรรคอนาตใหม่ วันถัดมา (22 กุมภาพันธ์ 2563) สหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยนำโดยจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพในเวลานั้นนัดชุมนุม “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และตามด้วยการชุมนุมอีกจำนวนมากกระจายตัวในพื้นที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ระหว่างนี้เองที่ผู้ชุมนุมพัฒนาความไม่พอใจจากการยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ตัวแทนอ่านแถลงการณ์ในการชุมนุม “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม”

การชุมนุมหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การชุมนุมหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563

การยุบพรรคเป็นผลให้นักการเมืองพรรคอนาคตใหม่เดิมย้ายไปเข้าสังกัดพรรคก้าวไกล โดยมีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นหัวหน้าพรรค ด้านกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองก่อตั้งคณะก้าวหน้า (Progressive movement) มีธนาธร เป็นประธาน, ปิยบุตรเป็นเลขาธิการและพรรณิการ์ วาณิช เป็นโฆษก ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เยาวชนปลดแอกนัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรกมีข้อเรียกร้องสามข้อ ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การยุบสภาและขอให้รัฐหยุดคุกคามประชาชน หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม 2563 ผู้ชุมนุมเริ่มผลักดันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พรรคก้าวไกลสนับสนุนญัตติด่วนให้สภาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักศึกษาและประชาชนและเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ส.ส. ของพรรคเคยลงมติ “งดออกเสียง” ในร่างพ.ร.บ.ที่ให้โอนอัตรากำลังพลของทหารไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ และเคยอภิปรายตั้งคำถามถึงการจัดสรรงบประมาณแก่สถาบันกษัตริย์อีกด้วย ลักษณะเช่นนี้ทำให้สถานภาพของพรรคก้าวไกลกลายเป็นสะพานเชื่อมข้อเรียกร้องของประชาชนบนท้องถนนเข้าสู่กลไกรัฐสภา 

การชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563

ผู้ชุมนุมชูป้ายข้อความเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนระหว่างการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563

นอกจากบทบาทในการผลักดันวาระสำคัญที่พรรคเห็นร่วมกับผู้ชุมนุมแล้ว ผู้แทนพรรคก้าวไกลยังเป็นนายประกันให้แก่นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี เช่น วันที่ 8 สิงหาคม 2563 ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ใช้ตำแหน่งส.ส.ประกันตัวภาณุพงศ์ จาดนอกคดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก และวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เบญจา แสงจันทร์ ใช้ตำแหน่งส.ส.ประกันตัวจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา คดีชุมนุมคณะราษฎรอีสาน รวมทั้งส.ส.ยังเคยปรากฏตัวในการชุมนุมทางการเมืองเป้าประสงค์เพื่อสังเกตการณ์สถานการณ์ เช่น รังสิมันต์ โรม, เบญจา แสงจันทร์ และพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์  ในการชุมนุม “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

ธนาธรและพรรณิการ์ระหว่างการชุมนุม “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” เมื่อปี 2563

ด้านคณะก้าวหน้าถอยทัพออกมายืนในบทบาทคลังสมอง (Think tank) แต่ยังมีการการเคลื่อนไหวในสภา เช่น กรณีของปิยบุตร ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นำเสนอข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อปลดล็อกท้องถิ่น และยกเลิก ส.ว. และมีการให้ความเห็นถึงประเด็นการเคลื่อนไหวชุมนุมอย่างต่อเนื่องในแง่มุมต่างๆ เช่น การกวาดจับนักกิจกรรมในเดือนตุลาคม 2563

ต้นปี 2564 ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด 19 คณะก้าวหน้าเปิดประเด็นเรื่องวัคซีนโควิด 19 และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ วันที่ 18 มกราคม 2564 ธนาธรไลฟ์หัวข้อเรื่อง “วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ใครเสีย?” ตั้งคำถามต่อ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience) ผู้ผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งมีรัชกาลที่สิบเป็นผู้ถือหุ้น วันที่ 19 มกราคม 2564 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยื่นคำร้องขอศาลอาญาขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปดังกล่าว ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่ในวันเดียวกัน หากแต่ธนาธรยื่นคำร้องคัดค้านและขอให้เพิกถอนคำสั่ง ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลไต่สวนคำร้องของธนาธรและมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งระงับเดิมไป ระบุว่า “ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่า เป็นการกล่าวหาหรือติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริต” ของรัชกาลที่สิบ

พริษฐ์ ชิวารักษ์และเบนจา อะปัญทำกิจกรรม “กระขากหน้ากากไอโอไซน์” เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564

ประเด็นวัคซีนพระราชทานถูกนำมาเรียกร้องในพื้นที่สาธารณะ เช่น วันที่ 19 มกราคม 2564 เบนจา อะปัญ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมชูป้ายข้อความ “วัคซีนพระราชทาน” ที่ไอคอนสยาม และวันที่ 25 มกราคม 2564 เบนจาและพริษฐ์ ชิวารักษ์ทำกิจกรรมปราศรัยวิจารณ์เรื่องการจัดหาวัคซีนที่หน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ ที่ทำการของสยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience)  ด้าน ปิยบุตรก็ให้ความเห็น ต่อข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่นำเสนอโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมอ่านประกาศแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ สิบข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563

จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมา จึงเห็นถึงความเชื่อมโยงต่อกันระหว่างนักการเมืองของพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า กับนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยที่มีจุดเกาะเกี่ยว คือ อุดมการณ์ประชาธิปไตยและข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ข้อค้นพบ

จนถึงเวลานี้พบว่า มีนักการเมืองอย่างน้อยห้าคนที่ถูกเจาะโดยเพกาซัส การเจาะทั้งหมดเกิดขึ้นในระหว่างปี 2563-2564 และผู้ที่ตกเป้าหมายของสปายแวร์ คือ นักการเมืองจากพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า การเจาะครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 และครั้งสุดท้ายวันที่ 17 กันยายน 2564 ผู้ที่ถูกเจาะมากที่สุด คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า จำนวน 8 ครั้งระหว่างวันที่ 3 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2564 รองลงมา คือ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล สามครั้ง คือ ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายนถึงช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 อย่างไรก็ตามการตรวจสอบไอโฟนของนักการเมืองพรรคก้าวไกลมีข้อจำกัด เช่น กรณีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไอโฟนเครื่องที่เขาเคยใช้ระหว่างปี 2563-2564 ตกน้ำได้รับความเสียหายจึงไม่สามารถทำการตรวจสอบเพื่อค้นหาร่องรอยการโจมตีได้ หรือกรณีของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ใช้เครื่องแอนดรอยด์เป็นหลัก และยังไม่สามารถระบุผลการตรวจสอบได้

ทั้งนี้การสอบสวนยังทำในหมู่นักการเมือง และคนทำงานในพรรคเพื่อไทยด้วย แต่ไม่พบร่องรอยการโจมตีจากเพกาซัส ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยมีบทบาทในการเรียกร้องเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง เช่น กรณีการสลายการชุมนุมคณะราษฎรเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 , การปราบปรามผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงในเดือนสิงหาคม 2564 และการเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังเคยเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองในปี 2564  ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยมีมติเห็นด้วยกับร่างที่มาจากการเข้าชื่อเสนอโดยประชาชนทุกฉบับ แต่มีจุดยืนไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไปและหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างเด่นชัด 

ขบวนเสด็จผ่านม็อบคณะราษฎร หนึ่งในมูลเหตุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563

การสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563

เมื่อเปรียบเทียบแล้วบทบาทและแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทยมีระยะห่างกับผู้ชุมนุมในช่วงระหว่างปี 2563-2564 มากกว่าเพื่อนฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกล จึงพอจะสรุปรูปแบบการโจมตีของเพกาซัสต่อนักการเมืองได้ว่า เหยื่อมีจุดยืนเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และ/หรือมีความสัมพันธ์กับนักกิจกรรมทางการเมืองที่ตกเป็นเหยื่อของเพกาซัสทางใดทางหนึ่ง

รายชื่อนักการเมืองและวันที่ถูกเจาะ

ลำดับ

ชื่อและนามสกุล

สังกัด

ประมาณวันที่ที่ถูกเจาะ

(ปี-เดือน-วัน)

1

ปิยบุตร แสงกนกกุล

คณะก้าวหน้า

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2020-12-03 

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2021-02-07 

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2021-02-27 

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2021-03-17 

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2021-03-24 

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2021-04-07 

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2021-06-20 

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2021-07-04

2

พรรณิการ์ วาณิช

คณะก้าวหน้า

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2021-02-07

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2021-02-08

3

ชัยธวัช ตุลาธน

 พรรคก้าวไกล

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2020-12-20

4

เบญจา แสงจันทร์

พรรคก้าวไกล

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2021-06-14

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2021-06-24

ช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง 2021-06-24-2021-07-15

5

ปกรณ์ อารีกุล

พรรคก้าวไกล

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2021-07-07 

ในวันที่หรือช่วงวันที่ 2021-08-17

กรณีของปิยบุตร แสงกนกกุล การค้นหาความสัมพันธ์กับนักกิจกรรม

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาชิกคณะนิติราษฎร์ ปี 2554 คณาจารย์จากคณะนิติราษฎร์เคยเสนอให้ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักรและกำหนดให้ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ รวมทั้งเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดกรณีกระทำโดยสุจริต ต่อมาเขาได้เข้าทำงานเป็น ส.ส. เป็นเวลาไม่ถึงหนึ่งปี หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ปิยบุตร ในฐานะเลขาธิการคณะก้าวหน้ายังคงทำงานรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ระหว่างการชุมนุมปี 2563-2564 เขาให้ความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และวิพากษ์วิจารณ์การปราบปรามการชุมนุมของรัฐ รวมทั้งปรากฏตัวในฐานะผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายครั้ง

การแสดงความเห็นของปิยบุตรทำให้เขาถูกติดตามและคุกคามหลายระดับ เช่น การดำเนินคดีด้วยข้อหาในหมวดความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมาตรา 112 , การติดตามระหว่างที่เขาลงพื้นที่ทำกิจกรรม และยังเคยมีความพยายามของตำรวจในการเพิกถอนหนังสือเดินทางของเขา รวมถึงธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าและพรรณิการ์ วาณิช โฆษกคณะก้าวหน้าด้วย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563ตำรวจบุกค้นคณะก้าวหน้าระหว่างการแถลงข่าวกรณีการใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

แม้ปิยบุตรจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดชุมนุมทางการเมืองแต่น่าสนใจว่า ห้าจากแปดครั้งของการโจมตีเกิดขึ้นใกล้เคียงหรือตรงกับวันที่มีการชุมนุมทางการเมืองหรือมีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับกลุ่มที่จัดชุมนุมดังนี้

การชุมนุมเพื่อตอบโต้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563

วันที่ 3 ธันวาคม 2563 การเจาะเกิดขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องบ้านพักหลวงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ซึ่งวันเดียวกันนั้นราษฎรนัดหมายชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าวตอบโต้คำวินิจฉัยดังกล่าว ผู้ที่ถูกโจมตีในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ได้แก่ วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw และวันที่ 3 ธันวาคม 2563 อานนท์ นำภา แกนนำราษฎร  วันที่ปิยบุตรถูกเจาะเขาโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนให้แสดงออกต่อกฎหมายกับคำพิพากษาที่ไม่เป็นธรรม และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเขาแสดงความเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกหมวดทุกมาตรา

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นการเจาะก่อนหน้าวันนัดหมายชุมนุม “28กุมภาบุกรังขี้ข้าปรสิต” ของรีเด็ม หลังจากนั้นปิยบุตรรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญและการปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี การเจาะตีครั้งถัดมาวันที่17 มีนาคม 2564 ตรงกับวันที่ปิยบุตรมีนัดหมายพูดคุยในหัวข้อ “ราชทัณฑ์อยุติธรรม : ว่าด้วยปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยกับคดีทางการเมือง” ที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดผ่านคลับเฮาส์ โดยก่อนหน้านี้หนึ่งวันนิราภร อ่อนขาว สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมถูกเจาะโดยเพกาซัสด้วยเช่นกัน

วันที่ 24 มีนาคม 2564 การเจาะเกิดขึ้นตรงกับวันนัดหมายชุมนุม “ประเทศนี้เป็นของราษฎร” ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และหนึ่งวันให้หลังจากที่ปิยบุตรเดินทางไปบรรยายหัวข้อ “แก้รัฐธรรมนูญไทยสู่ประชาธิปไตยหรือเสริมแกร่งเผด็จการ” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งระหว่างนั้นมีกลุ่มขอนแก่นปกป้องสถาบันฯเข้ามากล่าวหาว่า เขาเป็นคนล้มเจ้า และอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2564 ก่อนหน้าการชุมนุมครบรอบ 89 ปีอภิวัฒน์สยาม การชุมนุมใหญ่ครั้งแรกหลังจากเว้นว่างไปจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 และคลื่นการคุมขังนักกิจกรรมระหว่างพิจารณาคดี ปิยบุตรเป็นหนึ่งในเจ็ดคนที่ถูกเจาะในช่วงเวลานี้ วันที่เขาถูกเจาะยังมีการเจาะนิราภร อ่อนขาว, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลและยิ่งชีพ อัชฌานนท์

การโจมตีปิยบุตรพอจะสะท้อนให้เห็นรูปแบบที่ผู้โจมตีพยายามเสาะแสวงหาความสัมพันธ์และความเป็นไปได้ว่า เขาเกี่ยวข้องกับการนัดหมายจัดชุมนุมทางการเมืองของบรรดานักกิจกรรมคนรุ่นใหม่หรือไม่ 

กรณีของเบญจา แสงจันทร์ การค้นหาข้อมูลหลังของบสถาบันฯ โปร่งใส

เบญจา แสงจันทร์ระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่หน้าอาคารรัฐสภาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563

เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล บทบาทในสภาช่วงแรงของเธอเป็นการนำเสนอปัญหาเรื่องที่ดินและการตั้งนิคมอุตสาหกรรม ระหว่างการชุมนุมปี 2563-2564 เธอเข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมหลายครั้งและใช้ตำแหน่ง ส.ส. เป็นนายประกันให้นักกิจกรรมทางการเมือง ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2564  ระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ พ.ศ. 2565) วาระหนึ่ง เบญจาอภิปรายเสนอให้จัดระเบียบโครงสร้างบประมาณสถาบันกษัตริย์ ลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มความโปร่งใสตรวจสอบได้ ในตอนท้ายเธอระบุว่า สิ่งที่เสนอนั้นจะยิ่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดำรงอยู่อย่างมั่นคงสถาพรในรัฐสมัยใหม่ โดยไม่ถูกนำมาใช้แอบอ้างให้เสื่อมเสียพระเกียรติมากยิ่งขึ้น 

ประเด็นดังกล่าวสังคมให้ความสนใจอย่างมาก มาตรวัดอย่างหนึ่ง คือ เทรนด์ของทวิตเตอร์ หลังจากการอภิปรายครั้งนั้น เบญจาให้สัมภาษณ์สื่อถึงเรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ต่อเนื่อง วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เบญจาถูกเจาะเป็นครั้งแรกและครั้งต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2564 วันดังกล่าวราษฎรจัดชุมนุมเพื่อรำลึก 89 ปีการอภิวัฒน์สยาม โดยเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปรัฐสภา ตัวแทนราษฎรนำโดยปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลและจตุภัทร์ บุญภัทรรักษายื่นหนังสือให้แก่ตัวแทนพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน เบญจากับชัยธวัช ตุลาธนเลขาธิการพรรคก้าวไกลก็เป็นตัวแทนออกไปรับหนังสือด้วย อย่างไรก็ตามการโจมตีครั้งที่สามยังไม่สามารถระบุวันที่ได้อย่างแน่ชัดแต่เป็นช่วงระหว่างการอภิปรายงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์วันที่ 24 มิถุนายนถึง 15 กรกฎาคม 2564 

เบญจา แสงจันทร์รับหนังสือจากตัวแทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564

แม้จะมีหนึ่งครั้งที่เบญจาถูกเจาะในวันตรงกับวันที่มีนัดหมายชุมนุม แต่ยังไม่มีหลักฐานแวดล้อมเพียงพอให้ระบุได้ว่า การโจมตีเป็นไปเพื่อแสวงหาความเชื่อมโยงกับนักกิจกรรมเนื่องจากก่อนหน้านี้เธอมีการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่เคยถูกโจมตีมาก่อน จนกระทั่งเธออภิปรายเรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ทั้งนี้ไม่ปรากฏการโจมตีเบญจาในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565) ในวาระสอง ระหว่างวันที่ 18 – 21 สิงหาคม 2564 ครั้งนี้เบญจายังคงอภิปรายเรื่องงบประมาณของที่พักอาศัยข้าราชบริพารในพระองค์ 

อย่างไรก็ตามวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ปกรณ์ อารีกุล ถูกเจาะ ปกรณ์เป็นผู้ช่วยของรังสิมันต์ โรม ส.ส. ที่มักจะอภิปรายในประเด็นสำคัญ เช่น มูลนิธิป่ารอยต่อ, เส้นสายแต่งตั้งตำรวจ (ตั๋วช้าง) หรือเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเวลาดังกล่าวพอจะสันนิษฐานได้ว่า รังสิมันต์อาจจะอภิปรายเรื่องงบประมาณด้วย เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบโทรศัพท์ของรังสิมันต์ โรมได้  ดังนั้นจึงพอคาดการณ์ได้เพียงว่า การโจมตีปกรณ์เป็นการโจมตีเพื่อมุ่งค้นหาข้อมูลระหว่างการเตรียมอภิปรายของรังสิมันต์ 

นอกจากนี้จากการตรวจสอบ ส.ส. บางคนที่ก็เคยมีบทบาทการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของพรรคก้าวไกลไม่พบว่า ถูกโจมตีจากเพกาซัส ได้แก่  วันที่ 26 ตุลาคม 2563 สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส. ที่เคยอภิปรายเรื่องขบวนเสด็จผ่านการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 และพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. ที่เคยอภิปรายเสนอให้ตัดงบส่วนราชการในพระองค์ 

จากข้อค้นพบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นรูปแบบการโจมตีว่า ผู้โจมตีเลือกเป้าหมายเพื่อค้นหาข้อมูลที่ต้องการเท่านั้นไม่ใช่การมุ่งโจมตีสอดส่องหรือเสาะแสวงหาข้อมูลแบบเป็นการทั่วไป (Mass Surveillance)

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage