“ห้ามชุมนุมเกินห้าคน”
เป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12. ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วก่อนการเลือกตั้ง
ตลอด 5 ปีกว่าในยุค คสช.1 มีการปิดกั้นแทรกแซงกิจกรรมมากกว่า 200 ครั้ง ส่วนหนึ่งเจ้าหน้าที่อ้างอำนาจตามคำสั่งดังกล่าวสั่งห้ามจัดทั้งงานเสวนา งานละคร การรวมตัวในที่สาธารณะ ฯลฯ หลังเลือกตั้ง แม้ไม่มีคำสั่งดังกล่าวแล้ว การเดินหน้ากดดัน คุกคามการทำกิจกรรมทางการเมืองยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับในยุค คสช.1 แต่เป็นไปในทางอ้อม
เมื่อบรรยากาศคลี่คลาย “ข่าว” การปิดกั้นกิจกรรมน้อยลง สาธารณชนก็สนใจน้อยลง
อีกด้าน แทนที่กิจกรรมจะแหลมคมและท้าทายรัฐมากขึ้น ผู้จัดกิจกรรมกลับเรียนรู้ที่จะเลือกประเด็นเท่าที่ “พอจะจัดได้” และเลือกสถานที่ “พอจะใช้ได้” ทำให้ภาพของการปะทะกันโดยตรง การใช้กำลังเข้ากดดัน หรือการสั่งปิดงาน ไม่ปรากฏมากนัก
ทั้งที่ในความเป็นจริง การทำกิจกรรมยังเป็นไปอย่างยากลำบากเช่นเดิม สถานการณ์ไม่ได้เปิดกว้างอย่างที่ใครๆ คิด
7 กันยายน 2562 กิจกรรมเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ นำโดยพรรคอนาคตใหม่ จากเดิมวางแผนจัดที่คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ถูกกดดันให้ย้ายมาจัดที่ศูนย์ประชุมมารินทร์ และยังต้องย้ายอีกครั้ง สุดท้ายจัดได้ที่ลานเอนกประสงค์ มาลิน พลาซ่า ในวันถัดมา จากเดิมที่วางแผนจัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ถูกมหาวิทยาลัยยกเลิกสถานที่ และเปลี่ยนไปเป็นที่หอกาญจนาภิเษกแทน
การจัดกิจกรรมของพรรคอนาคตใหม่ ยังถูกกดดันให้พบความยากลำบากอย่างต่อเนื่องทั้งปี โดยในเดือนธันวาคม ตำรวจก็เข้ากดดันกิจกรรมค่ายเยาวชนภาคอีสาน จ.สุรินทร์ ให้ยกเลิกกาารใช้สถานที่อุทยาน เมื่อย้ายไปจัดในวัดก็ถูกเจ้าคณะอำเภอกดดันให้ยกเลิกอีก แม้สุดท้ายจะหาสถานที่ใหม่เพื่อจัดกิจกรรมได้ แต่ผู้เข้าร่วมก็ยกเลิกไปจำนวนมาก
สำหรับกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นกระแสขึ้นมาในช่วงปลายปี คือ “วิ่งไล่ลุง” มีกำหนดจัดต้นปี 2563 เพียงการแถลงข่าวของผู้จัดก็ยังลำบาก เมื่อสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เจ้าของสถานที่ที่ติดต่อไว้ขอยกเลิกเพราะถูกตำรวจกดดันอย่างหนัก ในวันที่ 9 ธันวาคม 2562
ต่อมาผู้จัดวางแผนย้ายการแถลงข่าวไปเป็นที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 แต่โรงแรมก็ขอยกเลิกการจองห้องอีกเพราะ “ถูกผู้มีอำนาจกดดันมา” สุดท้ายจึงเดินไปแถลงข่าวที่ลานโพธิ์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตใช้สถานที่ไว้ก่อน
กิจกรรมนี้วางแผนจะจัดขึ้นจริงในวันที่ 12 มกราคม 2563 ซึ่งก็ยังคงไม่ได้รับอนุญาตจากตำรวจให้จัดงานวิ่งกันบนถนน
สำหรับสถานศึกษาของรัฐ ซึ่งควรเป็นพื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกและการทำกิจกรรมให้กับนักศึกษาและบุคคลทั่วไปได้บ้าง แต่ภายใต้รัฐบาล คสช.2 ก็ยังคงบรรยากาศเช่นเดิม โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยล้วนทำหน้าที่เป็นองครักษ์คอยสอดส่องและเซ็นเซอร์กิจกรรมไม่ให้ล่อแหลมจนเกินไป เรียกว่า “ทำหน้าที่แทน คสช.”
เช่น งานสัปดาห์ประชาธิปไตยที่มหาวิทยาลัยบูรพา 17-19 ธันวาคม 2562 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอให้เก็บป้ายผ้าที่ติดไว้บนตึก ซึ่งเขียนว่า “ประชาธิปไตยจากปลายกระบอกปืน” และ “อย่าทำให้ประชาธิปไตยเป็นแค่อนุสาวรีย์”
ส่วนกิจกรรมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่จะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ถูกผู้บริหารห้ามไม่ให้ทำกิจกรรม Write for Rights หรือการเขียนจดหมายเรียกร้องสิทธิให้กับ ยีลียาซีเจียง เรเฮมัน และ ไมรีนีชา อับดูไอนี นักศึกษาชาวอุยกูร์ที่หายตัวไประหว่างกำลังศึกษาต่อที่อียิปต์
ด้านกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ แม้ว่าในปี 2562 จะดูเหมือนมีการจัดกิจกรรมชุมนุมอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังดำเนินไปแบบจำกัดภายใต้แรงกดดันให้แสดงออกได้น้อยที่สุด
เช่น การชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน 6-23 ตุลาคม 2562 ปักหลักค้างคืนต่อเนื่องในกรุงเทพ ก็ถูกควบคุมด้วยพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และพ.ร.บ.ควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียง การเดินขบวนย้ายสถานที่แต่ละครั้งตำรวจจะเข้ามาติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมกดดันห้ามชูป้าย หรือธงสัญลักษณ์ หรือห้ามใช้เครื่องขยายเสียงเมื่อเดินทางไปที่ต่างๆ
กิจกรรม “เดิน-ปิด-เหมือง” ของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู 7-12 ธันวาคม 2562 ก็มีตำรวจบุกเข้ามาหาชาวบ้านกลางดึก สอบถามรายชื่อและนามสกุลของคนที่เข้าร่วมกิจกรรมทีละคน และข่มขู่ด้วยพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
ภาพตำรวจเข้าเจรจากับกลุ่มสมัชชาคนจน ห้ามชูป้ายระหว่างไปไหววัดพระแก้วและศาลหลักเมือง
กิจกรรมการแสดงออกของประชาชนหลายครั้งยังสามารถเดินหน้าไปจนถึงปลายทางได้ หากดูผิวเผินจะเหมือนกับว่า ประชาชนเริ่มจะมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นได้บ้างแล้ว แต่เบื้องหลังผู้จัดกิจกรรมต่างต้องพบกับการข่มขู่คุกคาม หว่านล้อม และกดดันจากเจ้าหน้าที่มากมาย หากผู้จัดกิจกรรมไม่ได้ศึกษากฎหมายให้รอบคอบ หรือไม่ยืนยันให้หนักแน่นพอก็จะไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ และกิจกรรมเท่าที่ปรากฏขึ้นมาได้นั้น ก็ผ่านการกลั่นกรอง ต่อรองมาแล้วมากมายทั้งนั้น ด้วยอำนาจทั้งตามกฎหมายและนอกกฎหมาย ด้วยวิธีการทั้งทางตรงและทางอ้อม