Thailand Post Election Report: คนอยากเลือกตั้งกับภารกิจที่ยังไม่จบสิ้น

“คนอยากเลือกตั้ง” คือการรวมตัวของกลุ่มประชาชนอย่างหลวมๆ เพื่อทำกิจกรรมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2561 ภายใต้ชื่อกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” โดยจัดชุมนุมสาธารณะทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมา ระหว่างเดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคม 2561 ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์เคยพูดกับผู้นำต่างประเทศรวมทั้งเคยเปิดเผยกับสื่อมวลชนเรื่องกำหนดการการเลือกตั้งแต่ก็มีการเลื่อนออกไปอย่างน้อยห้าครั้งก่อนหน้าที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะเริ่มออกมาเคลื่อนไหวในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2561 (ในปี 2562 มีการเลื่อนการเลือกตั้งจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่ 24 มีนาคม ทำให้รวมแล้วมีการเลื่อนการเลือกตั้งรวมอย่างน้อยหกครั้ง) 

ฝ่ายรัฐเองก็ตอบโต้ด้วยการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งรวมแล้วหกครั้ง จากการชุมนุมอย่างน้อยเจ็ดครั้ง (ไม่นับรวมกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่จัดในพื้นที่มหาวิทยาลัย) และนับเป็นครั้งแรกที่รัฐใช้กลวิธี “แจ้งข้อหาแบบหว่านแห” หรือตั้งข้อกล่าวหากับผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก แทนที่จะจำกัดเฉพาะแกนนำการชุมนุมเหมือนเมื่อก่อน 

และด้วยเหตุว่ามีการดำเนินคดีถี่ๆ ผู้ชุมนุมและทนายความจึงริเริ่มเรียกขานชื่อกลุ่มคดี โดยแบ่งตามสถานที่ชุมนุม พ่วงท้ายด้วยจำนวนของจำนวนผู้ต้องหาในครั้งนั้น เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ

– คดี MBK39 คือ การชุมนุมบนสกายวอล์กหน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ มีผู้ต้องหา 39 คน

– คดี RDN50 คือ การชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน มีผู้ต้องหา 50 คน 

– คดี ARMY57 คือ การชุมนุมที่หน้ากองทัพบก มีผู้ต้องหา 57 คน

– คดี UN62 คือ การชุมนุมหน้าที่ทำการสหประชาชาติ มีผู้ต้องหา 62 คน

– คดี PTY7 คือ การชุมนุมที่พัทยา มีผู้ต้องหา 7 คน  

– คดี CMU6  คือ การชุมนุมที่จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ต้องหา 6 คน 

สำหรับคดีที่เหตุเกิดในกรุงเทพสี่คดี เจ้าหน้าที่มีการแยกดำเนินคดีระหว่างผู้จัดการชุมนุมที่มีพฤติการณ์เป็นแกนนำขึ้นปราศรัยดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมเฉยๆ โดยคนที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นแกนนำจะถูกตั้งข้อยุยงปลุกปั่นฯตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพิ่มเติม   

เวลาผ่านมาเกือบสองปี ระหว่างนั้นมีการจัดการเลือกตั้งไปในเดือนมีนาคม 2562 ขณะที่คสช.ก็สิ้นสภาพไปในเดือนมิถุนายน 2562 แต่คนที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งส่วนหนึ่งยังคงมีชีวิตวนเวียนอยู่กับสำนักงานอัยการหรือศาลจากคดีเหล่านี้ 

ปี 2563 ที่กำลังจะมาถึง “คนอยากเลือก” จำนวนหนึ่งจะยังมีภาระการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองต่อหน้ากระบวนการยุติธรรมไทยต่อไป    

เพราะไม่เลือกตั้งตามนัด เราจึงต้องมา

เดือนตุลาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2561 และจัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561  แต่การเลือกตั้งที่ใครหลายคนรอคอยก็ “ไม่มาตามนัด” เพราะในวันที่ 25 มกราคม 2561 สนช.ให้ความเห็นชอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2560 โดยที่มาตรา 2 ของกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน ทำให้กำหนดการเลือกตั้งที่เดิมคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561ต้องล่าช้าไปราวสามเดือนเป็นต้นปี 2562 

วันที่ 27 มกราคม 2561 หรือสองวันให้หลังจากที่สนช.ผ่านกฎหมายที่จะมีผลให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป มีประชาชนออกมารวมตัวกันที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 การชุมนุมในวันนั้นจบลงโดยไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ ไม่มีการจับตัวบุคคลใด ทว่าในเวลาต่อมามีประชาชนรวม 39 คนถูกออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 และข้อหาชุมนุมไม่เกิน 150 เมตรจากเขตพระราชฐานตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ในจำนวน ผู้ต้องหา 39 คน โดยในจำนวนนั้นมี 9 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติม

การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในโอกาสครบรอบสี่ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2561

แม้จะมีการตั้งข้อกล่าวหากับประชาชน 39 คน แต่การดำเนินคดีก็ไม่อาจหยุดการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนที่ต้องการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งได้ หลังการชุมนุมครั้งแรกที่หน้าหอศิลป์ มีกลุ่มประชาชนจัดการชุมนุมอีกอย่างน้อยหกครั้ง ได้แก่

– การชุมนุมที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 

– ที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 

– ที่จังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561 

– ที่หน้าห้างเซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยาในวันที่ 4 มีนาคม 2561 

– ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกในวันที่ 24 มีนาคม 2561 

– ที่หน้าองค์การสหประชาชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 

ในจำนวนนี้มีเพียงการชุมนุมที่นครราชสีมาที่ไม่มีการตั้งข้อกล่าวหากับบุคคลใด และปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ คือ การออกหมายเรียกประชาชนมารับทราบข้อกล่าวหาเป็นจำนวนมาก สถิติสูงสุดมีถึง 62 คน ต่างจากก่อนหน้านี้ที่มักมีเพียงแกนนำหรือผู้จัดชุมนุมที่ถูกดำเนินคดี เช่น กิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก จัดที่เดียวกัน จุดประสงค์ใกล้เคียงกัน  ผู้ร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 20 คน แต่ที่มีคนถูกดำเนินคดีรวมสี่คน หรือคดีการชุมนุมครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 40 – 50 คน มีผู้ถูกดำเนินคดีเก้าคน

เลือกตั้งจบแล้ว คดีไม่จบ  

การชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งที่หน้าสหประชาชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 น่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่เพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในปี 2561 ระหว่างนั้นกลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกฟ้องคดีต่างต้องทยอยไปพบพนักงานสอบสวนและอัยการตามนัด มีนักกิจกรรมส่วนหนึ่งที่ถูกตั้งข้อกล่าวหามากกว่าหนึ่งคดี เช่น สิรวิชญ์หรือนิวถูกตั้งข้อกล่าวหาในชุดคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งรวมห้าคดี ยกเว้นคดีที่จังหวัดเชียงใหม่, รังสิมันต์ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหารวมสี่คดี โดยคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเพียงคดีเดียวในชุดคดีนี้ที่ไม่มีผู้ต้องหาคนใดถูกดำเนินคดีซ้ำกับคดีคนอยากเลือกตั้งคดีอื่นๆ  

สำหรับความเคลื่อนไหวสำคัญของคดีคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง มีดังนี้ 

MBK39

เดือนพฤศจิกายน 2562 ผู้ต้องหา 28 คนได้รับแจ้งว่าอัยการและพนักงานสอบสวนมีความเห็นตรงกันสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ส่งผลให้คดีสิ้นสุด โดยก่อนที่คดีจะถึงที่สุดผู้ต้องหาทั้ง 28 คน ต้องไปรายงานตัวกับอัยการเกือบ 20 ครั้งเพื่อฟังคำสั่งคดีจากอัยการสูงสุดว่าจะฟ้องหรือไม่ มีการเลื่อนนัดออกไปเรื่อยๆ ก่อนที่อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งให้ตำรวจทำการสอบสวนเพิ่มเติม แต่ที่พนักงานสอบสวนก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี 

ผู้ต้องหาคดีผู้ร่วมการชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์กห้างมาบุญครองเดินทางเข้ารับเอกสารคำสั่งไม่ฟ้องคดี 22 พฤศจิกายน 2562

นอกจากผู้ต้องหา 28 คน คดีนี้ยังมีผู้ต้องหาถูกฟ้องอีก 2 คนแต่ทั้งสองให้การรับสารภาพตั้งแต่ชั้นสอบสวนและในเดือนมีนาคม 2561 ศาลพิพากษาจำคุกทั้งสองเป็นเวลาเป็นเวลา 6 วัน โดยรอลงอาญาไว้ 1 ปี  

สำหรับคดี “ผู้จัดการชุมนุม” คนอยากเลือกตั้ง #mbk39 มีจำเลยรวม 9 คน ศาลอาญากรุงเทพใต้เพิ่งเริ่มสืบพยานในเดือนมิถุนายน 2562 การสืบพยานยังไม่แล้วเสร็จ โดยศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายและนัดสืบพยานจำเลยในเดือนมีนาคม 2563 

RDN50

คดีการชุมนุมบนถนนราชดำเนิน มีจำเลย 42 คน ถูกฟ้องต่อศาลแขวงดุสิตในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนเพียงข้อหาเดียว 

เดือนธันวาคม 2561 ระหว่างที่คดีนี้อยู่ระหว่างรอการสืบพยาน หัวหน้าคสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 22/2561 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเนื่องจากขณะนั้นประเทศกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้ง 

การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน 10 กุมภาพันธ์ 2561

เดือนกรกฎาคม 2562 อัยการเจ้าของสำนวนแถลงว่า เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ใช้ดำเนินคดีจำเลยถูกยกเลิกไปแล้วจึงทำเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อขอถอนฟ้อง ทั้งอธิบดีอัยการศาลแขวงและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็มีความเห็นพ้องให้ถอนฟ้อง ศาลจึงอนุญาตให้ถอนฟ้อง ในส่วนของคดี “ผู้จัดการชุมนุม” ศาลอาญาสืบพยานคดีนี้ในเดือนสิงหาคม 2562 จากนั้นจึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 6 คนที่ถูกกล่าวหาว่าปราศรัยหรือกระทำการในลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนก่อความวุ่นวาย  

ARMY57

คดีการชุมนุมหน้ากองบัญชาการกองทัพบก มีจำเลย 47 คน ถูกฟ้องต่อศาลแขวงดุสิตด้วยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อหาไม่เลิกการชุมนุมในระยะเวลาที่ได้แจ้งการชุมนุมไว้และความผิดฐานเคลื่อนย้ายการชุมนุมในยามวิกาลตามพ.ร.บ.ชุมนุม และข้อหากีดขวางการจราจรตามพ.ร.บ.จราจรทางบก 

คดีนี้มีการสืบพยานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนกันยายน 2562 และศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ธันวาคม 2562  

ในส่วนของคดีผู้จัดการชุมนุม มีการฟ้องคดีจำเลยทั้งสิบคนต่อศาลอาญาในวันที่ 6 มีนาคม 2562 แต่การสืบพยานนัดแรกจะไปเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2563 

UN62

คดีการชุมนุมหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีผู้ต้องหา 38 คน ถูกฟ้องด้วยรวม 5 ข้อกล่าวหาได้แก่ ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และข้อไม่ไม่เลิกการมั่วสุมเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216 ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมตั้งแต่ห้าคน ข้อหากีดขวางสถานที่ราชการตามมาตรา 8 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และความผิดฐานกีดขวางการจราจรตามพ.ร.บ.จราจรฯ 

อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 38 คนต่อศาลแขวงดุสิตไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 ในเวลาต่อมามีการฟ้องผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีก 3 คนรวมเป็น 41 คน 

ขณะนี้คดียังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจพยานหลักฐานโดยศาลเลื่อนวันนัดจากเดิมวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ออกไปเป็นวันที่ 27 มกราคม 2563  

ในส่วนคดีของผู้จัดการชุมนุมอีก 21 คนถูกฟ้องในข้อหาเดียวกับผู้ร่วมการชุมนุมและเพิ่มเติมข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อีกหนึ่งข้อหาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหารวมสิบคนต่อศาลอาญา 

เดือนพฤศจิกายน 2562 มีการฟ้องร้องผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีก 8 คน รวมเป็น 18 คน ศาลนัดตรวจยานหลักฐานจำเลยที่แยกฟ้องเป็นสองสำนวนพร้อมกันในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 คาดว่าน่าจะมีการรวมสำนวนคดีทั้งสองเป็นคดีเดียวกันเพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาคดี  

PTY12

คดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่พัทยา ผู้ร่วมกิจกรรม 12 คนถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในเดือนธันวาคม 2561 ระหว่างที่คดีนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของอัยการว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ หัวหน้าคสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 22/2561 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง 

เดือนมกราคม 2562 อัยการเจ้าของสำนวนฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 12 คน ในความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯต่อศาลจังหวัดพัทยาเพียงข้อหาเดียว 

การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่พัทยา 4 มีนาคม 2561

คดีนี้มีการสืบพยานในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 จากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2562 ศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษาว่าสิรวิชญ์ , วันเฉลิม, ศศวัชร์ มีพฤติการณ์เป็นผู้จัดการชุมนุมเพราะทั้งการปราศรัย การจัดเตรียมลำโพงมาตั้ง รวมทั้งมีพฤติการณ์การนัดแนะผู้ชุมนุมมาเจอกันที่เซนทรัล เฟซติวัล บีช พัทยา แต่ไม่แจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า เป็นความผิดตามกฎหมาย ลงโทษปรับคนละ 3,000 บาท ส่วนจำเลยคนอื่นศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่ามีเพียงพฤติการณ์เพียงการชูป้าย จึงเป็นเพียงผู้ร่วมการชุมนุม

เดือนพฤศจิกายน 2562 อัยการเจ้าของสำนวนยื่นอุทธรณ์คดีโดยยืนยันว่าจำเลยคนอื่นๆ มีพฤติการณ์เป็นแกนนำหรือผู้จัดการชุมนุมเช่นกัน    

CMU6

คดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่เชียงใหม่ มีผู้ร่วมกิจกรรม 6 คนถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน ในจำนวนนี้มีผู้ชุมนุม 5 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

อัยการเจ้าของสำนวนฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงเชียงใหม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 แม้ว่าหัวหน้าคสช.จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองไปตั้งแต่ในเดือนธันวาคม 2561 แล้วก็ตาม

มีข้อน่าสังเกตด้วยว่าจำเลย 2 คนในคดีนี้ยินยอมเข้ากระบวนการปรับทัศนคติแล้วแต่อัยการยังคงฟ้องคดีทั้งสองต่อศาล 

เดือนมีนาคม 2562 ศาลนัดพร้อมคดี ในนัดนั้นจำเลยทั้ง 5 คนที่ถูกฟ้องในความผิดฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งห้าคนให้การรับสารภาพในข้อหานี้ คดีจึงเหลือประเด็นเดียวที่ต้องพิจารณาคือ ข้อกฎหมายในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วว่าจะใช้ดำเนินคดีจำเลยหรือไม่ 

วันที่ 29 มีนาคม 2562 หรือ 5 วันหลังวันเลือกตั้ง ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาปรับจำเลย 5 คนที่ถูกฟ้องว่าใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตคนละ 100 บาท แต่ยกฟ้องจำเลยทั้งหมดในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเนื่องจากคำสั่งดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว 

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage