พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุม) เป็นกฎหมายที่ถูกผ่านโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในปี 2558 ช่วงที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปยังบังคับใช้อยู่ พ.ร.บ.นี้ไม่มีบทบาทเป็นเครื่องมือปิดกั้นการชุมนุมมากนัก เจ้าหน้าที่อาจนำพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาใช้เป็นข้อหาเพิ่มเติมในการดำเนินคดีกับผู้ใช้เสรีภาพการชุมนุม แต่ข้อหาหลักยังเป็นคำสั่งหัวหน้าคสช.
อย่างไรก็ตามมีข้อน่าสังเกตว่าคดีการชุมนุมที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริหารจัดการด้วยกฎหมายพิเศษมาตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจ กลับแตกต่างออกไป
อย่างคดี “เทใจให้เทพา” แม้เหตุจะเกิดระหว่างมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 แต่เจ้าหน้าที่เลือกใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นข้อหาหลักในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม และไม่ได้ใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558
เดือนธันวาคม 2561 หัวหน้าคสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 22/2561 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมหาเสียงเลือกตั้งได้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะจึงถูกนำมากใช้มากขึ้นในฐานะเครื่องมือที่ใช้ปิดกั้นการชุมนุม
หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีพ.ร.บ.ชุมนุม ที่สำคัญมีดังนี้ ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ตามมาตรา 10 มีจำนวนห้าคดี แบ่งเป็น
o คดีที่เหตุเกิดและมีประชาชนถูกตั้งข้อกล่าวหาตั้งแต่ปี 2561 จำนวนสองคดี ได้แก่
• คดีแม่น้องเกดทำกิจกรรมกรณี 6 ศพวัดปทุม
• คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่พัทยา
o คดีที่เหตุเกิดในปี 2562 จำนวนสามคดี ได้แก่
• คดีเอกชัยและโชคชัยเปิดเพลงประเทศกูมี
• คดีพริษฐ์กับธนวัฒน์แขวนพริกกระเทียมที่ทำเนียบรัฐบาล
• คดีพริษฐ์กับธนวัฒน์อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผบ.ทบ.
ในเดือนธันวาคม 2562 เมื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่จัดชุมนุมที่หน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ หลังกกต.มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ก็มีการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับธนาธรและแกนนำพรรคอนาคตใหม่อย่างน้อย 2 กรณี ได้แก่
o กรณีที่สมาชิกพรรคพลังประชารัฐเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษและแกนนำพรรคอนาคตใหม่รวม4 คนในความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯและข้อหาชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 150 เมตรจากเขตพระราชฐานฯ และ
o กรณีที่ผู้กำกับสน.ปทุมวันร้องทุกข์กล่าวโทษธนาธรกับพวก (กรณีนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาหรือตามพ.ร.บ.ชุมนุม)
ล่าสุดในวันที่ 23 ธันวาคม มีการออกหมายเรียกให้ธนาธรมารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ปทุมวันแล้ว แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าเป็นการรับทราบข้อกล่าวหาจากการร้องทุกข์กล่าวโทษโดยตำรวจหรือโดยสมาชิกพรรคพลังประชารัฐและยังไม่มีรายละเอียดว่านอกจากธนาธรและไพรัฎฐโชติก์ อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.เขตห้า จังหวัดนครปฐม พรรคอนาคตใหม่ จะมีบุคคลใดถูกออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ปทุมวันในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 บ้าง
นอกจากนั้น มีกรณีที่จังหวัดเชียงใหม่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเพจเฟซบุ๊กกลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตยที่เชิญชวนคนมาทำกิจกรรมที่ประตูท่าแพในเวลาเดียวกับที่ธนาธรทำกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ โดยทั้งหมดนี้ยังไม่มีการออกหมายเรียกบุคคลใดมารับทราบข้อกล่าวหา ล่าสุดในวันที่ 23 ธันวาคม 2562 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Prasiddhi Grudharochana โพสต์ภาพบันทึกบันจำวันที่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษแอดมินเพจ สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย พร้อมข้อความชี้แจงว่าตัวเองเป็นแอดมินของเพจดังกล่าวและจะไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวนในวันที่ 24 ธันวาคม 2562
นอกเหนือจากข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมแล้วยังมีข้อกล่าวหาอื่นตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯที่ใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม
ข้อหาชุมนุมในเขตไม่เกิน 150 เมตร จากเขตพระราชฐานฯ
ข้อหาเคลื่อนย้ายการชุมนุมในยามวิกาล
ข้อหากีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการ
เป็นต้น
นิยามกว้าง “ผู้จัดการชุมนุม”และ”การชุมนุม” – ตีความแบบสร้างภาระ
ตาม พ.ร.บ.ชุมนุม นิยามของคำว่า การชุมนุมสาธารณะ เขียนไว้กว้างๆ ว่า “การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถ ร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่”
ขณะที่นิยามของคำว่า ผู้จัดการชุมนุม ซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเริ่มชุมนุมตามกฎหมายนี้ คือ “ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออก หรือมีพฤติการณ์ทําให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น”
ตามกฎหมายนี้การแสดงออกในที่สาธารณะแม้โดยคนคนเดียวก็ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมแล้ว
นิยามที่กว้างของพ.ร.บ.ชุมนุมยังสร้างความสับสนให้กับผู้ที่ใช้สิทธิในการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อทางราชการว่า ต้องแจ้งการชุมนุมหรือไม่ เพราะโดยปกติผู้ที่มายื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานของรัฐก็มักมีป้ายหรือสัญลักษณ์ต่างๆ มาแสดงระหว่างการยื่นหนังสือด้วยเพื่อสื่อสารกับสาธารณะรวมทั้งเพื่อเป็นภาพข่าว
หากผู้มายื่นเรื่องร้องเรียนตัดสินใจแจ้งการชุมนุมก็จะเป็นการสร้างภาระเพิ่มเติม นอกจากนั้นยังเป็นการวางบรรทัดฐานให้เจ้าหน้าที่ให้ตีความว่าการกระทำใดเป็นการชุมนุมสาธารณะการกระทำใดไม่ใช่กว้างขวางขึ้น ในทางกลับกันหากคนที่มายื่นเรื่องร้องเรียนตัดสินใจไม่แจ้งการชุมนุมก็จะต้องแบกรับความเสี่ยงเอาเองว่าเจ้าหน้าที่จะอ้างเป็นเหตุในการดำเนินคดีหรือไม่
เท่าที่มีข้อมูล มีคดีพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่มีการตั้งข้อกล่าวหาหรือมีการฟ้องคดีสู่ศาลในปี 2562 อย่างน้อย 8 คดีที่ผู้ชุมนุมถูกตั้งข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท แม้ความผิดฐานนี้จะดูไม่ร้ายแรงแต่เจ้าหน้าที่มักนำมาใช้เป็นเหตุในการสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติกิจกรรมโดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบเพราะไม่ได้แจ้งล่วงหน้า
เปิดคำพิพากษาคดี “ไม่แจ้งการชุมนุม” หาบรรทัดฐานศาล
นับจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ศาลมีคำพิพากษาคดี พ.ร.บ.ชุมนุม ที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมแต่ไม่แจ้งการชุมนุมตามกฎหมายออกมาแล้วอย่างน้อยห้าคดี ได้แก่
o คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่พัทยา
o คดีเอกชัยและโชคชัยเปิดเพลงประเทศกูมี
o คดีของพริษษฐ์และธนวัฒน์ นักกิจกรรมนักศึกษาสองคดี ได้แก่
• คดีแขวนพริกกระเทียมที่รั้วทำเนียบรัฐบาล
• คดีอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผบ.ทบ.ซึ่งมีแนวคิดให้สถานีวิทยุของกองทัพบกเปิดเพลงหนักแผ่นดิน
o คดีของพะเยาว์หรือ “แม่น้องเกด” (พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553) ที่ออกมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้กำลังจนเกิดความสูญเสียกับประชาชน
คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่พัทยา
เหตุแห่งคดีเกิดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม 2561 เมื่อมีกลุ่มประชาชนร่วมกันชุมนุมเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 ที่ชายหาดพัทยา ใกล้ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล
หลังเกิดมีคนถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯรวม 12 คน ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ศาลแขวงพัทยามีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย 9 คน ในความผิดฐานเป็นผู้จัดการชุมนุมและลงโทษปรับจำเลยในข้อหานี้เพียง 3 คนเท่านั้ัน โดยศาลให้เหตุผลในการแยกว่าบุคคลใดเป็นผู้จัดการชุมนุม บุคคลใดไม่ใช่ ในทำนองว่า
จำเลยสามคนที่เป็นแกนนำมีพฤติการณ์สนับสนุนการชุมนุม โดย 1 ใน 3 มีพฤติการณ์เป็นผู้ปราศรัย ขณะที่จำเลยอีก 2 คนเดินทางมาด้วยกันและมีพฤติการณ์ช่วยกันขนย้ายเครื่องขยายเสียง ส่วนจำเลยคนอื่นที่ร่วมกันชูป้ายหรือถ่ายภาพยังไม่ถือว่าเป็นแกนนำหรือผู้จัดการชุมนุม
คดีนี้หนึ่งในจำเลยที่ศาลเห็นว่าเป็นแกนนำพยายามต่อสู้ว่าเขาได้โทรศัพท์ไปแจ้งการชุมนุมกับทางตำรวจแล้ว แต่ศาลเห็นว่าพ.ร.บ.ชุมนุมกำหนดให้การแจ้งการชุมนุมต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อไม่มีลายลักษณ์อักษรจำเลยจึงมีความผิด
จำเลยทั้งสามถูกปรับเงินในความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมคนละ 3,000 บาท ส่วนจำเลยคนอื่นศาลยกฟ้อง โดยขณะนี้ (ธันวาคม 2562) คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
คดีแม่น้องเกดทำกิจกรรมกรณี 6 ศพวัดปทุม
ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 มีกระแสข่าวว่ามีนายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้ามาพูดคุยกับอัยการสูงสุดให้ยุติการทำสำนวนคดีเหตุการณ์ความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมในปี 2553 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 ศพ
พะเยาว์ซึ่งเป็นแม่ของพยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า เธอจะทำกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและคัดค้านการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยทหาร
วันที่ 10 ธันวาคม 2561 เป็นวันทำกิจกรรม พะเยาว์และผู้ร่วมกิจกรรมส่วนหนึ่งถูกควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจ คดีนี้เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมกับพะเยาว์เพียงคนเดียว ส่วนผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นๆที่ถูกเชิญตัวไปที่สน.รวมทั้งพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางสังคมและเป็นพ่อของ “น้องเฌอ” ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 อีกคนหนึ่งถูกกันตัวไปเป็นพยานและขึ้นให้การต่อศาลในฐานะพยานโจทก์
เดือนกรกฎาคม 2562 ศาลแขวงดุสิตพิพากษาลงโทษปรับพะเยาว์เป็นเงิน 1,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า พะเยาว์มีพฤติการณ์โพสต์ข้อความเชิญชวนให้ประชาชนที่เห็นด้วยมาร่วมทำกิจกรรมบนเฟซบุ๊กที่มีการตั้งค่าเป็นสาธารณะ
คดีพริษฐ์และธนวัฒน์แขวนพริกกระเทียมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 นักกิจกรรมนักศึกษาสองคน ได้แก่ พริษฐ์ (เพนกวิน) และธนวัฒน์นัดหมายกันนำพริกและกระเทียมไปแขวนที่ประตูรั้วทำเนียบรัฐบาล เพื่อตอบโต้กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงคนที่เรียกร้องให้เขาลาออกจากนายกฯ และหัวหน้าคสช.เพื่อเป็นแคนดิเดทนายกฯ ที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ว่า “ให้ลองมาไล่ดู” ทั้งสองถูกควบคุมตัวหลังทำกิจกรรมได้ครู่หนึ่งและถูกตั้งข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุม
ศาลให้เหตุผลประกอบการพิพากษาลงโทษปรับทั้งสองคนละ 2,000 บาท ว่า มีพฤติการณ์ชักชวนประชาชนที่เห็นด้วยให้มาร่วมการชุมนุม ทั้งสองจึงถือเป็นผู้จัดการชุมนุมที่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย
คดีพริษฐ์และธนวัฒน์อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผบ.ทบ.
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 พริษฐ์และธนวัฒน์ชักชวนกันไปทำกิจกรรมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผบ.ทบ.ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีที่ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดินหลังมีพรรคการเมืองออกมาหาเสียงด้วยนโยบายลดงบประมาณกลาโหมรวม ทั้งมีแนวคิดให้นำเพลงดังกล่าวไปเปิดทางคลื่นวิทยุของกองทัพบก
คดีนี้ศาลให้เหตุผลในการพิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงินคนละ 2,000 บาทว่า ก่อนวันเกิดเหตุทั้งสองมีพฤติการณ์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประกาศนัดหมายสถานที่และเวลาทำกิจกรรม รวมทั้งมีการเขียนข้อความเชิญชวนให้ผู้ที่เห็นด้วยมาร่วมแสดงออก ข้อความดังกล่าวจึงถือเป็นการเชิญชวนให้บุคคลอื่นมาร่วมทำกิจกรรม จึงถือว่าทั้งสองเป็นผู้จัดกิจกรรมมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย
คดีเอกชัยโชคชัยเปิดเพลง ‘ประเทศกูมี’ ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก
ภาพจาก ประชาไท
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เอกชัยและโชคชัยชักชวนกันไปทำกิจกรรมเปิดเพลงประเทศกูมีที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีที่ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดินหลังมีพรรคการเมืองออกมาหาเสียงด้วยนโยบายลดงบประมาณกลาโหม รวมทั้งมีแนวคิดให้นำเพลงดังกล่าวไปเปิดทางคลื่นวิทยุของกองทัพบก
คดีนี้ศาลให้เหตุผลในการพิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงินคนละ 2,000 บาทว่า ก่อนวันเกิดเหตุทั้งสองมีพฤติการณ์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประกาศนัดหมายสถานที่และเวลาทำกิจกรรมและในสถานะเฟซบุ๊กดังกล่าวไม่มีการเขียนห้ามปรามไม่ให้บุคคลอื่นเข้าร่วมกิจกรรม ข้อความดังกล่าวจึงถือเป็นการเชิญชวนให้บุคคลอื่นมาร่วมทำกิจกรรม จึงถือว่าทั้งสองเป็นผู้จัดกิจกรรมมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย
—————–
ในภาพรวมจะเห็นว่าคดีที่จำเลยมีพฤติการณ์โพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ตั้งค่าการเข้าถึงเป็นสาธารณะจะถูกพิจารณาโดยศาลว่า เป็นผู้จัดการชุมนุมที่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมไปโดยปริยาย
ในกรณีที่เป็นกิจกรรมขนาดเล็ก การที่ศาลนำพฤติการณ์การโพสต์ข้อความเชิญชวนคนออกมาร่วมชุมนุมหรือโพสต์ข้อความแจ้งวันเวลาและสถานที่ชุมนุม อาจพอเข้าใจได้ว่า ผู้จัดเป็นผู้โพสต์ข้อความด้วยตัวเอง แต่หากเป็นการชุมนุมที่มีขนาดใหญ่ ลำพังพฤติการณ์โพสต์ข้อความแจ้งเวลาและสถานที่การชุมนุมหรือกระทั่งชักชวนคนรู้จักมาร่วมการชุมนุมอาจยังไม่พอฟังได้ว่าคนๆ นั้นเป็นผู้จัดการชุมนุมที่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมหรือรับผิดชอบต่อการชุมนุม
“เขตพระราชฐาน” กับพื้นที่หน้าหอศิลป์ที่ยังรอความชัดเจน
มาตรา 7 วรรคหนึ่งของพ.ร.บ.ชุมนุม กำหนดว่า “การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตําหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพานัก หรือสถานที่พํานักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทำมิได้”
เท่าที่มีข้อมูล นับจากหลังการเลือกตั้ง 2560 เป็นต้นมา มีความเคลื่อนไหวของคดีที่มีการตั้งข้อกล่าวหานี้กับประชาชน 2 คดี ได้แก่
o คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์กหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ ของแกนนำ
o คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์กหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ ของผู้ร่วมการชุมนุม
ในส่วนของคดีแกนนำ ศาลเริ่มสืบพยานในเดือนมิถุนายน 2562 แต่การพิจารณาคดียังไม่แล้วเสร็จ จึงต้องรอคำวินิจฉัยว่าศาลจะมีความเห็นในประเด็นรัศมีร้อยห้าสิบเมตรจากเขตพระราชฐานว่าอย่างไร
ในส่วนของคดีผู้ร่วมการชุมนุม คดีไม่ได้เข้าสู่ชั้นศาลเนื่องจากอัยการและพนักงานสอบสวนมีความเห็นร่วมกันสั่งไม่ฟ้องคดีในเดือนพฤศจิกายน 2562 เพราะเห็นว่าคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
อย่างไรก็ตามผู้ต้องหา 28 คนในคดีนี้ก็ต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนและอัยการเป็นระยะนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นมา หลังจากการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในปี 2561 พื้นที่สกายวอล์กหน้าหอศิลป์กรุงเทพก็ถูกใช้เป็นพื้นที่จัดการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อยู่เป็นระยะ เช่น กิจกรรมกินมาม่าซ้อมอดอยากที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561
หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 จนถึงก่อนหน้าวันที่ธนาธรประกาศจัดการชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน ในเดือนธันวาคม 2562 มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อย่างน้อยสามครั้งในพื้นที่สกายวอล์กหน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ ได้แก่
o การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แต่งชุดดำในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 เพื่อคัดค้านการสืบทอดอำนาจและคัดค้านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ธนาธรหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ระงับการปฏิบัติหน้าที่ไว้จนกว่าศาลจะมีคำสั่ง
o การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงความสมานฉันท์กับผู้ชุมนุมที่ฮ่องกง #standwithhongkong ในวันที่ 4 กันยายน 2562
o การชุมนุมรำลึก 15 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 25 ตุลาคม 2562
กิจกรรมทั้งหมดนั้นไม่มีใครถูกตั้งข้อกล่าวหาชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 150 เมตรจากเขตพระราชฐานฯ
หลังจากนั้นเมื่อธนาธรประกาศชุมนุมในวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ข้อหาชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 150 เมตรจากเขตพระราชฐานก็ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง คงต้องติดตามต่อไปว่า ในกรณีของพื้นที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพ คำพิพากษาคดีผู้จัดการชุมนุม #mbk39 ศาลมีการวินิจฉัยหรือไม่ว่าพื้นที่ใดที่อยู่พ้นรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานของเจ้านายชั้นยศสมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป ซึ่งในที่นี้หมายถึงวังสระปทุมนั่นเอง