เพราะคุณอยู่เราจึงปรากฎ 1: ขบวนการนักศึกษาในยุคสมัยแห่งการรัฐประหาร

การยึดอำนาจของคสช.ในวันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (22 พฤษภาคม 2557) นำมาซึ่งจุดจบของหลายๆสิ่ง เช่น จุดจบของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่แม้จะมีที่มาจากการรัฐประหาร ปี 2549 แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ประชาชนมีโอกาสออกเสียงประชามติ จุดจบของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงคนแรกในประเทศไทยและจุดจบของส.ว.ที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง (บางส่วน) ตามรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ขณะเดียวกันการเข้ามาของคสช.ก็เป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลายๆสิ่ง 
 
ในขณะที่กลุ่มพลังที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนมีรัฐประหารอย่างกลุ่มนปช.และกลุ่ม กปปส.ยุติบทบาทการเคลื่อนไหวของตัวเอง กลุ่มนักศึกษาหรือนักกิจกรรมหน้าใหม่ๆเริ่มแสดงตัวออกมาในฐานะตัวแสดงทางการเมืองที่ยืนอยู่คนละฟากฝั่งกับคณะรัฐประหาร ขณะเดียวกันตัวแสดงกลุ่มอื่นๆเช่นศิลปินที่อาศัยปรากฎการณ์ในยุคคสช.เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งาน เช่น Headache Stencil ศิลปินวาดภาพกราฟฟิตี้ ล้อการเมืองกับการทำภาพนาฬิกาด้วยใบหน้าพล.อ.ประวิตร  รองนายกรัฐมนตรี หรือกลุ่ม Rap Against Dictator กลุ่มศิลปินเพลงแรปที่เกิดจากการรวมตัวระหว่างศิลปินที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันมาร่วมทำผลงานเพลงอย่าง ประเทศกูมี รวมทั้งแนวรบทางวัฒนธรรมบนโลกออนไลน์อย่างเพจเฟซบุ๊กล้อการเมืองเช่น ไข่แมว
 
ในโอกาสครบรอบ 5 ปี การรัฐประหารไอลอว์ชวนย้อนดูว่าในช่วงห้าปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของคสช.ที่เสรีภาพในการแสดงออกมอดไหม้ไปเพราะการบังคับใช้กฎหมายและกลไกอื่นๆอย่างการปรับทัศนคติ มีนักเคลื่อนไหว กลุ่มกิจกรรม หรือตัวละครใดบ้างที่เป็น “นกฟีนิกซ์” ที่ถือกำเนิดขึ้นจากเถ้าถ่านและซากปรักหักพังของเสรีภาพและออกโบยบินท้าทายอำนาจของคสช.ด้วยวิธีการต่างๆกัน ทั้งการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์หรือกระทั่งอารมณ์ขัน
 
นักศึกษา – คนรุ่นใหม่ ใครว่าพวกเขาหายไป?
 
ยามที่ประเทศเผชิญวิกฤติทางการเมืองและมีการชุมนุม มักจะมีคำพูดทำนองว่า “นักศึกษาไปไหน” หรือ “นักศึกษาไม่สนใจการเมือง” ดังขึ้นอยู่เสมอๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนยังติดภาพเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่ขบวนการนักศึกษาถูกวาดภาพให้เป็น “ฮีโร่ ” ที่ถือธงนำจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 
 
ปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในอดีตนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาที่ทำกิจกรรมทางสังคมตั้งแต่สมัยเรียนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและเป็นอดีตโฆษกพรรคสามัญให้ความเห็นว่าการตั้งข้อสังเกตในลักษณะดังกล่าวน่าจะไม่สะท้อนกับบริบททางการเมืองในยุคปัจจุบัน ที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเด็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ หรือการขับไล่เผด็จการ หากแต่ขยายไปถึงการเมืองในมิติอื่นๆด้วยเช่นปากท้อง สิ่งแวดล้อม หรือสวัสดิการสังคมซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็ไม่ได้มีแค่นักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ที่สนใจแต่เป็นประเด็นที่ประชาชนกลุ่มอื่นๆมีความสนใจด้วย การนำภาพนักศึกษาเดินขบวนตามท้องถนนมาเป็นมาตรวัดความสนใจทางการเมืองของนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่จึงอาจไม่สอดคล้องกับบริบททางการเมืองในปัจจุบัน ปกรณ์เองเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวในโอกาสครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารและถูกดำเนินคดีร่วมกับกลุ่มนักศึกษาที่ต่อมารวมตัวเป็นขบวนการประชาธิปไตยใหม่
 
ตลอด 5 ปี ที่คสช.บริหารประเทศ กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมทางสังคมจัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการรัฐประหารของคสช. และเคลื่อนไหวในประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับมรดกของคสช. เช่น รณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559  และประเด็นเรียกร้องความชัดเจนในการจัดวันเลือกตั้งและการประท้วงการทำงานของกกต. หลายต่อหลายครั้งโดยมีกิจกรรมครั้งสำคัญที่ควรจะบันทึกไว้ ณ ที่นี้ดังนี้
 
 
“นิว” สิรวิชญ์ ระหว่างการปราศรัยคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งที่บิ๊กซี สำโรง 11 มกราคม 2562
 
14 กุมภาพันธ์ 2558 ทนายอานนท์ นำภา จัดกิจกรรมเลือกตั้งที่รักที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้งที่ถูกประกาศให้เป็นโมฆะในปี 2557 ครั้งนั้นสิรวิชญ์หรือนิวซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินทางมาร่วมชุมนุมด้วย และเขาก็กลายเป็นหนึ่งในสี่นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมของคสช.ร่วมกับนักกิจกรรมรุ่นพี่อย่างทนายอานนท์และพันธ์ศักดิ์หรือพ่อน้องเฌอ การถูกดำเนินคดีของสิรวิชญ์ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกแต่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะตลอดห้าปีในยุคคสช.สิรวิชญ์มักเข้าร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น กิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตที่อุทยานราชภักดิ์ หรือกิจกรรมติดโพสต์อิทเรียกร้องให้คสช.ปล่อยตัวคนที่ถูกพาเข้าค่ายทหารด้วยอำนาจตามมาตรา 44 และกิจกรรมชุมนุมเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 เป็นต้น      
 
ในวันที่ 22 พฤษภาคมปี 2558 กลุ่มนักศึกษาและอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมสมัยเรียนนัดรวมตัวกันที่หอศิลป์ฯ เหตุการณ์จบลงด้วยการใช้กำลังบังคับให้ผู้ชุมนุมยุติการทำกิจกรรมในเวลาประมาณ 19.00 น. ครั้งนั้นมีคนไม่น้อยกว่า30 คนถูกกักตัวไว้สอบปากคำข้ามคืนก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในช่วงเช้ามืดของวันถัดมาโดยในจำนวนผู้ที่ถูกกักตัวมีนักกิจกรรมที่ยังเป็นนักศึกษารวมอยู่ด้วย เช่น ชลธิชา หรือ “ลูกเกด” ซึ่งขณะนั้นศึกษาอยู่ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ชั้นปีที่สี่ รังสิมันต์ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในชั้นปีที่สี่ และนัชชชา ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยในบรรดาคนที่ถูกควบคุมตัวราวสามสิบคนมีสิบคนที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนซึ่งนักศึกษาทั้งสามคนที่ยกตัวอย่างมาคือสามในสิบคนที่ถูกดำเนินคดีด้วย

นักกิจกรรม 30 คนที่ถูกควบคุมตัวที่สน.ปทุมวันได้รับการปล่อยตัวในช่วงเช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 
 
ในวันเดียวกันนักศึกษากลุ่มดาวดินซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็จัดกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารในโอกาสครบรอบหนึ่งปีขึ้นเช่นกัน สมาชิกกลุ่ม 7 คน เช่นจตุภัทร์หรือ ไผ่ ซึ่งขณะนั้นศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ห้า และภาณุพงษ์หรือไนซ์ ซึ่งขณะนั้นเรียนอยู่ในชั้นปีที่สองร่วมกันถือป้ายผ้าคัดค้านการรัฐประหารที่บริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น พวกเขาทำกิจกรรมได้เพียงครู่เดียวก็ถูกจับไปตั้งข้อหาชุมนุมตั้งแต่ห้าคนเช่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษาที่กรุงเทพ
 
ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันนัดกลุ่มนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ไปรายงานตัว นักกิจกรรมเจ็ดจากสิบคนเดินทางไปที่หน้าส.น.แต่ประกาศว่าจะไม่เดินเข้าไปรายงานตัวในสถานีแต่จะให้ทนายความเข้าไปแจ้งความกลับเจ้าหน้าที่ในข้อหาทำร้ายร่างกายจากกรณีที่พวกเขาถูกทำร้ายระหว่างการสลายการชุมนุมแทน ในวันเดียวกันนักศึกษากลุ่มดาวดินเจ็ดคนจากจังหวัดขอนแก่นก็เดินทางมาให้กำลังใจนักศึกษาที่กรุงเทพด้วย จากการนัดหมายเข้ารายงานตัวกับตำรวจเหตุการณ์ที่หน้าส.น.ปทุมวันกลายเป็นการชุมนุมย่อยๆเพราะมีลุงๆป้าๆมาให้กำลังใจกลุ่มนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดี 

 
นักกิจกรรมรวมตัวกันที่หน้าสน.ปทุมวันในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 จนกลายเป็นการชุมนุมย่อยๆ
 
เหตุการณ์ในวันนั้นจบลงโดยไม่มีใครถูกจับกุมเพิ่มเติม แต่ทว่าในวันที่ 3 เมษายน 2562 หรือเกือบสี่ปีให้หลัง เหตุการณ์ที่หน้าสน.กลับกลายมาเป็นเหตุในการดำเนินคดีกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่  ก่อนที่ต่อมาหมายเรียกจะถูกทยอยส่งไปยังกลุ่มนักกิจกรรมที่เคยชุมนุมในบริเวณดังกล่าวเมื่อสี่ปีก่อน เช่น จตุภัทร์หรือไผ่ ดาวดินที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวหลังต้องโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 หรือชลธิชา เป็นต้น 
 
ในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 กลุ่มนักศึกษา 14 คนที่ถูกดำเนินคดีทั้งกลุ่มดาวดินและกลุ่นนักศึกษาที่กรุงเทพก็ทำการเคลื่อนไหวร่วมกันด้วยการเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปทำการปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งครั้งนั้นน่าจะเป็นครั้งแรกที่กลุ่มนักศึกษามีการใช้ชื่อ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ในการเคลื่อนไหว  
 
เก่าไปใหม่มา เพราะภารกิจยังไม่จบสิ้น
 
ถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2562 นักศึกษากลุ่มดาวดิน และนักกิจกรรมกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ต่างก็จบการศึกษาไปหมดแล้ว รังสิมันต์ได้รับเลือกเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ จตุภัทร์เพิ่งพ้นโทษจากคดีมาตรา 112 จากกรณีแชร์บทความของเว็บไซต์บีบีซี ขณะที่ชลธิชาก็ร่วมกับเพื่อนๆอีกกลุ่มหนึ่งก่อตั้งองค์กรรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเล็กๆชื่อกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามแม้นักกิจกรรมส่วนใหญ่ที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงขวบปีที่สองของการรัฐประหารจะทยอยจบการศึกษาไปแล้ว แต่การเคลื่อนไหวในหมู่นักศึกษาก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นเพราะแม้นักกิจกรรมรุ่นเก่าจะจบการศึกษาและเปลี่ยนบทบาทของตัวเองไปแต่ก็จะมีนักกิจกรรมกลุ่มใหม่ๆเกิดขึ้นมาแทน เช่น
 
ธนวัฒน์และพริษฐ์แขวนพริกกระเทียมขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล 2 กุมภาพันธ์ 2562 (ภาพจากเฟซบุ๊ก ธนวัฒน์ วงศ์ไชย
 
ธนวัฒน์หรือบอล นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพริษฐ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่และออกมาเคลื่อนไหวในแถวหน้าจนล่าสุดก็ได้รับคดีอาญามาเป็นรางวัลตามรอยนักกิจกรรมรุ่นพี่ไปแล้ว จนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 ธนวัฒน์กับพริษฐ์ถูกดำเนินคดีในความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมไปแล้วสองคดีจากการไปทำกิจกรรมแขวนพริกกระเทียมขับไล่พล.อ.ประยุทธ์และกรณีที่ทั้งสองไปอ่านจดหมายเปิดผนึกคัดค้านพูดถึงเพลง “หนักแผ่นดิน” ของผบ.ทบ.
 
 
นักกิจกรรมกลุ่มโกงกางจัดกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยบูรพา 17 มกราคม 2562
 
ในปี 2562 การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษากลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะบรรยากาศทางการเมืองเริ่มคลายตัว หลังคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ถูกยกเลิกไปในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561 ต้นเดือนมกราคม เมื่อไม่มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งกลุ่มนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆก็มีการออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ของตัวเอง เช่น นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันขึ้นป้ายผ้า “อยากเลือกตั้ง” ที่ตึกคณะ ขณะเดียวกันนักศึกษาหมาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยบูรพา ก็มีการจัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งในพื้นที่ของตัวเอง
 
หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 สถานการณ์ทางการเมืองยังคงเต็มไปด้วยความไมแน่นอนและเต็มไปด้วยความกังขาจากการทำงานของกกต. เครือข่ายนักศึกษา 26 เครือข่ายจากหลายสถาบันร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไร้ประสิทธิภาพ และขาดความโปร่งใส  ในหลายๆมหาวิทยาลัยกลุ่มนักศึกษายังมีการจัดกิจกรรมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอนกกต.ด้วยซึ่งบางแห่งการทำกิจกรรมก็เผชิญกับการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ เช่น ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร มีเจ้าหน้าที่เข้ามาติดตามและถ่ายภาพจนผู้ทำกิจกรรมต้องย้ายที่ทำกิจกรรมถึงห้าครั้ง หรือที่มหาวิทยาลัยบูรพาซึ่งแม้จะจัดกิจกรรมได้แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ไปติดตามนิสิตคนหนึ่งถึงที่บ้าน  
ระยะเวลาห้าปี ดูจะเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอที่คนๆหนึ่งจะเปลี่ยนผ่านชีวิตตัวเอง จากวัยมัธยมนุ่งกระโปรงบานขาสั้น ผ่านชีวิตการศึกษาสี่ปีในระดับอุดมศึกษาไปสู่ชีวิตการทำงานหรือการศึกษาขั้นสูง นักศึกษาและนักกิจกรรมส่วนหนึ่งที่เรื่องราวของพวกเขาถูกบอกเล่าในที่นี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงสถานะของตัวเองในช่วงห้าปีของยุคสมัยแห่งการรัฐประหาร บางคนเลือกไปเข้าสู่แวดวงการเมือง บางคนยังคงทำกิจกรรมในฐานะเจ้าหน้าที่ขององค์กรไม่แสวงกำไร บางคนเลือกออกไปใช้ชีวิตเงียบๆและหายไปจากหน้าสื่อ แต่สิ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคือจิตวิญญาณในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมซึ่งถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นในแวดวงนักกิจกรรมนักศึกษาซึ่งแม้คน ซึ่งเชื่อว่าหากมีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกิดขึ้นอีกในอนาคต นักกิจกรรมนักศึกษาก็จะออกมาแสดงตัวเพื่อต่อสู้อีกครั้ง
Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage