เพราะคุณอยู่เราจึงปรากฎ 2: จากความอึดอัดสู่แรงบันดาลใจในงานศิลป์

การยึดอำนาจของคสช.ในวันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (22 พฤษภาคม 2557) นำมาซึ่งจุดจบของหลายๆสิ่ง เช่น จุดจบของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่แม้จะมีที่มาจากการรัฐประหารแต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ประชาชนมีโอกาสออกเสียงประชามติ จุดจบของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงคนแรกในประเทศไทยและจุดจบของส.ว.ที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง (บางส่วน) ตามรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ขณะเดียวกันการเข้ามาของคสช.ก็เป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลายๆสิ่ง 
 
ในขณะที่กลุ่มพลังที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนการรัฐประหารอย่างกลุ่มนปช.และกลุ่ม กปปส.ยุติบทบาทการเคลื่อนไหวของตัวเอง กลุ่มนักศึกษาหรือนักกิจกรรมหน้าใหม่ๆเริ่มแสดงตัวออกมาในฐานะตัวแสดงทางการเมืองที่ยืนอยู่คนละฟากฝั่งกับคณะรัฐประหาร ขณะเดียวกันตัวแสดงกลุ่มอื่นๆเช่นศิลปินที่อาศัยปรากฎการณ์ในยุคคสช.เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งาน เช่น Headache Stencil ศิลปินวาดภาพกราฟฟิตีล้อการเมืองกับการทำภาพนาฬิกาด้วยใบหน้าพล.อ.ประวิตร หรือกลุ่ม Rap Against Dictator กลุ่มศิลปินเพลงแรปที่เกิดจากการรวมตัวระหว่างศิลปินที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันมาร่วมทำผลงานเพลงอย่าง ประเทศกูมี รวมทั้งแนวรบทางวัฒนธรรมบนโลกออนไลน์อย่างเพจเฟซบุ๊กล้อการเมืองเช่น เพจไข่แมว 
 
ในโอกาสครบรอบ 5 ปี การรัฐประหารไอลอว์ชวนย้อนดูว่าในช่วงห้าปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของคสช.ที่เสรีภาพในการแสดงออกมอดไหม้ไปเพราะการบังคับใช้กฎหมายและกลไกอื่นๆอย่างการปรับทัศนคติ มีนักเคลื่อนไหว กลุ่มกิจกรรม หรือตัวละครใดบ้างที่เป็น “นกฟีนิกซ์” ที่ถือกำเนิดขึ้นจากเถ้าถ่านและซากปรักหักพังของเสรีภาพและออกโบยบินท้าทายอำนาจของคสช.ด้วยวิธีการต่างๆกัน ทั้งการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์หรืออารมณ์ขัน
 
งานศิลปะข้างถนน “แสลงใจป้อม”
 
แม้การวาดภาพบนกำแพงในที่สาธารณะจะเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 แต่งานศิลปะบนกำแพงหรือ graffiti เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปทั้งในกรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ graffiti ที่พ่นบนกำแพงมีทั้งตัวอักษรหรือภาพที่มีความหมายใดๆ แต่บางครั้งภาพ graffiti ก็ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อสื่อสารประเด็นทางการเมือง ในเดือนมกราคม 2561 ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Headache Stencil โพสต์ภาพนาฬิกาปลุกที่หน้าปัดเป็นรูปพล.อ.ประวิตรพร้อมโพสต์ข้อความทำนองว่า “หมดเวลาแล้ว” หลังจากนั้นไม่นานผู้ใช้เฟซบุ๊กคนเดียวกันก็โพสต์ข้อความระบุว่าจากการทำงานศิลปะดังกล่าวทำให้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาติดตามที่บ้าน

 
ภาพวาดกราฟฟิตีเสียดสีปมนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร (ภาพจากเฟซบุ๊ก Headache Stencil)
 
เพจ  Headache Stencil สร้างขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2557 หรือประมาณ 3 เดือนหลังการรัฐประหาร ชื่อ Headache Stencil แปลตรงตัวได้ว่า “ลายฉลุที่น่าปวดหัว” ซึ่งเพียงแค่ชื่อของเพจศิลปินก็ดูจะตั้งใจส่งสัญญาณบางอย่างถึงผู้มีอำนาจแล้ว ภาพแรกที่เพจโพสต์เป็นภาพทหารถือปืนมีไก่ยืนอยู่บนหัว พร้อมเขียนข้อความบรรยายซึ่งแปลได้ว่า ได้รับแรงบรรดาลใจจากเหตุการณ์ในประเทศไทย  บนเฟซบุ๊กเพจของ Headache Stencil ไม่ได้มีเพียงแค่การเสียดสีการเมืองไทย บรรดาผู้นำโลกไม่ว่าจะเป็นชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซิวิโอ แบลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี หรือคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือต่างถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานข้างกำแพงส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ท่านผู้นำ” ของไทยก็ถูกหยิบไปวาดภาพล้อหลายภาพ เช่นภาพพล.อ.ประยุทธ์ทำท่ากำลังพ่นสีสเปรย์โดยที่กระป๋องสเปรย์มีตัวเลข “44” คล้ายต้องการจะสื่อถึงการใช้อำนาจตามาตรา 44   
 
 
ภาพล้อพล.อ.ประยุทธ์พ่นสีสเปรย์ยี่ห้อ 44 (ภาพจากเฟซบุ๊ก Headache Stencil)
 
สำหรับภาพที่ทำให้ชื่อของ Headache Stencil กลายเป็นที่สนใจของคนในวงที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะในสายตาของฝ่ายความมั่นคง น่าจะเป็นภาพล้อปมนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ซึ่งถูกโพสต์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 โดยภาพกราฟฟิติชิ้นดังกล่าวถูกวาดที่สะพานลอยแห่งหนึ่ง Headache Stencil ถ่ายภาพกราฟฟิตีดังกล่าวแล้วนำมาโพสต์อีกครั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 พร้อมเขียนข้อความแสดงความแปลกใจว่าโดยปกติหากเขาวาดภาพการเมืองมักจะถูกลบภายในไม่เกินสามวัน แต่ครั้งนี้งานอยู่ได้นานกว่าปกติแปลว่าครั้งนี้แม้แต่เจ้าหน้าที่เองก็ไม่พอใจพล.อ.ประวิตรหรือเปล่า 
 
หลัง Headache Stencil วาดภาพล้อพล.อ.ประวิตรและนำภาพดังกล่าวมาโพสต์บนเฟซบุ๊กได้สามถึงสี่วัน ก็มีรายงานว่าตัวเขาถูกเจ้าหน้าที่มาติดตามเฝ้าที่คอนโดเกือบตลอด 24 ชั่วโมงซึ่งเขารู้สึกว่าเป็นการคุกคามจนต้องหลบไปอยู่ที่อื่น หลังถูกเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามครั้งนั้น Headache Stencil ยังคงทำภาพเสียดสีการเมืองอย่างต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน 2561 – 5 กรกฎาคม 2561 Headache Stencil จัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่ Voice Space ภายใต้ชื่อ Welcome to the dark side ภายในงานมีการเนรมิตรกำแพงจำลองขึ้นมาเพื่อให้ Headache Stencil ได้ใช้สร้างสรรค์ผลงานซึ่งนอกจากภาพล้อนาฬิกาหน้าพล.อ.ประวิตร เขายังได้สร้างสรรค์ผลงานอื่นๆ เช่น ภาพเรือดำน้ำ และภาพปกนิตยสารไทม์ภาพปกพล.อ.ประยุทธ์ที่มีข่าวว่าถูกห้ามขายในไทยด้วย
 
 
ภาพวาดเสียดสีกรณีที่มีข่าวว่านิตยสารไทม์ฉบับภาพปกพล.อ.ประยุทธ์ถูกห้ามขายในไทย ในนิทรรศการ Welcome to the Dark Side
 
เมื่อครั้งที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ถูกเรียกตัวไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (จากกรณีไปปรากฎตัวที่หน้าสน.ปทุมวันระหว่างที่กลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมหน้าหอศิลป์กรุงเทพในวันครับรอบหนึ่งปีการรัฐประหารไปรวมตัวกันที่สน.ปทุมวันเพื่อแจ้งความดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเกิดเป็นการชุมนุมย่อยๆ)  Headache Stencil ก็วาดภาพใบหน้าของธนาธรพร้อมข้อความ #savethanathorn ซึ่งต่อมามีคนนำภาพดังกล่าวมีคนนำไปทำเป็นเสื้อยืดและป้ายชูให้กำลังใจในวันที่เขาต้องเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ 
 
 
#savethanathorn (ภาพจากเฟซบุ๊ก Headache Stencil)
 
ล่าสุดช่วงต้นเดือน พฤษภาคม 2562 headache stencil ถูกเจ้าหน้าที่ตามมาเฝ้าที่ที่พักอีกครั้งหลังเขาไปวาดภาพล้อพล.อ.ประวิตรบนสะพานลอยแห่งหนึ่ง แต่ถึงแม้ว่าจะถูกคุกคาม ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 5 ปีการรัฐประหาร Headache Stencil ก็ประกาศจัดแสดงงานศิลปะริมถนน โดยระบุว่าเพื่อให้สามารถสร้างผลงานได้มากที่สุดเขาจะยังไม่ประกาศสถานที่และเวลาที่จะสร้างสรรค์ผลงานแต่อาจจะส่งข่าวให้ไปบอกกันแบบปากต่อปากช่วงใกล้ๆเวลาเริ่มงานเลย 
 
 
นิทรรศการริมถนน After Party (ภาพจากเฟซบุ๊ก Headache Stencil)
 
 
งานกราฟฟิตีของศิลปินนิรนาม เสียดสีปมนาฬิกาของพล.อ.ประวิครบนกำแพงแห่งหนึ่ง ปัจจุบันมีภาพอื่นวาดทับไปแล้ว 
 
Rap Against Dictatorship  – จะสี่ปีแล้วนะไอ้สัตว์ เสียงเพลงแสลงหูของผู้มีอำนาจ
 
“ประเทศที่ปลายกระบอกคอยจ่อที่ปลายกระเดือก
ประเทศที่บอกเสรีแต่ดันไม่มีสิทธิ์เลือก
ประเทศที่ด่าไม่ได้ทั้ง ๆ ที่ติดที่ปลายเหงือก
ประเทศที่สิ่งที่มึงทำผู้นำจะส่องตามเสือก
ประเทศที่อธิปไตยถูกยึดไว้โดยคนสถุน
ประเทศที่มึงจะต้องเลือกจะอมความจริงหรืออมกระสุน
ประเทศที่ขุนกินเบี้ยมีเหี้ยและยิงเป็นฝูง
ประเทศกูมี ประเทศกูมี”
 
คือบางช่วงบางตอนเนื้อเพลง “ประเทศกูมี” เพลงแร๊ปเสียดสีสังคมและการเมืองของกลุ่มแร๊ปเปอร์ที่รวมตัวกันเป็นการเฉพาะกิจภายใต้ชื่อ Rap Against Dictatorship แม้ถ้อยคำที่ใช้ในเพลงอาจจะดูไม่สุภาพสำหรับผู้ฟังบางส่วนแต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้อยคำเหล่านั้นได้สะท้อนสถานการณ์ในยุคสมัยแห่งการรัฐประหารของคสช.ออกมาได้อย่างหมดจด “ประเทศที่บอกเสรีแต่ดันไม่มีสิทธิเลือก” สื่อถึงสภาวะที่ประชาชนไม่มีโอกาสใช้สิทธิเลือกผู้บริหารทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศมานานกว่าสี่ปี หรือท่อน “ประเทศที่ด่าไม่ได้ทั้งๆที่ติดปลายเหงือก” ที่สะท้อนถึงสภาวะที่การวิพากษ์วิจารณ๋ผู้มีอำนาจอย่างคสช.อาจนำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีหรือปรับทัศนคติจนหลายคนเลือกที่จะไม่พูดอะไรออกมาแม้จะมีความในใจ เป็นต้น
 
 
ศิลปิน Rap Against Dictatorship ส่วนหนึ่งร้องเพลง #ประเทศกูมี ในงานรวมพลคนเช็คบิลเผด็จการ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 27 ธันวาคม 2561
 
มิวสิควิดีโอเพลง ประเทศกูมีถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ยูทูปในวันที่ 22 ตุลาคม 2561 ซึ่งจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคน 2562 เวลา 19.40 น. เพลง ประเทศกูมี มียอดรับชมบนยูทูปแล้ว 63,623,647 วิว กระแสของเพลงประเทศกูมีสูงถึงขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐต้องออกมาแสดงท่าทีบางอย่าง เช่น พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ให้สัมภาษณ์ว่า มิวสิกวิดีโอ “เพลงประเทศกูมี” น่าจะเข้าข่ายผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) ซึ่งมองในเรื่องเศรษฐกิจ ตอนนี้บรรยากาศการลงทุนกำลังดี แต่เนื้อหาของเพลงมีการวิพากษ์วิจารณ์ประเทศในเชิงลบ  
 
ความนิยมของเพลง “ประเทศกูมี” ร้อนถึงบุคคลในรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการอื่นๆต้องออกมาแสดงความเห็นอะไรบางอย่าง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.ที่ดูแลงานด้านความมั่นคงระบุว่าเนื้อเพลงอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายถึง 50% และทางตำรวจจะทำการตรวจสอบว่าเข้าข่ายขัดคำสั่งคสช.หรือไม่ ความร้อนแรงของเพลงประเทศกูมียังร้อนถึงรัฐบาลโดยพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงกับแสดงความเห็นว่า ในส่วนรัฐบาล รู้สึกเสียใจ เพราะสุดท้ายความเสียหายตกอยู่กับประเทศ ขณะที่พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช.ก็ออกมาระบุว่า ฝ่ายกฎหมายของ คสช.กำลังตรวจสอบกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship อยู่ว่าสังกัดค่ายไหนและเจตนาของการนำเสนอเพลงนี้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจหรือมีเจตนาแอบแฝง แต่ท้ายที่สุดอาการ “ฮึี่ม” ของบุคคลในรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงก็ดูจะเป็นการแสดงออกเพื่อแก้เกี้ยวไปเท่านั้นเพราะต่อมาตัวพล.ต.อ.ศรีวราห์ที่เคยออกมาบอกว่าเนื้อเพลงมีความสุ่มเสี่ยงก็ยอมรับว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่มีหลักฐานเอาผิดจึงฟังได้และแชร์ได้ 
 
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกลุ่มศิลปินแร็ปที่ร่วมกันผลิตผลงานเพลง “ประเทศกูมี” ภายใต้ชื่อ “Rap Against Dictatorship” อยู่ที่จุดยืนทางการเมืองของคนในกลุ่ม ที่แม้แต่ละคนจะมีมุมมองที่ต่างกันแต่ก็สามารถมาสร้างสรรค์งานร่วมกันได้ ณัฐพงศ์ ศรีม่วง หรือ “Liberate P” หนึ่งในศิลปิน Rap Against Dictatorship กล่าวในงานเสวนา “ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน” ซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2561 ตอนหนึ่งว่า แนวคิดแรกของการทำเพลงประเทศกูมีเกิดจากการอยากบอกเล่าว่า ประเทศของกูมีอะไรแต่ตอนแรกเขาก็ยังแต่งเพลงไม่จบได้แต่ทำเป็นเพียงอินโทรของเพลง ในเวลาต่อมาก็มีรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองต่างจากเขาทักมาว่าชอบอินโทรของเพลงและอยากเข้ามาฟีทเจอริ่งด้วย ท้ายที่สุดก็เลยไปรวบรวมกลุ่มศิลปินที่อาจจะไม่ได้มีความเห็นทางการเมืองตรงกันแต่มีความในใจบางอย่างที่อยากพูดถึงสิ่งที่ “ประเทศกูมี” มาทำงานร่วมกันจนเกิดเป็นเพลงขึ้นมา งานเพลง “ประเทศกูมี” จึงไม่ใช่การรวมตัวของคนเห็นต่างที่เคลื่อนไหวคัดค้านคสช.ในฐานะ “ขาประจำ” หากแต่เป็นการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกันของผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน เพราะสะท้อนความคิดว่าในมุมมองของแต่ละคน ประเทศของพวกเขามีอะไร
 
ปรากฎการณ์ “ประเทศกูมี” ทำให้คนในแวดวงศิลปินออกมาทำงานศิลปะโต้ตอบทั้งในลักษณะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น สัญญาลักษณ์ ดอนศรีฐิติโชติ หรือ สัญญาลักษณ์ ดอนศรี ศิลปินลูกทุ่งชาวจังหวัดบุรีรัมย์วัย 53 ปี (นับอายุถึงเดือนตุลาคม 2561 ที่คลิปของเขาถูกเผยแพร่) ที่เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นการชั่วคราวว่า พ่อใหญ่ ส.แร๊พเต้อร์ พร้อมทั้งหยิบเสื้อคลุมฮู้ดมาสวมโชว์สเต็ปเพลงแร็ป “ประเทศมึงไม่มี” ในสไตล์ไทบ้านโดยหยิบเนื้อหาเพลงประเทศกูมีบางส่วนมาต่อยอดเสียดสีรัฐบาลและสถานการณ์บ้านเมือง เช่น ท่อน “ประเทศที่เสือดำหน้าคะมำเพราะไรเฟิล” ถูกเอามาต่อเป็น

“ประเทศที่เสือดำ เจ้าสัวตัดหำไปทำซุป ตำรวจงิบๆงุบๆ ชักช้าเหมือนปาหี่”

หรือ โยชิ 300 นักแปลงเพลงที่หยิบเอาทำนองเพลงประเทศกูมีมาใส่คำร้องเพื่อเสียดสีปฏิกิริยา “หัวร้อน” ของผู้มีอำนาจรัฐต่อเพลงประเทศกูมี ขณะเดียวกันฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเพลงประเทศกูมีก็มีการสร้างผลงานเพลงออกมาตอบโต้ เช่น สมจิตร จงจอหอ อดีตแชมป์มวยสากลสมัครเล่นกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง 2008 ที่แต่งเพลงมาตอบโต้ท่อนหนึ่งว่า

“(มาดูกูแร็ป) เพราะกูเป็นคนในแผ่นดินนี้ และกูก็รักในประเทศนี้ ถ้ากูจะพูดถึงกรุงเทพ ที่เป็นเมืองศิวิไลมีวัดวาอารามมากมายที่ใครใครก็อยากเข้ามา ประเทศกูมี…” 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ ประเทศกูมี คนหนักแผ่นดิน ซึ่งหากดูจากชื่อเพลงและเนื้อร้องของเพลงตอนหนึ่งที่แต่งว่า   

 
“มันมีคนอยู่หนึ่งประเภท ปากจ้องจะหาเรื่องจะด่าจะว่าประเทศ 
มือไม่พายเอาเท้าราน้ำพอเห็นแล้วรู้สึก Affraid 
บ้าการเมืองมากนั้นควรไปแผนกจิตเวช 
ประเภทที่สอง คือไม่ชอบโกงกิน 
แต่ปากก็อยู่ไม่สุขยุยงปลุกปั่นกันจริงๆ 
ด่าคนไทยด้วยกันไหนบอกว่ารักกันอะมันไม่จริง 
คนแบบนี้นี่แหละที่เค้าเรียกว่าหนักแผ่นดิน” 
 
เพลงประเทศกูมี คนหนักแผ่นดินก็น่าจะเป็นหนึ่งในงานเพลงที่มุ่งตอบโต้เพลงประเทศกูมีด้วย โดยสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลงประเทศกูมี คนหนักแผ่นดิน น่าจะอยู่ที่จังหวะการเผยแพร่ ที่เพลงดังกล่าวถูกเผยแพร่บนยูทูปในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 สี่วันหลังผบ.ทบ.ออกมาตอบโต้กรณีที่มีนักการเมืองหาเสียงว่าจะลดงบประมาณกองทัพว่าให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน  ขณะที่เพลงประเทศกูมี คนหนักแผ่นดินที่เผยแพร่บนยูทูปก็ถูกตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไม่ให้ผู้ชมสามารถเขียนคอมเมนท์ได้  
 
ใกล้จะครบ 5 ปีของการรัฐประหาร ศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictator ยังคงสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขาต่อไป 22 มีนาคม 2562 หรือสองวันก่อนวันเลือกตั้ง ยูทูปของ Rap Against Dictatorship เผยแพร่เพลง 250 สอพลอ ซึ่งเป็นผลงานเพลงร่วมของศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship บางส่วน เนื้อหาของเพลงเสียดสีส.ว. 250 คน ว่าคนเหล่านี้มีที่มาจากการเลือกกันเองในคนกลุ่มน้อยแต่จะมาคุมชะตากรรมของส.ส.ที่ประชาชนเลือกมาเป็นผู้แทน แม้เพลง 250 สอพลอ จะไม่เป็นกระแสโ่งดังเหมือนเพลง “ประเทศกูมี” แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าตราบเท่าที่คสช.และกลไกอื่นๆมีการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship ก็พร้อมจะสร้างสรรค์งานเพลงนำเสนอสู่สาธารณะอย่างเผ็ดร้อน
 
สำหรับคนในแวดวงการเพลงนอกจากศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship แล้ว กลุ่มศิลปินพังค์ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการนำเสนอผลงานเพลงวิพากษ์วิจารณ์คสช. ในเดือนเมษายน 2561 กลุ่มศิลปินพังค์มีการเปิดเพจเฟซบุ๊ก “จะสี่ปีแล้วนะไอ้สัตว์” เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมคอนเสิร์ตที่พวกเขาตั้งใจจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2561 ในโอกาสที่คสช.ยึดอำนาจและบริหารประเทศมาครบสี่ปี คลิปโปรโมทคอนเสิร์ตครั้งนั้นก็ถูกทำขึ้นในแบบแสบๆคันๆมีนักร้องหน้าตายคนหนึ่งมายืนร้องเพลง Happy Birthday เวอร์ชันปกติให้คสช.จากนั้นท่วงทำนองเพลงก็เปลี่ยนเป็นเพลงวันเกิด “เวอร์ชันพิเศษ” ก็ที่นักร้องคนเดิมจะสับเค้กที่แต่งหน้าด้วยคำว่า 4 years หรือ 4 ปี ซึ่งน่าจะหมายถึงสี่ปีของคสช.จนเละ 
 
คอนเสิร์ต จะสี่ปีแล้วนะ ถูกจัดขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยทางเจ้าของสถานที่ขอให้ทางผู้จัดตัด “คำสร้อย” ท้ายชื่อ จะสี่ปีแล้วนะ ออกไปเพื่อความเหมาะสม จากคำบอกเล่าของผู้จัดงานซึ่งขอสงวนตัวตน กลุ่มนักดนตรีพังค์ที่มาร่วมคอนเสิร์ตครั้งนั้นมีความสนใจเกี่ยวกับประเด็นสังคมและการเมือง แต่พวกเขาก็ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มไหนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง พันธมิตร หรือกลุ่มกปปส. พวกเขาเพียงแต่ต้องการมารวมตัวกันเพื่อแสดงความอึดอัดและไม่พอใจต่อคสช. ในแบบฉบับของพวกเขาเอง สำหรับบรรยากาศในวันงาน ทางผู้จัดเล่าว่าตำรวจมากันเยอะมากทั้งในและนอกเครื่องแบบ เนื้อเพลงที่เผ็ดร้อนและรุนแรงทำให้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาคุยกับเขาระหว่างงานหลายครั้ง บรรยากาศในงานร้อนแรงขึ้นเมื่อแผ่นป้ายโปสเตอร์ของงานที่มีภาพชายใบหน้า “คล้าย” พล.อ.ประยุทธ์ถุกนำมาเผาและกระทืบ งานมาถึงจุดเดือดเมื่อศิลปินที่มาร่วมงานวงหนึ่งตะโกนชื่อบุคคลสำคัญสองคนในคสช.พร้อมกับถ้อยคำด่าที่อาจจะรุนแรงและหยาบคายในสายตาใครบางคน เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาเจรจาและแจ้งกับผู้จัดว่าจะขอเชิญตัวศิลปินวงดังกล่าวไปพูดคุยที่สน.ชนะสงครามซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบท้องที่ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ในวันนั้นจบลงโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหากับใคร 
 
 
โปสเตอร์งาน จะสี่ปีแล้วนะไอ้สัตว์ (ภาพจากเฟซบุ๊ก 5ปีแล้วนะไอ้สัตว์)
 
ทางผู้จัดคอนเสิร์ตพังค์ยังวางแผนจะจัดมินิคอนเสิร์ตอีกครั้งในเดือน พฤศจิกายน 2561 ที่ดาดฟ้าของเกสต์เฮาสต์ The Overstay ซึ่งอยู่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 แต่การจัดงานครั้งนั้นต้องถูกยกเลิกไปเพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไป “พูดคุย” กับทางเจ้าของสถานที่  แม้ว่าในโอกาสที่กำลังจะครบ 5 ปี ของคสช. เพจ “จะสี่ปีแล้วนะไอ้สัตว์” ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “5ปีแล้วนะไอ้สัตว์” จะยังไม่มีความเคลื่อนไหวหรือกำหนดการว่าจะจัดกิจกรรมใดๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือปรากฎการณ์ที่นักดนตรีกลุ่มหนึ่งซึ่งปกติน่าจะไม่ใช่กลุ่มคนที่พบตัวได้ตามสถานที่ชุมนุมต่อต้านคสช. ได้ออกมาแสดงตัวและความไม่พอใจในรูปแบบของพวกเขาแล้ว
 
ไข่แมว ปรากฎการณ์เพจล้อการเมืองหลังการรัฐประหาร  
 
เพจล้อการเมืองบนเฟซบุ๊ก เป็นอีกหนึ่งในช่องทางที่ศิลปินบางส่วนเลือกใช้เพื่อแสดงจุดยืนและความคิดเห็นของพวกเขาต่อการบริหารงานของคสช. ซึ่งเพจการ์ตูนล้อการเมืองที่ได้รับความนิยมหรือเป็นที่พูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเพจ “ไข่แมว” เพจการ์ตูนล้อที่นำเสนอเป็นการ์ตูนสี่ช่อง บุคคลสำคัญในแวดวงการเมืองแต่ละคนถูกนำมาดีไซน์ใหม่ให้มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น พล.อ.ประยุทธ์ถูกแทนค่าด้วยนายพลมีหนวดกระจุกเล็กๆบนใบหน้าคล้ายอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีถูกดีไซน์เป็นชายสวมสูทที่ถูกเรียกขานว่า แจ็คแม้ว หรือพล.อ.ประวิตร ถูกดีไซน์เป็นตัวการ์ตูนในเรื่องวันพีช เป็นต้น เพจไข่แมวปรากฎตัวครั้งแรกในวันที่ 21 เมษายน 2559 และในเวลาเพียงไม่ถึงสองเดือนในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ก็มียอดคนกดไลค์สูงถึง 109,345 คน
 
 
ภาพล้อกรณีตูนบอดีแสลมวิ่งระดมทุนให้โรงพยาบาล (ภาพจากเว็บไซต์ วอยซ์ ทีวี ภาพต้นฉบับไม่สามารถเข้าถึงได้ในปัจจุบัน)
 
เพจไข่แมวมักจะหยิบปรากฎการณ์ทางการเมืองซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปมาทำภาพล้อแบบแสบๆคันๆ เช่น นำข่าวตูนบดีแสลมวิ่งหาทุนให้โรงพยาบาล กับข่าวที่รัฐบาลมีแผนจะซื้อเรือดำน้ำจากจีนมาแซวเป็นภาพตูนบอดีแสลมวิ่งจนกล้ามขาขึ้นขณะที่ “ท่านผู้นำ” กำลังถือถังช็อปปิงเรือดำน้ำอย่างมีความสุข
 
 
ภาพล้อกรณีกระทรวงดิจิตัลฯออกประกาศให้ประชาชนงดติดต่อกับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล (ภาพจากเว็บไซต์ วอยซ์ ทีวี ภาพต้นฉบับไม่สามารถเข้าถึงได้ในปัจจุบัน)
 
หรือเมื่อครั้งที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ออกประกาศให้ประชาชนงดการติดต่อ กับบุคคลสามคน ได้แก่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่ลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศส ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกียวโต และแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ส เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ไข่แมวก็วาดภาพล้อของบุคคลทั้งสามเป็นร็อคสตาร์กำลังแสดงคอนเสิร์ต ก่อนจะมีภาพปลั้กไฟถูกดึงและมี “ท่านผู้นำ” ยืนทำหน้าฉุนเฉียวอยู่กลางคอนเสิร์ตที่ถูกปิดไฟเวทีจนมืด เป็นต้น ลูกเล่นที่สำคัญอีกอันหนึ่งของเพจไข่แมวคือการซ่อนใบหน้าของ “แจ็คแม้ว” ไว้ในที่ใดที่หนึ่งของภาพ ให้ลูกเพจตามหากันโดย “ไข่แมว” ให้เหตุผลว่า แจ๊คแม้วมักถูกโยงเข้ากับทุกเรื่องเขาก็เลยเอารูปไปใส่ไว้ในเบื้องหลังของทุกๆภาพ
 
ช่วงเดือนมกราคมปี 2561 เพจไข่แมวหายไปจากเฟซบุ๊กอย่างเป็นปริศนา  ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งในช่วงกลางเดือน กุมภาพันธ์ 2561 ในชื่อเพจ ไข่แมว X ซึ่งมีข้อมูลว่าเพจดังกล่าวถูกสร้างไว้ตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2560 แล้วแต่เพิ่งถูกนำมาใช้อย่างจริงจังหลังเพจเก่าปิดตัวไป  ตัวตนของไข่แมวยังคงเป็นปริศนาจนถึงปัจจุบันแต่ไข่แมวจะเป็นใครคงไม่สำคัญเท่ากับผลงานการ์ตูนล้อที่ถูกทำออกมาอย่างต่อเนื่อง
 
ในเดือนมีนาคม 2561 สำนักข่าวประชาไทยประกาศเปิดให้จองหนังสือ “ไข่แมว” ซึ่งในหนังสือดังกล่าวไม่เพียงมีการนำภาพการ์ตูนของไข่แมวจากเวอร์ชันออนไลน์มาลงในหน้ากระดาษเท่านั้นหากแต่ยังมีการเขียนบอกเล่าบริบททางการเมืองที่ที่แวดล้อมหรือเป็นที่มาของภาพล้อเหล่านั้นด้วย ในเดือนพฤศจิกายน 2561 “ไข่แมว” ยังจัดนิทรรศการ ไข่แมว x กะลาแลนด์ โดยนำภาพล้อทั้งที่เคยเผยแพร่บนเพจและภาพที่ทำขึ้นใหม่ มาจัดแสดงในแกลลอรี รวมทั้งมีการผลิตตุ๊กตารูปแจ๊กแม้ว “ท่านผู้นำ” และ “ตาใส” เด็กหนุ่มตาใสหน้าซื่อที่คาดว่าน่าจะใช้เป็นภาพแทนของคนไทย มาทำเป็นเกมคีบตุ๊กตาให้ผู้เข้าร่วมนิทรรศการหยอดเหรียญเสี่ยงดวงว่าจะจับตัวไหนได้   
 
 
ผู้เข้าร่วมนิทรรศการไข่แมวเล่นเกมคีบตุ๊กตาหยอดเหรียญ ในนิทรรศการ ไข่แมว x กะลาแลนด์ ที่ Gallery Artist + Run
มาถึงวันนี้เพจไข่แมวยังคงผลิตผลงานสู่โลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพการ์ตูน “ตาใส” ภาพแทนของ “คนไทย” อาจแฝงนัยยะที่ให้ความหวังกับการเมืองไทยในอนาคตได้บ้าง สำหรับผู้มีอำนาจ “ตาใส” อาจเป็นเพียงผู้ไม่รู้อิโน่อิเหน่และเป็นผู้ถูกกระทำ เช่นภาพ ที่”ตาใส” ที่ทำได้แค่มองการนับคะแนนเลือกตั้งที่มีปัญหา แต่ในขณะเดียวกัน ตาใสก็มีนัยยะของความดื้อ ดังสำนวนไทย “ดื้อตาใส” เช่นภาพ “ตาใส ออกไปหย่อนบัตรเลือกตั้งจนทำให้สถานะของ “ท่านผู้นำ” ต้องสั่นคลอน คล้ายกับไข่แมวตั้งใจจะเตือนเหล่าผู้มีอำนาจว่า หากพวกเขายังคงใช้อำนาจแบบ “ไม่เกรงใจประชาชน” ตาใสจากเป็นเพียงคนไม่รู้อิดโหน่อิเหน่ก็อาจกลายเป็นตาใสที่ดื้อจนทำให้ผู้มีอำนาจอยู่ต่อไปไม่ไหวก็ได้
 
 
Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage