ในปี 2561 บรรยากาศการเมืองไทยเริ่มเข้าสู่การพูดคุยเรื่องการเลือกตั้ง นักการเมืองและประชาชนเริ่มออกหน้าแสดงความคิดเห็น เพดานเสรีภาพที่เคยถูกกดไว้คล้ายถูกคลาย ออกด้วยคำว่า “เลือกตั้ง” และตามมาด้วยการที่ คสช. ค่อยๆ ออกคำสั่งตาม “มาตรา 44” ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ทีละนิด จนกระทั่งคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่เคยห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดสี่ปีกว่าที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีประกาศและคำสั่งของ คสช. อีกจำนวนไม่น้อยที่เหลือคงค้างบังคับใช้อยู่ ไม่นับรวมกฎหมายที่ คสช. ตราเป็นพระราชบัญญัติและใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามเสรีภาพในการแสดงมาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
จากบทเรียนการออกเสียงประชามติภายใต้ คสช. เมื่อปี 2559 ก็ทำให้วางใจไม่ได้ว่า การรณรงค์สื่อสารเรื่องการเมืองต่อประชาชนจะเป็นไปโดยเสรีไม่อยู่ภายใต้อำนาจความหวาดกลัวใดๆ โดยก่อนและระหว่างการทำประชามติครั้งนั้น คสช. ใช้ประกาศและคำสั่ง คสช. และกฎหมายอื่นๆ จำกัดเสรีภาพการแสดงออก ดังนี้
พ.ร.บ.ประชามติฯ : ปิดปากผู้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ
พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ. พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) กำหนดโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับ ไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ที่เผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางอื่น ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือ รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่เพื่อให้ผู้มีสิทธิไม่ไปใช้สิทธิหรือใช้สิทธิทางใดทางหนึ่ง โดยมีประชาชนถูกกล่าวหาตามมาตรานี้อย่างน้อย 41 คน เหตุแห่งคดี เช่น เขียนวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 บนเฟซบุ๊ก, แจกใบปลิวรณรงค์ให้ไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และการส่งจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 : ห้ามทำกิจกรรมเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ขัดใจ คสช.
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ระบุว่า ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวถูกใช้เป็นข้ออ้างที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าแทรกแซงหรือห้ามการทำกิจกรรมเพื่อวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นไปในทางตรงข้ามกับ คสช. มีกิจกรรมที่จัดเพื่อแสดงออกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถูกตำรวจทหาร และกลไกต่างๆ ของรัฐปิดกั้น อย่างน้อย 20 ครั้ง และมีผู้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการทำประชามติถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 149 คน โดยคดีทั้งหมดอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารและในปัจจุบันยังมีคดีคงค้างอยู่ในการพิจารณาของศาลจำนวนมาก
กฎหมายคุมสื่อ : ให้อำนาจกสทช.จัดการสื่อเสียดสีเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ
หลังจากการเข้ายึดอำนาจของ คสช. เครื่องมือสำหรับการควบคุมเนื้อหาในสื่อถูกประกาศใช้ ได้แก่ ประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557 ที่ห้ามสื่อเผยแพร่เนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือความขัดแย้ง เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเป็นการวิจารณ์ คสช. โดยไม่สุจริตด้วยข้อมูลเท็จ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 ให้อำนาจคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาเนื้อหา ตามประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557 ในช่วงการออกเสียงประชามติ กสทช. มีมติในเรื่องที่สื่อนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญสองครั้ง คือ ขอความร่วมมือให้วอยซ์ทีวีระมัดระวังการออกอากาศรายการ จากการนำเสนอเนื้อหาส่อเสียดโดยนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาเปรียบเทียบกับฉบับปัจจุบัน และมติพักการดำเนินรายการของผู้ดำเนินรายการวอยซ์ทีวีเป็นเวลาสิบวันจากการออกอากาศเนื้อหาเรื่อง ฉันทามติสังคม ไม่ให้ คสช. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป, ประยุทธ์ประกาศอยู่ยาว ไม่สนร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านไม่ผ่าน และเรื่องๆ อื่นๆ
ข้อหายุยงปลุกปั่น : จดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญสร้างความปั่นป่วน
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือที่รู้จักกันในชื่อข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ระบุว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืน ใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
ระหว่างประชามติมีประชาชนถูกกล่าวหาตามมาตรา 116 ไปไม่น้อยกว่า 11 คน หรือ 1 คดี เหตุแห่งคดีเกิดจากการส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญหลายจุดใน จังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ผู้ถูกกล่าวหา 4 คนจากทั้งหมดเป็นนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย
สำหรับช่วงการเลือกตั้งที่จะถึงในปี 2562 คสช. ก็ยังมีอำนาจพิเศษตามประกาศและคำสั่งที่ออกมาบังคับใช้เอง และยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่สามารถนำมาใช้จำกัดเสรีภาพในช่วงก่อนการเลือกตั้งได้อีก ตัวอย่างเช่น
กฎหมายเลือกตั้ง : ให้อำนาจ กกต. คุมหาเสียง
ในการเลือกตั้งปี 2562 กฎหมายสำคัญที่จะถูกนำมาใช้กับนักการเมืองก็คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (กฎหมายเลือกตั้ง) โดยมีข้อกำหนดเช่น ห้ามผู้สมัครหรือพรรคการเมืองหาเสียงทางวิทยุหรือโทรทัศน์ เว้นแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของ กกต., การหาเสียงออนไลน์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กกต. กําหนดขึ้น รวมทั้งการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องไม่ขัดกับแนวทางที่เป็นนโยบายของพรรคการเมือง กกต. ยังจะเข้ามาควบคุมกระทั่ง ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต้องไม่เกินจํานวนที่ กกต. กำหนด ด้วย โดยการฝ่าฝืนข้อห้ามแต่ละข้อนั้นมีบทกำหนดโทษแตกต่างกันไป
นอกจากนี้กฎหมายเลือกตั้งยังให้อำนาจ กกต. ในช่วงก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หาก กกต. สืบสวนหรือไต่สวนแล้วเห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทําการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทํา สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทําการดังกล่าว หรือรู้ว่า มีการกระทําดังกล่าวแล้วไม่ดําเนินการเพื่อระงับการกระทํานั้น ให้ กกต. สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทําการเช่นนั้นทุกรายไว้เป็นการชั่วคราว หรือการแจก “ใบส้ม”
กฎหมายคุมสื่อ : สื่อตรงข้ามคสช.อ่วม โดนปิดเป็นระลอก
ก่อนหน้าการรัฐประหาร กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลเนื้อหาของสื่ออยู่แล้ว โดยใช้อำนาจตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 (พ.ร.บ. ประกอบกิจการฯ) แต่หลังการเข้ายึดอำนาจของ คสช. ประกาศ คสช. ที่ 97/2557, 103/2557 และข้อตกลง MOU ที่ คสช. บังคับให้สื่อทุกแห่งต้องยินยอมลงนามไว้ กลายเป็นเครื่องมือคุมสื่อที่เพิ่มขึ้น เมื่อประกอบกับอำนาจตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ที่กว้างขวางมากอยู่แล้ว ทำให้ขอบเขตของเนื้อหาที่ต้องห้ามออกอากาศของสื่อกว้างขวางมากขึ้นไปอีก
จากรายงานการประชุมของ กสทช. เท่าที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 – 3 กรกฎาคม 2561 พบว่า มีการออกมติให้ลงโทษสื่อมวลชนจากการนำเสนอเนื้อหาในประเด็นทางการเมืองไปแล้ว อย่างน้อย 54 ครั้ง สถานีที่ถูกสั่งลงโทษมากที่สุดคือวอยซ์ ทีวี 20 ครั้ง และรองลงมาคือ พีซทีวี 13 ครั้ง ในจำนวนการปิดกั้นทั้งหมดมีไม่น้อยกว่า 35 ครั้งที่ กสทช. พิจารณาลงโทษสื่อ ตามเงื่อนไขของประกาศและคำสั่งของ คสช. กฎหมายทั้งหมดที่ให้อำนาจกับ กสทช. ในการควบคุมสื่อเหล่านี้ก็ยังคงใช้บังคับอยู่ก่อนและระหว่างการเลือกตั้งโดยไม่มีท่าทีว่าจะถูกยกเลิก
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 : เรียกรายงานตัวแล้วขังไว้ 7 วัน
แม้ว่า คสช. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการห้าม “ชุมนุมเกินห้าคน” ไปแล้ว แต่อำนาจการเรียกบุคคลมารายงานตัวและคุมขังไว้เจ็ดวัน อำนาจทหารที่จะบุกค้นที่อยู่อาศัย พาหนะ รวมถึงการยึดหรืออายัดทรัพย์สินยังคงมีอยู่
อำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจที่ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือรหยุดยั้งการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง บางครั้งก็อ้างว่าเป็นการเอาตัวมาเพื่อ “ปรับทันศนคติ” หรือการ “เชิญตัวมาพูดคุย” ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นไปเพื่อสร้างบรรยากาศความกลัวให้คนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวในทางที่เป็นปฏิปักษ์กับ คสช. หลังการยกเลิกข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ไปแล้ว คสช. ก็ยังใช้อำนาจที่เหลือในการคุมตัวบุคคลในค่ายทหาร เช่น กรณีการควบคุมตัวกลุ่มคนเสื้อดำที่แสดงออกเกี่ยวกับกิจกรรม “Bike อุ่นไอรัก” ในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ไม่น้อยกว่า 7 คน หลังปล่อยตัวออกมาแล้วทหารก็ยังใช้อำนาจซ้ำควบคุมตัวผู้ที่ถูกปล่อยตัวมาแล้ว 4 คน กลับเข้าไปที่ค่ายทหารอีกครั้ง
พ.ร.บ.ชุมนุมฯ : บทหลักจัดการชุมนุมช่วงเลือกตั้ง
พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) เป็นกฎหมายที่ควรจะถูกใช้เพื่อดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย โดยสั่งให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมต่อตำรวจในท้องที่ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ห้ามการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง ห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานของรัฐ ห้ามก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน ห้ามพกอาวุธ ห้ามปิดบังใบหน้า ห้ามข่มขู่ให้เกิดความกลัว ห้ามเคลื่อนขบวนตอนกลางคืน ฯลฯ โดยการฝ่าฝืนข้อห้ามแต่ละข้อนั้นมีบทกำหนดโทษแตกต่างกันไป
ที่ผ่านมา คสช. ไม่ได้ใช้กฎหมายนี้เพื่อดูแลอำนวจความสะดวกในการใช้เสรีภาพให้กับประชาชน แต่กลับบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ควบคู่กับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ข่มขู่เพื่อให้การชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมถูกยกเลิกให้ได้ การบังคับใช้ควบคู่กันไปนำไปสู่การใช้เลือกหยิบกฎหมายมาสั่งห้ามชุมนุมอย่างตามอำเภอใจ โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถหยิบยกสารพัดเงื่อนไขตามกฎหมายใดมาก็ได้ที่เอื้อต่อเป้าประสงค์ในการปิดกั้นเรื่องราวที่รัฐไม่ต้องการรับฟัง อย่างไรก็ดี เมื่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ยกเลิกไป พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็จะกลายเป็นเครื่องมือหลักของรัฐสำหรับจัดการการชุมนุม ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะถูกบังคับใช้อย่างเข้มข้นขึ้นอีกเรื่อยๆ ในปีหน้า
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ : มาตรา 14(2) เทรนด์ใหม่ใช้ปิดปากผู้วิจารณ์รัฐออนไลน์
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 14 (2) ระบุว่า ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
เดิมทีมาตรา 14(2) มักจะถูกนำมากล่าวหาควบคู่กับคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ข้อหายุยงปลุกปั่น) แต่ในปี 2561 แนวทางการร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อคนที่แสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกรณีของบุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง เนื่องจากไม่อาจตีความให้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง เช่น มาตรา 112 หรือ มาตรา 116 ได้ แนวทางจึงเปลี่ยนมาเป็นดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) อย่างเดียวแทน
ตลอดสี่ปีที่ผ่านมามีประชาชนถูกกล่าวหาตามมาตรา 14(2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของรัฐบาลหรือบุคคลในรัฐบาล ไม่น้อยกว่า 44 คน ใน 23 คดี แต่เฉพาะปี 2561 มีไม่น้อยกว่า 25 คนหรือ 12 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีของนักการเมือง 3 คดี คือ คดีของวัฒนา เมืองสุข ที่วิจารณ์คสช. กรณีซื้อดาวเทียมไธอา (THEIA), คดีของพิชัย นริพทะพันธุ์ วิจารณ์ คสช. เรื่องการดูดส.ส. และคดีของธนาธร กับแกนนำพรรคอนาคตใหม่จากการไลฟ์เฟซบุ๊กวิจารณ์ คสช. เรื่องการดูดส.ส.
ข้อหายุยงปลุกปั่น : คนอยากเลือกตั้งสร้างความปั่นป่วน
หลังการรัฐประหารในปี 2557 มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาหรือข้อหายุยงปลุกปั่น ถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อกลุ่มคนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทิศทางตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร คดีความส่วนหนึ่งไม่มีความคืบหน้า มีแค่การตั้งข้อหาในช่วงการจับกุมและเผยแพร่เป็นข่าวต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวเท่านั้น ขณะที่คดีความส่วนหนึ่งต่อมาก็สั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตยังไม่เข้าข่ายเป็นความผิด โดยเฉพาะในยุคของ คสช. คดีความตามมาตรา 116 ส่วนใหญ่ผู้ต้องหาก็จะไม่ต้องรับโทษในข้อหานี้
ตลอดสี่ปีที่ผ่านมามีประชาชนถูกกล่าวหามาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาไม่น้อยกว่า 92 คนหรือ 33 คดี แต่เฉพาะปี 2561 มีไม่น้อยกว่า 24 คนหรือ 6 คดี โดยส่วนใหญ่เหตุแห่งคดีเป็นการจัดชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 4 ครั้ง