เมื่อหน้าปฏิทินล่วงเข้าเดือนมิถุนายน กิจกรรมทางการเมืองที่ถูกพูดถึงเสมอๆ คือการรำลึกถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 แต่ในปีนี้สถานการณ์กลับแตกต่างจากปีที่ผ่านมา ช่วงก่อนวันที่ 24 มิถุนายน นักกิจกรรมหลายคนถูกเจ้าหน้าที่ติดตาม ขณะที่กิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวก็ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด สำหรับความเคลื่อนไหวอื่น ในเดือนมิถุนายนมีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ออกมาหนึ่งคดีซึ่งศาลทหารวางโทษจำคุกสูงที่สุดเท่าที่ไอลอว์เคยบันทึกมาคือ 30 ปี 60 เดือน นอกจากนี้ก็มีการสืบพยานคดีฉีกบัตรประชามติซึ่งศาลจังหวัดพระโขนงสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้วและนัดสืบพยานจำเลยต่อในเดือนกรกฎาคม
ความพยายามสกัดกั้นกิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475
ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2560 มีผู้ตั้งกิจกรรม “วันชาติไทย ปีที่ 85 ณ บริเวณหมุดคณะราษฎร” บนเฟซบุ๊ก เชิญชวนให้คนร่วมวางดอกไม้ที่หมุดคณะราษฎร โดยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กเกือบๆ 200 คน กดเข้าร่วม หรือสนใจเข้าร่วมกิจกรรม แม้จะเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ใช้เฟซบุ๊กว่าการกดเข้าร่วมหรือสนใจเข้าร่วมกิจกรรมไม่ได้หมายความว่าผู้กดจะไปเข้าร่วมกิจกรรมในวันจริง แต่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่กลับมีความหวั่นไหวกับกิจกรรมนี้มากถึงขนาดทำการติดต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กที่กดเข้าร่วมหรือสนใจบนหน้ากิจกรรมดังกล่าวอย่างน้อยเก้าราย
23 มิถุนายน 2560 ระหว่างงานเสวนา 85 ปีปฏิวัติสยาม 2475 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามไม่ให้พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถามว่า “ใครขโมยหมุดคณะราษฎร” ขณะที่งานเสวนา 85 ปี ประชาธิปไตยปักที่ไหนก็ได้ ของกลุ่ม YPD ซึ่งจัดที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แม้จะไม่มีการแทรกแซงใดๆโดยเจ้าหน้าที่แต่ก็ถูกจับตาและบันทึกภาพและเสียงโดยเจ้าหน้าที่
24 มิถุนายน 2560 กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์จัดกิจกรรม “ทำบุญกรวดน้ำคว่ำขัน ในวัน(ไม่มี)ประชาธิปไตย” ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน โดยกิจกรรมนี้เป็นการวางดอกไม้และทำบุญอัฐิของสมาชิกคณะราษฎรผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 85 ปีก่อน แม้จะเป็นเพียงกิจกรรมทำบุญแต่ก็ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่โดยมีกำลังตำรวจในเครื่องแบบอย่างน้อยห้านายและนอกเครื่องแบบอีกกว่า 30 นายมากระจายตัวในวัดพระศรีมหาธาตุตั้งแต่ก่อนเริ่มงานประมาณหนึ่งชั่วโมง
กิจกรรมกรวดน้ำคว่ำขันในวัน(ไม่มี)ประชาธิปไตยจัดได้ท่ามกลางการจับตาจากเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ
25 มิถุนายน 2560 มีกิจกรรมที่มีความเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ในปี 2475 อีกหนึ่งงานได้แก่งาน Start Up People Start Up Talk ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ในวันงานรังสิมันต์ โรม หนึ่งในนักกิจกรรมที่มีคิวขึ้นพูดบนเวทีถูกจับกุมตัวที่หอสมุดเมืองกรุงเทพโดยเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับศาลทหารกรุงเทพซึ่งระบุข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 หมายจับฉบับนี้ออกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559 หลังรังสิมันต์ถูกดำเนินคดีจากการแจกใบปลิวรณรงค์โหวตโนประชามติที่เคหะบางพลีในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ทำให้มีข้อสังเกตว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงเลือกจับกุมเขาก่อนร่วมกิจกรรมไม่นานทั้งๆที่หมายจับถูกออกมานานแล้
ปิดกั้นลิ้งค์หนังที่นัดฉายย่ำค่ำ 24 มิถุนาก่อนเข้าถึงได้ในอีกสองวันถัดมา
12 มิถุนายน 2560 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันฉายและแชร์ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง “จอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่” (The Great Dictator) และ “สัญญาของผู้มาก่อนกาล” (The Six Principles) ในช่วงเวลา 19.00 ของวันที่ 24 มิถุนายน2560 เพื่อรำลึก 85 ปี การอภิวัฒน์สยาม 2475 และได้นำลิงก์ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องดังกล่าวลงในโพสต์เชิญชวนด้วย
อย่างไรก็ตามในวันที่ 24 มิถุนายน มีรายงานว่ามีผู้เข้าถึงลิงค์ของภาพยนตร์ “จอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่” แล้วไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยพบข้อความว่า “เนื้อหานี้ไม่สามารถรับชมได้บนโดเมนของประเทศนี้ เนื่องจากมีการร้องเรียนทางกฎหมายจากรัฐบาล” อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานว่าการปิดกั้นเกิดขึ้นในวันใด
ต่อมาในวันที่ 26 มิถุนายน 2560 มีผู้แจ้งมายังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าลิงก์ยูทูปที่ถูกบล็อกสามารถเข้าถึงได้แล้ว
การเรียกตัว/เยี่ยมบ้าน เหตุการณ์ต่อเนื่อง 24 มิถุนาฯ
ช่วงใกล้ถึงงานรำลึก 24 มิถุนา มีนักกิจกรรม นักวิชาการ หลายคนเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กหรือคำบอกเล่าของเพื่อนว่าถูกเจ้าหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิดคล้ายต้องการกดดันไม่ให้พวกเขาไปร่วมกิจกรรมในวันที่ 24 มิถุนา เช่นกรณีของธนพล นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรที่มีเจ้าหน้าที่สี่นายไปหาที่บ้านและสอบถามยายของเขาว่าเป็นคนอย่างไร เคยร่วมชุมนุมไหม หรือกรณีของชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยที่ในวันที่ 22 มิถุนายน โพสต์เฟซบุ๊กว่ามีเจ้าหน้าที่ไปที่แฟลตทหารของพ่อเธอและพยายามจะเข้าไปข้างในโดยไม่มีหมาย
24 มิถุนายน 2560 เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมและอดีตนักโทษการเมือง ถูกควบคุมตัวตั้งแต่เช้าหลังเขานำหมุดคณะราษฎรจำลองไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อเปลี่ยนแทนหมุดเดิม เจ้าหน้าที่ตำรวจนำเอกชัยมาส่งที่บ้านในช่วงค่ำแล้วทำการตรวจค้นบ้านโดยไม่มีหมายศาลแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ
เอกชัยถ่ายภาพกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บ้านหลังการตรวจค้น 24 มิถุนายน 2560
นอกจากนี้วันที่ 24 มิถุนายน 2560 ก็มีรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่เดินทางไปเยี่ยมบ้านประชาชนอย่างน้อยสองคน คือ สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ซึ่งโพสต์เฟซบุ๊กว่า ในเวลา 9.00 น. เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบสองนายพร้อมรถกระบะได้เข้ามาหาที่บ้านและถามว่า ช่วงนี้ทำกิจกรรมที่ไหนหรือเปล่า อีกหนึ่งกรณีคือสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักกิจกรรมที่ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้านในเวลาประมาณ 10.00 น. และเมื่อออกจากบ้านมีเจ้าหน้าที่สองคนเข้ามาหาบอกว่า ขอติดตาม และจะขับรถไปส่ง แต่สิรวิชญ์ปฏิเสธ ตำรวจจึงขับรถตามรถเมล์ของเขามาเรื่อยๆ30 ปี 60 เดือน สถิติใหม่คดี
30 ปี 60 เดือน สถิติใหม่คดี 112 – ฎีกายืนจำคุกเฉลียว 2 ปี 6 เดือนฐานอัพโหลดคลิป ‘บรรพต’ – ความเคลื่อนไหวคดีมาตรา 112
9 มิถุนายน 2560 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่เฉลียวถูกกล่าวหาว่าอัพโหลดคลิป’บรรพต’ ขึ้นบนเว็บโฟร์แชร์ซึ่งเป็นเว็บฝากไฟล์เพื่อให้บุคคลอื่นเข้าถึง โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุกเฉลียวห้าปีแต่ลดโทษเหลือสองปีหกเดือนเนื่องจากเฉลียวรับสารภาพ ศาลฎีกาให้เหตุผลว่าถ้อยคำในคลิปเป็นถ้อยคำหยาบคายและเป็นความเท็จที่ไม่สมควรเผยแพร่ให้บุคคลอื่นแม้เพียงคนเดียว แม้จำเลยจะอ้างว่าบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายและเข้าถึงคลิปของจำเลยจะมีไม่มากแต่ก็อาจนำคลิปดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อได้โดยไม่จำกัดจำนวน จึงสมควรลงโทษสถานหนักและโทษจำคุกสองปีหกเดือนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดก็เป็นประโยชน์ต่อจำเลยอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษจำคุกอีก
ในวันเดียวกัน ศาลทหารกรุงเทพ มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกวิชัยเป็นเวลาเจ็ดสิบปีจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 รวมสิบข้อความ เป็นความผิดสิบกรรม ศาลทหารกำหนดโทษจำคุกที่กรรมละเจ็ดปี รวมสิบกรรมจำคุก 70 ปี วิชัยให้การรับสารภาพลดโทษเหลือจำคุกกรรมละสามปีหกเดือนรวมจำคุก 30 ปี 60 เดือน โทษจำคุกของวิชัยนับว่าเป็นโทษจำคุกคดี 112 ที่สูงที่สุดเท่าที่ไอลอว์บันทึกได้ นอกจากข้อหาตามมาตรา 112 วิชัยยังถูกฟ้องด้วยข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(1) จากการปลอมแปลงเฟซบุ๊กทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแยกเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งด้วย แต่ความผิดกรรมนั้นศาลทหารพิพากษายกฟ้องเนื่องจากในขณะที่ศาลมีคำพิพากษามีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่บังคับใช้แล้วแต่โจทก์บรรยายฟ้องตามองค์ประกอบความผิดของกฎหมายเดิมซึ่งยกเลิกไปแล้วจึงให้ยกฟ้อง
12 มิถุนายน 2560 ศาลทหารเชียงรายนัดสืบพยาน คดีของสราวุทธิ์ โดยพยานวันนั้นคือ พ.ท.อิสระ เมาะราศี นายทหารด้านการข่าวในจังหวัดเชียงราย มาเบิกความในฐานะผู้ร้องทุกข์ในคดีนี้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ การสืบพยานปากนี้ยังไม่เสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานปากนี้ต่อในวันที่ 13 กรกฎาคม 2560
22 มิถุนายน 2560 ทนายความและญาติของ”ต้อม” ผู้ต้องหาคดีวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ อำเภอชนบท และ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นยื่นคำร้องขอประกันตัว “ต้อม” โดยใช้ตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีและโฉนดที่ดิน มูลค่า 1.6 แสนบาทเป็นหลักประกันต่อศาลจังหวัดพล อย่างไรก็ตามศาลมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาต้องหากระทำความผิดในลักษณะเป็นขบวนการ และก่อเหตุในหลายพื้นที่ มีลักษณะเป็นภัยต่อความมั่นคง และผู้ต้องหาอาจหลบหนีหากได้รับการปล่อยตัว
27 มิถุนายน 2560 ศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังประเวศ อดีตทนายความที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ต่ออีก 12 วัน ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม
30 มิถุนายน 2560 ทนายจำเลยและครอบครัวยื่นคำร้องขอประกันตัวจตุภัทรหรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ต่อศาลจังหวัดขอนแก่นเป็นครั้งที่สิบโดยวางเงินสด 700,000 บาทเป็นหลักประกันและให้เหตุผลประกอบคำร้องว่าเพื่อให้จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพราะใกล้เวลาที่จะสืบพยานคดีนี้แล้ว แต่ศาลยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าศาลอุทธรณ์ภาคสี่เคยให้ยกคำร้องประกันตัวจำเลยคดีนี้และไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว
ความเคลื่อนไหวอื่นๆที่น่าสนใจ
ระหว่างวันที่ 13-16 มิถุนายน 2560 ศาลจังหวัดพระโขนงนัดสืบพยานคดี ปิยะรัฐ ฉีกบัตรลงคะแนนเสียงประชามติ เบื้องต้นศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 13 – 14 มิถุนายน และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2560 แต่ปรากฎว่าทั้งอัยการและทนายจำเลยมีคำถามเป็นจำนวนมากทำให้การสืบพยานตามวันนัดเดิมแล้วเสร็จแต่เพียงพยานโจทก์ ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยใหม่ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2560
20 มิถุนายน 2560 ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยาน คดี ‘พลเมืองรุกเดิน‘ ของพันธ์ศักดิ์ ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์พฤษภา 53’ ที่ถูกดำเนิดคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ ความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนตามประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 จากการประกาศเดินเท้าไปศาลทหาร โดยอัยการนำพยานโจทก์ปากแรก พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ ผู้กล่าวหา เข้าเบิกความต่อศาลแล้วแต่การสืบยังไม่แล้วเสร็จ ศาลนัดสืบพยานปากนี้ต่อวันที่ 1 พฤษจิกายน 2560 โดยในนัดหน้าจะเป็นการถามค้านของทนายจำเลย
21 มิถุนายน 2560 เจ้าหน้าที่ทหารนำโดย พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ มณฑลทหารบกที่ 23 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองขอนแก่น ราว 30 นาย เข้าตรวจค้นบ้านของกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยไม่มีหมายค้นจากศาล การตรวจค้นดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเช้าก่อนที่นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการจะลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นในวันเดียวกัน ในเวลาต่อมาพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกเปิดเผยว่า การตรวจค้นครั้งนี้อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 13/2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความสงบเรียบร้อยก่อนการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีพร้อมยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้อำนาจอย่างเกินเลย
เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจทำการตรวจค้นบ้านพักของนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินโดยไม่แสดงหมายศาล จากเพจ ดาวดิน สามัญชน
22 มิถุนายน 2560 อัยการจังหวัดราชบุรีนัดฟังคำสั่งคดีที่บริบูรณ์ หนึ่งในจำเลยคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ จ.ราชบุรี ถูกกล่าวหาทำความผิดฐานหมิ่นประมาท และ ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) จากการโพสต์ข้อความถึงกรณีที่พ.ต.ท.สรายุทธ บุรีวชิระเข้าค้นบ้านของบริบูรณ์ โดยอ้างอำนาจตาม มาตรา 44 แต่อัยการเลื่อนฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 11 กรกฎาคม 2560