เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่ คสช. และฝ่ายความมั่นคง ต้องจับตาสถานการณ์เป็นพิเศษ เพราะมีวันครบรอบเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญเกิดขึ้นอย่างน้อยสามเหตุการณ์ ได้แก่ เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2535 หรือเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” เหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือกลุ่ม นปช. ในปี 2553 และเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศทางการเมืองโดยรวมถือว่าไม่คึกคักนัก ในปีนี้ไม่มีการจัดกิจกรรมรำลึกขนาดใหญ่ มีเพียงกิจกรรมรำลึกเล็กๆ เช่นกิจกรรมทำบุญรำลึกถึงผู้เสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม หรือ กิจกรรมเสวนาครบรอบสามปีการรัฐประหาร ซึ่งก็มีผู้เข้าร่วมไม่มากนัก และถูกเจ้าหน้าที่จับตาอย่างหนัก บางกิจกรรมก็ถูกแทรกแซงด้วยรูปแบบต่างๆ กัน
สำหรับความเคลื่อนไหวคดีเสรีภาพที่น่าสนใจในเดือนนี้ มีกรณีที่จำเลยคดี 112 สองคนที่เคยให้การปฏิเสธและสู้คดีในศาลทหารเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีตัดสินใจรับสารภาพเพื่อให้คดีจบเพราะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี และการพิจารณาคดีในศาลทหารใช้เวลานานเกินไป
คุมเข้มกิจกรรมรำลึกเดือนพฤษภาฯ
เดือนพฤษภาคมมีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ หลายกรณี ได้แก่ การรำลึกถึงพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ที่ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 และการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตหกคนที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ขณะเดียวกันกิจกรรมรำลึกครบรอบสามปีการรัฐประหาร 2557 แม้จะจัดได้แต่ก็มีการแทรกแซงโดยเจ้าหน้าที่ให้งดพูดคำบางคำ งดแจกเอกสารรวมทั้งให้ถอดนิทรรศการบางส่วนออก
ตรึงกำลังลานพระรูปร.6 อนุญาตให้ลูกสาวจุดเทียนรำลึก ‘เสธ.แดง’ เพียงคนเดียว
วันที่ 12 พฤษภาคม 2560 ขัตติยา สวัสดิผล อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 มีเจ้าหน้าที่โทรมาสอบถามเรื่องการจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบเจ็ดปีที่พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ซึ่งเป็นพ่อของขัตติยาถูกยิงเสียชีวิต
ขัตติยาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ไปว่า ทางครอบครัวไม่ได้จะจัดกิจกรรมเป็นพิเศษ มีเพียงตนเองกับพี่สาวที่จะไปวางดอกไม้จุดเทียนรำลึก ณ จุดที่พ่อถูกยิงเสียชีวิตเท่านั้น อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่แจ้งกลับมาว่า “มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขัตติยาและพี่สาววางดอกไม้และจุดเทียน หรือทำอะไรได้” โดยไม่ได้ให้เหตุผลอื่นประกอบ
ต่อมาในวันที่่ 12 พฤษภาคม 2560 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช.ให้สัมภาษณ์ว่า เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเห็นว่าการจัดกิจกรรมรำลึกถึงพล.ต.ขัตติยะ น่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองจึงไม่ให้จัด แต่ยืนยันว่าการห้ามจัดไม่ใช่การกลั่นแกล้งครอบครัวสวัสดิผล ต่อมาในวันที่ 13 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะ เจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งกองร้อยเข้าตรึงกำลังบริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่หก ตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น. รวมทั้งมีการล้อมรั้วบริเวณทางลงรถไฟฟ้าใต้ดินฝั่งสวนลุมพินีซึ่งเป็นจุดที่พล.ต.ขัตติยะถูกยิงเสียชีวิตด้วย เมื่อเวลาประมาณ 18.45 ขัตติยาเดินทางมาถึงบริเวณทางลงรถไฟฟ้า เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ขัตติยาเข้าไปวางดอกไม้และจุดเทียนรำลึกได้เพียงคนเดียวซึ่ึ่งขัตติยาใช้เวลาจุดเทียนรำลึกถึงพ่อประมาณห้านาทีก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ก่อนจะเดินทางกลับ
แต่งหน้าผีรำลึกหกศพวัดปทุมฯถูกรวบไปโรงพัก อีกรายเดินเฉียดป้ายราชประสงค์ถูกรวบเช่นกัน
วันที่ 19 พฤษภาคม 2560 ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 เช่น พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม และพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของสมาพันธ์ ศรีเทพ หนุ่มวัย 17 ปีที่ถูกยิงเสียชีวิตในซอยรางน้ำเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ร่วมทำบุญที่วัดปทุมวนารามในช่วงเช้า เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตโดยมีเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ และตัวแทนจากฮิวแมนไรท์ วอทช์ ร่วมทำบุญด้วย ซึ่งระหว่างการทำกิจกรรมก็มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยจับตาไม่ให้มีการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง
เจ้าหน้าที่ตำรวจพูดคุยกับพันธ์ศักดิ์ นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับและญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 ที่มา ประชาไท
ต่อมาในเวลาประมาณ 15.30 น. ญาติผู้เสียชีวิต ได้แก่ พะเยาว์และพันธ์ศักดิ์ รวมทั้งนักกิจกรรม เช่น สิรวิชญ์หรือ “จ่านิว” ร่วมกันเล่นละครใบ้ แต่งหน้าเป็นผีเพื่อทวงถามความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต พันธ์ศักดิ์หนึ่งในผู้ร่วมแสดงละครใบ้ระบุว่า ระหว่างทำกิจกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้ามายุติการแสดงแต่ผู้แสดงก็พยายามแสดงจนจบ หลังจบการแสดงเจ้าหน้าที่ก็เชิญผู้ร่วมแสดงทั้งหมดเจ็ดคนไปที่สน.ปทุมวัน และมีการลงบันทึกประจำวันว่ามาทำอะไร ก่อนที่ทั้งเจ็ดได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 18.40 น.โดยไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหา
ในวันเดียวกันปิยรัฐ จงเทพ นักกิจกรรมกลุ่มเพื่อเพื่อน ซึ่งไปอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ได้โพสต์ภาพบนเฟซบุ๊กว่า บนสกายวอล์กใกล้ป้ายสี่แยกราชประสงค์เจ้าหน้าที่วางกำลังเพื่อกันคนสังเกตการณ์ รวมทั้งมีการวางสิ่งกีดขวางกั้นทางเดินเข้าป้าย หลังจากนั้นปิยรัฐถูกเจ้าหน้าที่ ‘เชิญตัว’ ขึ้นรถแท็กซี่ไปยังสน.ลุมพินี ซึ่งปิยรัฐได้เผยแพร่บทสนทนาระหว่างตนเองกับเจ้าหน้าที่ไว้บนเฟซบุ๊ก พร้อมกับเขียนเล่าเหตุการณ์ซึ่งพอสรุปได้ว่า
เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ปิยรัฐถูกควบคุมตัวเพราะไปถ่ายภาพป่ายราชประสงค์ซึ่งขณะนั้นปิยรัฐยังไม่ได้ถ่ายภาพเพียงแต่เดินเฉียดไป ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวบนแท็กซี่ โทรศัพท์มือถือของปิยรัฐถูกยึดเพื่อไปทำการตรวจสอบ ปิยรัฐระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่บอกกับตนว่าหากไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบโทรศัพท์จะให้ทหารพาไปสอบในค่าย อย่างไรก็ตามในภายหลังไม่พบว่ามีข้อมูลผิดกฎหมายในโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่จึงคืนให้ พร้อมทั้งซื้ออาหารมาให้และปล่อยตัวกลับบ้านโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา ซึ่งปิยรัฐโพสต์ข้อความอีกครั้งว่าตนกลับถึงบ้านในเวลาประมาณ 22 นาฬิกาโดยปลอดภัย
เจ้าหน้าที่วางกำลังบริเวณป้ายแยกราชประสงค์และกั้นรั้วไม่ให้คนเข้าไปทำกิจกรรม ภาพจากประชาไท
งานรำลึก 3 ปีรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ขอให้งดพูด 3 คำ
วันที่ 20 พฤษภาคม 2560 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไปพบชลธิชา สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยที่งานศพของน้องชายชลธิชา เพื่อพูดคุยขอให้ยกเลิกการจัดงาน “Army 360 องศา : ทหารไทยทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด” โดยอ้างเหตุด้านความปลอดภัยและงานพระราชพิธี หากไม่ยกเลิกหรือย้ายสถานที่จัดงานจะควบคุมตัวชลธิชา อย่างไรก็ตามหลังการเจรจาเจ้าหน้าที่ยอมให้จัดงานโดยมีเงื่อนไขห้ามมีคำว่า “เผด็จการ และคสช.” บนโปสเตอร์งาน หลังจากนั้นในวันที่ 21 และ 22 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันงาน เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจมาตรวจสอบเอกสารที่ใช้ในกิจกรรม และไม่อนุญาตให้แจกเอกสาร ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นและเหตุการณ์อื่นๆที่เกิดขึ้นในช่วงสามปีของคสช.
ระหว่างการเสวนาในวันที่ 21 พฤษภาคม 2560 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาประมาณ 40 – 50 คนโดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาถ่ายภาพและวิดีโอด้วย เจ้าหน้าที่ยังห้ามไม่ให้วิทยากรพูดคำว่า “รัฐประหาร เผด็จการ และคสช.” ด้วยเพราะเป็นคำที่มีปัญหาด้านความมั่นคง ผู้ร่วมการเสวนาจึงใช้วิธีเขียนคำดังกล่าวบนกระดาษแล้วชูแทนการพูด เจ้าหน้าที่ยังขอไม่ให้ผู้จัดงานนำเสนอบอร์ดนิทรรศการที่พูดถึงการคอร์รัปชั่นของครอบครัวจันทร์โอชาที่ได้เตรียมไว้ด้วย
ผู้เข้าร่วมการเสวนาเขียนคำที่เจ้าหน้าที่ไม่ให้พูดบนกระดาษชูแทนการพูดออกเสียง ภาพจากเฟซบุ๊ก Noppakow Kongsuwan
ความเคลื่อนไหวคดี 112
จำเลยคดี 112 สองคนรับสารภาพหลังถูกคุมขังระหว่างคดีอย่างยาวนาน
วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ศาลทหารกรุงเทพนัดจำเลยคดีมาตรา 112 สองคนมาเพื่อสืบพยาน คือ “ขวัญใจ” จำเลยคดีเครือข่ายบรรพต และวิชัย จำเลยคดีปลอมเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จำเลยทั้งสองคนตัดสินใจกลับคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพเนื่องจากการพิจารณาใช้เวลานานและทั้งสองไม่ได้รับการประกันตัวนะหว่างสู้คดี โดย “ขวัญใจ” ถูกคุมขังเป็นเวลาประมาณสองปีสี่เดือนกว่าจะมีการสื่บพยานนัดแรก ขณะที่วิชัยถูกคุมขังเป็นเวลาประมาณหนึ่งปีสองเดือน ก่อนจะมีการสืบพยาน (ดูรายงานพิเศษ “ต้นปี 2560 จำเลย 112 ทยอย ‘ยอมแพ้’ หลังคดีพิจารณานาน หวังอภัยโทษออกเร็วกว่า“) คดีของ “ขวัญใจ” ศาลมีคำพิพากษาทันทีให้จำคุกสิบปีแต่จำเลยรับสารภาพลดโทษเหลือห้าปี ส่วนคดีของวิชัยศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 9 มิถุนายน 2560
ไม่ให้ประกันทนายประเวศ – อาจารย์มหาลัย
ตามที่มีข่าวว่าในวันที่ 29 เมษายน 2560 บุคคลรวมหกคนถูกควบคุมตัวจากบ้านไปค่ายทหาร โดยติดต่อญาติไม่ได้ ซึ่งมีประเวศ ทนายที่ว่าความให้จำเลยคดี 112 อย่างน้อยสองคน และมักใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะวิจารณ์การเมืองรวมอยู่ด้วย ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 บุคคลทั้งหกถูกคุมตัวมาที่ศาลอาญาในช่วงเย็นเพื่อทำการฝากขังโดยถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
จากการตรวจสอบเบื้องต้นในบรรดาบุคคลหกคน ประเวศถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมสิบกรรมจากการโพสต์ข้อความในลักษณะที่อาจเป็นการวิจารณ์การเมืองและพระมหากษัตริย์รวมสิบข้อความ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมสามกรรมจากการโพสต์ข้อความตั้งคำถามถึงระบอบการปกครอง
ดนัยผู้ถูกควบคุมตัวอีกคนหนึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112 และ 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เช่นเดียวกับประเวศแต่ไม่มีรายละเอียดการกระทำที่ทำให้มีการตั้งข้อกล่าวหา ส่วนบุคคลอีกสี่คนที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งในวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 ศาลมีคำสั่งให้ฝากขังบุคคลทั้งหกคนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นคำร้องขอประกันตัวหนึ่งในหกผู้ถูกควบคุมตัวซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่งซึ่งศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและการกระทำของผู้ต้องหาก่อให้เกิดความเสื่อมเสียกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นคำร้องขอไต่สวนคัดค้านการฝากขังประเวศต่อเป็นผลัดที่สองและยื่นขอประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งราชการของเพื่อนของประเวศเป็นหลักประกัน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้อนุญาตให้ฝากขังประเวศต่อเป็นผลัดที่สอง โดยไม่อนุญาตให้ประกันตัว
ในเดือนพฤษภาคมยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 อีกอย่างน้อยหนึ่งประเด็น คือ กรณีที่เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่าอาจมีการหาเครื่องมือมาระบุตัวตนผู้ที่เข้าไปอ่านเนื้อหาบนโลกออนไลน์ที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112
พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า คดีมาตรา 112 มีผู้เกี่ยวข้องสามส่วนคือผู้ผลิตเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ผู้ชมที่แสดงความคิดเห็น แชร์ หรือกดไลค์ และผู้อ่านที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ แต่เข้าไปดูเฉยๆ ซึ่งกลุ่มแรกบางส่วนอยู่ต่างประเทศมีความยากลำบากในการติดตามตัว กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่อยู่ในประเทศซึ่งมีการดำเนินคดีกับบุคลบางส่วนแล้ว ซึ่งมักอ้างว่าทำไปโดยไม่รู้ตัว ส่วนกลุ่มที่สามเพียงแค่ติดตามดูโดยไม่แสดงความคิดเห็นซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังหาเครื่องมือระบุตัวตนว่าคนเหล่านี้เป็นใคร และทำไมจึงชอบเข้าไปดูเนื้อหาเหล่านั้น
ห้ามจัดงานเสวนาหมุดคณะราษฎร/ค้นบ้านและเชิญนักการเมือง’เพื่อไทย’เข้าค่าย – ความเคลื่อนไหวประเด็นเสรีภาพอื่นๆ
วันที่ 3 พฤษภาคม 2560 สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ประกาศยกเลิกการเสวนาเรื่องการหายไปของหมุดคณะราษฎร หลังจากเจ้าหน้าที่สน.ลุมพินีแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแสดงความกังวลว่าการเสวนาในประเด็นดังกล่าวจะกระทบต่อความมั่นคง
วันที่ 27 พฤษภาคม 2560 สุชาติ ลายนำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารมาทำการตรวจค้นบ้านพรรคของตนและยึดหนังสือ “ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา” ที่ตนเขียนไป 190 เล่ม
วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 อัยการศาลจังหวัดพระโขนง มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง “แจ่ม” ในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) และ (3) จากกรณีโพสต์ข้อความเรื่องการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยชี้ว่าไม่มีพยานยืนยันว่า ข้อความที่ผู้ต้องหาโพสต์เป็นเท็จหรือไม่ และขณะเกิดเหตุประชาชนทั่วไปกำลังสนใจเรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์ การกระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ แม้ว่าข้อความดังกล่าวอาจจะเป็นการใส่ความพล.อ.ประวิตร วงษ์สุววรณ และพล.อ.พิสิทธิ์ เข้าลักษณะหมิ่นประมาท แต่เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์จึงไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้
วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 วัน อยู่บำรุง อดีตผู้สมัครสสพรรคเพื่อไทยถูกเชิญตัวไปพูดคุยที่กองทัพภาคที่หนึ่งหลังโพสต์ข้อความวิจารณ์ผู้นำรัฐบาลด้วยถ้อยคำรุนแรง
ในวันเดียวกันศาลแขวงดุสิต พิพากษายกฟ้อง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติรวมสิบคนซึ่งมีพล.ต.จำลอง ศรีเมือง, สนธิ ลิ้มทองกุล,และประพันธ์ คูณมี รวมอยู่ด้วย ในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศ และข้อกำหนดห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่หรือสถานที่ที่กำหนด ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยให้เหตุผลว่า การประกาศห้ามเข้าพื้นที่ตามพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาหลังจากพวกจำเลยเข้าไปชุมนุมในพื้นที่แล้ว จึงไม่สามารถบังคับโทษได้