รายงานประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2560
กุมภาพันธ์ 2560: ศาลฎีกาลดโทษสมยศ – ยกฟ้องสนธิคดี 112 – ระดมอำนาจพิเศษสลายการชุมนุมค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
เดือนแห่งความรักประจำปี 2560 สถานการณ์คดีมาตรา 112 ดูเหมือนจะผ่อนคลายลงในระดับหนึ่งเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องคดีของสนธิ ลิ้มทองกุลและให้ลดโทษคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข แต่สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกในภาพรวมก็ไม่ได้ผ่อนคลายลงเสียทีเดียว เพราะมีทั้งกรณีที่ศาลจังหวัดขอนแก่นไม่อนุญาตให้ประกันตัว “ไผ่ ดาวดิน” จำเลยคดี 112 จากกรณีแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่สิบจากเว็บไซต์บีบีซีไทย ขณะที่การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหว เรื่องทรัพยากรภาคใต้ก็ถูกจำกัดด้วยการใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯและคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่3/2558 ยุติการชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่ รวมถึงการสกัดกั้นและเรียกกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างเขื่อนท่าแซะในจังหวัดชุมพรเข้ารายงานตัวในค่ายทหาร
ความเคลื่อนไหวคดีมาตรา 112
คำพิพากษาศาลฎีกาเป็นคุณ คดีสนธิยกฟ้อง คดีสมยศลดโทษ
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 914 ศาลอาญา ศาลฎีกานัดสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ซึ่งสนธิถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดด้วยการนำคำปราศรัยของดา ตอร์ปิโด มากล่าวซ้ำระหว่างการปราศรัยบนเวทีพันธมิตรเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนาจะดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่มีเจตนาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจับกุมดา ตอร์ปิโด ซึ่งกล่าวคำปราศรัยเมื่อสองถึงสามวันก่อนวันเกิดเหตุในคดีนี้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนา พิพากษายกฟ้อง
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 26 กันยายน 2555 ศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษายกฟ้องสนธิ โดยให้เหตุผลว่า การปราศรัยของสนธิไม่ได้มีการขยายความคำพูดของดา ตอร์ปิโด แต่เป็นการถอดข้อความบางตอนมาสรุปให้ประชาชนฟัง ขณะที่พยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เบิกความว่า การปราศรัยของจำเลยมีลักษณะเป็นการเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับดา ตอร์ปิโด จำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำความผิด ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นพิพากษาให้จำเลยมีความผิด เพราะเห็นว่าจำเลยสามารถปราศรัยให้ประชาชนรับรู้ว่า ดา ตอร์ปิโดทำความผิดได้ โดยไม่ต้องนำคำพูดมากล่าวซ้ำ การที่จำเลยนำคำมากล่าวซ้ำ ทำให้ประชาชนที่ไม่เคยรับทราบได้ทราบถึงข้อความ จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จนกระทบต่อสถาบันฯ การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นความผิด พิพากษาจำคุกสามปี แต่ลดโทษเหลือสองปีเพราะจำเลยให้การเป็นประโยชน์ ระหว่างการสู้คดีในชั้นศาลฎีกา สนธิได้รับอนุญาตให้ประกันตัวโดยวางเงินประกัน 500,000 บาท
ดูรายละเอียดคดีของสนธิ ที่นี่
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 เวลาประมาณ 9.50 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 911 ศาลฎีกานัดสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการวารสาร Voice of Taksin ฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ซึ่งสมยศถูกกล่าวหาว่า ทำความผิดจากการเผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯสองชิ้นในวารสาร Voice of Taksin ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยประเด็นที่สมยศต่อสู้ว่า เนื้อหาของบทความไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าสมยศอายุมากแล้วและรับโทษมาพอสมควรจึงลดโทษจำคุกตามมาตรา 112 จากสิบปีเหลือหกปีซึ่งเมื่อรวมกับโทษจำคุกหนึ่งปีจากการหมิ่นประมาทพล.อ.สพรั่ง กัลญาณมิตรที่เคยถูกรอลงอาญาไว้ รวมแล้วสมยศจะต้องรับโทษจำคุกทั้งหมดเป็นเวลาเจ็ดปี โดยลดลงสี่ปีจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เคยวางโทษทุกข้อกล่าวหาไว้ที่ 11 ปี
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
นับถึงวันที่ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา สมยศ ถูกควบคุมระหว่างการรอพิจารณาคดีเป็นเวลา ห้าปี เก้าเดือน 24 วัน เหลือเวลาที่ต้องจำคุกอีกราว 14 เดือน โดยเขาถูกจับกุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ที่ด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และไม่เคยได้รับการประกันตัวอีกเลย แม้ว่าจะพยายามขอประกันตัวมาถึง 16 ครั้ง เนื่องจากศาลระบุว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและอาจมีพฤติการณ์หลบหนี
ดูรายละเอียดคดีสมยศเพิ่มเติม ที่นี่
ศาลจังหวัดขอนแก่นรับฟ้องไผ่ดาวดิน ไม่ให้ประกัน – พิจารณาลับ/ ช่างแว่นเชียงรายปฏิเสธข้อกล่าวหาเตรียมสู้คดีในศาลทหารเชียงราย
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลจังหวัดทหารบกเชียงรายนัดสอบคำให้การสราวุธิ์ ช่างตัดแว่นชาวจังหวัดเชียงรายที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ภาพและข้อความที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สิบ ครั้งที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์รัชทายาท สราวุธิ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดีในชั้นศาล ศาลจังหวัดทหารบกเชียงรายนัดคู่ความตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 เมษายน 2560
สราวุธิ์ถูกจับกุมในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 โดยเจ้าหน้าที่นำกำลังกว่าสิบนายไปควบคุมตัวเขาที่บ้านในช่วงเช้า ในการควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและแฟรชไดร์ฟไปด้วย สราวุธิ์ได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน โดยยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา ต่อมาในวันที่ 11 ตุลาคม 2559 สราวุธิ์เข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองเชียงรายเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยหนึ่งในหลักฐานที่เจ้าหน้าที่นำมาให้ดูคือภาพสลาตัน อิบราฮิโมวิช นักฟุตบอลทีมชาติสวีเดนที่มีรอยสักตามร่างกาย ซึ่งสราวุธิ์โพสต์ข้อความประกอบภาพที่เป็นเหตุแห่งคดีไว้ สราวุธิ์ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนและถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดทหารบกเชียงรายในวันเดียวกัน สราวุธิ์วางเงิน 400,000 บาทต่อศาลเพื่อประกันตัว แต่ถูกยกคำร้องและถูกควบคุมตัวในเรือนจำจังหวัดเชียงรายจนกระทั่งได้รับการประกันตัวในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 รวมถูกคุมขัง 38 วัน
ดูรายละเอียดคดีสราวุธิ์เพิ่มเติม ที่นี่
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 อัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้องจตุภัทร์ในความผิดตามมาตรา 112 ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ต่อมาในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลจังหวัดขอนแก่นเบิกตัวจตุภัทร์จากเรือนจำมาสอบคำให้การ มีประชาชนกลุ่มหนึ่งมารอให้กำลังใจจตุภัทร์ที่ประตูหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำรถเข้าประตูหลังและรีบนำตัวจตุภัทร์ขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดี ซึ่งศาลสั่งพิจารณาลับไม่ให้บุคคลภายนอกยกเว้นพ่อแม่และน้องสาวของจตุภัทร์เข้าไปร่วมฟังการพิจารณา ในการสอบคำให้การจตุภัทร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลนัดคู่ความตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 มีนาคม 2560 ต่อมาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 จตุภัทร์ยื่นประกันตัวเป็นครั้งที่เจ็ดโดยวางเงินประกัน 700,000 บาท แต่ศาลจังหวัดขอนแก่นยกคำร้องประกันตัวของจตุภัทร์
ดูรายละเอียดคดีจตุภัทร์เพิ่มเติม ที่นี่
ความเคลื่อนไหวคดีเสรีภาพอื่นๆ
สั่งปรับ ‘ทนายอานนท์’ หนึ่งพันบาทจัดชุมนุมไม่แจ้ง – จ่านิวปฏิเสธข้อกล่าวหาคดีฝ่าฝืน MOU – สามนักสิทธิขอความเป็นธรรมจากอัยการหลังตำรวจสั่งฟ้องจากกรณีเผยแพร่รายงานซ้อมทรมาน
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 เวลาประมาณ 10.15 น. ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาคดีอานนท์ นำภาจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม (คดีที่หนึ่ง) โดยศาลพิพากษาว่าอานนท์มีความผิดตามมาตรา 10 วรรค 1 มาตรา 12 วรรค 1 และมาตรา 28 ลงโทษปรับ 1000 บาท
ศาลสั่งปรับอานนท์ นำภา หนึ่งพันบาทฐานผิดพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 19 เมษายน 2559 อานนท์และกลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมยืนเฉยๆที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อเรียกร้องให้คสช.ปล่อยตัว วัฒนา เมืองสุข ซึ่งถูกเรียกรายงานตัวในค่ายทหารหลังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในเวลาประมาณ 18.00 น.ของวันเดียวกันอานนท์และพวกอีกสี่คนที่ไปร่วมชุมนุมถูกควบคุมตัวไปที่สน.พญาไท และได้รับการปล่อยตัวในเวลา 20.00 น.โดยไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหา แต่เมื่ออานนท์จัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันอีกครั้งในวันที่ 27 เมษายน 2559 อานนท์ถูกจับกุมตัวอีกครั้งและถูกตั้งข้อหาทั้งจากการกระทำในวันที่ 27 เมษายน 2559 รวมทั้งถูกตั้งข้อหาย้อนหลังในคดีนี้ด้วย
ดูรายละเอียดคดีอานนท์เพิ่มเติม ที่นี่
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 พนักงานสอบสวนนัด พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรมและอัญชนา หีมมิหน๊ะจากกลุ่มด้วยใจเข้าพบเพื่อส่งตัวฟ้องต่ออัยการจังหวัดปัตตานี โดยนักสิทธิทั้งสามถูกกอ.รมน.ภาคสี่ส่วนหน้าร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯจากการเผยแพร่รายงานเรื่องการซ้อมทรมานในประเทศไทย ในการเข้าพบอัยการครั้งนี้ผู้ต้องหาทั้งสามยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับอัยการจังหวัดปัตตานีระบุว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญาก็มุ่งคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลไม่ให้ถูกละเมิด แต่ไม่ได้มุ่งคุ้มครองนิติบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐจากการถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ กอ.รมน.ซึ่งเป็นผู้ฟ้องจึงมิใช่ผู้เสียหาย อัยการนัดผู้ต้องหาทั้งสามเข้าพบอีกครั้งในวันที่ 21 มีนาคม 2560
ดูรายละเอียดคดีของสามนักสิทธิเพิ่มเติม ที่นี่
ในวันเดียวกันศาลทหารกรุงเทพนัดสิรวิชญ์หรือ ‘จ่านิว’ นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาสอบคำให้การในคดีที่สิรวิชญ์ฝ่าฝืน MOU ที่ทำกับเจ้าหน้าที่ทหารด้วยการไปร่วมชุมนุมในกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 สิรวิชญ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การในวันที่ 19 เมษายน 2560
คดีนี้สืบเนื่องจากในวันที่ 22 มิถุนายน 2557 สิรวิชญ์ไปร่วมกิจกรรมกินแซนด์วิชต้านรัฐประหารที่สยามพารากอน สิรวิชญ์และพวกรวมเจ็ดคนถูกควบคุมตัวจากสถานที่ชุมนุมไปที่สโมสรกองทัพบกถนนวิภาวดี สิรวิชญ์ได้รับการปล่อยตัวประมาณตีสองของวันที่ 23 มิถุนายน 2557 ก่อนได้รับการปล่อยตัวสิรวิชญ์ต้องลงชื่อในข้อตกลงหรือ MOU กับเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งหนึ่งในข้อตกลงคือ ห้ามชุมนุมทางการเมือง สิรวิชญ์ระบุว่าหากไม่ลงชื่อใน MOUวันนั้นเจ้าหน้าที่ทหารจะพาไปขังที่กองปราบ
ต่อมาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 สิรวิชญ์ร่วมกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลักและถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ในวันที่ 8 มีนาคม 2559 สิรวิชญ์เข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันและถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน MOU เพิ่มเติม
ดูรายละเอียดคดีของสิรวิชญ์ ฝ่าฝืน MOU เพิ่มเติม ที่นี่
รัฐเข้ม!ระดมสารพัดมาตรการสกัดเสรีภาพการแสดงออก
ในเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่มีการเคลื่อนไหวประเด็นการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในภาคใต้อย่างน้อยสองกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออกได้แก่ การเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่และการเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะในจังหวัดชุมพร
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 เครือข่ายปกป้องอันดามันประมาณ 100 คนชุมนุมที่บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) เพื่อคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ เมื่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนตัวออกมาที่บริเวณทางเท้าข้างทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมโดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยศาลนัดไต่สวนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560
คำร้องขอให้ศาลแพ่งสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมโดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
ในช่วงค่ำวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ปิดถนนพิษณุโลกด้านข้างทำเนียบรัฐบาลและวางแผงกั้นบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมออกไปทำธุระส่วนตัวหรือรับประทานอาหาร บางคนออกที่ออกไปได้ก็ไม่สามารถกลับเข้ามาในพื้นที่ได้อีก
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแกนนำห้าคน ได้แก่ ประสิทธิชัย, อัครพงศ์, ม.ล.รุ่งคุณ, บรรจง และธัชพงศ์ รวมทั้งมีการจับน.ศ. ม.รังสิตอีกสองคนที่ตะโกนว่า “ขายชาติๆ”ในที่ชุมนุมไปด้วย และในเวลาต่อมาก็มีการจับกุมผู้ชุมนุมอีก 12 คน น่าสังเกตว่าในการจับกุมผู้ชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งว่า ใช้อำนาจใดเข้าจับกุม เมื่อทนายสอบถามจึงตอบว่าเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 หรือ คำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ในจำนวนผู้ชุมนุม 19 คนที่ถูกจับกุม ผู้ชุมนุม 14 คนได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันส่วนแกนนำห้าคนยังไม่ได้รับการปล่อยตัว
บรรยากาศการชุมนุมที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 แกนนำทั้งห้าคนได้รับการปล่อยตัว โดยมีการแถลงข่าวร่วมกับทหารและตำรวจถึงข้อตกลงการยอมถอยกลับเข้าสู่กระบวนการทำรายงาน EHIA ใหม่อีกครั้ง ซึ่งแกนนำก็แถลงยุติการชุมนุมหลังบรรลุข้อตกลง ในการแถลงข่าวทหารระบุถึงเหตุที่จับกุมผู้ชุมนุมว่า เกิดจากการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯที่ออกนอกพื้นที่อนุญาต อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯไม่ได้ให้อำนาจการจับกุมเข้าค่ายทหารแก่เจ้าหน้าที่ในขั้นนี้
ต่อมาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลแพ่งนัดผู้จัดการชุมนุมและพนักงานสอบสวนสน.ดุสิตไต่สวนคำร้องที่พนักงานสอบสวนร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม แต่เนื่องจากผู้ชุมนุมได้ยุติการชุมนุมไปตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 แล้ว พนักงานสอบสวนจึงขออนุญาตศาลถอนคำร้อง ศาลอนุญาตและสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบ
อีกเหตุการณ์คือ การต่อต้านเขื่อนท่าแซะ จังหวัดชุมพร วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา9.30 น. ชาวบ้านตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพรประมาณ 30 คน เดินทางมายื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอให้ตรวจสอบการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องการสร้างเขื่อนท่าแซะในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งผู้มายื่นหนังสือเห็นว่าการจัดการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่รอบด้าน
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560 ชาวบ้านท่าแซะที่ได้รับผลกระทบจากแผนการสร้างเขื่อนประมาณ 200 คนตกลงกันว่าจะมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมที่กรุงเทพฯ ต่อมาช่วงเย็นของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ทหารประมาณสามนายเข้ามาที่บ้านของชาวบ้านส่วนหนึ่งและแจ้งว่าจะเชิญชาวบ้าน 15 คนไปพูดคุยที่มณฑลทหารบกที่ 44 แต่ชาวบ้านต่อรองว่าจะเดินทางไปพบเองในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560
วันถัดมาชาวบ้านทั้ง 15 คนเดินทางไปที่มณฑลทหารบกที่ 44 พร้อมด้วยชาวบ้านอีกกว่า 200 คนตามเข้าค่ายไปให้กำลังใจ เย็นวันเดียวกันชาวบ้านกว่า 200 ว่าจ้างรถบัสสามคันเพื่อถวายสักการะพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าและยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม แต่ระหว่างที่รถบัสจอดรอชาวบ้านมีเจ้าหน้าที่ทหารมาควบคุมตัวคนขับรถบัสทั้งสามคันไปที่ค่าย ชาวบ้านจึงต้องเปลี่ยนแผนเป็นให้ตัวแทนราว 30 คนใช้รถตู้และรถส่วนตัวเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อยื่นหนังสือแทน