สถานการณ์ปี 2559 4/5: ความเงียบภายใต้อำนาจเด็ดขาด

ตลอดเวลากว่าสองปีเจ็ดเดือนที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมาย ทั้งกฎหมายอาญา ประกาศ/คำสั่ง คสช. รวมทั้งกฎหมายที่ออกใหม่ในปี 2559 อย่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้การแสดงออกของประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นการเมือง และประเด็นทางสังคมค่อยๆ เงียบลง

 

ประชามติในความเงียบงัน

บรรยากาศก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นไปอย่างเงียบงัน ฝ่ายรัฐใช้ช่องทางหลากหลายให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายที่เห็นต่างกลับถูกทำให้เงียบด้วยกฎหมายหลายๆ ฉบับ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ถูกนำมาใช้อย่างหนักในช่วงก่อนลงประชามติ มีคนอย่างน้อย 114 คนถูกดำเนินคดี ส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีจากการร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในหลายจังหวัด มีอย่างน้อย 11 คนที่ถูกตั้งข้อหาเพราะจัดเสวนาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ มีอย่างน้อย 20 คนถูกตั้งข้อหาเพราะแจกใบปลิวรณรงค์โหวตโน

มาตรา 61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ซึ่งกำหนดว่า ผู้ใดเผยแพร่ภาพหรือเนื้อหาในช่องทางต่างๆ ในลักษณะผิดจากข้อเท็จจริง รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ เพื่อหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปทางใดทางหนึ่งหรือไม่ไปออกเสียงมีโทษจำคุกสูงสุดสิบปี

เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ถูกใช้ดำเนินคดีกับผู้แสดงออกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 38 คน โดยพฤติการณ์ที่ทำให้ถูกดำเนินคดีมีทั้งการแจกใบปลิวโหวตโน การประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญบนเฟซบุ๊ก เป็นต้น นอกจากนี้กิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ยังถูกปิดกั้น-แทรกแซงอย่างน้อย 19 ครั้ง 

กลุ่มประชาชนซึ่งถูกดำเนินคดีจากการร่วมถ่ายภาพป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอบ้านโป่ง เข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนที่ สภ.บ้านโป่ง 10 กรกฎาคม 2559 (ภาพจากประชาไท)

 

ปิดกั้น แทรกแซง ดำเนินคดี กระชับพื้นที่ทำกิจกรรมของประชาชน

การจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ก็ยังถูกปิดกั้น-แทรกแซงต่อเนื่องมาจากปีก่อนๆ ในปี 2559 มีการปิดกั้นกิจกรรมทั้งกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และกิจกรรมเสวนาอย่างน้อย 34 ครั้ง หลากหลายประเด็น เช่น

กิจกรรมสันติสุขชายแดนใต้ที่มัสยิดกรือเซะถูกห้ามจัดเพราะไม่ได้ประสานงานกับ กอ.รมน. กิจกรรมร้องเพลงรำลึกสิบปีรัฐประหาร 2549 ถูกเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกโดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ สน.ลุมพินีสั่งยกเลิกงานแถลงข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาโรฮิงญาต่ออองซานซูจีที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

อำนาจหรือวิธีการที่ใช้ปิดกั้น พัฒนาตัวขึ้นอีกหลายรูปแบบ ทหารพยายามจะออกหน้าให้น้อยลง และอ้างอิงอำนาจตามกฎหมายอื่นๆ เช่น งานแถลงข่าวสถานการณ์การซ้อมทรมานในประเทศไทย ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานว่า หากผู้เชี่ยวชาญขึ้นพูดจะถูกจับเพราะไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือการห้าม โจชัว หว่อง นักกิจกรรมชาวฮ่องกงเข้าประเทศเพื่อมาร่วมงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นต้น

การดำเนินคดีและการปิดกั้นแทรกแซงที่ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่สาม ทำให้คนไม่กล้าคิดริเริ่ม หรือลงมือจัดกิจกรรม ยิ่งหลักเกณฑ์และวิธีการในการปิดกั้นไม่ชัดเจน ยิ่งสร้างความกลัวในการพูดถึงปัญหาสังคมการเมืองทำได้ยากและมีต้นทุนสูงขึ้น

 

คดีมาตรา 112 กับความเงียบช่วงปลายปี

ในปี 2559 ก่อนถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เท่าที่ยืนยันได้มีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มอีกอย่างน้อย 7 คน อาจกล่าวได้ว่า ลดลงกว่าปี 2557-2558 ซึ่งนับรวมได้อย่างน้อย 64 คน ในปีนี้สถิติที่ศาลให้ประกันตัวยังเพิ่มสูงขึ้น โดยก่อนวันที่ 13 ตุลาคม 2559 บุคคลเจ็ดคนที่ถูกตั้งข้อหาได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีรวมหกคน และยังมีนักโทษอย่างน้อยเก้าคนได้รับการปล่อยตัว เพราะได้รับการลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษที่ออกในเดือนสิงหาคม 2559

สถานการณ์มาตรา 112 ดูจะผ่อนคลายลงบ้าง จนกระทั่งสำนักพระราชวังประกาศการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 บรรยากาศแห่งความโศกเศร้ากลับเร่งเร้าให้การดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การแสดงความเห็นของคนบางส่วนกลับเปลี่ยนความเศร้าให้เป็นความโกรธและนำไปสู่ความรุนแรง เช่น กรณีร้านน้ำเต้าหู้ถูกล้อมที่จังหวัดภูเก็ต กรณีหนุ่มโรงงานถูกรุมทำร้ายร่างกายที่จังหวัดชลบุรี เป็นต้น

จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ หลังวันที่ 13 ตุลาคม 2559 มีการตรวจพบผู้กระทำความผิดคดี 112 ใหม่ 25 คนและจับกุมได้แล้ว 10 คน แต่ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ สถานการณ์ช่วงท้ายปีแถมด้วยปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่เรียกตัวบุคคลจำนวนมากไปปรับทัศนคติ เพราะกดไลค์เฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาอ่อนไหว ทำให้ทุกอย่างกลับไป “เงียบสนิท” และแนวโน้มสถานการณ์ในปีหน้าอาจจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้อีก

 

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เครื่องดูดเสียงนักปกป้องสิทธิ

ในปี 2559 มีคดีใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น นักสิทธิมนุษยชนสามคนถูกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแจ้งความดำเนินคดีจากการเผยแพร่รายงานการซ้อมทรมานในประเทศไทย, ญาติของทหารเกณฑ์ซึ่งเสียชีวิตก็ถูกทหารแจ้งความดำเนินคดี จากการแชร์ข่าวบนเฟซบุ๊กและแสดงความเห็นพาดพิงนายทหารบางนายว่าอาจมีส่วนรับผิดชอบ,บริษัทเจ้าของเหมืองทองคำในจังหวัดพิจิตรยื่นฟ้องสมลักษณ์ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากการโพสต์เฟซบุ๊ก แยกเป็น 3 คดี โดยศาลยกฟ้องไปแล้ว 2 คดี เหลืออีก 1 คดีที่ศาลจังหวัดพิจิตรสั่งรับฟ้อง ขณะที่บริษัทเจ้าของเหมืองทองคำในจังหวัดเลยยื่นฟ้องสำนักข่าวไทยพีบีเอส จากการรายงานข่าวเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้อง

อานดี้ ฮอลล์ จำเลยคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลาสามปี ปรับเป็นเงิน 150,000 บาท จากการเผยแพร่รายงานเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในโรงงานเนเชอรัลฟรุต

กรณีที่ฮือฮาในปี 2559 คือ คำพิพากษาในคดีของอานดี้ ฮอลล์ ที่ถูกโรงงานสับปะรดฟ้องจากการเผยแพร่งานวิจัยว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในโรงงาน ศาลสั่งให้จำคุกจำเลยเป็นเวลาสามปีและปรับเป็นเงิน 150,000 บาท รอลงอาญา

และยังมีคดีความที่นักกิจกรรมทางสังคมถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดปาก การเคลื่อนไหวแทบจะเกิดขึ้นทั่วๆ ไปในทุกพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage