สถานการณ์ปี 2559 3/5: ความเงียบที่ถูกบังคับโดยสถานการณ์

หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เกิดความโศกเศร้าไปทั่วทุกหนแห่ง และเกิดกระแสไล่ล่าผู้ที่โพสต์ความเห็นในโลกออนไลน์ในลักษณะที่ผู้อ่านตีความด้วยตนเองว่า ไม่จงรักภักดีและอาจเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ การไล่ล่าด้วยข้อกล่าวหา “ไม่จงรักภักดี” ต่างจากที่ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการสืบสวนจับกุมเองหรือมีประชาชนไปร้องทุกข์กล่าวโทษเท่านั้น แต่เกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นคือ การรวมตัวของประชาชนจำนวนมากไปล้อมบ้านของผู้ถูกกล่าวหาในยามวิกาล เพื่อเรียกร้องให้ผู้ถูกกล่าวหาออกมามอบตัวและเพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่นำบุคคลดังกล่าวไปดำเนินคดี บางกรณีมีการทำร้ายร่างกายผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งการคุกคามครอบครัวและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ข้อกล่าวหาไม่จงรักภักดีกลายเป็นกำแพงบดบังข้อเท็จจริงที่ว่า บุคคลเหล่านั้นยังไม่ถูกพิสูจน์ความผิดตามกระบวนการยุติธรรม และแม้ที่สุดเขาอาจจะถูกตัดสินว่าผิด แต่ก็ยังมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องโทษคดีอาญา ซึ่งรวมถึงการได้รับการคุ้มครองจากการทำร้ายร่างกาย

กระแสการไล่ล่าผู้แสดงความเห็น หรือที่เรียกว่า “ล่าแม่มด” ที่มีการติดตามหรือทำร้ายร่างกายผู้ที่สังคมเห็นว่าทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ดำเนินอยู่ราวสองสัปดาห์ก่อนค่อยๆ เงียบลง แม้จะเป็นกระแสที่คงอยู่ไม่นานนักแต่สร้างความหวาดกลัวให้คนในสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ หลายคนอาจจะต้องการแสดงความคิดเห็นที่แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่จำเป็นต้องเลือกสร้างระยะปลอดภัยของตัวเองโดยไม่พูดความในใจ จนอาจจะกล่าวได้ว่าความเกรี้ยวกราดและกระแสการล่าแม่มดทำให้เกิดความเงียบในสังคมไทย

หลังการสวรรคต พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า รวมทั้งข่าวเกี่ยวกับพระราชพิธีพระบรมศพคือเนื้อหาที่ได้รับการตีพิมพ์และรายงานอย่างต่อเนื่องในหน้าหนังสือพิมพ์

 

การรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ในสภาวะไม่ปกติ

เมื่อพิจารณาภูมิทัศน์ของสื่อในการรายงานข่าวปรากฏการณ์การล่าแม่มด จากหนังสือพิมพ์เจ็ดหัวประกอบด้วย แนวหน้า บ้านเมือง ไทยรัฐ มติชน ข่าวสด คมชัดลึก และเดลินิวส์ ระหว่างวันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม 2559 – วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2559 พบว่าพื้นที่ข่าวมีน้อยมาก เหตุที่เลือกหนังสือพิมพ์เนื่องจากเป็นสื่อที่มีลักษณะของการประมวลภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในแต่ละวันและสามารถประเมินปริมาณของข่าวในแต่ละวันได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าสื่อชนิดอื่น

คืนวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559 เป็นครั้งแรกที่มีข่าวการไล่ล่าผู้โพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ ที่จังหวัดภูเก็ต มีการปิดล้อมบ้านผู้ถูกกล่าวหาโดยมีการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ รวมทั้งการส่งต่อข้อมูลบนโลกออนไลน์ แต่วันต่อมากลับไม่พบว่ามีหนังสือพิมพ์ฉบับใดรายงานข่าวดังกล่าว โดยอาจเป็นเพราะการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าเป็นประเด็นที่ประชาชนสนใจมากกว่าประเด็นอื่นๆ

ในวันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2559 หนังสือพิมพ์มติชนเป็นฉบับเดียวที่รายงานข่าวการล่าแม่มด โดยรายงานจากข้อเท็จจริงของฝ่ายผู้กล่าวหาและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งข้อมูลจากผู้สื่อข่าวภาคสนามที่สังเกตการณ์บริเวณบ้านของผู้ถูกกล่าวหา แต่ยังไม่ปรากฏในหนังสือฉบับอื่น บางฉบับพื้นที่ข่าวทั้งหมดเป็นข่าวการสวรรคตและข่าวของพระบรมวงศานุวงศ์ ขณะที่บางฉบับให้น้ำหนักไปที่ข่าวการสวรรคต แต่ยังมีข่าวอื่นๆ ด้วย เช่น ข่าวต่างประเทศ ข่าวเศรษฐกิจ และข่าวกีฬา

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2559 หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นเริ่มรายงานข่าวประเด็นนี้ เนื้อหาของข่าว ส่วนใหญ่เป็นมุมมองผู้มีอำนาจรัฐ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

จากการทบทวนเนื้อหาหนังสือพิมพ์ยังพบว่า มีผู้ถูกไล่ล่าอีกอย่างน้อยสามกรณีที่หนังสือพิมพ์ไม่ได้รายงาน เช่น กรณีการไล่ล่าผู้โพสต์ในทำนองหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งครอบครัวบอกว่า ผู้ถูกกล่าวหามีอาการทางจิต, การพยายามไล่ล่าผู้หญิงพิการทางสายตาที่โพสต์บทความเข้าข่ายการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่จังหวัดยะลา และการแจ้งความดำเนินคดีต่อทหารรายหนึ่งที่พูดคุยกันภายในกรุ๊ปไลน์ ที่จังหวัดยะลา

บรรยากาศความโศกเศร้าหลังการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า 

 

การกำกับเสรีภาพการแสดงออกด้วยมาตรการทางสังคม

ท่าทีหนึ่งที่บุคคลสำคัญในรัฐบาลออกมาตอบสนองต่อข่าวล่าแม่มดในหน้าหนังสือพิมพ์ คือ ร้องขอให้ประชาชนเงียบแทนการปรามผู้ใช้กำลังหรือท่าทีคุกคาม เช่น สุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในทำนองว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรทำ ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า แม้จะรู้สึกอย่างไรขอให้เก็บไว้ในใจ อย่าแสดงออกโดยไปขัดต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในประเทศ และร้องขอให้เจ้าหน้าที่กวดขันเรื่องข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ยิ่งทำให้บรรยากาศการแสดงความคิดเห็นในสังคมไทยอยู่ในสภาวะเงียบโดยสมบูรณ์แบบ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลเคยให้สัมภาษณ์ขอร้องสื่อมวลชนในทำนองว่า ช่วงเวลานี้ควรจะให้สติแก่สังคมไทยโดยการผลิตรายการที่สร้างสรรค์สังคม อะไรที่เป็นองค์ความรู้ที่อยากให้คนรุ่นหลังรับทราบ ทั้งเรื่องประเพณีไทย เรื่องการสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกต้อง ขอให้ช่วยกันให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย โดยมีการขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้โพสต์ข้อความหรือกระทำในลักษณะที่เป็นการหมิ่นสถาบัน พร้อมระบุว่าหากการกระทำของผู้ใดเข้าข่ายความผิดจะถูกดำเนินคดี

ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมระบุหลังถูกถามถึงกรณีเหตุการณ์ประชาชนล้อมบ้านผู้ถูกกล่าวหาที่จังหวัดภูเก็ตว่า พูดไปหลายครั้งแล้วว่า ไม่มีอะไรดีไปกว่ามาตรการทางสังคม ทำให้มีการตั้งคำถามว่าการให้ความเห็นลักษณะนี้เป็นการออกใบอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงหรือไม่ จน พล.อ.ไพบูลย์ต้องออกมาแก้ต่างภายหลังว่าไม่ได้หมายความเช่นนั้น โดยชี้แจงว่า คำว่ามาตรการทางสังคม คือมาตรการที่ประชาชนมาสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย เพราะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่สามารถที่จะปรับทัศนคติของผู้เห็นต่างได้ 

สำหรับท่าทีของหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ประสานงานผ่านกับตำรวจสากล (Interpol) ในการดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ที่อยู่ต่างประเทศ ส่วนกระทรวงต่างประเทศก็ใช้กลไกการทูตในการติดตามผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่อยู่ในต่างประเทศหรือขอความร่วมมือให้ต่างประเทศช่วยกำชับหรือกำราบผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งการให้ข่าวหรือท่าทีของรัฐในลักษณะนี้ย่อมเป็นการปรามให้ผู้ที่เลือกจะไม่เงียบรู้ว่า พวกเขาอาจมีราคาที่ต้องจ่ายหากเลือกที่จะส่งเสียง

แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะยอมรับการใช้ความรุนแรงผ่านโครงสร้างกฎหมายด้วยการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาอย่างถึงที่สุด แต่ก็พบว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนพยายามให้สัมภาษณ์ทำนองยับยั้งการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกความเห็นว่ามวลชนไม่มีหน้าที่ในการดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาและจะไปทำร้ายผู้อื่นไม่ได้ ขณะที่ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช.ก็เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดการทำร้ายร่างกาย เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ขอความร่วมมือไม่ให้วิวาทหรือใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตามจากการทบทวนการนำเสนอข่าวหนังสือพิมพ์ พบว่าการรายงานข่าวหรือการให้ข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะนี้มีน้อยกว่าประเด็นอื่นๆ อีกสามประเด็นที่เหลือ

 

บล็อกเว็บที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

มีการรายงานว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงดำเนินการป้องปรามเว็บไซต์ที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงการพูดคุยกับกูเกิ้ลว่า หากทางกูเกิ้ลได้รับการร้องเรียนเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมจะพยายามดำเนินการจัดการ ในเรื่องการขอข้อมูลผู้โพสต์ กูเกิ้ลแนะนำว่าจะต้องปรับกระบวนการระหว่างประเทศเพื่อขอข้อมูล ในส่วนของไลน์ เมื่อมีการขอรายชื่อผู้โพสต์หรืออีเมลที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยหรือการทำความผิดตามกฎหมายไทย ไลน์ก็จะดำเนินการให้ก่อนโดยผ่านทางสถานทูตไทยที่ญี่ปุ่น อย่างไรก็ดีหลังมีการเผยแพร่ข่าวลักษณะนี้ ไลน์ออกมาปฏิเสธในภายหลังว่า ไลน์ไม่ได้มอนิเตอร์หรือบล็อกเนื้อหาของผู้ใช้บริการไลน์ เนื้อหาถูกเข้ารหัสไว้และทางไลน์ไม่สามารถเข้าตรวจสอบได้ (We do not monitor or block user content. User content is also encrypted, and cannot be viewed by LINE,)

ขณะที่กูเกิ้ลก็ยืนยันว่า เราวางใจรัฐบาลทั่วโลกให้แจ้งเตือนเราถึงเนื้อหาที่พวกเขาเชื่อว่าผิดกฎหมายโดยผ่านกระบวนการที่เป็นทางการและจะจำกัดมันอย่างเหมาะสมหลังการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว และจากการติดตามข้อมูลการปิดกั้นเนื้อหาของไอลอว์พบว่า หลังการสวรรคตมีการปิดกั้นเนื้อหาบนโลกออนไลน์จำนวนมาก โดยพบว่าเนื้อหาบางส่วนที่ถูกปิดกั้นเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ และการสืบสันตติวงศ์ ความมั่นคง รวมทั้งข่าวการล่าแม่มดก็ถูกปิดกั้นการเข้าถึง ส่วนใหญ่เว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นเป็นเว็บไซต์ของสำนักข่าวต่างประเทศ

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage