สถานการณ์ปี 2559 2/5: ความเงียบเมื่อเผชิญกับการพ่ายแพ้

“อย่างน้อยได้แสดงให้โลกรู้ว่าคนไทยคิดอย่างไรกับรัฐบาล”

 

การอ้างความชอบธรรมจากผลประชามติ

ค่ำคืนของวันออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ขณะที่มีการประกาศผลการนับคะแนนประชามติอย่างไม่เป็นทางการ โดยประชาชนส่วนใหญ่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่หนึ่งในกลุ่มนักกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. ออกแถลงการณ์ยอมรับผลการออกเสียงประชามติว่า แม้ได้ทุ่มเทความพยายามไปกับการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม ภายใต้ข้อจำกัดและการคุกคามหลายรูปแบบ ขบวนการฯ ยังคงยืนยันว่า รัฐบาลของ คสช.ไม่มีความชอบธรรมจากผลของการลงประชามติครั้งนี้ และยืนยันจะทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยต่อไป

ไม่กี่วันหลังประกาศผลคะแนนประชามติอย่างเป็นทางการ นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่า ผลการลงประชามติเป็นความชอบธรรมที่ประชาคมระหว่างประเทศควรรับฟัง “ผมซาบซึ้งและขอบคุณที่ยังไว้วางใจ คสช. และรัฐบาล พลังของการลงประชามติครั้งนี้มีความสำคัญมาก อย่างน้อยได้แสดงให้โลกรู้ว่าคนไทยคิดอย่างไรกับรัฐบาล ดังนั้น เราจะทุ่มเททำงานในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ให้หนักขึ้น เพื่อให้สมกับความเชื่อมั่น” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความขอบคุณต่อประชาชนหลังทราบผลการลงประชามติ

ซึ่งผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงร้อยละ 61.35 รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ตรงข้ามกับการให้สัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ข้างต้น ผลสำรวจของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับเหตุผลในการตัดสินใจออกเสียงประชามติของประชาชนครั้งนี้ พบว่า ความต้องการให้ประเทศสงบสุขเป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 72 ตัดสินใจออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งความต้องการเช่นนี้มิได้สะท้อนโดยตรงถึงการสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ ขณะที่ผลสำรวจก่อนการลงประชามติของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า พบว่า ประชาชนเพียงร้อยละ 8.66 ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการออกเสียงประชามติครั้งนี้เพราะไม่ชอบนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 50.79 ของผู้ที่ตัดสินใจไม่รับร่างฯ เห็นว่าบางมาตราไม่สมเหตุสมผล คลุมเครือ ส่วนอีกร้อยละ 18.50 เห็นว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญขาดการมีส่วนร่วมและไม่เป็นประชาธิปไตย

การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 

อย่างไรก็ตาม เหตุผลของประชาชนที่รับร่างรัฐธรรมนูญจนกลายเป็นชัยชนะที่นำมาสู่การอ้างความชอบธรรมของรัฐบาลกลับน่าสนใจมากกว่า จากผลสำรวจพบว่าประชาชนที่ตัดสินใจรับร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ร้อยละ 21.12 ระบุว่า ต้องการเห็นการปฏิรูปประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อยากให้ประเทศเดินหน้า และเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งในส่วนนี้เองที่ไม่มีความชัดเจนว่าหมายถึงความชอบธรรมของ คสช. หรือไม่ ขณะที่ร้อยละ 8.02 ระบุว่า ต้องการให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเผยให้เห็นว่าในบรรดาผู้ที่รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวนไม่น้อยไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เป็นที่ชัดเจนตามผลการสำรวจว่าประชาชนร้อยละ 8.51 ตัดสินใจรับร่างฯ เพราะชื่นชอบการทำงานของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และความเข้มงวดจริงจังของทหาร แต่ประชาชนอีกร้อยละ 1.77 กลับตัดสินใจไม่รับร่าง แม้ว่าจะชื่นชอบการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ เพราะเข้าใจว่าหากรัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติจะทำให้มีการเลือกตั้ง และได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

จะเห็นได้ว่าผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนถึงความสับสนในการตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างฯ กล่าวคือ ด้วยเหตุผลเดียวกันแต่ประชาชนอาจตัดสินใจรับหรือไม่รับแตกต่างกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความคลุมเครือเกี่ยวกับผลที่จะเกิดขึ้นจากการผ่านหรือไม่ผ่านการออกเสียงประชามติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพราะการปิดกั้นการรณรงค์โดยเฉพาะกับฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

จนในที่สุดประชาชนไม่แน่ใจว่าหากประสงค์ให้ คสช. อยู่ในอำนาจต่อหรือหลีกทางให้กับการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยนั้นจะต้องออกเสียงรับหรือไม่รับกันแน่

ต่อการอ้างความชอบธรรมในลักษณะดังกล่าว นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ชาวไทยเห็นว่า “อย่างไรก็ตาม คสช.คงเอาไปอ้างความชอบธรรมได้แค่ครึ่งเดียว ในเมืองไทยคงพอฟังได้ แต่จะอ้างกับโลกคงยาก คนเห็น(ว่า)ไม่ยุติธรรมมาแต่ต้น” ซึ่งสอดรับกับที่ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวล เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ว่าการมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างมีเสรีภาพและเปิดกว้างจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการทำประชามติดังกล่าว ก็ได้สถาปนาระบบการเข้าสู่อำนาจแบบใหม่ที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน เช่น การกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกจำนวน 250 คน มาจากการคัดเลือกโดย คสช., การเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง, การออกแบบระบบนับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบจัดสรรปันส่วนผสมเพื่อให้พรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกมากที่สุดไม่ได้ที่นั่งมากที่สุด, การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญจัดประชุมแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมือง, การให้ คสช.ยังคงมีอำนาจมาตรา 44 และให้ประกาศ คำสั่งทุกฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไปไม่มีกำหนด เป็นต้น

ดังนั้น จึงคาดหมายได้ว่า

โฉมหน้าการเมืองของประเทศไทยหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ก็จะยังอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของ คสช. เช่นเดิม การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่ดำเนินไปภายใต้ข้อจำกัด พรรคการเมืองมีบทบาทน้อยลง และผู้ที่จะกุมอำนาจอย่างแท้จริงภายหลังการเลือกตั้งอาจจะยังเป็น คสช. ส่วนประชาชนที่เห็นต่างกับ คสช. จะถูกบีบให้ส่งเสียงได้น้อยลงไปอีก โดยการอ้างความชอบธรรมว่า อำนาจใหม่นั้นไม่ได้มาจากรัฐประหาร แต่มาจากรัฐธรรมนูญที่มีผลประชามติรับรองแล้ว

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage