ตุลาคม 2559: โจษจันล่าแม่มด ยกฟ้องวัฒนา พิพากษาใหม่คดีต้านรัฐประหาร 

เดิมทีเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นเดือนที่มีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 แต่ปีนี้กิจกรรมหลายกิจกรรมถูกยกเลิกเพราะประเทศเข้าสู่บรรยากาศการไว้อาลัยถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 หลังการสวรรคตนอกจากบรรยากาศการถวายความอาลัยของประชาชนแล้ว ยังมีอีกปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเองในประเด็นการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่ “การไล่ล่าแม่มด” ผู้ที่แสดงความเห็นในลักษณะที่คนในสังคมมองว่าไม่เหมาะสม บางกรณีมีร้องทุกข์ดำเนินคดีส่วนบางกรณีมีการทำร้ายร่างกาย

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐเองก็จับกุมดำเนินคดีบุคคลด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มากขึ้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงเป็นระยะถึงจำนวนคดีมาตรา 112 และจับกุมผู้ต้องหา โดยก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการแถลงตัวเลขคดีในลักษณะนี้ ขณะเดียวกันก็มีการปรับโครงสร้างของหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ติดตามการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ อย่างเช่นศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก รวมทั้งประเด็นผู้ลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศก็กลับมาเป็นที่จับตาอีกครั้ง โดยรัฐบาลพยายามประสานประเทศต่างๆ เพื่อหาทางติดตามตัวบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศกลับมาดำเนินคดี

 

ความเคลื่อนไหวคดี 112 

วันที่ 5 ตุลาคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ของบัณฑิต นักเขียนวัย 76 ปี นายประกันของบัณฑิตไม่เดินทางมาด้วยเพราะป่วย ทนายของบัณฑิตแถลงต่อศาลว่า จะทำใบมอบฉันทะแทนนายประกันส่งมาให้ ขณะที่อัยการทหารก็แถลงว่าพยานโจทก์เดินทางมาไม่ได้เช่นกันเพราะพยานย้ายที่อยู่ต้องส่งหมายอีกครั้ง ศาลจึงสั่งให้เลื่อนวันนัดสืบพยานเป็นวันที่ 20 มกราคม 2560 แทน 

วันที่ 10 ตุลาคม  2559 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกปิยะ อดีตโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น จำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 8 ปี โดยอ่านคำพิพากษาแบบปิดลับและไม่ให้ทนายจำเลยคัดถ่ายคำพิพากษา แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะอนุญาตให้จำเลยคัดสำเนาเอกสารที่เป็นการพิจารณาของศาล และให้อ่านคำพิพากษาโดยเปิดเผยก็ตาม

19 ตุลาคม 2559 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แถลงข่าวถึงตัวเลขการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ว่ามี “ผู้กระทำความผิด” ตามมาตรานี้แล้ว 12 ราย ต่อมาในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ระบุว่ามีผู้กระทำความผิดแล้ว 25 ราย

 

ปรากฏการณ์ล่าแม่มด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า การดำเนินคดีหลายกรณีช่วงเดือนตุลาคม 2559 เกิดจากแรงผลักดันมวลชนจำนวนหนึ่ง ที่เข้าดำเนินการแจ้งความหรือกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการกับบุคคลที่ถูกมองว่ากระทำการหรือแสดงความคิดเห็นที่เข้าข่ายผิดมาตรา 112 โดยหลายกรณีมีใช้ความรุนแรง เช่น การเข้าปิดล้อมบ้าน, การบังคับให้ขอขมาต่อเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์, การเข้าจับกุมด้วยตัวเอง กระทั่งการเข้าทำร้ายร่างกาย ซึ่งนับเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายด้วย

ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่จังหวัดภูเก็ต ที่ชาวบ้านหลายร้อยคนไปรวมตัวกันปิดล้อมบริเวณหน้าร้านน้ำเต้าหู้แห่งหนึ่ง เนื่องจากไม่พอใจข้อความที่บุตรชายของเจ้าของร้านดังกล่าวโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ผู้ชุมนุมได้มีการเขียนป้ายข้อความด่าทอติดไว้หน้าร้าน มีการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินคดี จนต่อมามีการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ทำให้มีการจับกุมดำเนินคดีมาตรา 112 กับบุตรชายของเจ้าของร้านดังกล่าว

เช่นเดียวกับที่จังหวัดพังงา ที่มีชาวบ้านกว่าร้อยคนไปรวมตัวกันที่หน้าร้านโรตีชาชักแห่งหนึ่ง เพื่อตามหาพลทหารเรือนายหนึ่ง ที่ระบุว่าเป็นลูกชายของเจ้าของร้านดังกล่าว โดยมีการกล่าวหาว่าเขาได้โพสต์ข้อความเข้าข่ายมาตรา 112  ผู้ชุมนุมมีการเร่งเร้าให้บิดานำตัวลูกชายมาขอขมาต่อชาวบ้าน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และปลัดจังหวัดต้องเข้ามาเจรจา พร้อมกับยืนยันว่าจะมีการดำเนินคดีและดำเนินการลงโทษทางวินัย จึงทำให้ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวสลายตัวไป ก่อนที่ต่อมาจะมีรายงานว่ามีการจับกุมตัวพลทหารคนดังกล่าวดำเนินคดี

ภาคตะวันออกมีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันที่จังหวัดระยอง ชายเจ้าของร้านขายของชำ อายุ 48 ปี ที่อยู่ระหว่างการรักษาอาการทางจิต ถูกชาวบ้านจำนวนหนึ่งปิดล้อมร้านขายของชำและตะโกนต่อว่า ก่อนตำรวจจะเข้ามาไกล่เกลี่ยจนเจ้าของร้านที่ถูกกล่าวหายอมรับผิดและกราบพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ชาวบ้านบางส่วนยังพยายามจะเข้ามาทำร้ายร่างกาย แต่เจ้าหน้าที่ระงับเหตุได้ ต่อมา ศาลจังหวัดระยองได้อนุมัติหมายจับชายคนดังกล่าวในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

ในกรณีจังหวัดชลบุรี หนุ่มโรงงานวัย 19 ปี ได้โพสต์ขายเหรียญเก่าในกรุ๊ปเฟซบุ๊กหนึ่ง แต่ได้เกิดการโต้เถียงกับผู้ที่เข้ามาแสดงความเห็น ก่อนที่คู่โต้เถียงจะแคปชั่นคอมเมนต์หนึ่งของเขามาเป็นประเด็นในการแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 โดยหนุ่มคนดังกล่าวได้ถูกประชาชนประมาณ 20 คน บุกเข้ามาหาถึงห้องพัก มีการเตะหน้าและเข้าทำร้ายร่างกาย ก่อนจับตัวมาให้กราบขอขมาต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ จนเจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาระงับเหตุ พร้อมกับจับกุมหนุ่มโรงงานคนดังกล่าวดำเนินคดี

เช่นเดียวกับกรณีจังหวัดจันทบุรี ที่ชาวบ้านมีการกล่าวหาหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งว่าได้เขียนข้อความเข้าข่ายมาตรา 112 ลงในสมุดลงนามถวายความอาลัยในหลวงที่ตั้งไว้ในชุมชน โดยกรณีนี้ประธานชุมชนได้ให้ชาวบ้านช่วยกันเข้าจับกุม ก่อนแจ้งให้ตำรวจมานำตัวหญิงคนดังกล่าวไปดำเนินคดี

ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่จังหวัดบึงกาฬที่รายงานข่าวระบุว่าศูนย์ดำรงธรรมของจังหวัดได้ตรวจพบข้อความในเฟซบุ๊กของหญิงวัย 19 ปี รายหนึ่ง โพสต์ในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ต่อการให้ระงับงานกิจกรรมต่างๆ ทุกงานภายหลังการสวรรคต แต่กลับถูกระบุว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองเข้าจับกุมดำเนินคดี

หรือกรณีพลทหารเรือที่จังหวัดพังงาข้างต้น สำนักข่าวประชาไทได้รายงานว่าเมื่อตรวจสอบข้อความที่มีการเผยแพร่ พบว่าเป็นข้อความในทำนองที่สอบถามชาวบ้านว่าเคยบอกรักพ่อของตัวเองแบบนี้กันบ้างหรือไม่ โดยยังไม่พบข้อความอื่นที่โพสต์เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง

รวมทั้งกรณีหนุ่มโรงงานจังหวัดชลบุรีที่ถูกเข้าทำร้ายร่างกายข้างต้น ข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายมาตรา 112 นั้น ก็มีลักษณะเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อบุคคลที่เข้ามาโต้ตอบในโพสต์ข้อความ ไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อบุคคลตามมาตรา 112 โดยตรง

 

ความเคลื่อนไหวคดีเสรีภาพอื่นๆ 

วันที่ 4 ตุลาคม 2559 ผู้ต้องหาคดีพูดเพื่อเสรีภาพเดินทางเข้ารับทราบข้อหาเพิ่มรวมเป็น 10 ราย พร้อมยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ขณะที่ ‘โรม’ ปฏิเสธเข้าร่วมกระบวนการ ตำรวจนัดส่งตัวผู้ที่มาให้การทั้งแปดคนในวันนี้ส่งตัวให้อัยการ วันที่ 16 พ.ย. 2559 ‘ไผ่ จตุภัทร์, ณรงฤทธิ์, ฉัตรมงคล, ณัฐพร, ดวงทิพย์, และนีรนุช ผู้ต้องหาคดีพูดเพื่อเสรีภาพ จากการจัดกิจกรรมและสังเกตการณ์กิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 กรกรกฎาคม  2559 เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ แต่ถูกแจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เดินทางมายื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่นวันเดียวกันนี้ภานุพงศ์และ “เอ” ผู้ถูกหมายเรียกให้มาพบพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมจาก 6 คนแรก เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมให้การปฏิเสธ

ผู้ต้องหาคดีพูดเพื่อเสรีภาพ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองขอนแก่น

 

วันที่ 10 ตุลาคม 2559 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดพร้อมคู่ความในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่กับสามารถ ขวัญชัย จำเลยในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง จากกรณีการเสียบใบปลิวโหวตโนบริเวณที่จอดรถของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จำเลยได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ก่อนศาลจังหวัดเชียงใหม่จะกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2560

ในวันเดียวกัน นักกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก เดินทางไปศาลทหารกรุงเทพ เพื่อฟังคำสั่งศาลทหารเนื่องจากจำเลยจึงยื่นคำร้องให้ศาลทหารเพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บังคับกับคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ ด้านศาลทหารยกคำร้อง ชี้รัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องให้ศาลทหารส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

วันที่ 11 ตุลาคม 2559 ที่ห้องพิจารณาคดี 2 ศาลแขวงปทุมวัน ศาลนัดอภิชาตฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร คดีนี้เดิมศาลแขวงปทุมวันซึ่งเป็นศาลชั้นต้นยกฟ้อง ให้เหตุผลว่าพนักงานสอบสวนกองปราบฯ ไม่มีอำนาจสอบสวนในคดี โดยศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาของคดี เกี่ยวกับความชอบธรรมของประกาศ คสช. และความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช. วันนี้ศาลอุทธรณ์ตีความใหม่ว่า พนักงานสอบสวนกองปราบปรามมีอำนาจสอบสวนและสั่งฟ้องในคดีอาญาทั่วประเทศ รวมถึงคดีนี้ ฉะนั้นจึงขอยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยใหม่ นัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นใหม่ 19 ธันวาคม 2559

วันที่ 22 ตุลาคม 2559 ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ “ทนายจูน” เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.สำราญราษฏร์ ในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยศิริกาญจน์ถูกกล่าวหาว่า เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) การดำเนินคดีครั้งนี้เริ่มจากที่มีนายทหารเป็นผู้กล่าวหา เข้าร้องทุกข์ต่อตำรวจไว้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2558 โดยนายทหารเห็นว่า ศิริกาญจน์มีพฤติการณ์ “กระทำผิด” ร่วมกับนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เพราะเป็นผู้นำสิ่งของของนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมไปเก็บในรถยนต์

วันที่ 26 ตุลาคม 2559 ศาลจังหวัดภูเขียวเลื่อนรอความเห็นอัยการ คดีจตุภัทร์ หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ และวศิน ผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ จากการแจกเอกสารวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากจำเลยยื่นคำร้องขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาถอนฟ้อง ศาลนัดอีกครั้งวันที่ 20 มกราคม 2560 อานนท์ นำภา ทนายความให้ข้อมูลเพิ่มว่า เหตุที่นัดนี้ทิ้งช่วงนานเนื่องจากจำเลยติดสอบเดือนธันวาคม 2559

วันที่ 27 ตุลาคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพ นัดสืบพยานโจทก์ลำดับที่สาม คดีธารา เผยแพร่คลิปบรรพตจำนวน 6 คลิป อัยการทหารแถลงต่อศาลว่า พยานที่มีนัดสืบในวันนี้ติดภารกิจไม่สามารถมาให้การต่อศาลได้ จึงขอให้ศาลสั่งเลื่อนการสืบพยาน ศาลจึงอนุญาตแล้วให้เลื่อนสืบพยานโจกท์ลำดับดังกล่าวเป็นวันที่ 3 มีนาคม 2560 

 

วัฒนา เมืองสุข หลังฟังคำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้

วันที่ 31 ตุลาคม 2559  ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องวัฒนา เมืองสุข ผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเป็นเท็จทำให้ผู้อื่นเสียหาย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลระบุว่าการแสดงความเห็นของจำเลยเป็นการใช้เสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 4 และมีคำพิพากษาที่สรุปได้ว่าประเด็นที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ในทำนองว่า คสช.จะไม่ยอมคืนอำนาจเป็นข้อความเท็จเพราะมีการกำหนดโรดแมปไปสู่การเลือกตั้งอันเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนนั้น ศาลเห็นว่าโรดแมปเป็นเพียงการกำหนดแผนแต่อาจเกิดขึ้นจริงหรือไม่จริงหรืออาจเปลี่ยนแปลงได้ ข้อความของจำเลยจึงไม่ถือเป็นข้อความเท็จ พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น ไม่จำเป็นต้องพิเคราะห์พยานหลักฐานจำเลย พิพากษายกฟ้อง

 

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage