หนึ่งเดือนก่อนการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางกับประชาชนที่ออกมาแสดงจุดยืนไม่รับหรือวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติในหลายรูปแบบ และกับนักสิทธิมนุษยชนตลอดจนญาติของพลทหารที่เสียชีวิตในค่ายทหารจากซึ่งเป็นการคุกคามจากเหตุที่พวกเขาพยามบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้น นอกจากกรณีควบคุมตัวภรรยาของแอนดรูว์ มาร์แชลไปสอบปากคำจากการที่แอนดรูว์เผยแพร่ภาพตัดต่อสมาชิกราชวงศ์ไทยแล้ว ด้านอัยการในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของทอม ดันดี ก็จะอุทธรณ์คดีด้วย
ช่วงเวลา | ยอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร – 31 กรกฎาคม 2559 | ยอดรวมเฉพาะเดือนกรกฎาคม 2559 |
---|---|---|
คนถูกเรียกรายงานตัว | 988 | 61 |
คนถูกจับกุมคุมขัง จากการชุมนุมโดยสงบ | 561 | 28 |
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร | 278 | 120 |
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน | 50 | 1 |
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ฯ (ม.112) | 68 | – |
จำนวนคนที่ถูกคุมขังด้วยคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว และที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ในเดือนกรกฎาคม 2559 | 52 |
กระชับพื้นที่เสรีภาพทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ก่อนการลงประชามติ
10 กรกฎาคม 2559 พนักงานสอบสวน สภ.บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี นัดบริบูรณ์กับพวก 18 คนเข้าพบในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน จากการตั้งศูนย์ปราบโกงขึ้นในท้องที่ วันเดียวกันนี้ปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่พร้อมเพื่อนอีกสองคนเดินทางไปให้กำลังใจประชาชนกลุ่มดังกล่าว ก่อนถูกตรวจค้นรถและพบเอกสารรณรงค์เกี่ยวกับประชามติ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบสวน ตั้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ และควบคุมตัวทั้งสามคนพร้อมนักข่าวจากเว็บไซต์ประชาไทที่ขอติดตามมาทำข่าว และภานุวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ซึ่งเป็นหนึ่งใน 18 ผู้ต้องหาข้างต้นไว้ที่สถานี ก่อนนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังในวันรุ่งขึ้น ศาลอนุญาตให้ฝากขังแต่ให้ประกันตัวด้วยวงเงินคนละ 140,000 บาทและได้รับการปล่อยตัวในเย็นวันนั้น
14 กรกฎาคม 2559 ชาวบ้านที่เข้าร่วมพิธีเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานีถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติที่สภ.โนนสะอาดโดยมีเจ้าหน้าที่ทหารมาพูดคุยด้วย มีการอ่านข้อกล่าวหาชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฯ ให้ชาวบ้านฟัง และให้ทำข้อตกลงไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีและระงับการทำธุรกรรมทางการเงิน แต่ในครั้งนี้ยังไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด
16 กรกฎาคม 2559 ชูวงศ์ ทนายความและแกนนำกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน จังหวัดกระบี่เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนที่ สภ.เมืองกระบี่ หลังถูกออกหมายจับตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ หลังจากโพสต์เฟซบุ๊กว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เขารับว่าโพสต์จริงแต่เพียงเพื่อระบายความรู้สึก ในวันเดียวกันชูวงศ์ได้รับการปล่อยตัวโดยวางเงินประกัน 150,000 บาท
23 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าจับกุมชายอายุ 63 ปีที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อนำตัวไปตั้งข้อหาตามมาตรา 61 พ.ร.บ.ประชามติฯ และฝากขังในเรือนจำกลางเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2559 ทั้งนี้จากเหตุนำใบปลิวรณรงค์โหวตโนไปเสียบไว้ตามที่ปัดน้ำฝนของรถยนต์ที่จอดในที่จอดรถของห้างสรรพสินค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2559
25 กรกฎาคม 2559 อติเทพสวมเสื้อยืดสีดำเขียนข้อความข้างหลังว่า ‘Vote No รธน.’ ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ทหารเห็นและเรียกให้หยุดรถ สอบถามที่อยู่และยึดเสื้อไว้ วันรุ่งขึ้นเขาถุกเรียกไปให้ปากคำและถูกตรวจค้นบ้านแต่ไม่พบหลักฐานใด เจ้าหน้าที่แจ้งกับอติเทพว่าจะเรียกมาสอบปากคำอีกหากพบหลักฐานใหม่
26 กรกฎาคม 2559 วิชาญถูกเจ้าหน้าที่จาก สภ.พิบูลมังสาหารจับกุม ขณะยืนตะโกนชวนประชาชนในตลาดเทศบาลฯ ไม่ให้ออกไปลงประชามติ เจ้าหน้าที่ส่งตัวเขาไปตรวจที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ แพทย์ลงความเห็นว่าเขามีสภาพจิตปกติ จึงแจ้งข้อหล่าวหาก่อความวุ่นวายโดยมุ่งไม่ให้ผู้มีสิทธิไปออกเสียงฯ ต่อมา 28 กรกฎาคม 2559 พนักงานสอบสวนนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง ศาลตั้งราคาประกัน 200,000 บาทแต่เพราะไม่มีเงินประกันจึงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลาง อุบลราชธานี
28 กรกฎาคม 2559 กฤษกร ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน เผยว่าราวสามสัปดาห์ก่อนได้โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์และประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่นานเจ้าหน้าที่โทรมาขอให้ลบแต่ตนปฏิเสธไป ภายหลังจึงทราบว่าในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 กกต.จังหวัดอุบลราชธานีแจ้งความให้ดำเนินคดีกับเขาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง แม้ยังไม่มีการออกหมายเรียกเพราะอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 มีเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองไปหาเขาที่สำนักงานขณะที่เขาติดภารกิจอยู่ข้างนอก
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
21 กรกฎาคม 2559 แอนดรูว์ แมกเกรเกอร์ มาร์แชล อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สประจำประเทศไทยแชร์ข่าวซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นภาพตัดต่อสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย วันต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฯ จึงไปตรวจค้นที่บ้านพักของนพวรรณซึ่งเป็นภรรยาของแอนดรูว์ แล้วควบคุมตัวเธอพร้อมลูกไปที่กองปราบฯ โดยมีการยึดคอมพิวเตอร์ ไอแพด แฟลชไดรฟ์ หนังสือเดินทางและเอกสารจำนวนหนึ่งมาตรวจ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพบนพวรรณโดยอ้างว่าเพราะยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา ต่อมาผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางแถลงว่าไม่พบความเกี่ยวข้องกับการกระทำของแอนดรูว์จึงให้ปล่อยตัวไป สองวันถัดมามีรายงานว่าเธอและลูกเดินทางออกนอกประเทศแล้ว
26 กรกฎาคม 2559 สมาชิกเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ จังหวัดสิงห์บุรีนำสำเนาภาพหน้าจอการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กมาเป็นหลักฐานเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่ สภ.เมืองสิงห์บุรี ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘Nattapong XXX’ ซึ่งณัฐณารา ปานมี แกนนำเครือข่ายระบุว่า ผู้ใช้คนดังกล่าวโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในกลุ่มเฟซบุ๊กการเมือง
ในวันเดียวกันนี้ ภรรยาของทอม ดันดี หรือธานัท ได้รับแจ้งจากทนายว่า อัยการจะอุทธรณ์คดีและขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์คดีไปจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2559 เป็นเหตุให้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดและไม่อาจขอพระราชทานอภัยโทษตามความตั้งใจของธานัทได้ คดีนี้เป็นหนึ่งในสองคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของเขาหลังการรัฐประหาร ในปี 2557 ซึ่งเขาให้การรับสารภาพหลังจากให้การปฏิเสธและยืนยันจะต่อสู้คดีมาก่อนหน้านั้น โดยคดีหนึ่งถูกศาลทหารพิพากษาจากการฟ้องในช่วงประกาศกฎอัยการศึกจึงถือเป็นที่สิ้นสุดทันทีโดยให้จำคุกรวมสามปีสี่เดือน ส่วนอีกคดี ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลาเจ็ดปีหกเดือน ซึ่งต่อมาอัยการขออุทธรณ์
ดูรายละเอียดคดีของธานัทบนฐานข้อมูลของเรา ที่นี่ https://freedom.ilaw.or.th/case/691 ดูรายละเอียดคดี 112 ของธานัทที่ศาลทหาร ที่นี่ https://freedom.ilaw.or.th/case/585
นอกจากการสืบพยานโจทก์คดีของบัณฑิตและคดีของธาราที่ศาลทหารกรุงเทพ ยังมีความเคลื่อนไหวในกรณีของหฤษฏ์และณัฏฐิกา ซึ่งเป็นผู้ต้องในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จากการแชทผ่านเฟซบุ๊กและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวมาตั้งแต่วันทื่ 11 พฤษภาคม 2559 ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้วางเงินประกันคนละ 500,000 บาท
คุกคามนักสิทธิมนุษยชนและญาติจากเหตุเปิดโปงการซ้อมทรมานในค่ายทหาร
26 กรกฎาคม 2559 สมชาย หอมลออ, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ นักสิทธิมนุษยชนเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองปัตตานี โดยให้การปฏิเสธและได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องประกันตัวจากเหตุกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาคสี่ส่วนหน้าซึ่งได้รับมอบหมายจากกองทัพบกให้เข้าแจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามจากการร่วมกันเผยแพร่รายงานการซ้อมทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อและองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับระหว่างประเทศ โดยมีการออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการดำเนินคดีทันที
ดูรายละเอียดคดีของสามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้บนฐานข้อมูลของเรา ที่นี่ https://freedom.ilaw.or.th/case/711
ในวันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.มักกะสันนำกำลังเข้าจับกุมนริศราวัลถ์ซึ่งเป็นหลานสาวของพลทหารที่เสียชีวิตในค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาสในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการที่เธอใช้อินเทอร์เน็ตรณรงค์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของน้าชาย ซึ่ง ร.ท.ภูริ เพิกโสภณ นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในกองร้อยที่มีการกล่าวหาว่ามีการทำร้ายร่างการพลทหารคนดังกล่าวเป็นผู้แจ้งความ โดยกองทัพปฏิเสธความเกี่ยวข้องในคดีนี้ ในวันดังกล่าวนริศราวัลถ์ถูกนำตัวเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดนราธิวาสโดยเครื่องบินต่อรถยนต์ จากนั้นเธอให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและใช้ตำแหน่งของเธอประกันตัวเองในชั้นสอบสวน