มิถุนายน 2559: ประชามติกร่อย ไล่ปิดศูนย์ปราบโกง ขังเจ็ดนักศึกษาแจกใบปลิวรณรงค์

ช่วงเวลายอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร – 
30 มิถุนายน
2559
ยอดรวมเฉพาะเดือนมิถุนายน
2559
คนถูกเรียกรายงานตัว94318
คนถูกจับกุมคุมขัง
จากการชุมนุมโดยสงบ
24521
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร18520
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน491
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท
พระมหากษัตริย์ฯ (ม.112)
68
จำนวนคนที่ถูกคุมขังด้วยคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว
และที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี 
ในเดือนมิถุนายน 2559
52
 

นับถอยหลังสู่วันลงประชามติครั้งที่สองในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 7 สิงหาคม 2559 เพื่อออกเสียงรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางความพยายามในการรณรงค์ชวนโหวตรับ-ไม่รับ หรือไม่ไปออกเสียงของหลายฝ่าย แม้ทำได้ไม่มากนักภายใต้ข้อจำกัด ซึ่งเหลือเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนลงประชามติมีหลายเรื่องราวเกิดขึ้น โดยเฉพาะความพยายามจากเจ้าหน้าที่รัฐใน การตีความมาตรา 61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อจำกัดเสรีภาพและลงโทษผู้รณรงค์ในการออกเสียงประชามติ

กรณีที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดคือการจับนักกิจกรรมที่รณรงค์โหวต ‘ไม่รับ’ ที่จังหวัดสมุทรปราการ และตามด้วยการจับนิสิตและนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งย่านบางเขน  อีกทั้งมาตรการหยุดยั้งการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ ยังผลให้มีผู้ถูกเรียกรายงานตัว อย่างน้อย 17 ราย ผลรวมของเหตุการณ์เหล่านี้ แม้สร้างความคับแค้นใจให้กับนักกิจกรรมบางกลุ่ม แต่ในภาพรวมของประเทศกลับเผชิญภาวะ ‘เงียบเหงา’ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่น่ากังวลก่อนการลงประชามติซึ่งเป็นการตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับชะตากรรมของประเทศร่วมกัน

 

จับ 13 มือแจก ‘ใบปลิว’ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ช่วงวันที่ 23 และ 24 มิถุนายน 2559 มีผู้ถูกจับกุมตัวจากการทำกิจกรรมทางการเมืองถึง  20 คน โดย 13 คน ถูกจับตัวในช่วงค่ำวันที่ 23 จากการไปแจกใบปลิวรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่จังหวัดสมุทรปราการ ขณะที่อีก 7 คนถูกจับตัวในเช้าวันที่  24 ระหว่างทำกิจกรรมรำลึกวันอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ด้วยการเดินเท้าจากวัดพระศรีมหาธาตุไปทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ วงเวียนหลักสี่ จุดร่วมของทั้ง 20 คน คือ ทุกคนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง แต่ก็มีจุดต่างคือแต่ละคนถูกตั้งข้อหาพ่วงเป็นของแถมหนักเบาแตกต่างกันไป กฎหมายที่นำมาใช้มีทั้ง พ.ร.บ.ประชามติฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.บัตรประชาชน และประกาศ คปค. ชะตากรรมแต่ละคนก็ต่างกัน โดย 7 คนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข, 6 คนต้องวางเงินประกัน และอีก 7 คน ยังอยู่ในเรือนจำ* 

คืนวันที่ 23 มิถุนายน 2559 นักกิจกรรมรวม 13 คนได้แก่ รังสิมันต์ โรม, กรกช, นันทพงศ์, อนันต์, ธีรยุทธ, ยุทธนา, สมสกุล, วรวุฒิ, เตือนใจ, ปีใหม่, พรรณทิพย์, รักษ์ชาติ และกรชนก ซึ่งมีทั้งนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และสมาชิกสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์ ถูกทหารและตำรวจจับกุมตัวหลังไปแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเอกสารชี้แจงวิธีการลงทะเบียนขอใช้สิทธิลงประชามตินอกเขต ในพื้นที่ชุมชนเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ  ทั้งหมดถูกนำตัวไป ส.น.บางเสาธงเพื่อสอบสวนและตั้งข้อกล่าวหาหนัก 2 ข้อหาได้แก่ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 (1) วรรคสองและสาม 

เย็นวันถัดมา พนักงานสอบสวน สน.บางเสาธงยื่นคำร้องต่อศาลทหารขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ระบุเหตุผลว่า ต้องสอบพยานบุคคลอีกสิบปากและรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา และขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำอีก และจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน ศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ผู้ต้องหาหกคนได้แก่ วรวุฒิ, เตือนใจ, ปีใหม่, พรรณทิพย์, รักษ์ชาติ และกรชนก ยื่นขอประกันตัวซึ่งศาลตีราคาประกันคนละ 50,000 บาท ทั้ง 6 คนได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลางในคืนวันเดียวกัน

[wysiwyg_imageupload:513:]

ผู้ต้องหาอีก 7 คนได้แก่ รังสิมันต์ โรม, กรกช, นันทพงศ์, อนันต์, ธีรยุทธ, ยุทธนา, สมสกุล ไม่ประสงค์จะยื่นขอประกันตัว เพราะพวกเขาเห็นว่าสิ่งที่พวกตนทำนั้นไม่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจควบคุมตัวตั้งแต่แรก และพวกเขาไม่มีหน้าที่ต้องขอประกันตัว จึงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพกรุงเทพตั้งแต่คืนวันที่ 24 มิถุนายน 2559

โดยการฝากขังผลัดแรกจะสิ้นสุดลงในวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ซึ่งทั้งเจ็ดจะถุกนำตัวไปที่ศาลทหารเพื่อฟังคำสั่งว่าศาลทหารจะให้ฝากขังต่อเป็นผลัดที่สองหรือไม่* 

 

เสรีเกษตรโดนรวบกิจกรรมทำความสะอาดอนุสาวรีย์ฯ

เช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2559 นักกิจกรรม 7 คนได้แก่ คุณภัทร, อุทัย, เกษมชาติ, กานต์, สุธิดา, อรัญญิกา และชนกนันท์ เดินเท้าจากวัดพระศรีมหาธาตุไปทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่วงเวียนหลักสี่เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เมื่อเดินไปถึงบริเวณวงเวียนหลักสี่ ทั้งเจ็ดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวโดยรถตู้ไปที่สน.บางเขนและถูกตั้งข้อกล่าวหารวมสองข้อ ได้แก่ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่แจ้งการชุมนุมให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมง เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ หลังทำการจับกุมในช่วงเช้า พนักงานสอบสวน สน.บางเขนก็นำตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ดไปฝากขังกับศาลทหารกรุงเทพ

[wysiwyg_imageupload:515:]

ในช่วงบ่าย ผู้ต้องหาและทนายความยื่นคำร้องและแถลงคัดค้านการฝากขัง ศาลทหารให้ยกคำร้องฝากขังนักกิจกรรมทั้งเจ็ดโดยระบุว่าผู้ต้องหายังเป็นนักศึกษาและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง นักกิจกรรมทั้งเจ็ดได้รับการปล่อยตัวจากศาลทหารในช่วงค่ำวันเดียวกัน ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมแล้วอย่างน้อย 245 คน

 

ปราบกันไปทั่วศูนย์ปราบโกงประชามติ

เหตุจากความพยายามในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. เพื่อจับตาความโปร่งใส่ สุจริตในการลงประชามติครั้งนี้ จึงประกาศทำกิจกรรมตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติขึ้นทั่วประเทศ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้เข้าควบคุมและดำเนินการในรูปแบบต่างๆ เพื่อยับยั้งการดำเนินกิจกรรมนี้ในแทบทุกภูมิภาคเช่นกัน 

อย่างการเข้าควบคุมพื้นที่เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2559 โดยแจ้งให้งดออกอากาศ งดแถลงข่าวและมีการนำแผ่นป้าย ‘ที่นี่มิใช่ศูนย์ปราบโกงประชามติ’ มาปิดรอบห้องที่จะใช้แถลงข่าวด้วย 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีในต่างจังหวัดอย่างกรณีทหารจากมณฑลทหารบกที่ 34 เรียกตัวสองแกนนำเสื้อแดงในจังหวัดพะเยา ศิริวัฒน์ จุปะมัดถาและทองอุ่น มะลิทองเข้ามาพุดคุยในค่ายทหารเพื่อแจ้งว่าไม่อนุญาตให้เปิดศูนย์ปราบโกงฯ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับและสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 วันเดียวกับกรณีคล้ายกันที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.แม่ปิงดำเนินการกับแกนนำ นปช.เชียงใหม่ ซึ่งมีรูปแบบการสกัดกั้นกิจกรรมของศูนย์ปราบโกงคล้ายกับในพื้นที่อื่นๆ ในภาคเหนือ เช่น ในจังหวัดพะเยา หรือในภาคอีสานอย่างที่อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร และภาคกลางดังกรณีในจังหวัดราชบุรี ที่ชาวบ้าน 10 รายซึ่งเข้าร่วมเปิดศูนย์ฯ ถูกออกหมายเรียกฐานชุมนุมเกิน 5 คน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน และมีการออกหมายเรียกเพิ่มเติมภายหลังอีกประมาณ 15 ราย จากกรณีเดียวกันนี้

จากเหตุปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ มีผู้ถูกเรียกรายงานตัวอย่างน้อย 17 คน และตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีผู้ถูกเรียกเข้ารายงานตัวอย่างน้อย 943 คน

 

แทรกแซง/ห้ามจัดกิจกรรมอย่างน้อย 4 ครั้ง

‘ขอความร่วมมือ’ FCCT ยกเลิกงานเสวนาเรื่องพุทธไทยกับการเมือง

วอยซ์ทีวี รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีส่งหนังสือถึงสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) “ขอความร่วมมือ” ให้ยกเลิกงานเสวนาในหัวข้อ “Thai Buddhism: Seized by Politics?” (ศาสนาพุทธไทย: ถูกยึดครองโดยการเมืองหรือไม่?) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน 2559 โดยมีวิทยากรร่วมอภิปรายคือ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ และวิจักขณ์ พานิช นักวิชาการอิสระด้านศาสนาพุทธ โดยข้อความส่วนหนึ่งในเอกสารระบุว่า”การจัดงานในวัน เวลาดังกล่าว อาจจะก่อให้เกิดส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจจะมีบุคคลที่ไม่หวังดี ฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งกับสถานการณ์ในปัจจุบัน” 

ทหารไล่ขบวน Walk for Rights ออกจากวัดที่จะนอนค้างคืน อ้างผิด พ.ร.บ. ชุมนุม

30 มิถุนายน 2559 เพจ New E-Saan Movement รายงานว่า ที่วัดเหล่าโดน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจราว 30 นาย เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นที่พักค้างคืนของขบวนเดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน ซึ่งจัดโดยขบวนการอีสานใหม่ มาสอบถามเกี่ยวกับผู้จัดทำเฟ๊ซบุ๊กเพจของกลุ่ม และขอให้ลบคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาต่อต้านอำนาจรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการแจ้งว่าการทำกิจกรรมดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก่อนกดดันให้ออกจากพื้นที่ภายในหนึ่งชั่วโมง

[wysiwyg_imageupload:516:]

ตร.-ทหาร เข้าเจรจา นักศึกษา ม.รามฯ ยันเดินหน้าจัดเสวนา 3 ฝ่าย ‘Vote Yes – No – บอยคอต’

15 มิถุนายน 2559  นันทพงศ์ ปานมาศ นักศึกษา กลุ่มเสียงจากหนุ่มสาว มหาวิทยาลัยรามคำแหง โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าทหารขอให้เปลี่ยนสถานที่ ก่อน รอง.บกน.4 บอกกับตนว่า ‘อ่านหนังสือไม่ออกเหรอว่ามันผิดกฎหมาย คุณไม่มีสมองเหรอ มันผิดกฎหมาย มันทำไม่ได้” กระทั่งต่อมามีการย้ายไปจัดกิจกรรมที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 

ห้าม พลเมืองโต้กลับ เต้น ‘พลเมืองตีเข่า’  

20 มิถุนายน 2559 พลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรม ‘พลเมืองตีเข่า’ เต้นประกอบเพลง ‘อย่างนี้ต้องตีเข่า’ ที่บริเวณสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศูนย์ราชการ (แจ้งวัฒนะ) เพื่อประท้วงที่ กกต. แจ้งว่าจะแจ้งความนักแสดงในมิวสิควิดีโอเพลงที่ทางกลุ่มจัดทำขึ้นในความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ทั้งนี้กลุ่ม “คนไทยหัวใจเกิน 100” มารอประท้วงสิรวิชญ์ สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และอ่านแถลงการณ์พร้อมมอบดอกไม้ให้กำลังใจ กกต. เหตุการณ์ชุลมุนกระทั่ง ตำรวจเข้าห้ามพลเมืองโต้กลับทำกิจกรรมและคุมตัวพันธุ์ศักดิ์ไป สน.ทุ่งสองห้องให้ลงบันทึกประจำวันแต่ไม่แจ้งข้อกล่าวหา ก่อนปล่อยกลับบ้าน 

จากการเก็บข้อมูลของไอลอว์ ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีการปิดกั้นแทรกแซงกิจกรรมเเล้วอย่างน้อย…

 

ความเคลื่อนไหวคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

จำคุกคดี 112  ทอม ดันดี 7 ปี 6 เดือน

1 มิถุนายน 2559 ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกธานัทหรือทอม ดันดี 7 ปี 6 เดือน ตามมาตรา 112 จากการปราศรัย 1 ครั้งแยกความผิดเป็น 3 กรรม พร้อมย้ำให้ช่วยร้องเพลงปรองดองและปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติผู้พิพากษาเจ้าของคดี อธิบายว่า คดีนี้ต้องการแบ่งความผิดออกเป็น 5 กรรม จากการกล่าวปราศรัย 1 วันตามที่ถูกฟ้อง โดยแบ่งเป็น การหมิ่นประมาทต่อพระมหากษัตริย์ 3 กรรม การหมิ่นประมาทต่อพระราชินี 1 กรรม และการโพสต์คลิปวิดีโอการปราศรัยบนยูทูปอีก 1 กรรม แต่หลังจากปรึกษากับอธิบดีและรองอธิบดีศาลอาญาแล้วอีกสองท่านเห็นว่า การกล่าวหมิ่นประมาทต่อพระมหากษัตริย์ 3 ครั้งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียว ศาลจึงให้ลงโทษธานัทว่ามีความผิด 3 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี รวมเป็น 15 ปี และลดโทษเหลือ 7 ปี 6 เดือน เนื่องจากการรับสารภาพและเงื่อนไขที่เขาตกลงต่อศาล

พ่อ-แม่ผู้ต้องหาคดีแปดแอดมิน ถวายฎีกาสำนักราชเลขาธิการ ขอสิทธิ์ประกันตัว

3 มิถุนายน 2559 วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ พร้อมด้วยบิดาของ หฤษฏ์ มหาทน และมารดาของ ณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ ผู้ต้องหาผิด มาตรา 112 ยื่นขอถวายฎีกากับสำนักราชเลขาธิการ ให้ผู้ต้องหามีสิทธิ์ประกันตัว อย่างไรก็ตามภายหลังการยื่นถวายฎีกาได้นำสำเนายื่นต่อศาลทหารกรุงเทพ เพื่อใช้ประกอบการขอพิจารณาประกันตัว โดยจะใช้หลักทรัพย์อีกเป็นเงินสดคนละ 5 แสนบาท แต่ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวแล้วผู้ต้องหาจะหลบหนี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวนในชั้นนี้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงดุลยพินิจเดิมให้ยกคำร้อง โดยขณะนั้นคดีของทั้งสองอยู่ในระหว่างฝากขังผัดที่ 4 

ศาลไม่ให้ประกันครั้งที่ 4 จำเลยคดีแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ

6 มิถุนายน 2559  ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดพร้อมและสอบคำให้การระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร กับอัษฎาภรณ์ และนพฤทธิ์ ข้อหาความผิดตามมาตรา 112 และร่วมกันปลอมเอกสารราชการ จากกรณีการแอบอ้างสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อเรียกผลประโยชน์กับทางวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร ทั้งคู่ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ภายหลังสอบคำให้การ ญาติของนายนพฤทธิ์ จำเลยที่ 2 ยื่นขอปล่อยตัว ด้วยหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินราคาประเมิน 1.7 ล้านบาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง และมีหลายข้อหา หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี โดยนับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ที่จำเลยยื่นขอประกันตัวและศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต 

เลื่อนสอบคำให้การฐนกร คดี ‘เสียดสี’ สุนัขทรงเลี้ยง

9 มิถุนายน 2559 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การคดีฐนกร โพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง กดไลค์เพจ และโพสต์แผนผังทุจริตราชภักดิ์รวมทั้งหมด 3 กรรม เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112, 116 และ ม.14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทนายของฐนกรขอยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยเขตอำนาจศาลตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล โดยจะส่งความเห็นของฝ่ายพระฐนกรไปยังศาลจังหวัดสมุทรปราการภายใน 30 วัน เมื่อศาลจังหวัดสมุทรปราการทำความเห็นส่งมาแล้ว ศาลจะนัดคู่ความมาฟังความเห็นหรือคำสั่งศาลต่อไป และให้ระงับการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าปัญหาเขตอำนาจศาลจะมีข้อยุติ  

คดีอื่นๆ 

20 มิถุนายน 2559 ศาลทหารกรุงเทพเรียกเสาร์ไปแจ้งข้อกล่าวหาและถามคำให้การหน้าบัลลังก์ หลังจากเสาร์พักรับการรักษาที่สถาบันกัลยาฯ และประกันตัวไปเมื่อช่วงเมษายน 2559 ในห้องพิจารณาคดี ศาลแจ้งข้อกล่าวหาว่าฝ่ายโจทก์ฟัองเสาร์คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เนื้อหาด้านในอ้างถึงคำร้องของเสาร์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาแล้วศาลก็ถามเสาร์ว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธ เสาร์ให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 19 กันยายน 2559 

21 มิถุนายน 2559 ศาลทหารลงโทษจำคุก ‘ทวีสิน’ เป็นเวลา 10 ปี แต่ลดโทษให้เหลือ 5 ปีเพราะรับสารภาพ ส่วนที่ทวีสินร้องขอศาลให้ลงโทษสถานเบา ศาลเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่กระทบกระเทือนจิตใจประชาชนใน จึงให้ยกคำร้อง โดยวันนี้ ‘ขวัญใจ’ จำเลยร่วมทวีสินถูกเบิกตัวมาที่ศาลด้วย แม้ไม่มีนัด เพราะเธอยังคงให้การปฏิเสธและจะสู้คดีต่อ และศาลสั่งจำหน่ายออกจากคดีที่ถูกฟ้องร่วมกับทวีสินแล้วและอัยการจะต้องทำสำนวนฟ้องคดีขวัญใจใหม่ 

ที่ศาลทหารวันเดียวกัน ในคดี 112 กรณีของทอม ดันดี ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์แต่พยานโจทก์มาไม่ได้เพราะติดราชการ อัยการจึงจะแถลงขอให้ศาลเลื่อนสืบพยานออกไป แต่ฝ่ายจำเลยแถลงขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจึงให้งดสืบพยาน หลังจากนั้นอัยการก็แถลงต่อศาลขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเพิ่มเติมว่า ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อจากคดีที่ศาลอาญาเพิ่งพิพากษาลงโทษทอม ดันดี เป็นเวลา 7 ปี 6 เดือน ทนายแถลงคัดค้านระบุว่าคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลอาญาและน่าจะฟ้องรวมกัน แต่กลับแยกฟ้องเป็นสองคดีที่ศาลอาญาหนึ่งคดี ที่ศาลทหารหนึ่งคดี ทำให้จำเลยต้องประสบความยากลำบากเกินสมควร หลังทนายจำเลยคัดค้านการแก้ไขคำฟ้องให้นับโทษต่อ ศาลจึงสั่งให้ทนายทำคำร้องคัดค้านมาภายในเจ็ดวัน และนัดคู่ความฟังคำสั่งเรื่องการนับโทษในวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 

23 มิถุนายน 2559 อัครเดชได้รับอิสรภาพกลับมาอีกครั้ง หลังถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพอยู่ทั้งหมด 754 วัน 

24 มิถุนายน 2559 ศาลทหารอ่านคำฟ้องโดยสรุปว่าเมื่อ 19 ตุลาคม 2558 วิชัยนำข้อความและภาพถ่ายปลอมเฟซบุ๊กเป็นบุคคลอื่น และโพสต์วิดีโอและภาพประกอบด้วยข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ วิชัยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี ศาลทหารจึงได้ให้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 ตุลาคม 2559

 

ความเคลื่อนไหวคดีเสรีภาพอื่นๆ

2 มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำสำนวนสอบสวนคดี ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’ ส่งให้แก่อัยการ ซึ่งอัยการจะนัดฟังการตัดสินใจว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ที่ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่ 

3 มิถุนายน 2559 ประชาไทรายงานว่า สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย มีหนังสือลงวันที่ 2 มิถุนายน 2559 ถึง ‘พลอย’ เยาวชนนักข่าวพลเมือง อายุ 15 ปี หลังจากครอบครัวมีหนังสือขอทราบผลการพิจารณาที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขออนุญาตฟ้องพลอยในข้อหาหมิ่นประมาท หรือหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หนังสือระบุว่า สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลยมีความเห็นไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องเยาวชนคนดังกล่าวต่อศาลเยาวชนและครอบครัว 

7 มิถุนายน 2559 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การนัชชชา จำเลยที่ 2 คดีชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ก่อนถามคำให้การศาลทหารอ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาล ซึ่งศาลแขวงปทุมวันมีความเห็นว่า แม้คำสั่งของ คสช. ไม่ได้คำรับรองจากกษัตริย์หรือรัฐสภา แต่ก็มีศักดิ์เท่าพระราชบัญญัติ เพราะ คสช. เข้าควบคุมอำนาจประเทศได้สำเร็จเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จึงมีอำนาจในการออกกฎหมายเพื่อให้ประเทศดำเนินต่อไปได้ นอกจากนั้นประกาศ คสช. ที่ 37/2557 ซึ่งกำหนดให้ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ต่อความมั่นคง และการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ต้องขึ้นศาลทหาร ไม่ได้ระบุสถานะของจำเลยโดยเฉพาะ ดังนั้นพลเรือนสามารถถูกพิจารณาคดีที่ศาลนี้ได้ จึงทำให้ศาลทหารมีสิทธิ์พิจารณาคดีนี้ โดยคดีนี้ของนัชชชาอยู่ระหว่างเลื่อนถามคำให้การ  

8 มิถุนายน2559 ศาลอาญา ศาลนัดณัฐพลหรือ เจเจ นักดนตรีพังก์ที่ถูกกล่าวหาว่าทำลายทรัพย์สินสาธารณะด้วยการพ่นสีใส่ป้ายศาลอาญาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2558 ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีพฤติการณ์ทำลายทรัพย์สินให้เสื่อมค่า สมควรคงโทษจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปีไว้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้สองปี ตามคำอุทธรณ์ของจำเลยที่ระบุว่า จำเลยมีภาระต้องอุปถัมภ์เลี้ยงดูบุพการี  โดยในระหว่างรอการลงโทษ ให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละสามครั้ง และประกอบกิจกรรมบริการสังคมเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความหลาบจำต่อการกระทำความผิดศาลอุทธรณ์เห็นควรให้ปรับจำเลยเป็นเงิน 9,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งปรับเป็นเงิน 4,500 บาท  

[wysiwyg_imageupload:518:]

 

10 มิถุนายน 2559 ในคดีของพลเมืองโต้กลับ ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำสั่งเรื่องเขตอำนาจศาล ศาลอ่านคำวินิจฉัยของศาลแขวงปทุมวันเรื่องเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ แต่ไม่ได้อ่านรายละเอียดความเห็นของศาลแขวงปทุมวันให้จำเลยทั้งสี่ฟัง ระหว่างการพิจารณา ทนายกลุ่มพลเมืองโต้กลับยื่นคำร้องให้ศาลทหารส่งต่อไปยังรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกาศ คสช.ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และกฎหมายที่บังคับกับคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ ด้านอัยการศาลทหารกรุงเทพแถลงต่อศาล ขอทำคัดค้านคำร้องดังกล่าวภายใน 30 วัน ศาลทหารกรุงเทพจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อนเพื่อวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวด้วย แล้วจะนัดคู่ความมาฟังคำสั่งต่อไป 

จำเลยทริปรถไฟอุทยานราชภักดิ์: แย้งคดีนี้ไม่ควรขึ้นศาลทหาร!

15 มิถุนายน 2559 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การ 6 จำเลยคดีฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมมั่วสุมเกิน 5 คน จากจัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ในระหว่างพิจารณาคดี จำเลยที่ 1-5 (ยกเว้น วิจิตรจำเลยที่ 6) ยื่นคำร้องต่อศาลว่า อำนาจของศาลทหารกรุงเทพไม่ครอบคลุมถึงการพิจารณคดีนี้เนื่องจากจำเลยทั้ง 6 คนเป็นพลเรือนและพื้นที่เกิดเหตุคือบริเวณสถานีรถไฟธนบุรีนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลของศาลแขวงตลิ่งชัน ดังนั้นผู้มีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวจึงควรเป็นศาลแขวงตลิ่งชันไม่ใช่ศาลทหารกรุงเทพฯ ด้านอัยการศาลทหารกรุงเทพไม่คัดค้านการยื่นคำร้อง แต่แจ้งต่อศาลว่าจะยื่นคำร้องแย้งเรื่องเขตอำนาจศาลภายใน 30 วัน โดยศาลมีคำสั่งให้งดการพิจารณาคดีไปก่อนจนกว่าศาลแขวงตลิ่งชันจะมีความเห็นในเรื่องเขตอำนาจศาล

[wysiwyg_imageupload:517:]

 

พิพากษา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ คดีแรก กรณีย้าย บขส.ขอนแก่น

20 มิถุนายน 2559 ศาลแขวงขอนแก่น อ่านคำพิพากษาคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นเป็นโจทก์ฟ้องแกนนำคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่น 7 คน ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการใช้บริการในสถานีขนส่งสาธารณะและในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา ภัตธนสันต์ เสงี่ยมศรี สมเดช คำสุ่ย และสวาท อุปฮาด จำเลยที่ 1, 3 และ 6 ได้แถลงต่อศาลขอถอนคำให้การรับสารภาพ และให้การใหม่ปฏิเสธ ขอสู้คดีต่อ เพื่อพิสูจน์ความจริง ศาลจึงอ่านคำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 2, 4, 5 และ 7 ที่รับสารภาพ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยทั้ง 4 เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรม ลงโทษจำเลยที่ 2 และ 4 ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุม รวม 2 กระทง ปรับกระทงละ 2,000 บาท และฐานร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 เดือน ปรับกระทงละ 2,000 บาท ดูรายละเอียดคำพิพากษาที่นี่

ในวันเดียวกัน (20 มิถุนายน 2559) ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การคดีสิรวิชญ์ คดีฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 40/2557 ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอเลื่อนนัดถามคำให้การของสิรวิชญ์ เนื่องจากโจทก์แถลงคัดค้านคำร้องขอเลื่อนคดี ด้วยจำเลยยังไม่ได้แต่งคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ เข้ามาเป็นทนายแก้ต่างให้กับจำเลย นางสาวคุ้มเกล้าจึงไม่มีอำนาจลงชื่อเป็นผู้เรียงในคำร้องดังกล่าว ทั้งนี้ สิรวิชญ์แถลงต่อศาลว่าตนยังไม่มีทนายและไม่ต้องการให้ศาลตั้งทนายให้ ตนจะแต่งทนายมาสู้คดีเอง วันนี้ยังไม่พร้อมที่จะให้การ ขอเลื่อนคดีไปนัดหน้าเพื่อปรึกษารูปคดีกับทนายก่อน ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงให้เลื่อนถามคำให้การไปในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 

คดีวรเจตน์นัดสืบพยานโจทก์ ทนายจำเลยนำเบิกความว่า คำสั่งที่ 17/2557 เรียกรายงานตัวเพิ่มเติมเป็นคำสั่งต่อจากคำสั่งที่ 5/2557 ซึ่งถ้ามารายงานตัวหรือแจ้งเหตุขัดข้องแล้ว จะไม่ถูกดำเนินคดี พยานทราบว่าพัชรินทร์ ภรรยาของวรเจตน์ แจ้งเหตุขัดข้องให้พยานทราบแต่พยานแจ้งแก่พนักงานสอบสวนเพิ่มเติมว่าวรเจตน์ไม่เคยแจ้งเหตุขัดข้อง เมื่อทนายถามค้านพยานก็ให้การอีกว่ามีหน้าที่เพียงรับรายงานตัว เอกสารที่ทนายจำเลยยกมาเกี่ยวข้องกับพยานมีเพียงคำให้การเท่านั้นและพยานก็ไม่รู้ว่าพนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีอย่างไร โดยวันนี้ทนายจำเลยไม่ได้ถาม นัดสืบพยานครั้งต่อไปในวันที่ 23 กันยายน 2559

22 มิถุนายน 2559 สืบพยานคดีพรรณมณี สมบัติ พยานวันนี้คือ เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุม สืบพยานปากต่อไป กำหนดเป็นวันที่ 27 กันยายน 2559 

30 มิถุนายน 2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ คดีสมบัติ บุญงามอนงค์ มีความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ให้จำคุก 2 เดือน  ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

 

สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกด้านอื่นๆ

13 มิถุนายน 2559 ตัวแทนสถานีโทรทัศน์ช่อง พีซ ทีวี เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการพิจารณาโทษทางปกครองสูงสุด หรือเพิกถอนใบอนุญาตออกอากาศ ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ อรุโณทัย ศิริบุตร หนึ่งในตัวแทนสถานี กล่าวว่า มายื่นหนังสือ เพื่อคัดค้านมติคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ตามที่สุภิญญา กลางณรงค์ ออกมาเปิดเผยว่า จะมีการพิจารณาใน 3 รายการคือ “เข้าใจตรงกันนะ” วันที่ 11 และ 21 มีนาคม 59 รายการ “เข้มข่าวดึก” วันที่ 24 มีนาคม 59 และ รายการห้องข่าวเล่าเรื่องค่ำวันที่ 28 มีนาคม 59 ว่าจะมีการพิจารณาสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาตรายงานระบุว่า ตามเนื้อหาหนังสือคัดค้านระบุว่ารายการที่พบว่ามีปัญหา เนื่องจากเนื้อหาต้องห้ามไม่ให้ออกอากาศตามประกาศ คสช.ฉบับ ที่ 97/2557 และ103/2557 และเป็นการขัดต่อเงื่อนไขการออกอากาศตามบันทึกข้อตกลงที่ทำร่วมกับ กสทช. เนื่องจากรายการดังกล่าว แสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ 

14 มิถุนายน 2559 นิสิตกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ทำกิจกรรมเดินแจกใบปลิวเนื้อหารณรงค์ให้นิสิตและประชาชน ออกไปใช้สิทธิลงประชามติแจากบริเวณคณะสังคมศาสตร์ ก่อนได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยว่า มีตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบประสานกับมหาวิทยาลัยว่าทหารและตำรวจจะเข้าควบคุมสถานการณ์ ทางผู้บริหารไม่อยากให้มีเหตุควบคุมตัวกันเกิดขึ้นจึงประสานไปยังกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์หยุดกิจกรรมแจกใบปลิวเป็นการชั่วคราว 


*ล่าสุด ศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องขอฝากขังและทั้งเจ็ดคนได้รับการปล่อยตัวในเช้าวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage