ช่วงเวลา | ยอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร – 31 พฤษภาคม 2559 | ยอดรวมเฉพาะเดือนพฤษภาคม 2559 |
คนถูกเรียกรายงานตัว | 926 | 13 |
คนถูกจับกุมคุมขังจากการชุมนุมโดยสงบ | 225 | 2 |
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร | 167 | 1 |
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน | 49 | – |
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (ม.112) | 68 | 1 |
จำนวนคนที่ถูกคุมขังด้วยคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว และที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ในเดือนพฤษภาคม 2559 | 53 |
ทางการไทยกับช่วงเวลาที่ยุ่งยากในเวทียูพีอาร์
เดือนพฤษภาคม รัฐบาลไทยถูกตั้งคำถามอย่างหนักเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกผ่านกลไกการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน, Universal Periodic Review หรือยูพีอาร์ ที่นครเจนีวารอบที่สองซึ่งมีขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 หลายประเทศที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้แสดงความกังวลและให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกเช่น สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ขอให้ยุติการปรับทัศนคติคนเห็นต่างในค่ายทหาร เยอรมนี ลัตเวีย และเบลเยียมขอให้มีการทบทวนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะที่นอร์เวย์เสนอให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้และยุติการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
“เราไปกลัวอะไรต่างชาติ ซึ่งเขามีกฎหมายป้องกันผู้นำประเทศของเขาเหมือนกัน และผมก็มีกฎหมายปกป้องพระเจ้าอยู่หัวของผมเหมือนกัน” พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอบคำถามของนักข่าวเกี่ยวกับกรณีข้างต้น
ขณะเดียวกันคณะผู้แทนรัฐบาลไทยก็แถลงตอบข้อกังวลในที่ประชุมเกี่ยวกับข้อกังวลต่างๆ ว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม ทั้งเป็นมาตรการที่ใช้เฉพาะกับบุคคลที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงและความแตกแยก สำหรับประเด็นกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ผู้แทนไทยชี้แจงว่ากฎหมายนี้มุ่งคุ้มครองสถาบันฯ ในลักษณะเดียวกับการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเพื่อคุ้มครองบุคคลทั่วไป ในส่วนของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผู้แทนไทยชี้แจงว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดนิยามที่ไม่เอื้อต่อการตีความเกินขอบเขต
เครือข่ายภาคประชาสังคมจัดเวทีเสวนาและถ่ายทอดสดการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยรอบที่สองจากนครเจนีวา ที่ร้านแบล็กบอกซ์คาเฟ่ 11 พฤษภาคม 2559
แม่จ่านิวถูกจับฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ เหตุพิมพ์ตอบในอินบอกซ์เฟซบุ๊ก
พัฒน์นรี ชาญกิจ แม่ของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’ นักกิจกรรมและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกศาลทหารออกหมายจับในข้อหาร่วมกันกระทำผิด หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ในเช้าวันที่ 6 พฤษภาคม 2559 ซึ่งพัฒน์นรีเดินทางเข้ามอบตัวที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในวันเดียวกัน
เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าพัฒน์นรีไม่ได้ตอบเฉพาะคำว่า ‘จ้า’ แต่มีการสนทนาที่เข้าข่ายหมิ่นฯ มากกว่านั้นแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยมีหลักฐานในกล่องสนทนาเฟซบุ๊กระหว่างพัฒน์นรีกับบุรินทร์ ผู้ต้องหาคดี 112 อีกคนหนึ่ง หลังถูกควบคุมตัวที่ สน.ทุ่งสองห้องและกองบังคับการปราบปรามที่ละคืน ศาลทหารอนุญาตให้พัฒน์นรีประกันตัวในวันที่ 8 พฤษภาคม 2559 โดยวางเงินสด 500,000 บาทเป็นประกันพร้อมรับเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองและห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ดูรายละเอียดคดีของพัฒน์นรี ที่นี่
จากกรณีนี้ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 สื่อหลายสำนัก รวมถึง เดอะ การ์เดียน รายงานว่า แคทินา อดัมส์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ฝ่ายเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แสดงความกังวลต่อการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหานี้ว่า การกระทำดังกล่าว (ของรัฐบาลไทย) สร้างบรรยากาศแห่งการข่มขู่คุกคามและการเซนเซอร์ตัวเอง
ปล่อยแปดแอดมินเฟซบุ๊กเพจล้อเลียนประยุทธ์ แต่อายัดสองผู้ต้องหาคดี 112 ไว้ก่อน
จากกรณีทหารบุกจับกุมแปดแอดมินเฟซบุ๊กเพจ ‘เรารัก พล.อ.ประยุทธ์’ และ ‘ยูดีดีไทยแลนด์’ ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2559 ที่ถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 เวลาประมาณ 13.00 น. ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อเป็นผัดที่สองตามคำร้องของพนักงานสอบสวน แต่ก็อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งแปดประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาทในวันเดียวกัน อย่างไรก็ตามณัฏฐิกาและหฤษฏ์สองในแปดผู้ต้องหาถูกเจ้าหน้าที่อายัดตัวไว้เพื่อนำตัวไปสอบสวนต่อในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมทั้งสองยังถูกควบคุมตัวในเรือนจำ
แปดแอดมินเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” เดินออกจากศาลทหารหลังถูกพาตัวมาฝากขังเป็นผลัดที่สองในวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ก่อนได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในวันเดียวกัน ภาพจาก Banrasdr Photo
ปรับทัศนคติกันส่งท้ายปีที่สองของ คสช. พระ ครู อาจารย์ แกนนำชาวบ้าน นักการเมืองไม่มีเว้น
ในเดือนนี้การปรับทัศนคติคนเห็นต่างยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากกรณีการเรียกปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รจเลข วัฒนพานิช เจ้าของร้านหนังสือ Book Re:public และสุรพงษ์ ศรีพรม ครูโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดตากเข้าค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ก่อนทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการลงนามในข้อตกลงใดๆ คาดทั้งสามถูกเรียกหลังทำกิจกรรมยืนเฉยๆ ที่ข่วงประตูท่าแพ ในวันเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ที่จังหวัดอุบลราชธานี กฤษกร ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ถูกเรียกรายงานตัวที่มณฑลทหารบกที่ 22 หลังโพสต์ข้อความเชิงต่อต้านการทำงานของรัฐบาลในเฟซบุ๊ก
12 พฤษภาคม 2559 ช่วงเช้ามืด ทหารตรึงกำลังล้อมบ้าน วรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ก่อนงัดบ้านเข้าไปดึงสายโทรศัพท์และลบภาพในกล้องวงจรปิด คาดกันว่ามาจากเหตุต้องการควบคุมตัววรชัยไปปรับทัศนคติ จากการให้สัมภาษณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจแบบขวาจัด ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า ประชา ประสพดี อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ในจังหวัดเดียวกันก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารบุกค้น และสมบัติ ทองย้อย นักกิจกรรมเสื้อแดงก็ถูกทหารจับกุมไป ซึ่งพลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ในฐานะผู้นำปฏิบัติการครั้งนี้ชี้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของยุทธการ ‘ปากน้ำปลอดภัย ขจัดภัยผู้มีอิทธิพล’ ภายใต้ปฏิบัติการนี้ บ้านของฐนกร จำเลยในคดีหมิ่นสุนัขทรงเลี้ยงได้ถูกตรวจค้นและมีการยึดคอมพิวเตอร์ไปด้วย ทำให้พ่อและแม่ของเขาแสดงความกังวลว่าอาจมีการใส่ข้อมูลอื่นใดปลอมปนเข้าไปในเครื่องฯ ด้วย อ่านรายละเอียดคดีของฐนกร ที่นี่
ในวันเดียวกัน พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เจ้าหน้าที่ทหารโทรมาจะขอถวายภัตตาหารเพลในวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 พร้อมระบุ เคยมีทหารมาพบแล้วมากกว่า 5 ครั้งเพราะกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารมาโดยตลอด เมื่อถึงวันที่นัดหมาย เจ้าหน้าที่ทหารเดินทางมาที่วัดสร้อยทองและถวายภัตตาหารตามนัดหมาย โดยพระมหาไพรวัลย์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องอื่นใดนอกจากสอบถามทั่วไปเกี่ยวกับความเป็นอยู่ตามปกติ
19 พฤษภาคม 2559 ไพฑูรย์ ปัตตนา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพุ อำเภอเมืองราชบุรี และธนู งามยิ่งยวด ชาวบ้านในพื้นที่ เดินทางเข้าพบ พล.ต.เจษฎา เปรมนิรันดร ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 1 ที่ห้องประชุมตำรวจภูธรราชบุรี โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 โดยกล่าวหาว่า ไพฑูรย์ปลุกปั่นชาวบ้านให้เกิดความแตกแยกจากเหตุร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนที่โรงงานรีไซเคิลขยะปล่อยน้ำสารเคมีปนเปื้อนใต้ดินก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน ซึ่งเป็นการร้องเรียนที่พยายามเคลื่อนไหวมากว่า 16 ปีแล้ว
ในวันเดียวกัน เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักกิจกรรมด้านการศึกษาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Netiwit Junrasal ” ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจรวมเจ็ดนายเดินทางไปที่บ้านขณะที่ตนเองอยู่ข้างนอกโดยระบุว่าได้รับคำสั่งให้มาตรวจสอบผู้มีอิทธิพลและมีชื่อของเนติวิทย์อยู่ในรายชื่อที่ได้รับมาด้วย
21 พฤษภาคม 2559 เจ้าหน้าที่ทหารในชุดลายพราง 2 นายและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกหนึ่งนาย พร้อมผู้ใหญ่บ้านเดินทางไปขอพบ เสมอ แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ในอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ แต่เสมอไม่อยู่บ้าน เจ้าหน้าที่ได้พบเฉพาะพ่อและน้องสาวของเขาเท่านั้น
เสรีภาพในการแสดงออกโลกออฟไลน์ถูกจำกัดด้วยระบบยุติธรรม
ในเดือนนี้สถานการณ์เสรีภาพในการชุมนุมดูจะผ่อนคลายลงบ้าง การชุมนุมที่หน้าสถานทูตเพื่อประท้วงทูตสหรัฐฯ กรณีให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย และการชุมนุมในโอกาสครบรอบสองปีการรัฐประหารผ่านไปอย่างเรียบร้อยโดยไม่มีบุคคลถูกจับหรือดำเนินคดี อย่างไรก็ตามก็มีกิจกรรมสาธารณะอย่างน้อยหนึ่งกิจกรรมที่มีการประกาศยกเลิกในเดือนนี้ ได้แก่ กิจกรรม ‘อ่านหฤษฏ์ในคืนฟ้าไร้ดาว’ ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดในวันที่ 28 พฤษภาคม 2559 ที่ Let’s Say Café แต่ก่อนวันงานมีประกาศงดจัดจากผู้จัดโดยไม่ระบุเหตุผลแน่ชัดแต่เข้าใจว่าถูกทางการสั่งห้าม สำหรับความเคลื่อนไหวคดีที่น่าสนใจของคดีเกี่ยวกับการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม ได้แก่
เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนรักษาการณ์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยระหว่างที่มีกลุ่มประชาธิปไตยใหม่จัดการชุมนุมเนื่องในโอกาสครบรอบสองปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2559
23 พฤษภาคม 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจำคุกปรีชาหกเดือนและปรับ 8,000 บาท ฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 จากเหตุมอบดอกไม้ให้กำลังใจพ่อน้องเฌอ ในกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี รายละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้ในฐานข้อมูลของไอลอว์ ที่นี่
วิญญัติ ชาติมนตรี (คนกลาง) และ ปรีชา (คนขวาสุด) ผู้ต้องหาคดี 116 จากกรณีมอบดอกไม้ให้ ‘พ่อน้องเฌอ’ แถลงข่าวหลังฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559
27 พฤษภาคม 2559 พนักงานอัยการศาลแขวงดุสิต ยื่นฟ้อง ‘ทนายอานนท์’ จากการจัดกิจกรรม ‘ยืนเฉยๆ’ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า ศาลแขวงดุสิตนัดตรวจพยานหลักฐาน 8 สิงหาคมนี้
ท่ามกลางปัญหาและความน่ากังวล เดือนพฤษภาคมพอจะมีความเคลื่อนไหวทางบวกอยู่บ้าง ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพสั่งจำหน่ายคดีรินดาโพสต์ข่าวลือว่า พล.อ.ประยุทธ์โอนเงินไปต่างประเทศ หลังศาลทหารและศาลอาญามีความเห็นพ้องกันว่าการกระทำดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 116 แต่เป็นการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม อ่านรายละเอียดคดีของรินดาได้ที่ฐานข้อมูลของเรา ที่นี่