“ถ้าไม่เคารพกฎหมายอย่างนี้จะอยู่กันอย่างไรเล่า”
“เขาก็จับทุกรูปแบบ ทำไมจับแล้วให้พวกเธอเห็นแล้วถ่ายรูป จะได้ไปต่อต้านเจ้าหน้าที่กันหรืออย่างไร แล้วกรณีไปจับโจรอื่นทำไมไม่พูดกันบ้าง”
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน จากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารอุ้มจ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปรากฏภาพวิดีโอหลักฐานชัดเจน และเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ แม้กรณีของจ่านิวจะไม่ใช่การจับกุมอย่างอุกอาจครั้งแรกหรือครั้งที่ทารุณโหดร้ายที่สุด แต่ก็สั่นสะเทือนจน พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมายืนยันต่อสาธารณะว่าประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกต่อต้านรัฐบาลทหารนั้นย่อมมีโอกาสถูกจับกุมได้ในทุกรูปแบบ
ตลอดสองปีของ คสช. เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเข้าจับกุมบุคคลด้วยเหตุผลทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปีแรกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เจ้าหน้าที่อ้างอำนาจการจับกุมตามกฎอัยการศึก ซึ่งให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมอย่างไร้ขอบเขต ทุกสถานที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหา แม้ในช่วงหนึ่งปีหลังกฎอัยการศึกจะถูกยกเลิก แต่ต่อมาก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ออกมาใช้แทน ซึ่งให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมบุคคลได้ต่อเมื่อมีหมายศาล หรือเป็นความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ก็ยังใช้อำนาจจับกุมบุคคลอย่างไร้ขอบเขตเช่นเดิมมาตลอดสองปีเต็ม
มากกว่าอำนาจจับกุม คือการ “ถูกอุ้ม” และมีกล้องบันทึกเหตุการณ์ไว้ได้
“พี่ผู้หญิงเสื้อฟ้าเขาตะโกนขึ้นมา ชายนอกเครื่องแบบเลยเดินตาม แล้วสักพักนึงก็ได้ยินเสียงผู้หญิงกรี๊ดตอนนั้นแท็กซี่ก็ขับเข้ามาประชิดแล้ว นอกเครื่องแบบอีกสองคนก็ลงมาจากแท็กซี่ ชายนอกเครื่องแบบก็ผลักผู้หญิงเข้ามาในแท็กซี่ คนแถวนั้นก็ช่วยกันดึงตัวไว้ มีการฉุดยื้อกันระหว่างนอกเครื่องแบบกับคนแถวนั้น ผู้หญิงเสื้อฟ้าเขาก็พยายามฝืนตอนที่ถูกกระชาก แต่สุดท้ายก็ถูกผลักเข้าไป ผลักให้นั่งลงในแท็กซี่เลย”
ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ ผู้เห็นเหตุการณ์เล่า
เมื่อประชาชนถูกจับกุมจากเหตุเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของ คสช. สื่อมวลชนต่างพร้อมใจใช้คำว่า “ถูกอุ้ม” เพราะภาพการอุ้มผู้หญิงขึ้นรถแท็กซี่เป็นภาพที่สังคมจดจำได้ เหตุการณ์การจับกุมสุนันทา หญิงสวมเสื้อสีฟ้าที่ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบสองคนฉุดกระชากขึ้นรถแท็กซี่สีชมพูบริเวณหน้าศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 หลังร่วมกิจกรรมปิดตาและชูสามนิ้วต้านรัฐประหาร ถูกบันทึกไว้ทั้งภาพถ่ายและวิดีโอ แล้วกระจายทั่วเฟซบุ๊กในระยะเวลาอันรวดเร็ว ภาพและวิดีโอเผยให้เห็นแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการนำประชาชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในยุค คสช.
หลังถูกจับกุม สุนันทาถูกนำตัวไปคุมขังที่กองบังคับการปราบปรามเป็นเวลาสองคืน และถูกปล่อยตัวโดยไม่ถูกตั้งข้อหา จนถึงวันครบรอบสองปีของ คสช. สุนันทายังไม่เคยออกมาแสดงออกทางการเมืองใดๆ อีก แต่เรื่องราวการจับกุมตัวเธอในวันก่อนยังคงเป็นที่จดจำ
“ตอนขึ้นรถก็ถูกหมวกไอ้โม่งคลุมหน้าไว้ แล้วก็ถูกเอาสายมารัดตาไว้อีกชั้นหนึ่งไม่ให้เห็นอะไรเลย ก็นั่งรถไปอีกนานมาก วนหลายรอบเหมือนกัน วนไปวนมาเลี้ยวหลายตลบกลับกันประมาณ 20 รอบแล้วเขาพาไปป่าหญ้า ลากผมเข้าไปวิ่ง ลากเข้าไปในป่าหญ้า มีหญ้าตลอดทาง แล้วก็บังคับให้ผมนั่งลง ผมก็ไม่นั่งเพราะว่ามันคัน ใครจะไปนั่ง เขาก็ถีบผมลงไปนั่ง แล้วเดินมาพูดถากถางใส่ มีตบ มีตีหัวครั้งหนึ่ง มีตีหลังครั้งหนึ่ง แล้วก็เอาไม้มาจิ้มเบาๆ มันเหมือนปืน ผมว่าน่าจะไม่ใช่ไม้ น่าจะเป็นปืน”
สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว เล่าเหตุการณ์ในคืนที่เขาถูกอุ้มขึ้นรถจากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การอุ้มสิรวิชญ์เกิดขึ้นเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 22.45 น. ของวันที่ 20 มกราคม 2559 บริเวณประตูหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฝั่งเชียงราก สิรวิชญ์ ถูกชายฉกรรจ์แต่งกายคล้ายทหารแปดคนเข้าคุมตัวขึ้นรถกระบะที่ถอดป้ายทะเบียนออก การจับกุมครั้งนี้ดำเนินการอย่างอุกอาจและเห็นได้ชัดว่าเป็นการจับกุมด้วยรูปแบบและวิธีที่เกินกว่าเหตุหรือตามอำเภอใจ นับว่าโชคดีที่ถูกบันทึกภาพไว้ได้ หลังเหตุการณ์นี้ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติแถลงว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ และการดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ปฏิบัติอย่างให้เกียรติ ไม่มีความรุนแรง
นอกจากนี้ การจับกุมขณะทำกิจกรรมในที่สาธารณะก็เกิดขึ้นหลายกรณีตลอดสองปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ปรากฏในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนหรือบันทึกภาพไว้โดยประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ เช่น เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 บริเวณลานน้ำพุ สยามพารากอน ‘แชมป์’ ซึ่งมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์นั่งกินแซนวิชและอ่านหนังสือ 1984 ถูกเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจนอกเครื่องแบบควบคุมตัวและลากตัวออกจากพื้นที่ไป ก่อนถูกปล่อยตัวที่สโมสรกองทัพบก วิภาวดี ในกลางดึกคืนเดียวกัน
หรือกรณีของอานนท์ นำภาและสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับรวมห้าคนเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ซึ่งจัดกิจกรรมยืนเฉยๆ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข เพียงไม่กี่นาทีหลังจากเริ่มกิจกรรม อานนท์และพวกก็ถูกควบคุมตัวขึ้นรถเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอีกกิจกรรมหนึ่งในบริเวณเดียวกันเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับกรณีทหารเข้าควบคุมตัวประชาชนแปดคนในกรุงเทพฯ และจังหวัดขอนแก่น ซึ่งกรณีหลังนี้มีผู้ร่วมกิจกรรมถูกจับกุมทั้งหมด 14 คน
การจับกุมที่เกินกว่าเหตุ หลายกรณีที่ข้อเท็จจริงไม่ถูกบันทึกไว้ด้วยกล้อง
“เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหนึ่งในสองที่เข้าควบคุมธเนตรไว้ได้ โดยทั้งสามลงลิฟท์จากชั้นเจ็ดไปก่อนขึ้นรถ มั่นใจว่าจะเป็นรถแท็กซี่สีเขียวเหลือง ไม่ติดป้ายทะเบียนกระจกใสแต่ถูกปิดด้วยกระดาษ ขับออกไปจากโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ใช้เส้นทางอ่อนนุช-ลาดกระบัง ขาเข้า พลเมืองดีขับไม่ทันจบข่าว”
ผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ Piyarat Chongthep โพสต์ข้อความพร้อมภาพถ่ายจังหวะที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมธเนตรในวันเกิดเหตุ
ธเนตรเป็นนักกิจกรรมที่เข้าร่วมกิจกรรมกับสิรวิชญ์และกลุ่มประชาธิปไตยใหม่อยู่บ่อยครั้ง หลังถูกจับกุมเขาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ธเนตรถูกควบคุมตัวไปจากโรงพยาบาลสิรินธร เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 ขณะพักรักษาอาการลำไส้อักเสบและรอเข้ารับการผ่าตัด ในวันดังกล่าวมีเพื่อนอีกสองคนกำลังเข้าเยี่ยมและเห็นเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวธเนตรออกไปจากโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งชื่อหรือนามสกุล ต้นสังกัด และไม่แจ้งว่าจะควบคุมตัวธเนตรไปที่ใดและควบคุมตัวเพราะเหตุใด อีกทั้งไม่ได้แสดงหมายจับของศาล ปัจจุบันธเนตรได้รับการประกันตัว เท่าที่มีการบันทึกไว้ ธเนตรเป็นหนึ่งในสองกรณีที่ถูกจับกุมขณะกำลังตรวจรักษาอยู่ในโรงพยาบาล
“ไม่ได้เป็นการควบคุมตัวออกจากเตียงที่รักษาตามที่มีการโพสต์กันในโลกออนไลน์แต่อย่างใด แต่เป็นการควบคุมตัวโดยถูกต้องตามหมายจับของศาลขณะที่ผู้ต้องหากำลังจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล และมีพฤติกรรมคาดว่าจะหลบหนีไป ทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้จากเอกสารหลักฐานต่างๆ”
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวชี้แจงการจับกุมธเนตร
ก่อนหน้ากรณีของธเนตร มีการจับกุมนัชชชา หนึ่งในแปดนักศึกษาที่ถูกออกหมายจับจากการชุมนุมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยเธอถูกจับกุมขณะอยู่ในห้องพักผู้ป่วย โรงพยาบาลวิภาวดี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 และถูกนำตัวส่งศาลทหารทันที โดยเจ้าตัวเผยว่ากำลังจะเดินทางเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนในช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้นแต่ถูกจับก่อน
หรืออย่างการจับกุมสิรภพ ผู้ต้องหาในคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. เป็นอีกกรณีตัวอย่างหนึ่งของการจับกุมที่เกินกว่าเหตุ โดยในวันที่ 25 มิถุนายน 2557 ขณะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลเข้าตัวเมืองกาฬสินธุ์ รถยนต์โตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบอย่างน้อยห้านายโดยสารมาพร้อมอาวุธครบมือได้ขับปาดหน้าก่อนลงจากรถ และถูกจอดประกบโดยรถอีกคันหนึ่ง ทหารบังคับให้ทุกคนหมอบลงบนพื้นที่เปียกด้วยฝน ต่อมาจึงควบคุมตัวคนขับรถและสิรภพ ไปที่หน่วยราชการในจังหวัดหนึ่งคืน ก่อนจะส่งตัวมาที่กรุงเทพฯ ในวันครบรอบสองปีของ คสช. สิรภพยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
ในช่วงปีแรกของการรัฐประหาร การไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นเหตุให้ณัฐถูกเจ้าหน้าที่บุกไปจับถึงห้องพักของเขาในอาคารชุดถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2557 และต่อมาในวันที่ 28 มิถุนายน 2557 ณัฐเล่าว่า ในการถูกจับครั้งแรก เมื่อได้ยินเสียงเคาะประตูเขาก็เดินไปเปิดประตู ทันใดนั้นทหารก็ผลักประตูเข้ามาทำให้เขาเสียหลัก เขาถูกจับกดลงกับพื้น ถูกจับมือไพล่หลังและรัดแน่นทำให้เขาเจ็บปวด โดยทหารไม่ได้แจ้งเหตุผลใดๆ ในการเข้าจับกุม
ทหารบุกบ้านจับประชาชนทำเพจล้อ คสช. 8 คน ในวันเดียวกัน
เช้ามืดของวันที่ 27 เมษายน 2559 จากการรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โลกออนไลน์ถูกปลุกด้วยกระแสข่าวการจับกุมประชาชนรวมแปดรายออกจากที่พักไปยังค่ายทหาร อาทิ กรณีของหฤษฎ์ และนิธิ ทั้งสองถูกทหารประมาณ 20 นายพร้อมอาวุธบุกที่พักในจังหวัดขอนแก่น ก่อนควบคุมตัวไปพร้อมยึดโทรศัพท์ หนังสือเดินทางและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ศุภชัยก็ถูกควบคุมตัวไปจากบ้านพักในกรุงเทพฯ ไปยังมณฑลทหารบกที่ 11 ด้วย ญาติของผู้ถูกจับรายหนึ่งเล่าว่า มีคนแต่งกายคล้ายทหารประมาณสิบนายงัดประตูบ้านเข้ามาถามหาหลานชายโดยไม่มีหมายค้นหรือหมายจับ ญาติของผู้ถูกจับอีกคนหนึ่งเผยว่า เจ้าหน้าที่กดกริ่งติดต่อกันหลายครั้ง เมื่อเปิดประตูช้า เพราะมัวหากุญแจก็มีเจ้าหน้าที่บางส่วนปีนเข้ามาพร้อมต่อว่าที่เปิดประตูช้าและตั้งข้อสงสัยว่าอาจกำลังทำลายเอกสารอยู่
จากเหตุที่เกิดขึ้น พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.แถลงว่า เป็นการควบคุมตัวผู้ที่มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการเปิดเฟซบุ๊กเพจที่มีเนื้อหาล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาหกคน โดยวางเงื่อนไขห้ามยั่วยุปลุกปั่นและห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนอีกสองคนที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถูกนำตัวไปกองบังคับการปราบปรามทันที
จากการเก็บข้อมูลของไอลอว์ ตลอดสองปีในยุค คสช. มีประชาชนถูกจับกุมแล้วอย่างน้อย 527 คน ในจำนวนนี้ 225 คน ถูกจับกุมจากการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ
“เรียกให้ไปรายงานตัว” คือการใช้อำนาจเพื่อสร้าง “ความกลัว”
“ผมถูกเรียกในวันที่ 1 มิถุนาฯ เขาให้ผมไปรายงานตัวในช่วงระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 3 ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าผมถูกเรียกไปในข้อหาอะไร และการเรียกไปมีเพียงการประกาศชื่ออย่างเดียว และก่อนที่จะไปรายงานตัวก็มีเจ้าหน้าที่ทหารกับฝ่ายปกครองไปที่บ้านที่ต่างจังหวัดด้วย ซึ่งมันสร้างต้นทุนของความกลัวให้กับครอบครัว พ่อแม่ ไม่ใช่แค่กับตัวเอง”
หนึ่งในบุคคลที่ถูกเรียกไปรายงานตามคำสั่ง คสช. เล่าถึงสถานการณ์ก่อนจะเข้าไปรายงานตัว เขาบรรยายถึงความรู้สึกในตอนนั้นอีกว่า
“กลัวครับ แม้จะรู้ว่าทุกอย่างที่เราทำสามารถอธิบายได้ และไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมาย แต่ภายใต้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะขณะนั้นก็ไม่ได้อยู่บนฐานของเหตุผล หรือกฎหมาย แต่เป็นฐานของกำลังและความกลัว ดังนั้นเราไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลยถึงสิ่งที่เขาจะทำกับเรา อีกทั้งฝ่ายที่จะมาปกป้องเราก็ไม่มีด้วย ถึงมีก็พลังน้อยมากเมื่อเทียบกับฝ่ายเขา ลูกไก่ในกำมือนั่นล่ะ อารมณ์นั้น”
ภายหลังการรัฐประหาร คสช. ได้ออกคำสั่งให้บุคคลมารายงานตัวผ่านทางโทรทัศน์ แล้วจากนั้น จึงค่อยปรับวิธีการมาเป็นการออกหมายเรียกหรือใช้การโทรศัพท์เรียกแทน ซึ่งการใช้อำนาจด้วยวิธีการดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนเกิดความไม่สบายใจ หวาดกลัว และสับสน เพราะว่า เกือบทุกครั้งที่เรียกบุคคลไปรายงานตัว เจ้าหน้าที่ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลว่าเรียกไปเพื่ออะไร
ในกระบวนการยุติธรรมปกติ บุคคลที่ถูกเรียกต้องได้รับสิทธิต่างๆ เช่น การมีทนายเข้าร่วมการรับฟัง หรือหากจะควบคุมตัวก็ต้องมีสิทธิที่จะติดต่อกับญาติและต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุม แต่ภายใต้อำนาจกฎอัยการศึกและคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 กลับมองข้ามขั้นตอนเหล่านี้ไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งบุคคลที่ถูกเรียกไปรายงานตัวก็ไม่มีทางเลือกมาก เพราะถ้าไม่ไปรายงานตัวก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เบื้องหลัง “การปรับทัศนคติ” คือ การเรียกมารับฟังคำสั่งและให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
“แม้ไม่ได้ถูกทรมาน แต่รู้สึกถูกคุกคามอย่างมาก”
ประวิตร โรจนพฤกษ์ อดีตผู้สื่อข่าวเนชั่นกล่าวความรู้สึกกับประชาไท ภายหลัง คสช. ปล่อยตัวเขาหลังจากออกหมายเรียกและควบคุมตัวเพื่อ “ปรับทัศนคติ” ตั้งแต่วันที่ 13-15 กันยายน 2558
ประวิตรบอกเล่าเหตุการณ์ผ่านประชาไทบล็อกกาซีนว่า หลังจากที่เขาเข้าไปรายงานตัว ก็มีชายสี่คนที่ไม่สวมใส่ชุดทหารแต่สวมผ้าปิดจมูกและปาก ใช้ผ้าสองชั้นปิดตาแล้วพาขึ้นรถตู้ไปยังสถานที่ที่ไม่ทราบว่าเป็นที่ใด ในห้องขังมีพื้นที่ประมาณ 4 คูณ 4 เมตร หน้าต่างในห้องล้วนถูกปิดสนิท และมีลูกกรงเหล็กติดทับอีกที มีกล้องวงจรปิดส่องลงมาจากมุมบนซ้ายของเพดาน ประวิตรเล่าด้วยว่าในระหว่างการสอบสวน เจ้าหน้าที่ต้องการทราบว่าทําไมเขาถึงไม่เอารัฐประหารและทำไมถึงต้องการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือ ม.112 ทั้งนี้ ในการพูดคุยนั้น จะมีเจ้าหน้าที่อัดวิดีโอ และพิมพ์คําตอบลงในคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ก่อนจะตามมาด้วยการอธิบายให้ประวิตรทราบถึงความจำเป็นที่จะต้องทำการรัฐประหาร
ก่อนทหารจะปล่อยตัว ประวิตรต้องเซ็นเอกสารที่มีข้อความว่า ข้าพเจ้าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มิได้ถูกทําร้าย ทรัพย์สินต่างๆ ได้รับคืนครบถ้วนทั้งหมดแล้ว และต้องลงนามในเอกสารว่า
1. ข้าพเจ้าพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่… และข้าพเจ้าจะไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
2. ข้าพเจ้าจะละเว้นการเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ
3. หากข้าพเจ้าฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวหรือดําเนินการช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ข้าพเจ้ายินยอมที่จะถูกดําเนินคดีทันที และยินยอมถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน
อีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับทัศนคติด้วยท่าทีที่กดดันจากเจ้าหน้าที่ทหาร คือการเรียก ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปรายงานตัว เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 ซึ่งใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/25558 โดยปิ่นแก้วได้โพสต์ข้อความบอกเล่าและแสดงความคิดในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
“ในการถูกเชิญให้ไปปรับทัศนะคติครั้งที่สอง ณ ค่ายกาวิละ ในวันนี้พร้อมๆกับเพื่อนๆอีกสองท่าน ทำให้ดิฉันอดย้อนคิดเปรียบเทียบกับเมื่อครั้งเข้าค่ายกาวิละตามคำเชิญของทหารเป็นครั้งแรก เมื่อหลังรัฐประหารใหม่ๆ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557 ไม่ได้ สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่าสิ่งที่ทางฝ่ายทหารขอร้องจะเหมือนกันในทั้งสองครั้ง คือ การขอให้ยุติการแสดงออกทางความคิดเห็นและกิจกรรมต่างๆในที่สาธารณะ เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่เหตุผล และวาทกรรมที่ใช้ในการรองรับคำขอดังกล่าว มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ในตลอดสองชั่วโมงที่นั่งฟังการบรรยายของฝ่ายทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจและตัวแทนจากฝ่ายปกครอง ถึงความจำเป็นที่ต้องเรียกตัวดิฉันและเพื่อนอีกสองคนเข้าพบ คีย์เวิร์ดสองคำที่ไม่พบในวาทกรรมของฝ่ายทหาร ทั้งที่เป็นคำที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้งในการปรับทัศนะคติครั้งแรก และเป็นวาทกรรมที่ถูกใช้มาโดยตลอดในการสร้างความชอบธรรมที่จะริดรอนเสรีภาพของประชาชนคือ “เพื่อความปรองดอง” และการอยู่ในช่วงของ “โรดแมป” ในการคืนความสุขให้กับประชาชน คำที่มาแทนที่ ความปรองดอง และโรดแมปในการสนทนาวันนี้ คือ “บ้านเมืองอยู่ในสภาวะพิเศษ” ที่ต้องการ “ความสงบเรียบร้อยปราศจากความวุ่นวายก่อนการเลือกตั้ง” และ “อย่าบังคับให้ทหารต้องใช้ความรุนแรง”
จากการเก็บข้อมูลของไอลอว์พบว่า บุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวเพื่อ “ปรับทัศนคติ” นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมือง นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ สื่อมวลชน ประชาชน และนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสะท้อนปัญหาภายหลังการรัฐประหาร หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร ตลอดสองปีในยุค คสช. มีคนถูกเรียกรายงานตัวอย่างน้อย 992 คน ในจำนวนนี้ถูกเรียกโดยวิธีการประกาศเป็นคำสั่ง คสช. ผ่านทางโทรทัศน์ อย่างน้อย 480 คน
ข่มขู่ ล้วงข้อมูล ด่านแรกของกระบวนยุติธรรมในค่ายทหาร
ไม่ว่าจะเรียกบุคคลมารายงานตัวหรือการเข้าไปจับกุมก็ตาม เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจที่จะควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายศาล ไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา หรือการกระทำความผิด ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่มักอ้างว่า ระหว่างเวลานี้ผู้ถูกควบคุมตัวยังไม่ใช่ผู้ต้องหา จึงไม่มีสิทธิติดต่อญาติหรือทนายความ และไม่จำเป็นต้องแจ้งสถานที่ควบคุมตัว โดยช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าหน้าที่ทหารใช้การข่มขู่ และล้วงข้อมูลส่วนบุคคล โดยอ้างอำนาจจากกฎอัยการศึกและคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทหารสถาปนาตัวเองไปเป็นด่านแรกของกระบวนยุติธรรม
“การข่มขู่หรือยัดข้อหา” ในชั้นซักถามของเจ้าหน้าที่ทหารจึงเกิดขึ้น อย่างเช่น ทอม ดันดี ซึ่งเขียนเรื่องราวระหว่างถูกควบคุมตัวไว้ในเว็บไซต์ประชาไทว่า ในระหว่างการสอบสวน ทอมถูกยัดข้อหาหลบหนีและขัดขืนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และยังพยายามยัดเยียดเรื่องอาวุธสงคราม, การซ่องสุมกำลังพล, แผนผังการวางระเบิดที่จังหวัดราชบุรีและความผิดในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายเบื้องสูง (มาตรา 112) อีกด้วย
ทอมเล่าอีกว่า ตลอดเวลาในการสอบสวน เขาได้ยินแต่เสียงขู่ เสียงด่า ตะโกนคำหยาบคาย ประโยคซ้ำๆ ด้วยการข่มขู่ว่าสามารถจะฆ่าเขาทิ้งได้โดยไม่มีความผิดและจะนำลูกเมียมาทรมานจนกว่าเขาจะรับสารภาพ
อีกกรณีตัวอย่าง รายงานจากประชาไททำให้ทราบว่าผู้ต้องหาจากเหตุการณ์ระเบิดหน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 ถูกซ้อมทรมาน และหนึ่งในนั้นก็คือ สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน โดย สรรเสริญเล่าว่า กระบวนการที่เจ้าหน้าที่พยายามทำให้สารภาพคือ การขู่ตะคอก ตบหน้า ชกเขาที่บริเวณลิ้นปี่และชายโครง รวมถึงเหยียบบริเวณลำตัว รอยช้ำส่วนใหญ่เริ่มจางลงไปไปหมดแล้ว เหลืออยู่เพียงบางส่วน นอกจากนี้ พอเขาไม่ยอมรับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงได้ใช้ไฟฟ้าช็อตที่บริเวณต้นขา โดยสรรเสริญเล่าว่า เขาถูกช็อตราว 30-40 ครั้ง
Sansern Sriounruen รูปภาพจาก Prachatai
“การล้วงค้นข้อมูลส่วนบุคคล” เพื่อตรวจหาความผิด ซึ่งเป็นอีกวิธีการของเจ้าหน้าที่ทหาร ภายใต้การควบคุมตัวที่ผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับสิทธิใดๆ โดยเจ้าหน้าที่มักจะยึดสิ่งของที่ติดตัวผู้ถูกควบคุมตัวทันที หรือการบุกไปยึดที่บ้านในภายหลัง ซึ่งส่วนใหญ่การตรวจสอบอุปกรณ์สื่อสารของเจ้าหน้าที่เป็นไปโดยไม่มีหมายศาลหรือไม่มีอำนาจในการเข้าค้น
การยึดสิ่งของและตรวจค้นดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ยึดอุปกรณ์การสื่อสารหลังจับกุมตัว ในกรณีชัดเจนคือ กรณีของ บุรินทร์ และ พัฒน์นรี หรือ แม่ของสิรวิชญ์ ที่ทหารได้เข้าตรวจกล่องข้อความเฟซบุ๊กที่ทั้งคู่สนทนากัน ท้ายที่สุดก็เป็นเหตุให้ทั้งคู่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
สิ่งที่น่าสงสัยในกรณีนี้ก็คือ วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลการสนทนา เพราะ โดยปกติการได้มาซึ่งพยานหลักฐานในคอมพิวเตอร์ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 และ 19 คือ เจ้าหน้าที่ต้องขอหมายศาลเพื่อให้บุคคลส่งมอบคอมพิวเตอร์ให้แล้วจึงตรวจค้นได้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ก็มีภาระผูกผันก่อนจะขอหมายศาลว่า จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อเสียก่อนว่า ในกล่องข้อความเฟซบุ๊กมีการกระทำความผิด ดังนั้น บทสนทนาในกล่องข้อความเฟซบุ๊ก เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่รัฐไม่มีสามารถล่วงรู้ได้ว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่ ถ้าหากไม่ขอหมายศาลก่อน กรณีดังกล่าวจึงค่อนข้างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่รัฐรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวโดยไม่มีอำนาจ
ตลอดสองปีของ คสช. คนส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุมจากการแสดงออกทางการเมืองจะถูกยึดอุปกรณ์สื่อสารไปตรวจค้น โดยก่อนหน้านี้ ชโยและณัฏฐธิดาเคยถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการสนทนาในกล่องข้อความมาแล้ว และยังมีกรณีเจ้าหน้าที่พยายามค้นรถของทนายความโดยไม่มีหมายศาล เพื่อยึดโทรศัพท์ของผู้ต้องหากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ด้วย
ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร มีคน “เกือบสูญหาย” และ “เสียชีวิต”
สองปีที่ผ่านมาภายใต้ยุค คสช. มีคนจำนวนมากเสี่ยงต่อการถูกอุ้มหาย ถูกจับไปโดยไม่เปิดเผย ไม่มีการแจ้งสถานที่ควบคุมตัว ไม่ให้สิทธิพบทนายหรือติดต่อญาติ เงื่อนไขเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่บุคคลจะสูญหาย แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นซ้ำๆ ตั้งแต่กรณีของกริชสุดา และกรณีของสราวุธ หรือแอดมินเพจเปิดประเด็น
กระแสการหายตัวไปของสราวุธ เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2559 จากนั้น วันรุ่งขึ้น พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ คสช. ในฐานะทีมโฆษก คสช. ระบุว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน และไม่ทราบว่า แอดมินเพจเปิดประเด็น ถูกทหารเชิญตัวไปจริงหรือไม่ และถูกเชิญตัวด้วยเหตุผลใด อย่างไรก็ดี สุดท้ายเขาก็ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 16 มีนาคม 2559 โดยให้ญาติมารับจากค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา
กรณีของสราวุธ เป็นหนึ่งในอีกหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่สื่อสารข้อมูลที่ผิดพลาดและก่อให้เกิดความสับสนว่า ใครเป็นคนจับกุมและควบคุมตัวประชาชน ด้วยเหตุอะไร และใช้อำนาจอะไร ทำให้ประชาชนไม่อาจทราบได้ว่าเมื่อญาติพี่น้องของตัวเองหายตัวไป จะเป็นเพราะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวหรือหายไปด้วยเหตุอื่น สร้างบรรยากาศความวิตกกังวลต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของคนทั่วไปในสังคม
ไม่ใช่แค่กรณีเกือบสูญหาย แต่การกระทำที่รัฐบาลถูกตั้งคำถามและยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนก็คือ การเสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวในค่ายทหารของสารวัตรเอี๊ยด พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา และ หมอหยอง สุริยัน สุจริตพลวงศ์ ผู้ต้องหาคดีแอบอ้างสถาบันฯ ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ทั้งสองเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่โดยไม่มีการไต่สวนการตายตามขั้นตอนของกฎหมาย ทำให้การเสียชีวิตของสองคนนี้ยังคงถูกกล่าวถึงด้วยข่าวลือมากกว่าข้อเท็จจริง
หลักสูตร “ผู้นำการสร้างชาติ อย่างสร้างสรรค์” อำนาจที่ไม่มีกฎหมายรองรับ
ไม่ได้มีอำนาจหรือบทบัญญัติใดที่รองรับ “การปรับทัศนคติ” ไม่ว่าจะเป็นทั้งกฎอัยการศึกหรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ก็ให้อำนาจในการเรียกตัวบุคคลและการกักตัวไม่เกิน 7 วันเท่านั้น แต่ตลอดสองปีที่ผ่านมา คสช. ใช้นโยบายปรับทัศนคติประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งล่าสุดนำไปสู่การออกแบบหลักสูตร “ผู้นำการสร้างชาติ อย่างสร้างสรรค์” เพื่อเป็นแนวทางใหม่ในการปรับทัศนคติกับคนที่เห็นต่างกับรัฐบาล
พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ส่วนงานรักษาความสงบ สำนักงานเลขาธิการ คสช. ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับหลักสูตรดังกล่าวไว้กับไทยรัฐว่า
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม คือ ผู้ที่เป็นแกนนำภาคประชาชน แกนนำองค์กรเอกชน แกนนำของพรรคการเมือง ผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่าย หรือผู้ที่ได้สร้างกระแสไปในทางขัดคำสั่งของทาง คสช. ยุยง ปลุกปั่น สร้างกระแสของความสับสนวุ่นวาย หรือชี้นำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ โดยจะเชิญตัวเพื่อพูดคุย ให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความเข้าใจในการทำหน้าที่ของ คสช. และรัฐบาล ว่าต้องการปฏิรูป และต้องการสร้างพัฒนาการให้กับประเทศ ไม่ต้องการให้เงื่อนไขเก่าๆ กลับมาอีก และสุดท้าย ขอความร่วมมือไม่อยากให้ขัดขวาง และให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของรัฐบาล และ คสช. นอกจากนี้ ในระหว่างที่ฝึกอบรมสงวนสิทธิ์ในเรื่องของการติดต่อสื่อสาร แต่มีโทรศัพท์ให้ติดต่อกับญาติเป็นบางช่วงเวลา และไม่สามารถออกมานอกค่ายได้
เป็นข้อสังเกตว่าหลังจากนี้หลักสูตรผู้นำการสร้างชาติ อย่างสร้างสรรค์ จะเป็นเครื่องมือใหม่ที่มาทดแทนกระบวนการควบคุมตัวเพื่อปรับทัศนคติประชาชนแบบเดิม
กลไกการตรวจสอบการจับกุมและควบคุมตัวโดยมิชอบไม่สามารถทำงานได้
การจับกุมนั้นถือเป็นการจำกัดเสรีภาพที่ร้ายแรง จึงต้องมีกลไกเพื่อควบคุมการใช้อำนาจ เช่น การออกหมายจับโดยศาล หากการจับกุมเริ่มต้นขึ้นโดยไม่ถูกต้อง พยานหลักฐานซึ่งได้มาหลังจากนั้นย่อมรับฟังในชั้นศาลไม่ได้ เพราะต้นทางมาอย่างไม่โปร่งใส และศาลต้องยกฟ้องไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะกระทำความผิดจริงหรือไม่ก็ตาม
กระบวนการยุติธรรมภายใต้ยุค คสช. หลายครั้งที่ต้นทางของกระบวนการยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่ทหารเป็นไปโดยไม่ชอบ แต่องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจกลับไม่สามารถทำงานได้ อย่างกรณี ศาลอาญายกคำร้องขอให้ปล่อยตัวธเนตร โดยไม่มีการไต่สวนว่า เจ้าหน้าที่มีพฤติการณ์การจับกุมอย่างไร ปฏิบัติไปตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ นอกจากนี้ ศาลยังรับรองอำนาจการจับกุมและควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 อีกด้วย
อ่านรายงาน 24 เดือน คสช.: เมื่ออำนาจทหารอยู่เหนือระบบยุติธรรม ต่อตอนอื่นที่