เมษายน 2559: ตั้งข้อหา 116 แปดแอดมินเพจล้อประยุทธ์, รวบหมดแกนนำใส่เสื้อขาวยืนเฉยๆ – มาแล้ว! พ.ร.บ.ประชามติฯ

ช่วงเวลายอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร – 
30 เมษายน
2559
ยอดรวมเฉพาะเดือนเมษายน 
2559
คนถูกเรียกรายงานตัว9154
คนถูกจับกุมคุมขัง
จากการชุมนุมโดยสงบ
22410
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร1679
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน491
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท
พระมหากษัตริย์ฯ (ม.112)
663
จำนวนคนที่ถูกคุมขังด้วยคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว
และที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี 
ในเดือนเมษายน 2559
53

สถานการณ์ทางการเมืองในเดือนเมษายน 2559 คุกรุ่นไม่แพ้อุณหภูมิที่น่าจะสูงแตะระดับ 40 องศา สำหรับความเคลื่อนไหวคดีเสรีภาพ เดือนนี้มีการนัดสืบพยานโจทก์สองคดีคือ คดีจิตรา คชเดช ฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวและคดี 116 ของสมบัติ บุญงามอนงค์ นอกจากนั้นก็มีความเคลื่อนไหวในชั้นอัยการ ได้แก่ คดี 112 ของเสาร์ (ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) และคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งอัยการทหารมีความเห็นสั่งฟ้อง ส่วนคดี 116 ของ “แจ่ม” (โพสต์เรื่องทุจริตราชภักดิ์) อัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นอกจากนี้ก็มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือการวินิจฉัยเขตอำนาจศาลซึ่งมีออกมาสามคดี ได้แก่ คดีพลเมืองรุกเดิน ซึ่งศาลอาญาเห็นว่าอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร คดี 116 ของจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยเขตอำนาจระหว่างศาลเห็นว่าคดีส่วนหนึ่งอยู่ในอำนาจศาลพลเรือนและอีกส่วนหนึ่งอยู่ในศาลทหาร   

นอกจากความเคลื่อนไหวคดีในศาลแล้ว ความเคลื่อนไหวการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกอื่นๆ ก็ระอุไม่แพ้กัน ทั้งการเรียกวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองพรรคเพื่อไทยเข้าค่ายช่วงสงกรานต์จนทำให้กลุ่ม ‘พลเมืองโต้กลับ’ เริ่มออกมาทำกิจกรรมยืนเฉยๆ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ซึ่งต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลเก้าคนเข้าค่ายทหารในช่วงเช้ามืดวันที่ 27 เมษายน โดยอ้างว่าทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (ก่อนที่ต่อมาจะถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 116 เพิ่ม) กลุ่มพลเมืองโต้กลับก็ทำกิจกรรมใส่เสื้อขาวยืนเฉยๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกครั้งผู้ที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นแกนนำจะถูกพาตัวไปที่สถานีตำรวจแต่ไม่มีการตั้งข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. มีเพียงข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือเป็นการเรียกไปกักตัวเฉยๆ

 

บุกจับเก้าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ก่อนแปดคนถูกตั้งข้อหา 116     

ประมาณ 7.30 น. ของวันที่ 27 เมษายน 2559 อานนท์ นำภา ทนายสิทธิมนุษยชนโพสต์เฟซบุ๊กว่า มีบุคคลอย่างน้อย 5 คน ก่อนที่ภายหลังโฆษก คสช.จะออกมาแถลงว่ามีการควบคุมตัวบุคคลอย่างน้อยสิบคน (ภายหลังสามารถยืนยันได้ว่าผู้ที่ถูกทหารควบคุมตัวมีทั้งหมดเก้าคน) โดยเบื้องต้นเป็นการเรียกไปสอบถามเพราะทั้งสิบมีพฤติการณ์ที่อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในช่วงดึกวันเดียวกัน นิธิ หนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวโพสต์เฟซบุ๊กว่า ได้รับการปล่อยตัวแต่บุคคลอื่นยังคงอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ 

การใช้กำลังทหารควบคุมตัวบุคคลทั้งเก้าก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคลุมเครือของเหตุแห่งการควบคุมตัว วันที่ 28 เมษายน 2559 บุคคลที่ถูกควบคุมตัวรวมแปดคนถูกนำตัวไปแถลงข่าว โดยทั้งหมดถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการร่วมกันทำเพจต่อต้านรัฐบาล ในวันที่ 29 เมษายน 2559 ผู้ต้องหาทั้งแปดถูกนำตัวจากกองปราบปรามไปที่ศาลทหารเพื่อฝากขัง ทนายจำเลยยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้งหมดโดยวางหลักทรัพย์คนละ 100,000 บาท แต่ต่อมาศาลทหารมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยระบุเหตุผลว่าพฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรงและมีการทำเป็นขบวนการ ผู้ต้องหาชายเจ็ดคนจึงถูกนำไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพส่วนผู้ต้องหาหญิงอีกหนึ่งคนถูกนำไปควบคุมไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง 

 

ความเคลื่อนไหวคดี 116 ที่น่าสนใจอื่นๆ: เลื่อนสืบพยานคดี บก.ลายจุด/ อัยการทหารไม่รับฟ้องคดีโพสต์ข้อความทุจริต ‘ราชภักดิ์’

นอกจากการจับกุมและตั้งข้อหาตามมาตรา 116 กับบุคคลรวมแปดคนจากการทำเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ในเดือนนี้ยังมีความเคลื่อนไหวคดี 116 ที่น่าสนใจอีกสองเรื่อง ได้แก่ การสืบพยานโจทก์คดีสมบัติ บุญงามอนงค์ โพสต์ข้อความเชิญชวนคนออกไปชุมนุมต้านรัฐประหาร และกรณีอัยการทหารสั่งไม่ฟ้องคดี ‘แจ่ม’ ผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เรื่องทุจริตอุทยานราชภักดิ์

คดีของ สมบัติ บุญงามอนงค์ ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 27 เมษายน 2559 อัยการทหารแถลงขอเลื่อนการสืบพยานออกไปอีกหนึ่งนัดเพราะ พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ พยานโจทก์ติดราชการด่วน ศาลทหารเห็นว่ามีเหตุอันควรจึงอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานปากนี้วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 เวลา 8.30 น.

คดีของ “แจ่ม” อัยการนัดจำเลยมารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 เมื่อพนักงานสอบสวนเดินทางมาถึงศาลในเวลาประมาณ 12.00 น. อัยการทหารบอกกับ”แจ่ม”และพนักงานสอบสวนว่า คดีนี้หัวหน้าอัยการทหารเห็นว่าไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของพลเรือนก็ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร จึงคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนนำไปดำเนินคดีในศาลยุติธรรมต่อไป       

ตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 จนถึงเดือนเมษายน 2559 มีผู้ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 รวมทั้งสิ้น 47 คน

 

ว่าด้วยเขตอำนาจศาล: พลเมืองรุกเดินสู้คดีต่อศาลทหาร ส่วนคดีของจาตุรนต์ให้แยกสำนวน

เดือนนี้มีคำสั่งเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลออกมาสองคดี ได้แก่ คดีพลเมืองรุกเดินของพันธ์ศักดิ์ และคดีของจาตุรนต์ ซึ่งถูกฟ้องรวมสามข้อหา ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความและจัดแถลงข่าวเรื่องไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร

คดีของพลเมืองรุกเดิน พันธ์ศักดิ์ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการจัดกิจกรรมเดินเท้าไปศาลทหารเพื่อรณรงค์ไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ยื่นคัดค้านอำนาจศาลทหารในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 โดยให้เหตุผลสรุปได้ว่า ประกาศคำสั่ง คสช. รวมทั้งประกาศฉบับที่ 37/2557 เรื่องให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนในความผิดบางประเภท ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี ในข้อ 14(1) เรื่องสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและข้อ 14(5) สิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลสูง หลังพันธศักดิ์ยื่นคำร้องคัดค้านเขตอำนาจศาล ศาลทหารแจ้งว่าจะทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลส่งไปที่ศาลอาญา เมื่อศาลอาญาทำความเห็นกลับมาก็จะนัดพันธ์ศักดิ์และอัยการทหารมาฟังคำสั่งอีกครั้ง 

ในวันที่ 1 เมษายน 2559 ศาลทหารนัดพันธ์ศักดิ์มาฟังคำสั่งเรื่องเขตอำนาจศาลซึ่งสรุปได้ว่า ประกาศ คสช.มีสถานะเป็นกฎหมายเนื่องจาก คสช.สามารถยึดอำนาจและควบคุมสถานการณ์ได้สำเร็จ ประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารจึงมีผลผูกพันคดีนี้ด้วย ศาลอาญาจึงเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร

คดีจาตุรนต์ ฉายแสง จาตุรนต์ถูก คสช.เรียกรายงานตัวแต่ไม่ยอมไปรายงานตัวตามคำสั่งทั้งยังใช้สื่อสังคมออนไลน์โพสต์ข้อความแสดงจุดยืนไม่รับอำนาจ คสช.และนัดผู้สื่อข่าวจัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 จาตุรนต์ยื่นคำร้องคัดค้านอำนาจศาลทหารในวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ระบุเหตุผลโดยสรุปได้ว่า คำสั่งเรียกจาตุรนต์เข้ารายงานตัวออกมาก่อนที่ประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารมีผลบังคับใช้ และแม้การกระทำตามข้อกล่าวหาเรื่องการโพสต์ข้อความ และการจัดแถลงข่าวจะเกิดภายหลังประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารมีผลบังคับใช้ แต่ประกาศดังกล่าวก็ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ซึ่งรับรองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองไทยที่เคยได้รับการคุ้มครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศรวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ไทยเป็นภาคีอยู่ เนื่องจากต่อมาศาลทหารและศาลอาญากรุงเทพใต้มีความเห็นขัดกันในเรื่องเขตอำนาจศาล จึงต้องส่งความเห็นของทั้งสองศาลไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาล (คณะกรรมการฯ) เป็นผู้ชี้ขาด

ในวันที่ 25 เมษายน 2559 ศาลทหารนัดจาตุรนต์มาฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ เรื่องเขตอำนาจศาลซึ่งสรุปความได้ว่า คดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ ส่วนคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร หลังอ่านคำวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาล ศาลทหารสั่งให้จำหน่ายคดีของจาตุรนต์ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวออกจากสารบบ ส่วนคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้นัดสอบคำให้การในวันที่ 1 มิถุนายน 2559 เวลา 8.30 น.

 

ความเคลื่อนไหวคดี 112: อัยการทหารสั่งฟ้องจำเลยคดียื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง – ทหารรวบบุรินทร์ หนึ่งในผู้ชุมนุม “ยืนเฉยๆ” จาก สน.ไปค่ายทหารก่อนตั้งข้อหา 112 – พ่วงข้อหา 112 กับสองผู้ต้องหาคดีเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์”

เดือนเมษายนไม่มีนัดสืบพยานคดี 112 แต่ก็มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญเกิดขึ้นคืออัยการทหารมีคำสั่งฟ้องเสาร์ จำเลยที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการป่วยทางจิตแต่สู้คดีได้ กับกรณีที่ทหารนำตัวบุรินทร์ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมใส่เสื้อขาวยืนเฉยๆ ซึ่งกำลังถูกพนักงานสอบสวนสอบกรณีร่วมชุมนุมไปค่ายทหาร ก่อนจะถูกนำตัวมาตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ในภายหลัง 

คดีของเสาร์ เสาร์ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยการเขียนคำร้องยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 13 มีนาคม 2558 ทำนองว่า บุคคลสำคัญท่านหนึ่งสื่อสารกับเสาร์ผ่านทางโทรทัศน์ว่าให้ไปทวงเงินคืนจากทักษิณ เสาร์จึงไปยื่นคำร้องจนถูกดำเนินคดี ในชั้นสอบสวนขณะเสาร์ถูกคุมขังใกล้ครบกำหนดฝากขัง 84 วัน พนักงานสอบสวนขอให้ศาลส่งตัวเสาร์ไปตรวจอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (สถาบันกัลยาฯ) ในภายหลังแพทย์มีความเห็นว่าเสาร์มีอาการป่วยทางจิตแต่สามารถสู้คดีได้ อัยการทหารจึงสั่งฟ้องเสาร์ในวันที่ 20 เมษายน 2559 เสาร์ได้รับการประกันตัวในวันเดียวกันด้วยหลักทรัพย์เป็นสลากออมสินมูลค่า 400,000 บาท  

ภาพสเก็ตช์บรรยากาศในห้องอัยการทหาร กรมพระธรรมนูญ ระหว่างเสาร์รอฟังคำสั่งอัยการในคดี 112

คดีของบุรินทร์ บุรินทร์เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมใส่เสื้อขาวยืนเฉยๆ ที่อนุสาวรีย์ชัยเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 เพื่อเรียกร้องให้ คสช.ปล่อยตัวบุคคลเก้าคนที่ถูกควบคุมตัวในเช้าวันเดียวกัน บุรินทร์และพวกรวม 16 คน ซึ่งมีนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เช่น อานนท์ นำภา พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และปกรณ์ อารีกุล จากขบวนการประชาธิปไตยใหม่รวมอยู่ด้วยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวจากบริเวณอนุสาวรีย์ชัยไปที่สถานีตำรวจพญาไทซึ่งเป็นเจ้าของท้องที่เพื่อทำการสอบสวน ขณะที่การสอบสวนกำลังดำเนินไปก็มีเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางมาที่ สน.และควบคุมตัวบุรินทร์ออกไป

บุรินทร์อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแต่คืนวันที่ 27 เมษายน จนถึง 29 เมษายนจึงถูกส่งตัวไปที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อตั้งข้อกล่าวหาก่อนจะถูกส่งตัวไปฝากขังที่ศาลทหารในวันที่ 30 เมษายน 2559 ขณะนี้บุรินทร์ยังไม่ได้ยื่นประกันตัวและถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ      

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในเดือนเมษายนก็คือการตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เพิ่มเติมกับหฤษฏ์และณัฏฐิกา สองในแปดผู้ต้องหาคดีเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าเหตุที่ทั้งสองถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 คืออะไร แต่หฤษฏ์ หนึ่งในผู้ต้องหาให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวในทำนองว่า หลักฐานที่เจ้าหน้าที่นำมาให้ดูเป็นภาพที่แคปมาจากบทสนทนาในโปรแกรมแชทของเฟซบุ๊ก 

 

อดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทยเข้าพบทหารกรณีขันแดง – วัฒนานอนค่ายหลังไม่หยุดโพสต์เฟซบุ๊ก 

สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่จับตัวหญิงถ่ายภาพกับขันแดงซึ่งมีลายเซ็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปตั้งข้อหาตามมาตรา 116 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2559 ในเดือนเมษายน 2559 ได้มีการขยายผลโดยการบุกไปตรวจยึดขันแดงที่สำนักงานอดีต ส.ส.จังหวัดน่านพรรคเพื่อไทยสามคน ก่อนจะเรียก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต ส.ส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ไปที่ค่ายสุริยพงษ์ เพื่อพุดคุยถึงกรณียึดขันแดงในวันที่ 8 เมษายน 2559 โดยชลน่านเปิดเผยภายหลังว่าการพูดคุยมีบรรยากาศเป็นกันเองและไม่ตึงเครียด

ในกรณีของวัฒนา เมืองสุข การเรียกเข้ารายงานตัวแตกต่างจากกรณีของชลน่านเพราะมีความตึงเครียดมากกว่า ในวันที่ 13 เมษายน 2559 วัฒนาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงกรณีที่สองพรรคใหญ่แสดงท่าทีจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ข้อความของวัฒนาทำให้ทหารติดต่อมาว่าจะมารับตัว วัฒนาแจ้งกับทหารว่าวันที่ 13 ไม่สะดวกให้คุมตัวแต่จะให้มารับตัว 14 แทนซึ่งก็ปรากฏว่ามีการนำกำลังทหารมารอวัฒนาที่บ้านพัก ในวันที่ 15 เมษายน วัฒนาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ขอให้ทหารที่ตรึงกำลังอยู่ที่บ้านถอนออกไปโดยตนจะเดินทางเข้าพบทหารที่ มทบ. 11 เองในวันที่ 18 เมษายน 2559 

ในวันนัด วัฒนาเดินทางไปที่ มทบ.11 พร้อมบอกกับสื่อมวลชนก่อนเข้าค่ายว่า หากตนไม่ได้ออกจากค่ายทหารในเวลา 15.00 น. จะถือว่า คสช.ใช้อำนาจกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งตนจะเดินหน้าดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องต่อไป ในช่วงค่ำวันที่ 20 เมษายน 2559 ซึ่งวัฒนายังคงอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร ตัวแทน คสช.เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนกองปราบฯ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษว่าวัฒนาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 39/2557 เรื่องห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง วัฒนาถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารในวันที่ 21 เมษายน 2559 และได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงค่ำเมื่อศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว

 

ทหารขยัน รวบบุคคลเข้าค่ายสิบคนในวันเดียวก่อนเก้าคนถูกตั้งข้อหาหนัก

วันที่ 27 เมษายน มีกรณีเจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 เกิดขึ้นในวันเดียวกันถึงสองกรณี กรณีแรกเกิดขึ้นในช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ทหารนำกำลังเข้าจับกุมบุคคลรวมเก้าคนซึ่งถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำเพจต่อต้านรัฐบาลในเวลาไล่เลี่ยกัน ญาติของนพเก้า หนึ่งในผู้ถูกจับตัวเล่าว่า ช่วงประมาณ 7.00 น. ได้ยินเสียงคล้ายคนงัดประตูบ้าน เมื่อออกจากห้องนอนมาดูก็พบคนกำลังงัดแงะประตูบ้าน โดยมีกลุ่มบุคคลแต่งตัวคล้ายทหารเข้ามาหลายคน มาถามหานพเก้าและจับตัวไปโดยไม่แสดงหมายใดๆ ขณะที่ญาติของวรารัตน์ ผู้ถูกจับอีกคนหนึ่งก็เล่าว่า มีเสียงกดกริ่งที่บ้านหลายครั้ง และเห็นมีคนปีนเข้ามา พร้อมกับต่อว่าตนในทำนองว่าเปิดประตูช้าเพราะทำลายหลักฐานอยู่หรือ ก่อนจะควบคุมวรารัตน์พร้อมกับยึดคอมพิวเตอร์ไป  ในภายหลังนิธิ หนึ่งในเก้าผู้ถูกจับได้รับการปล่อยตัวแต่อีกแปดคนถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

เจ้าหน้าที่นำผู้ต้องหาคดี เพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ทั้งแปดมาฝากขังต่อศาลทหารในวันที่ 29 เมษายน 2559 ภาพจากเพจ Banrasdr Photo

ในช่วงเย็นวันเดียวกัน กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมใส่เสื้อขาวยืนเฉยๆ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับทั้งเก้าคน (ขณะนั้นนิธิยังไม่ถูกปล่อยตัว) ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ส่งผลให้มีผู้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวไปที่ สน.รวม 16 คน ระหว่างที่พนักงานสอบสวน สน.พญาไทกำลังทำการสอบสวนผู้ที่ถูกคุมตัวมาจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็ปรากฏว่ามีทหารมาที่ สน.แล้วพาตัวบุรินทร์ หนึ่งใน 16 ผู้ถูกจับกุมออกไปจาก สน. ปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในผู้ถุกควบคุมตัวเล่าว่า เจ้าหน้าที่ทหารนำตัวบุรินทร์ออกจากห้องสอบสวนโดยไม่แจ้งพนักงานสอบสวน ไม่แจ้งสิทธิ หรือแจ้งข้อหาใดๆ บุรินทร์ถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังถูกคุมตัวในค่ายทหาร  

สำหรับแปดผู้ต้องหาคดีเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” หลังถูกจับตัวเข้าค่ายทหารในวันที่ 27 เมษายน 2559 ก็ถูกควบคุมตัวมาฝากขังกับศาลทหารในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในวันที่ 29 เมษายน 2559 หลังศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ในเวลาประมาณเที่ยง อานนท์ นำภา หนึ่งในทีมทนายโพสต์เฟซบุ๊กว่าได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องหาทั้งแปดด้วยเงินสดคนละ 100,000 บาท แต่ต่อมาปรากฏว่าศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยระบุว่า พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรงและมีการทำเป็นขบวนการ

 

พลเมืองโต้กลับนัด ‘ยืนเฉยๆ’ ทวงคืนวัฒนาและเก้าคนที่ถูก ‘อุ้ม’

หลังวัฒนา เมืองสุข ถูกควบคุมตัวข้ามคืนในค่ายทหาร กลุ่มพลเมืองโต้กลับโดย อานนท์ นำภา มีการนัดกันออกมาทำกิจกรรมใส่เสื้อขาวยืนเฉยๆ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข ในวันที่ 19 เมษายน เจ้าหน้าที่วางกำลังบริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตั้งแต่ช่วงก่อนเวลาหกโมงเย็นซึ่งเป็นเวลานัดหมาย เมื่ออานนท์และกลุ่มผู้ทำกิจกรรมมาที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยได้ครู่หนึ่งก็ถูกพาตัวไปที่ สน.พญาไทก่อนจะถูกปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา เนื่องจากในวันที่ 20 เมษายน วัฒนายังไม่ได้รับการปล่อยตัว กลุ่มพลเมืองโต้กลับจึงจัดกิจกรรมใส่เสื้อขาวยืนเฉยๆ อีกครั้งที่สกายวอล์ค บีทีเอสช่องนนทรี ครั้งนี้หลังสิรวิชญ์หรือ ‘จ่านิว’ อ่านแถลงการณ์เสร็จก็ถูกพาตัวพร้อมกับพวกรวมห้าคนไปที่ สน.ยานาวาเจ้าของท้องที่ ภายหลังทั้งห้าได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหาแต่เจ้าหน้าที่ขอให้ลงบันทึกประจำวันและทำข้อตกลงว่าหากจะจัดกิจกรรมต้องแจ้งตำรวจเจ้าของท้องที่ล่วงหน้า 24 ชม. กลุ่มพลเมืองโต้กลับประกาศนัดหมายว่าจะจัดกิจกรรมยืนเฉยๆ อีกครั้งในวันที่ 21 เมษายน ที่สกายวอล์คช่องนนทรี พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ยานนาวาล่วงหน้าไว้ แต่เนื่องจากวัฒนาได้รับการปล่อยตัวจากการควบคุมของทหารในวันที่ 21 เมษายน กิจกรรมจึงถูกยกเลิกไป

กลุ่มพลเมืองโต้กลับนัดจัดกิจกรรมยืนเฉยๆ อีกครั้งในเย็นวันที่ 27 เมษายน 2559 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อมีการจับกุมบุคคลเก้าคนไปคุมตัวในค่ายทหารในช่วงเช้าวันเดียวกัน ในการจัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ชัยครั้งนี้ อานนท์ นำภา พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และพวกปรากฏตัวที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ได้เพียงสามนาทีก็ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.พญาไท อานนท์ นำภา ถูกพนักงานสอบสวน สน.พญาไทตั้งข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมคนอื่นอีก 15 คนไม่ถูกพนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาใดๆ อย่างไรก็ตาม ขณะที่การสอบสวนกำลังดำเนินไปก็มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบสองคนเข้ามาที่ สน.และควบคุมตัวบุรินท์ หนึ่งในผู้ชุมนุมออกไปโดยไม่ทราบสาเหตุ บุรินทร์ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ในภายหลัง ในวันที่ 28 เมษายน 2559 กลุ่มพลเมืองโต้กลับนัดจัดกิจกรรมยืนเฉยๆ อีกครั้งที่สกายวอล์ค บีทีเอสช่องนนทรี ครั้งนี้มีเพียงสิรวิชญ์ที่ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ยานนาวาก่อนจะถูกปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา 

สิรวิชญ์หรือ ‘จ่านิว’ ถ่ายภาพร่วมกับผู้มาให้กำลังใจที่หน้า สน.ยานนาวา หลังได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา กรณีร่วมกิจกรรมยืนเฉยๆ ที่สกายวอล์คบีทีเอสช่องนนทรี เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแอดมินเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ทั้งแปดคน ในวันที่ 28 เมษายน 2559

ในภาพรวมถือว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการกับการชุมนุมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับได้อย่างละมุนละม่อม ยกเว้นกรณีการควบคุมตัวนัชชชา กองอุดม ในวันที่ 27 เมษายน ซึ่งเจ้าตัวโพสต์ข้อความว่า เจ้าหน้าที่ใช้คำพูดไม่เหมาะสมระหว่างควบคุมตัว และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ออกมากล่าวขอโทษในภายหลัง ไม่มีการใช้กำลังหรือการตั้งข้อหาร้ายแรง อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่จะยอมผ่อนปรนให้มีการจัดกิจกรรมหากสังเกตจากวิธีการที่มีการปิดพื้นที่และควบคุมตัวผู้เป็นแกนนำจัดกิจกรรมออกไปกักไว้ที่ สน.อย่างรวดเร็ว 

 

พ.ร.บ.ประชามติฯ มีผลบังคับใช้แล้ว จับแล้วหนึ่งราย

วันที่ 22 เมษายน 2559 มีการประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) ในราชกิจจานุเบกษา โดยมีการบัญญัติโทษผู้กระทำการต่างๆ เช่น การเผยแพร่ข้อความ ภาพ หรือเสียง ในช่องทางต่างๆ ในลักษณะที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ไว้ที่จำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในวันที่ 26 เมษายน สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวตอนหนึ่งว่า ในวันที่ 27 เมษายน 2559 จะเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ รายหนึ่ง ซึ่งกรรมการ กกต.เป็นผู้ประสบเหตุเอง แต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเป็นผู้ใด ต่อมาในช่วงค่ำวันที่ 27 เมษายน 2559 พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทน ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงข่าวการจับกุม จีรพันธุ์ ตันมณี ประธานกองทุนรัฐวัฒน์ตันมณีเพื่อสิทธิคนออทิสติก โดยมีการกล่าวหาว่า จีรพันธุ์โพสต์เฟซบุ๊กด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง เชื่อมโยงไปสู่การชี้นำว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จีรพันธุ์ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนด้วยเงินสด 200,000 บาท     

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage