ช่วงเวลา | ยอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร – 29-กุมภาพันธ์ 2559 | ยอดรวมเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ 2559 |
---|---|---|
คนถูกเรียกรายงานตัว | 902 | 18 |
คนถูกจับกุมคุมขัง จากการชุมนุมโดยสงบ | 214 | – |
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร | 155 | 3 |
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน | 48 | 1 |
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ฯ (ม.112) | 62 | 4 |
จำนวนคนที่ถูกคุมขังด้วยคดี และที่ถูกคุมขังระหว่างพิ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 | 50 |
การแทรกแซง/ปิดกั้นงานเสวนาในรอบเดือน
ปิดกั้น/แทรกแซง 5 เวทีสาธารณะว่าด้วยรัฐธรรมนูญมีชัย
หลังมีการเปิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย มีหลายฝ่ายพยายามจัดเสวนาและกิจกรรมให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอย่างน้อยห้ากิจกรรมที่ถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารในรูปแบบต่างๆ เช่น กิจกรรมวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญของนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ถูกห้ามจัด, กิจกรรมเสวนาร่างรัฐธรรมนูญและการมีส่วนร่วมของประชาชนของกลุ่มผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (วีมูฟ) ถูกห้ามจัดกลางคัน กิจกรรมรณรงค์โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มเส้นทางสีแดงถูก ‘ขอให้’ ยุติ, นอกจากนี้กิจกรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของเว็บไซต์ประชามติก็ถูกแทรกแซงจนต้องย้ายสถานที่ถึงสองงานในวันเดียวกัน
[wysiwyg_imageupload:430:]
ตัวแทนเครือข่ายเว็บไซต์ประชามติแถลงข่าวกรณีกิจกรรมเสวนาสาธารณะหัวข้อ “รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ?” และ งานประกวดการนำเสนอ PetchaKucha 20×20 หัวข้อ “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งกำหนดจัดที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ถูกแทรกแซงจนต้องย้ายที่จัดอย่างฉุกละหุก ภาพโดย iLaw
ทั้งนี้รัฐบาลและ คสช.เคยออกมาเรียกร้องหลายฝ่ายให้แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในมุมต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ ภายใต้วิธีการที่เหมาะสม หากพบว่าผู้ใดบิดเบือนรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ คสช.จะเชิญมาพูดคุยทำความเข้าใจ เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการปรองดอง
ดูรายงานพิเศษ บันทึกเหตุ: กุมภาพันธ์เดือนเดียว ปิดกั้น-แทรกแซง 5 กิจกรรม เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ‘มีชัย’
งานเสวนานักศึกษา – คอนเสิร์ตลูกทุ่ง ก็ถูกปิด
2 กุมภาพันธ์ 2559 เฟซบุ๊กเพจเสียงอีสานแฟนคลับลงข้อความว่า การแสดงคอนเสิร์ตของวงเสียงอีสานที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรีถูกยกเลิกหลังเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้จัดงาน
13 กุมภาพันธ์ 2559 ผู้จัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง “ปัตตานี สันติภาพ ทำไมต้องประชาชน ?” ประกาศยกเลิกการจัดงานเพราะมีเจ้าหน้าที่ทหารแทรกแซงและกดดันผู้จัดงาน โดยอ้างว่าไม่สบายใจที่จัดกิจกรรมลักษณะแบบนี้ ผู้จัดให้เหตุผลด้วยว่ายกเลิกกิจกรรมเพราะเกรงจะกระทบความปลอดภัยของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่สนใจมาร่วมงาน
ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีงานเสวนาวิชาการถูกปิดกั้นหรือแทรกแซงอย่างน้อย 73 ครั้ง
ความเคลื่อนไหวคดี 112 ในรอบเดือน
สั่งไม่ฟ้องจารุวรรณ
2 กุมภาพันธ์ 2559 อัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่จารุวรรณและพวกรวมสามคนเป็นผู้ต้องหา อัยการแจ้งกับทนายผู้รับผิดชอบคดีจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนด้วยว่าได้จัดส่งคำสั่งไม่ฟ้องอย่างเป็นทางการมาให้เเล้ว ดูรายละเอียดคดีจารุวรรณและพวกในฐานข้อมูลที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/641
บัณฑิต-วิกลจริตแต่สู้คดีได้
11 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลทหารไต่สวนแพทย์ผู้ทำการรักษาเกี่ยวกับอาการทางจิตของบัณฑิต ชายวัย 75 ปีที่ถูกกล่าวหาว่าแสดงความคิดเห็นในงานเสวนาเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แพทย์สรุปว่า บัณฑิตยึดติดกับความคิดซ้ำๆ เข้าข่ายลักษณะบุคคลวิกลจริต มีโอกาสก่อคดีเพิ่มอีก แต่ยังสามารถสู้คดีต่อได้ ศาลจึงให้นัดสืบพยานต่อ
[wysiwyg_imageupload:431:]
บัณฑิตถูกดำเนินคดี 112 จากการแสดงความเห็นที่งานเสวนาของพรรคนวัตกรรมช่วงปลายปี 2557 (ภาพโดย iLaw)
สถานการณ์การเรียกคนปรับทัศนคติและการ ‘เยี่ยม’ บ้านในรอบเดือน
11 กุมภาพันธ์ 2559 ทหารจากกองพลทหารม้าที่หนึ่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ เชิญแกนนำกลุ่มค้านเหมืองเพชรบูรณ์เข้าหารือและขอความร่วมมือให้ยื่นเรื่องร้องเรียนเฉพาะในจังหวัดโดยไม่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ
12 กุมภาพันธ์ 2559 ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 24 จังหวัดอุดรธานี เรียกชาวบ้านเข้าพูดคุยทำความเข้าใจหลังก่อนหน้านี้ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 ชาวบ้านจัดขบวนแห่ไปขอพรที่อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม โดยมีผู้ถือป้ายรณรงค์เรื่องเหมืองแร่โปแตชและอ่านคำประกาศที่มีคำว่า ‘เผด็จการอำนาจนิยมจงพินาศ’
18 กุมภาพันธ์ 2559 เจ้าหน้าที่ทหารเดินทางมาพบจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ห้องรับรองสถานีโทรทัศน์พีซทีวี อิมพีเรียล ลาดพร้าว เพื่อเชิญตัวไปพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจารณ์ทางการเมืองที่ มทบ.11 นพ.เหวง โตจิราการ ขอเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางไปกับจตุพรด้วย ก่อนหน้านี้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 จตุพรถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร และถูกนำตัวไปที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 หลังมีกระแสข่าวว่า จตุพรและณัฐวุฒิพร้อมแกนนำ นปช. เชิญชวนประชาชนล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งที่ 2 ที่ท่าน้ำสี่พระยา
19 กุมภาพันธ์ 2559 ที่จังหวัดสงขลา บุคคลซึ่งอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน แต่งกายด้วยเครื่องเเบบสีเขียว ประมาณ 10 นายขอพบอัญชนา หีมมีหน๊ะ นักกิจกรรมภาคใต้ หลังเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการซ้อมทรมานในประเทศไทย เจ้าหน้าที่จอดรถสามคันล้อมรอบบ้านของอัญชนาและเดินเข้าไปที่บ้านโดยไม่แสดงหมายจับหรือหมายค้น ขณะนั้นอัญชนาไม่อยู่บ้านเจ้าหน้าที่จึงซักประวัติ ถ่ายภาพบ้านและภาพแม่ของอัญชนาไว้
23 กุมภาพันธ์ 2559 ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ห้าจำนวนหกนายเดินทางด้วยรถฮัมวี่เข้าเยี่ยมสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยอ้างว่าเป็นภารกิจที่ต้องทำทุกเดือน
26 กุมภาพันธ์ 2559 พี่สาวของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการให้ข้อมูลว่า มีทหารไปที่บ้านของเธอเพื่อกดดันให้ครอบครัวหยุดปวินไม่ให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
นับจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีผู้ถูกเรียกรายงานตัว/ปรับทัศนคติและตามไปถึงบ้านอย่างน้อย 902 คน
ความเคลื่อนไหวคดีเสรีภาพอื่นๆ ในรอบเดือน
2-4 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดสืบพยานคดีที่ไมตรีถูกกล่าวหาว่า เผยแพร่คลิปและข้อความประกอบว่าทหารตบหน้าชาวบ้านที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลสืบพยานโจทก์ทั้งสิ้น 6 ปาก และสืบพยานจำเลยอีก 9 ปาก หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 8 มีนาคม 2559
8 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลอาญานัดตรวจพยานหลักฐานคดีธนพร พนักงานธนาคารออมสินถูกดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายด้วยการโฆษณาจากกรณีโพสต์ภาพชูสามนิ้ว และเขียนข้อความซ้ำเติมเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของรองแม่ทัพภาคที่ 3 ตก ที่จังหวัดพะเยา หลังการตรวจพยานหลักพยานหลักฐาน ศาลนัดคู่ความสืบพยานระหว่างวันที่ 10-14 ตุลาคม 2559 ทั้งนี้ธนพรได้ติตต่อขอนัดไกล่เกลี่ยสมานฉันท์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่เจ้าหน้าที่ทหารและญาติของผู้เสียชีวิตที่ศูนย์ประนอมข้อพิพาทในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 หากการไกล่เกลี่ยประสบความสำเร็จคดีก็จะจบทันที
10 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์คดีสิรภพฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. พยานในนัดนี้เป็นผู้ร่างหนังสือมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่นำไปร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลที่ฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.
18 – 19 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชนัดสืบพยานคดีที่กำพล นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถูกนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ฟ้องหมิ่นประมาทหลังโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในทำนองว่า นักวิชาการที่เป็นโจทก์เกี่ยวข้องกับโครงการมูลค่ากว่าสองพันล้านที่จะนำขี้เถ้าถ่านหินมาทำเป็นปะการังเทียมทิ้งทะเลเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 17 มีนาคม 2559
[wysiwyg_imageupload:432:]
กำพลขณะอ่านแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ในเดือนธันวาคม 2558 (ภาพจากกำพล)
ยกฟ้อง ‘อภิชาต’ ชูป้ายค้านรัฐประหาร
11 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลแขวงปทุมวันอ่านคำพิพากษา คดีอภิชาตชุมนุมฝ่าฝืนประการห้ามชุมนุมของคสช. ศาลพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าพนักงานสอบสวนที่สอบสวนจำเลย มีอำนาจสอบสวนจำเลยในคดีนี้หรือไม่ จึงถือว่าไม่มีการสอบสวนโดยชอบตามกฎหมาย
[wysiwyg_imageupload:433:]
อภิชาตให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่หน้าศาลแขวงปทุมวันหลังศาลพิพากษายกฟ้องในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 (ภาพโดย iLaw)
วันเดียวกันศาลทหารนัดสืบพยานคดีจิตรา ฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. ร.ต.ท.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม ขึ้นเบิกความต่อศาลในฐานะพยานโจทก์ ร.ต.ท.ชลิตเป็นผู้ลงบันทึกประจำวันตามคำร้องทุกข์ของ พ.ท.บุรินทร์และลงชื่อในบันทึกประจำวันดังกล่าว หลังสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานครั้งต่อไปวันที่ 25 เมษายน 2559
26 กุมภาพันธ์ 2559 สะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้งในความผิดฐานเป็นผู้จัดการชุมนุมแต่ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของท้องที่ล่วงหน้า สะมะแอถูกดำเนินคดีหลังมายื่นหนังสือที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.ก.ประมง มาตรา 34
[wysiwyg_imageupload:434:]
สะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้งเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ (ภาพโดย iLaw)
ประเด็นเสรีภาพการแสดงออกอื่นๆ
3 กุมภาพันธ์ 2559 ทหารซึ่งอ้างมาจากกองทัพภาคที่หนึ่ง ติดต่อเจ้าหน้าที่ รปภ.สถานีโทรทัศน์นิวส์วัน ถนนพระอาทิตย์ขอถ่ายรูปภายในสถานีแต่ถูกปฏิเสธเพราะไม่มีคำสั่งหรือจดหมายขออนุญาต เมื่อถูกปฏิเสธทหารกลุ่มดังกล่าวก็เดินทางกลับ
4 กุมภาพันธ์ 2559 นักกฎหมายและองค์กรสิทธิฯร่วมออกแถลงการณ์กรณีเจ้าหน้าที่รัฐขัดขวางการทำงานของทนาย จากกรณีที่ทนายเบญจรัตน์ มีเทียน ถูกเจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีข้อหาแจ้งความเท็จ หมิ่นประมาท และข้อหาอื่นๆ รวมห้าข้อหา และถูกติดตามคุกคามในรูปแบบอื่น
แถลงการณ์ยังระบุถึงการคุกคาม ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งในคณะทำงานคดี 14 ผู้ต้องหาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ผู้ปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจค้นรถเพื่อตรวจยึดโทรศัพท์ของผู้ต้องหาประชาธิปไตยใหม่โดยไม่มีหมายค้นด้วย ศิริกาญจน์ถูกออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน
25 กุมภาพันธ์ 2559 เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งห้ามชุมนุมค้านปลดล็อกผังเมืองโดยระบุว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ สน.นางเลิ้งตัดสินใจ ตำรวจมีหน้าที่เพียงเตรียมการและดูแลความปลอดภัยเท่านั้น การยื่นหนังสือครั้งนี้เกิดขึ้นหลังทางกลุ่มแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะชุมนุมที่หน้าอาคารสหประชาชาติแต่เจ้าหน้าที่สน.นางเลิ้งเจ้าของท้องที่ไม่อนุญาตให้ทำการชุมนุม
26 กุมภาพันธ์ 2559 พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีส่งข้อความผ่านไลน์แอพพลิเคชั่นว่ามีทหารยศ พล.อ.รายหนึ่งพัวพันกับการซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม 2559 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมอบหมายให้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ พล.ร.อ.พะจุณณ์ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาเพิ่มอีกหนึ่งข้อหา ด้าน พล.ร.อ.พะจุณณ์เปิดเผยว่ายังไม่ได้รับหมายแต่พร้อมไปตามนัด