ช่วงเวลา | ยอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร – 31 มกราคม 2559 | ยอดรวมเฉพาะเดือนมกราคม 2559 |
---|---|---|
คนถูกเรียกรายงานตัว | 884 | 55 |
คนถูกจับกุมคุมขัง จากการชุมนุมโดยสงบ | 214 | 2 |
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร | 155 | 3 |
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน | 47 | – |
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ฯ (ม.112) | 62 | 4 |
จำนวนคนที่ถูกคุมขังด้วยคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วและที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ในเดือนมกราคม 2559 | 50 |
ความเคลื่อนไหวคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ในเดือนแรกของปี 2559 คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นถือว่าไม่คึกคักในเชิงปริมาณเมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ในเชิงเนื้อหาแล้วนั้น ความคืบหน้าล่าสุดที่เกิดขึ้นในสองคดีของเดือนมกราคม กลับน่ากังวลด้วยกันทั้งคู่
คดีฐนกร ศาลทหารยกอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะไม่ยื่นอุทธรณ์ในระหว่างฝากขังผลัดเดียวกับคำสั่งไม่อนุญาตครั้งแรก
15 มกราคม 2559 ฐนกร ถูกนำตัวมาศาลเพื่อฝากขังต่อเป็นผลัดที่สี่ ในวันนี้ศาลทหารกลางยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวของศาลทหารกรุงเทพ โดยให้เหตุผลว่าศาลทหารฯ สั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฝากขังผลัดแรก แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างฝากขังผลัดที่สามแล้วจึงไม่ต้องพิจารณาคำอุทธรณ์นี้ซึ่งได้ยื่นไว้เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559
แนวการให้เหตุผลนี้ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการพิจารณาการขอประกันตัว เพราะก่อนหน้านี้ คดีทางการเมืองที่ขึ้นศาลทหารส่วนใหญ่มาจากการกระทำในระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งไม่มีสิทธิอุทธรณ์ กระทั่งในคดีฐนกร จำเลยมีโอกาสยื่นคำอุทธรณ์นี้ต่อศาลทหารชั้นสูงเป็นกรณีแรกในฐานะพลเรือน แนวปฏิบัตินี้แตกต่างไปจากศาลพลเรือนที่จำเลยมีสิทธิขอประกันตัวหรืออุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ให้ประกันตัวได้ตลอดตราบที่ยังถูกคุมขังอยู่
ฐนกรถูกจับเมื่อ 8 ธันวาคม 2558 และถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการกดไลค์รูปที่มีเนื้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ และการโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง และข้อหามาตรา 116 จากการโพสต์ภาพแผนผังการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เขาถูกฝากขังต่อศาลทหารผลัดแรกเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 เขายื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสด 900,000 บาท และศาลทหารกรุงเทพสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว
อ่านรายละเอียดคดีฐนกร ในฐานข้อมูลได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/702
ปิยะกับสถิติใหม่! โทษจำคุกสูงสุดของศาลอาญา เชื่อพยานโจทก์โดยไม่มีหลักฐานทางคอมพิวเตอร์
20 มกราคม 2559 ศาลอาญาตัดสินจำคุกปิยะ 9 ปี ลดเหลือ 6 ปี จากการถูกฟ้องว่าโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ คดีนี้โจทก์มีเพียงภาพแคปเจอร์จากโทรศัพท์เป็นเป็นหลักฐาน โดยไม่มีหลักฐานทางคอมพิวเตอร์อื่นใด ซึ่งตามคำพิพากษาศาลเลือกเชื่อถือปากคำพยานคนหนึ่งที่มาแจ้งความ ก่อนหน้านี้ศาลอาญาเคยเลื่อนนัดฟังคำพิพากษามาจากวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ด้วย เพราะเป็นคดีสำคัญจึงนำเข้าปรึกษากับอธิบดีศาลอาญาก่อน
ปิยะถูกจับกุมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “พงศธร บันทอน’ ที่มีการโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ปิยะให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาก่อนยอมรับต่อศาลว่าเคยสวมสิทธิเข้าใช้ชื่อพงศธรมาก่อน แต่ยืนยันไม่ได้โพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหานี้ ซึ่งถูกถ่ายด้วยวิธีแคปเจอร์ (capture) และปรากฏรูปของปิยะเป็นรูปประจำตัว ทั้งถูกแชร์กันในอินเทอร์เน็ต โดยเป็นภาพย่อยสี่ภาพ ผู้พบเห็นภาพดังกล่าวนำเรื่องไปกล่าวโทษต่อตำรวจในหลายพื้นที่ เช่น ที่นครปฐมและน่าน ในคดีนี้โจทก์ไม่มีหลักฐานทางเทคโนโลยีอย่างหมายเลขไอพีแอดเดรส ทั้งไม่สามารถตรวจสอบกับผู้ให้บริการอย่างเฟซบุ๊กได้เพราะมีสำนักงานอยู่ในต่างประเทศ การตรวจสอบคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ยึดจากจำเลยโดยหน่วยพิสูจน์หลักฐานก็ไม่พบร่องรอยการเข้าใช้งานเฟซบุ๊กดังกล่าว
การกำหนดโทษจำคุกในคดีของปิยะ 9 ปีต่อการกระทำ 1 กรรม เป็นสถิติสูงสุดของโทษในคดีมาตรา 112 ที่ตัดสินโดยศาลพลเรือนจากการบันทึกข้อมูลของไอลอว์
อ่านรายละเอียดคดีปิยะ ในฐานข้อมูลได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/645
สถานการณ์คดีของนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง
5 นักกิจกรรมส่องโกงราชภักดิ์ ประกาศไม่ร่วมกระบวนการยุติธรรมแบบ คสช.
8 มกราคม 2559 นักกิจกรรมแปดคนที่ทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบโครงการสร้างอุทยานราชภักดิ์และถูกออกหมายเรียก เดินทางมาที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี โดยห้าคน ได้แก่ สิรวิชญ์, ชนกนันท์, อภิสิทธิ์, ชลธิชา และกรกช ได้ประกาศแสดงจุดยืนไม่ร่วมกระบวนการยุติธรรมภายใต้อำนาจรัฐบาลของ คสช. ยืนยันไม่เข้ารายงานตัวตามหมายเรียก ส่วนอีกสามคน คือ วิศรุต อานนท์ และกรกนกได้มาที่สถานีตำรวจฯ ในวันเดียวกันเพื่อเข้ารายงานตัว รับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธกับพนักงานสอบสวน และจะทำคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือมายื่นในภายหลัง เช่นเดียวกับวิจิตรและกิตธัช สองนักกิจกรรมที่ได้มารายงานตัวไปแล้วก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558
จากนักกิจกรรมส่องโกงราชภักดิ์ทั้งหมด 11 คนที่ถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจรถไฟบ้านโป่งเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม และถูกแจ้งข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เข้ารายงานตัวไปแล้วห้าคน ส่วนอีกห้าคนมาที่สถานีตำรวจฯ แต่ไม่รายงานตัว อีกหนึ่งคน คือ ธเนตร ซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ด้วย ไม่ปรากฏตัว
บุกอุ้ม ‘จ่านิว’ อุกอาจหน้า มธ. พร้อมตามจับรวบครบห้าคน ก่อนศาลทหารปล่อยตัวไม่มีเงื่อนไข
20 มกราคม 2559 เวลาประมาณ 22.45 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่รายงานว่า มีกลุ่มบุคคลแต่งกายคล้ายทหาร 8 คน เข้าคุมตัวสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์หรือจ่านิว นักศึกษาและกิจกรรมที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร จากบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฝั่งประตูเชียงราก โดยกลุ่มคนดังกล่าวใช้รถยนต์กระบะสองคัน ป้ายทะเบียนถูกถอดออก มีรายงานเบื้องต้นขณะเกิดเหตุจากบีบีซีไทยว่าผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อสิรวิชญ์แต่ปลายทางระบุว่าไม่มีสัญญาณตอบรับ ทั้งไม่มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารในขณะนั้นว่ารถยนต์คันดังกล่าวนำสิรวิชญ์ไปที่ใด
วันต่อมา (21 มกราคม 2559) พ.อ. วินธัย สุวารี โษฆก คสช. แถลงว่า การควบคุมตัวครั้งนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ การดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ปฏิบัติอย่างให้เกียรติ ไม่มีความรุนแรง ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าสิรวิชญ์กระทำผิดหลังครั้ง การจับกุมสามารถทำได้หลายรูปแบบ
แซม พรชัย นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้
11 มกราคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การและฟังคำสั่งศาลเรื่องขออนุญาตออกนอกประเทศในคดีชุมนุมครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร ที่หอศิลป์ กรุงเทพ ซึ่งนัดนี้เป็นนัดของผู้ต้องหาคนเดียว คือ แซม พรชัย ซึ่งถูกกล่าวว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน
แซมให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา อัยการโจทก์แถลงขอสืบพยานพร้อมขอรวมคดีกับนัชชชาและธัชพงษ์ ในการนี้พรชัยแถลงไม่คัดค้าน ศาลจึงให้อัยการโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลในคดีของทั้งสองเพื่อขอให้สั่งรวมคดี ส่วนที่พรชัยยื่นหนังสือขออนุญาตออกนอกประเทศเพื่อไปศึกษาต่อ ศาลอนุญาตเพราะเห็นมีเหตุสมควร แต่พรชัยต้องมาตามนัดพิจารณาคดีทุกครั้ง
คดีนี้สืบเนื่องจากกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมร่วมชุมนุมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในโอกาสครบหนึ่งปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ในเหตุการณ์นี้มีคนถูกจับกุม 38 คน และถูกดำเนินคดีสิบเอ็ดคน ซึ่งผู้ต้องหาอีกแปดคนที่ถูกออกหมายจับยังไม่ถูกจับกุม แต่พรชัย ถูกดำเนินคดีก่อนเนื่องจากก่อนหน้านี้เขาเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน เพื่อขออนุญาตเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ หากไม่ไปขออนุญาตก็จะติดหมายจับทำให้เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้
อ่านรายละเอียดคดี ชุมนุมครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร ที่หอศิลป์ กรุงเทพ ในฐานข้อมูลได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/687
ความเคลื่อนไหวกรณีถูกเรียกรายงานตัวและส่งทหารเยี่ยมบ้าน
เจ้าหน้าที่บุกเยี่ยมนักกิจกรรมที่มีประวัติเคลื่อนไหวทางการเมืองเหมือนเดิม
14 มกราคม 2559 สองนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ในต่างพื้นที่ถูกเจ้าหน้าที่บุกเยี่ยมบ้าน เวลา 10.30 น. สายสืบจากสถานีตำรวจภูธรคอนสาร จังหวัดชัยภูมิและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบรวม 3 นายไปที่บ้านของพายุ บุญโสภณ ซึ่งเคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองก่อนหน้านี้ โดยมีการขอถ่ายภาพพายุพร้อมครอบครัว และนำตัวพายุไปพบผู้กำกับที่สถานีตำรวจฯ โดยไม่มีหมาย ซึ่งผู้กำกับฯ ได้ขอให้งดเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่ภายใต้รัฐบาล คสช.
จากนั้นเวลา 16.30 น. ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์’ หนึ่งในนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โพสต์สถานะบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านของ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’ นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่พึ่งถูกออกหมายจับ หลังไม่เข้ารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา กรณีทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ทรงธรรมระบุว่า เจ้าหน้าที่เข้าค้นห้องของสิรวิชญ์และยึดตั๋วรถไฟที่เป็นของสะสมของสิรวิชญ์ไปด้วย โดยขณะทำการตรวจค้น มียายของสิรวิชญ์อยู่บ้านคนเดียว (จาก https://goo.gl/GTVUPn และ https://goo.gl/u5l8dt)
25 มกราคม 2559 เฟซบุ๊กกลุ่มลูกชาวบ้านรายงานว่า ประมาณ 11.30 น. จักรพล ผลละออ หรือ กันกัน นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่สาม มหาวิทยาลัยบูรพา ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ไม่ทราบแน่ว่าเป็นตำรวจหรือทหารราว 10 นายมาพบที่บ้านพัก ก่อนถูกคุมตัวขึ้นรถกระบะยี่ห้อเชฟโรเลตสีดำ โดยไม่มีการแสดงหมายเรียก ทางเจ้าหน้าที่แจ้งเพียงว่าจะพาไปพูดคุยที่ตึกบัญชาการค่ายทหาร มณฑลทหารบกที่ 14 ชลบุรี ก่อนถูกปล่อยตัวออกมาในเวลา 16.00 น. ของวันเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ วันที่ 21 มกราคม 2559 กลุ่มลูกชาวบ้านได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัฐต่อสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่หลังจัดกิจกรรมส่องทุจริตราชภักดิ์ด้วย
เดินหน้าปรับทัศนคติประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องปากท้อง โดนกันถ้วนหน้าทั้งเกษตรกรและแรงงาน
6 มกราคม 2559 เวลาประมาณ 02.00 น. สมาชิกสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทยกว่า 500 คนเดินทางมาใช้พื้นที่กระทรวงแรงงานเป็นที่ชุมนุม หลังล้มเหลวในการเจรจาเรื่องการปิดงานกับนายจ้าง โดยในวันดังกล่าวมีการพูดคุยระหว่างตัวแทนแรงงานกับตัวแทนจากกระทรวงแรงงานในเวลา 10.20 น. ก่อนตัวแทนฝ่ายนายจ้างเดินทางมาร่วมเจรจาในเวลา 16.30 น. เมื่อการเจรจาไม่พบข้อยุติ ราว 19.20 น. กระทรวงฯ จึงแจ้งกับผู้ชุมนุมว่าหากไม่เลิกชุมนุมจะแจ้งให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ยี่สิบนาทีต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญประธานสหภาพฯ และรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเข้าไปพูดคุยโดยใส่กุญแจมือ มีการประกาศให้สลายการชุมนุมร่วมกับท่าทีข่มขู่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่าสองกองร้อยและทหารจำนวนหนึ่งที่มาประจำการ แต่ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักต่อเพราะห่วงแกนนำ ในที่สุดเมื่อเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวแกนนำทั้งสองออกมา แกนนำก็แจ้งกับผู้ชุมนุมให้เดินทางกลับ โดยมีการจัดรถส่งผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนาด้วย
7 มกราคม 2559 วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ถูกเจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบราวสี่ถึงห้านายติดตามขณะเดินทางกลับจากที่ทำงาน ในวันรุ่งขึ้น ยงยุทธ เม่นตะเภา รองประธานคณะกรรมการชุดเดียวกันก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจไม่ทราบสังกัดติดตาม จึงไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานซึ่งคาดว่าการติดตามนี้เป็นผลจากการเข้าร่วมชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 13 มกราคม 2559 เวลาประมาณ 20.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบหลายนายเดินทางมาที่สำนักงานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เพื่อขอพูดคุยกับวิไลวรรณด้วย
11 มกราคม 2559 เจ้าหน้าที่ทหารเรียกแกนนำชาวสวนยางจากภาคใต้ราว 50 คน เข้าปรับทัศนคติที่ค่ายวิภาวดีรังสิต โดยเป็นการร่วมพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นเพื่อหาทางออกสำหรับปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ครั้งนี้มีการเชิญนักวิชาการมาให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดยางพาราในปัจจุบัน ด้านพ.อ.สมเกียรติ รัตนเจริญพรชัย รอง ผอ.รมน. ประธานการประชุม ขอร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออกโดยไม่ใช้การชุมนุมกดดันรัฐบาล การเรียกปรับทัศนคตินี้น่าจะเป็นผลจากความพยายามในการเคลื่อนไหวเรียกร้องของเกษตรกรจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่สุดในรอบสิบปีเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2558 ต่อต้นเดือนมกราคม 2559 ซึ่งราคาซื้อขายยางแผ่นดิบชั้นสามในท้องถิ่นเหลือเพียงกิโลกรัมละ 25 บาทเท่านั้น
สถานการณ์เสรีภาพอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ประกัน อานดี้ ฮอลล์ ในคดีหมิ่นประมาทบริษัทเนเชอรัลฟรุต แต่ให้ยึดหนังสือเดินทาง
13 มกราคม 2559 เวลาประมาณ 10.00 น. อานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิด้านแรงงานข้ามชาติ เดินทางไปที่ศาลอาญากรุงเทพ เพื่อมอบตัวและทำเรื่องประกันตัว ในคดีที่ถูกบริษัทเนเชอรัลฟรุตฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการเผยแพร่รายงานเรื่อง “Cheap Has a High Price” กล่าวหาว่าบริษัทละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ ซึ่งศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีไปก่อนหน้านี้ ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวในเวลาประมาณ 13.30 น. และสั่งให้ยึดหนังสือเดินทางของจำเลยไว้ด้วย หากจำเลยต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ให้มาติดต่อขออนุญาตศาลเป็นกรณีไป
หลังทราบคำสั่งศาลเรื่องการยึดหนังสือเดินทาง อานดี้ ฮอลล์ ทวิตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวระบุว่า ตนจะประสานกับทางสถานทูตอังกฤษเรื่องการขอหนังสือเดินทางคืน
นอกจากคดีนี้ อานดี้ ฮอลล์ยังถูกฟ้องโดยบริษัทเดียวกันนี้อีก 3 คดี ซึ่งรวมถึงการถูกฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายกว่า 400 ล้านบาทด้วย
ติดตามรายละเอียดของคดีนี้ในฐานข้อมูลของ iLaw ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/469
คดีกองทัพเรือฟ้องสำนักข่าวภูเก็ตหวานสิ้นสุด ศาลจังหวัดภูเก็ตพิพากษายกฟ้องและอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์
หลังจากศาลจังหวัดภูเก็ตได้ยกฟ้องคดีนี้ไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 และอัยการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาหลายครั้ง จนกระทั่งอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 จึงเป็นผลให้คดีนี้สิ้นสุดลง โดยศาลฝากบรรทัดฐานการตีความ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไว้ว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ใช้กับการหมิ่นประมาทออนไลน์ ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาทมีบัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายอาญา
คดีนี้เริ่มต้นจากปี 2556 เมื่อสำนักข่าวภูเก็ตหวานคัดลอกข้อความบางส่วนจากรายงานข่าวของรอยเตอร์ ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ไทยได้รับผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา กองทัพเรือรู้สึกว่าตัวเองได้รับความเสียหายจึงแจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยอลัน มอรริสัน และชุติมา สีดาเสถียร ตกเป็นจำเลย
ในการต่อสู้คดี จำเลยอธิบายว่ากองทัพเรือแปลข่าวภาษาอังกฤษผิดไปเพราะคำว่า Naval Forces ที่ปรากฏในข่าวหมายถึงหน่วยงานทางน้ำทั่วๆไปไม่ได้เจาะจงว่าเป็นกองทัพเรือ เนื้อหาของรายงานนี้ไม่ใช่ข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะไม่ได้มุ่งโจมตีให้กองทัพเรือเสียหาย และมีการนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตั้งข้อหาในทางที่ผิด เพราะกฎหมายนี้ไม่ใช่บังคับกับการหมิ่นประมาท
อ่านรายละเอียดย้อนหลังถึงการต่อสู้คดีนี้ ได้ที่ฐานข้อมูลของไอลอว์ http://freedom.ilaw.or.th/case/554